ข้อสรุปมาตรการและข้อสั่งการเกี่ยวกับโควิด – 19

ข่าวการเมือง Tuesday March 17, 2020 19:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอ สรุปมาตรการและข้อสั่งการตามมติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

สาระสำคัญ

มาตรการ 3 ยัง แต่ ...

1. ขณะนี้อยู่ในระยะ 2 ยังไม่เข้าสู่ระยะ 3 แต่ให้เตรียมพร้อมยกระดับ

2. ประเทศที่เป็นเขตติดโรคยังคงเป็น 4+2 ยังไม่ประกาศเพิ่ม แต่ มีมาตรการขั้นสูงรองรับทุกประเทศ

3. ยังไม่ปิดเมือง ยังไม่ปิดประเทศ (การห้ามเข้า – ออก) แต่ ใช้มาตรการรองรับเข้มงวด คือ

ก. ขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน

ข. ชาว ตปท. มีประกันสุขภาพ

ค. ยินยอมใช้ application ติดตามของรัฐ

ง. มาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทางบก – น้ำ – อากาศ

จ. ตม. ดู passport ด้วยว่าประเทศก่อนประเทศสุดท้ายคืออะไรบ้าง เป็นเขตติดโรคไหมแล้ว แจ้ง มท.

ฉ. ยอมรับมาตรการกักกันตนเองหรือของรัฐ

มาตรการ 2 เร่ง

4. สธ. อว. กห. ตร. กทม. เร่งเตรียมรับระยะ 3 โดยให้เพิ่ม

ก. เตียง โรงพยาบาล (รัฐ – เอกชน – มหาวิทยาลัย – ทหาร – ตำรวจ)

ข. หมอ พยาบาล บุคลากรการแพทย์ อาสาสมัคร

ค. ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือ

ง. ชุดป้องกันโรค

จ. เงินเพิ่มพิเศษแก่บุคลากรการแพทย์ (กค. กพ.)

5. พณ. สธ. กต. ตร. กค. อก. พน. เร่ง

ก. ผลิตหน้ากากอนามัย เจล แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น

ข. นำหน้ากากของกลางที่ยึดได้ส่งศูนย์ฯ เพื่อแจกจ่ายต่อ

ค. กต. ติดต่อ ตปท. เรื่องชุดป้องกันโรค หน้ากากอนามัย

ง. ตรวจสอบการขาย on line, การกักตุน และการระบายของ และสินค้า

มาตรการ 2 เลื่อน – ปิด

6. เลื่อนวันหยุดสงกรานต์จาก จ. 13 อ. 14 พ.15 เม.ย. ออกไปก่อน โดยไม่เป็นวันหยุดราชการ และวันหยุดเอกชนปีนี้ โดยจะคืนวันหยุดให้ภายหลัง

7. มาตรการปิดสถานที่ชั่วคราว

ก. สถานที่ซึ่งผู้คนมาร่วมเป็นกิจวัตรเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันที่อาจแพร่เชื้อได้ง่ายแม้จะป้องกันแล้ว และยังมีทางเลือกอื่นทดแทนการมาชุมนุม ให้ปิดชั่วคราว ตั้งแต่ 18 มี.ค. ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษา (รัฐ – เอกชน) โรงเรียน (รัฐ – เอกชน – นานาชาติ) สถานกวดวิชา ซึ่งจะปิดเทอมอยู่แล้วหรือเรียน on – line ได้

ข. สถานที่ซึ่งผู้คนไม่ได้มาชุมนุมเป็นกิจวัตร แต่มาเพื่อทำกิจกรรมที่มีการเบียดเสียดใกล้ชิด และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อง่ายทางปาก (ตะโกน เชียร์) สัมผัสถูกเนื้อถูกตัวหรือใช้สิ่งของร่วมกันง่าย เช่น สนามมวย สนามกีฬา โรงมหรสพ ให้ สธ. แจ้ง ผวจ. ผู้ว่า กทม. ใช้อำนาจสั่งตาม ม. 35 (1) โดยคำนึงถึงขนาดของกิจกรรม (จำนวนคนน้อย – มาก) โอกาสแพร่เชื้อ (ประเภทกิจกรรม) สถานที่ซึ่งมีโอกาสความเสี่ยง (จังหวัด)

ค. ส่วนสถานที่อื่นนอกเกณฑ์ ก.ข. เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด Fitness โรงแรม ร้านอาหาร ศาสนสถาน Cluc pub ให้พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม ส่วนการประชุม สัมมนา การสอบ งานสังคม งานบุญ งานบรรพชาอุปสมบทหมู่ กิจกรรมที่มีคนมาร่วมจำนวนมากยากแก่การควบคุมควรเลื่อนหรืองด ถ้าจะจัดต้องมีมาตรการรองรับ คือ ทำความสะอาดสถานที่ ตรวจไข้ ใช้หน้ากาก เจล เว้นระยะห่างระหว่างคน ใช้เวลาให้น้อยลดขนาดลง มิฉะนั้นอาจถูกประกาศควบคุมเพิ่มเป็นแหล่ง ๆ ก็ได้

มาตรการ 5 ปรับเปลี่ยนการบริหารภาครัฐ

8. ให้ กต. ตั้ง Team Thailand COVID -19 ในทุกประเทศที่มีทูต ดูแลคนไทยใน ตปท. และติดต่อแจ้งข่าว กต.

9. ให้ ก.พ.ร. ใช้เกณฑ์ความสามารถในการรับมือ COVID เป็นตัวชี้วัดการประเมินหน่วยราชการ

10. ให้ทุกกระทรวงพิจารณาปรับเปลี่ยนเวลาทำงาน – พักเที่ยง – เดินทางไปกลับ ให้เหลื่อม เวลากัน และส่งเสริมมาตรการให้คนติดต่อกับราชการทาง on line

11. ให้ทุกกระทรวงมอบงานให้ข้าราชการ – จนท. ทำงานบางอย่างที่บ้านตามความเหมาะสม แล้วรายงานผลการดำเนินการ โดยให้ สลค. รวบรวมทำบัญชีเสนอ ครม. ทราบ

12. อย่าให้การเข้มงวดเรื่อง COVID ทำให้มาตรการอื่นของรัฐบกพร่องหรือหย่อนยาน (การตรวจวัดแอลกอฮอล์เมาแล้วขับ การตรวจปัสสาวะของ ตร. การตรวจผู้โดยสารรถ อากาศยานของ คค. ตม. การรับมือภัยแล้ง การจราจร การป้องกันอาชญากรรม การอำนวยความสะดวก)

มาตรการ 3 ช่วย

13. ให้ กค. หามาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจนอกจากที่เคยเสนอ ครม. อนุมัติแล้ว

  • ค่าเช่าที่ของราชพัสดุ, ท้องถิ่น, รัฐวิสาหกิจ
  • การขยายเวลาหรือผ่อนผันค่าธรรมเนียมตามกฎระเบียบต่าง ๆ
  • ตลาดหุ้น
  • อื่น ๆ (ช่วยผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการ)

14. ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องช่วยเจรจาขอเลื่อนหรือลดผลกระทบจากมาตรการของรัฐ เช่น การคืนเปลี่ยนตั๋วช่วงสงกรานต์ (คค.) การขอความร่วมมือจากนายจ้างแจ้งลูกจ้างที่จะลากลับบ้านช่วงสงกรานต์ว่าไม่ควรกลับ โดยเฉพาะการไป ตปท. เพราะอาจกลับเข้ามายาก (รง.) เงินประกันสังคม (รง.) การส่งสินค้าออก (พณ.) การผ่อนผันการชำระหนี้ การบังคับคดี การขายฝาก (ยธ.) การประชุมผู้ถือหุ้นโดยขยายเวลาหรือใช้ระบบประชุมทางไกลแทน (กค. กลต. ดส.)

15. การตรวจโรค ถ้าแพทย์สั่งหรือแนะให้ตรวจเพราะมีสิ่งบ่งชี้ – ฟรี ถ้าอยากรู้ ตรวจเอง ไม่มี สิ่งบ่งเชื้อ (ปัญหาคือจะมีนับล้านคน เสี่ยงการไป รพ. สุขภาพจิตเสีย คนป่วยจริงเสียโอกาส)- จ่ายเอง แต่ถ้าพบว่าผลเป็น positive – รัฐตรวจรักษาฟรี

สรุป ขณะนี้ไทยยังไม่ได้ปิดประเทศ แต่เข้าประเทศจะยากขึ้น/อยู่ในระยะ 2 โดยชะลอระยะ 2 ให้นานที่สุด ใช้มาตรการควบคุม ป้องกัน รักษา และสื่อสาร โดยถือว่า COVID-19 เป็นปัญหาอันดับ 1 ผลกระทบ ทางเศรษฐกิจเป็นอันดับรองของประเทศและของโลกเพราะ ถ้าสถานการณ์โรคบรรเทาลงแล้วยังฟื้นฟูได้/ประเมินสถานการณ์ COVID และปัญหาเศรษฐกิจรายวัน แต่เตรียมพร้อมรับมือและพร้อมจะปรับเปลี่ยนโดยยก – ลดระดับ ทุกวัน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ