ผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1

ข่าวการเมือง Tuesday January 7, 2020 18:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) [การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)] เสนอผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 [คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (15 ตุลาคม 2562) เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 กรอบวงเงินไม่เกิน 24,278.63 ล้านบาท โดยในส่วนค่าบริหารโครงการฯ อัตราไม่เกินร้อยละ 1 จำนวน 234.72 ล้านบาท เห็นควรให้ กยท. ใช้จ่ายจากกองทุนพัฒนายางพาราในลำดับแรก] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยในคราวประชุม ครั้งที่ 12/2562 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ได้พิจารณาการใช้เงินจากกองทุนฯ (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562) และอนุมัติงบประมาณค่าบริหารโครงการฯ จากแหล่งเงิน 2 แหล่ง ดังนี้

แหล่งเงิน

1.1) กองทุนพัฒนายางพารา โดยถัวจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของกองทุนฯ ตามมาตรา 49 (3) แห่งพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 รายการเงินงบประมาณสำรองเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง

งบประมาณที่ใช้ (ล้านบาท) 181.85

กลุ่มเกษตร เฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.

จำนวนเกษตรกร (ราย) 1,129,336

แหล่งเงิน

1.2) ขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ (สงป.)

งบประมาณที่ใช้ (ล้านบาท) 52.87

กลุ่มเกษตร เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่มาแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท.

จำนวนเกษตรกร (ราย) 282,681

รวม

งบประมาณที่ใช้ (ล้านบาท) 234.72

ทั้งนี้ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และข้อบังคับคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริหารและจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางพารา พ.ศ. 2559 ไม่สามารถนำเงินกองทุนฯ มาใช้กับเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่มาแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. ซึ่งต่อมา กยท. ได้ขอความเห็นของ สงป. ในประเด็นการจ่ายเงินประกันรายได้และงบประมาณค่าบริหารโครงการฯ ที่จะจ่ายให้กับเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่มาแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. และไม่สามารถใช้เงินจากกองทุนฯ ได้ (จากการประสานงานกับ กยท. ทราบว่า สงป. พิจารณาแล้วเห็นว่า หากมีปัญหาข้อกฎหมายควรหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนั้น กยท. จึงดำเนินโครงการฯ ทั้งหมดโดยใช้เงินจากกองทุนฯ เพียงแหล่งเดียว ภายใต้งบประมาณทั้งสิ้น 181.85 ล้านบาท)

2. กษ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ กำกับดูแล ติดตามการดำเนินงาน และวินิจฉัยประเด็นปัญหา พร้อมเสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 คณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิง และคณะทำงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ระดับตำบล เพื่อกำกับดูแล แก้ไขปัญหา และปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

3. คณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิงได้มีการประชุมเพื่อกำหนดราคาอ้างอิง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 โดยได้กำหนดราคาอ้างอิงในการประกันรายได้ตามชนิดยางและอัตราค่าชดเชยรายได้ ในรอบที่ 1 ดังนี้

3.1 ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ใช้ราคาเฉลี่ยจากสำนักงานตลาดกลางยางพารา (สตก.) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ สตก.จังหวัดสงขลา สตก.จังหวัดสุราษฎร์ธานี สตก.จังหวัดนครศรีธรรมราช สตก.จังหวัดยะลา สตก.จังหวัดบุรีรัมย์ และ สตก.จังหวัดหนองคาย ดังนี้

ราคาประกันรายได้(ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562) 60.00 บาท/กิโลกรัม

ราคากลางอ้างอิง 38.97 บาท/กิโลกรัม

ราคาชดเชย 21.03 บาท/กิโลกรัม

3.2 น้ำยางสด DRC 100% ใช้ราคาเฉลี่ยจาก สตก.จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ สตก.จังหวัดสงขลา ดังนี้

ราคาประกันรายได้ (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562) 57.00 บาท/กิโลกรัม

ราคากลางอ้างอิง 37.72 บาท/กิโลกรัม

ราคาชดเชย 19.28 บาท/กิโลกรัม

3.3 ยางก้อนถ้วย DRC 50% ใช้ราคาเฉลี่ยจาก สตก.จังหวัดบุรีรัมย์ และ สตก.จังหวัดหนองคาย ดังนี้

ราคาประกันรายได้ (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562) 23.00 บาท/กิโลกรัม

ราคากลางอ้างอิง 16.19 บาท/กิโลกรัม

ราคาชดเชย 6.81 บาท/กิโลกรัม

4. ในคราวประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการฯ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมได้เห็นชอบตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน การเบิกจ่ายเงินโครงการฯ เช่น

4.1 กยท. จัดพิมพ์รายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางโครงการฯ จากระบบติดประกาศ ณ ที่ทำการหมู่บ้าน หรือจุดศูนย์รวมชุมชนหมู่บ้าน หลังจากนั้นมอบรายชื่อดังกล่าวให้คณะทำงานโครงการฯ ระดับตำบล เพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยางและระบุผลรับรองหรือไม่รับรอง

4.2 กยท. จัดพิมพ์ผลการพิจารณาตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางติดประกาศ ณ ที่ทำการหมู่บ้าน หรือจุดศูนย์รวมชุมชนหมู่บ้าน หลังจากนั้นนำผลประมวลข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านการรับรองส่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรณีไม่ผ่านการรับรองสามารถยื่นอุทธรณ์ ต่อคณะทำงานโครงการฯ ระดับตำบล และกรณีไม่ผ่านการรับรองจากคณะทำงานโครงการฯ ระดับตำบล สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ

4.3 ธ.ก.ส. ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลบัญชีธนาคารของเกษตรกรให้ถูกต้องและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของเกษตรกร

5. การจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 งวดที่ 1 (วันที่ 1 – 15 พฤศจิกายน 2562) ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 กยท. ส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. และมีการดำเนินการ (จากเป้าหมาย 1,711,252 ราย) ดังนี้

ส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส.

เกษตรกรชาวสวนยาง และคนกรีด (ราย) 640,300

พื้นที่ (ล้านไร่) 7.12

วงเงินจ่าย (ล้านบาท) 5,515.48

ธ.ก.ส. จ่ายเงินแล้ว

เกษตรกร (ราย) 495,930 (ร้อยละ 77.45)

จำนวนเงิน (ล้านบาท) 2,834.55 (ร้อยละ 51.39)

ในส่วนของเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการ แต่ยังไม่ได้รับการจ่ายเงินประกันรายได้ งวดที่ 1 ในวันที่ 1 – 15 พฤศจิกายน 2562 เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการตรวจรับรองสิทธิเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือการประกันรายได้ตามข้อกำหนดของโครงการ และเป็นการป้องกันการทุจริต เพื่อให้มีการใช้งบประมาณของรัฐอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อผ่านการตรวจรับรองสิทธิเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการเร่งจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 งวดที่ 1 ให้ครบเป้าหมายทันที

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 มกราคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ