การเข้าร่วม NDC Partnership ของประเทศไทย

ข่าวการเมือง Tuesday December 17, 2019 16:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วม Nationally Determined Contribution Partnership (NDC Partnership) โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก (Focal Point) ของประเทศร่วมกัน และเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความจำนงอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วม NDC Partnership และมอบหมายให้ สผ. ยื่นหนังสือดังกล่าว เพื่อแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วม NDC Partnership ตามขั้นตอนต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่างหนังสือแสดงความจำนงอย่างไม่เป็นทางการจากที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้วหากการปรับเปลี่ยนไม่ขัดกับหลักการ ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

1. NDC Partnership เกิดขึ้นครั้งแรกในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 22 (COP22) เมื่อปี พ.ศ. 2559 ณ เมืองมาร์ราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก โดย NDC Partnership จะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกทั้งในด้านวิชาการ (Technical Assistance) ด้านผลิตผลทางความรู้ (Knowledge Products) และด้านการสนับสนุนทางการเงิน (Facilitating Finance) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาพใหญ่ (Large – scale Climate Target) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการเข้าร่วม NDC Partnership เป็นไปโดยความสมัครใจ ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก NDC Partnership จำนวน 100 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2562)

2. NDC Partnership มีวัตถุประสงค์ จำนวน 5 ประการ ดังนี้

2.1 บูรณาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวาระการพัฒนา (ภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) ให้มีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น

2.2 สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศและความมือทวิภาคีที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและส่งเสริมและต่อยอดกับการดำเนินงานของประเทศ

2.3 เพิ่มศักยภาพการเข้าถึงการดำเนินงาน เครื่องมือ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับ NDC ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งความช่วยเหลือทางวิชาการและพื้นฐานความรู้ที่เกี่ยวข้อง

2.4 เพิ่มแรงผลักดันทางการเมือง โดยให้ความสำคัญกับพันธกรณีและความตระหนักของฝ่ายการเมือง เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับการดำเนินงาน NDC ซึ่ง NDC Partnership จะสนับสนุนการดำเนินงาน NDC ในขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งการผลักดันให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน

2.5 ส่งเสริมการกำหนดและนำนโยบายและยุทธศาสตร์ระยะยาวไปปฏิบัติ เพื่อมุ่งสู่การกำหนด NDC ที่มีความท้าทายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เนื่องจากการกำหนด NDC ในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสได้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 ธันวาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ