ขอความเห็นชอบการให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968

ข่าวการเมือง Tuesday April 7, 2020 19:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968 (Convention on Road Traffic, 1968) โดยขอตั้งข้อสงวนตามนัยข้อ 54 วรรค 1 ของอนุสัญญาฯ ได้แก่

1. ไทยจะไม่ผูกพันโดยข้อ 52 ของอนุสัญญาฯ เกี่ยวกับการยอมรับอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตามที่ไทยเคยมีคำแถลงเมื่อครั้งลงนามอนุสัญญาฯ ดังนี้ “The Kingdom of Thailand does not consider itself bound by the provisions of article 52 of the Convention on Road Traffic according to any dispute between two or more Contracting Parties which relates to the interpretation or application of the Convention may be referred, at the request of any one of the Parties, to the International Court of Justice.”

2. ไทยจะพิจารณาคำว่า “รถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก” (Moped) หมายถึง รถจักรยานยนต์ ดังนี้ “Pursuant to the provisions of article 3(5) and article 54 (2) of the Convention on Road Traffic, the Kingdom of Thailand shall treat mopeds as motorcycles for the purpose of the application of the Convention” และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการยื่นสัตยาบันสารอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968 ต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (เลขาธิการ UN) ตามนัยข้อ 45 วรรค 2 ของอนุสัญญาฯ หลังจากคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ตามข้อ 1.1 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

ทั้งนี้ กรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงคมนาคมสามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558

สาระสำคัญของเรื่อง

1. คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968 (Convention on Road Traffic, 1968) โดยไทยจะจัดทำแถลงการณ์เกี่ยวกับการตั้งข้อสงวนต่ออนุสัญญาฉบับนี้ตามนับข้อ 54 วรรค 1 ของอนุสัญญาฯ ได้แก่ (1) ไทยจะไม่ผูกพันตามข้อ 52 ของอนุสัญญาฯ เกี่ยวกับการยอมรับอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตามนัยข้อ 54 วรรค 1 ของอนุสัญญาฯ และ (2) การถือว่า “Mopeds” หมายถึง รถจักรยานยนต์ ตามที่ไทยเคยมีแถลงการณ์ไว้ในขณะที่ไทยได้ลงนามอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2511 ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968 แล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะได้ดำเนินการยื่นสัตยาบันสารอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968 ต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ตามนัยข้อ 45 วรรค 2 ของอนุสัญญาฯ ต่อไป

2. อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968 พัฒนามาจากอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1949 (ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1949 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2505 และได้อนุวัติกฎหมายในประเทศ คือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าวและมีผลบังคับใช้แล้ว) โดยอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ มีหลักการสำคัญที่คล้ายคลึงกัน คือ เป็นเครื่องมือกฎหมายในการพัฒนากฎจราจรภายในประเทศภาคีอนุสัญญาให้สอดคล้องและมีมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางถนน รวมถึงจะช่วยขจัดข้อจำกัดในเรื่องการยอมรับใบอนุญาตขับรถของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ออกตามอนุสัญญานี้ จึงถือเป็นการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวภายในประเทศด้วย นอกจากนี้ การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968 เป็นการเพิ่มโอกาสที่ใบอนุญาตขับรถของประเทศไทยที่ออกตามอนุสัญญานี้จะได้รับการยอมรับและอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยให้สามารถนำไปใช้ขับขี่ในประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968 ได้อีกกว่า 76 ประเทศ เช่น รัฐบาห์เรน สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน สมาพันธรัฐสวิส เป็นต้น [ปัจจุบันใบอนุญาตขับรถของประเทศไทยสามารถนำไปใช้ได้เฉพาะในประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1949 (97 ประเทศ) โดยรวมถึงบางประเทศที่แม้มิใช่ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1949 แต่มีการยอมรับใบอนุญาตขับรถที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1949 เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สมาพันธรัฐสวิส เป็นต้น และประเทศภูมิภาคอาเซียนตามกรอบความตกลงอาเซียนเท่านั้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ