ขอความเห็นชอบในการเข้าเป็นภาคีพิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972

ข่าวการเมือง Tuesday April 7, 2020 20:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมติเห็นชอบ อนุมัติ และรับทราบ ดังนี้

1. เห็นชอบในการเข้าเป็นภาคีพิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972 หรือพิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยไม่ต้องตั้งข้อสงวนตามข้อ 7 ของพิธีสารฯ ในเรื่องขอบเขตการใช้บังคับ

2. เห็นชอบพิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972 หรือพิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 และภาคผนวกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสารฯ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

3. ให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำภาคยานุวัติสาร (Instrument of Accession) เพื่อเข้าเป็นภาคีพิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972 ภายหลังจากที่การเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และร่างพระราชบัญญัติการป้องกันมลพิษทางทะเลเนื่องจากการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล พ.ศ. …. ได้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว

4. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการป้องกันมลพิษทางทะเลเนื่องจากการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรเมื่อพิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972 หรือพิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว

5. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

6. ให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของพิธีสารและร่างพระราชบัญญัติ

1. พิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการควบคุมการทิ้งเทลงในทะเลโดยห้ามทิ้งเทของเสียและวัสดุอย่างอื่นจากเรือ อากาศยาน แท่นหรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล ดังนี้

1.1 กำหนดให้มีผลใช้บังคับบริเวณทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีป ยกเว้นบริเวณน่านน้ำภายใน อย่างไรก็ตาม รัฐภาคีจะพิจารณาการใช้บังคับบทบัญญัติในพิธีสารกับการทิ้งเทหรือเผาในเขตน่านน้ำภายใน หรือใช้ระบบการอนุญาตและมาตรการทางกฎหมายอื่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมการทิ้งของเสียหรือวัสดุอย่างอื่นอย่างจงใจลงทะเลในเขตน่านน้ำภายในก็ได้

1.2 กำหนดกิจกรรมที่ต้องมีการขออนุญาต ได้แก่ การทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล การเก็บวัสดุต่าง ๆ ใต้ทะเลหรือดินใต้ผิวดินในทะเล และการห้ามเผาวัสดุทุกชนิดและทุกประเภทในทะเล

1.3 กำหนดให้การทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล และการเก็บวัสดุต่าง ๆ ใต้ทะเลหรือดินใต้ผิวดินในทะเลจะต้องเป็นการทิ้งเทหรือเก็บวัสดุจากเรือหรืออากาศยานซึ่งไม่รวมถึงเรือและอากาศยานที่ได้รับความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ แท่นขุดเจาะ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล

1.4 กำหนดให้ของเสียหรือวัสดุอื่นที่สามารถทิ้งเทลงทะเลได้จะต้องได้รับอนุญาตก่อนทำการทิ้งเท จำนวน 8 ประเภท ได้แก่ วัสดุที่ขุดลอก กากตะกอนน้ำเสีย ของเสียจากอุตสาหกรรมประมงและวัสดุจากการปฏิบัติการอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ เรือหรือแท่นขุดเจาะหรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล วัสดุทางธรณีวิทยาหรืออนินทรีย์สารที่มีความเฉื่อย วัสดุอินทรีย์จากธรรมชาติ วัตถุขนาดใหญ่ และกระแสคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ วัสดุทั้ง 8 ประเภทข้างต้นจะต้องได้รับการอนุญาตก่อนทำการทิ้งเทโดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาต ให้เป็นไปตามที่รัฐภาคีกำหนด

1.5 กำหนดให้รัฐภาคีต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะใช้ประกอบการพิจารณาประเมินการทิ้งเท ได้แก่ การป้องกันการเกิดของเสีย ทางเลือกในการจัดการของเสีย คุณสมบัติทางเคมี กายภาพและชีวภาพ รายการจัดชั้นสาร สถานที่ทิ้งเท และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

1.6 กำหนดข้อยกเว้นให้รัฐภาคีสามารถออกใบอนุญาตให้สามารถทิ้งเทวัสดุหรือของเสียลงทะเลได้ หากเข้ากรณีต่อไปนี้

1.6.1 มีเหตุจำเป็นต้องรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตมนุษย์ เรือ อากาศยาน แท่นขุดเจาะหรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล ไม่ว่าด้วยเหตุสุดวิสัยจากความรุนแรงของสภาพอากาศ หรือด้วยเหตุสุดวิสัยใด ๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ ภัยคุกคามต่อเรือ อากาศยาน แท่นขุดเจาะ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล โดยที่การทิ้งเทหรือเผาของเสียหรือวัสดุในทะเลนั้นเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะป้องกันมิให้เกิดภัยคุกคามดังกล่าว รวมถึงป้องกันอันตรายต่อชีวิตมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตในทะเล

1.6.2 เหตุฉุกเฉินจำเป็นที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์ ความปลอดภัยหรือสิ่งแวดล้อมทางทะเล

อย่างไรก็ตาม รัฐภาคีอาจสละสิทธิ์ในการใช้ข้อยกเว้นข้างต้นได้ โดยให้แจ้ง ณ เวลาที่ได้มีการให้สัตยาบันหรือการภาคยานุวัติพิธีสารนี้

2. ร่างพระราชบัญญัติการป้องกันมลพิษทางทะเลเนื่องจากการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล พ.ศ. …. เป็นร่างพระราชบัญญัติที่ออกเพื่อรองรับพันธกรณีตามพิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 มีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 กำหนดให้มีผลบังคับใช้บริเวณทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีป ยกเว้นบริเวณน่านน้ำภายใน

2.2 กำหนดรองรับเนื้อหาของพิธีสารลอนดอนฯ ในข้อ 1.2 – 1.6 โดยกำหนดให้วัสดุที่สามารถทิ้งเทในทะเลได้ จำนวน 8 ประเภท และกระบวนการและขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตให้ทิ้งเทวัสดุทั้ง 8 ประเภท ตามข้อ 1.4 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

2.3 กำหนดให้มี “คณะกรรมการป้องกันมลพิษทางทะเลเนื่องจากการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่น” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

2.3.1 กำหนดนโยบายและแผนป้องกันมลพิษทางทะเล เนื่องจากการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่น รวมทั้งกำหนดแนวทางและให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำกับดูแลการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

2.3.2 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประเมินการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่น รวมถึงกำหนดคุณสมบัติของบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในการประเมินการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นที่ต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนพิจารณาให้ความเห็นชอบในรายงานการประเมินการทิ้งเทของเสีย หรือวัสดุอื่น

2.3.3 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย รวมทั้งปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

2.4 กำหนดบทกำหนดโทษ ดังนี้

2.4.1 มาตรการทางปกครอง กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษจากการทิ้งเทหรือเผาของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล หรือกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

2.4.2 มาตรการทางแพ่ง กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเป็นการลงโทษทางแพ่งเพิ่มเติมขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ทิ้งเทหรือเผารู้อยู่แล้วว่าของเสียหรือวัสดุอื่นนั้นเป็นของที่ไม่ปลอดภัย หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเมื่อรู้ว่าไม่ปลอดภัยภายหลังทิ้งเทนั้นแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ ตามสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งกรณี

2.4.3 กำหนดให้ผู้กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล ทิ้งเทหรือเผาของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเลโดยไม่มีเหตุจำเป็นหรือฉุกเฉินซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายนี้ หรือกระทำการฝ่าฝืนใบอนุญาตต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้น

2.4.4 กำหนดให้ผู้กระทำฝ่าฝืนข้อห้ามเผาของเสียหรือวัสดุอื่นในทะเล ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ