ขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 101 สาย อำเภอร้องกวาง – น่าน ตอน บ้านห้วยแก๊ต – บ้านห้วยน้ำอุ่น จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน

ข่าวการเมือง Tuesday April 28, 2020 19:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2529 [เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เรื่อง การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำยมและน่าน และข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำ] และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 (เรื่อง ขอผ่อนผันใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อก่อสร้างทางเพื่อความมั่นคง) เพื่อให้กระทรวงคมนาคม (คค.) โดยกรมทางหลวงใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 101 สาย อำเภอร้องกวาง – น่าน ตอน บ้านห้วยแก๊ต – บ้านห้วยน้ำอุ่น จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน (โครงการฯ) ตามที่ คค. เสนอ ซึ่ง กก.วล. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) เพื่อใช้ประกอบการดำเนินโครงการแล้ว

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า

1. โครงการฯ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสายทางของโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) เพื่อเป็นโครงข่ายถนนสายหลักในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย แพร่ และน่าน ตามโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 101 หรือโครงการก่อสร้างทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ (ประเทศไทย – สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว – สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม – สาธารณรัฐประชาชนจีน) ตามแนวทางหลวงอาเซียนหมายเลข 13 (AH 13) ซึ่งทางหลวงหมายเลข 101 เป็นสายทางหลักจากจังหวัดแพร่ไปยังจังหวัดน่าน ในปัจจุบันมีปริมาณรถบรรทุกที่ใช้เส้นทางดังกล่าวในการเดินทางไปยังด่านห้วยโก๋นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวจะมีปริมาณจราจรที่หนาแน่น เนื่องจากจังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติขุนเขา อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันถนนดังกล่าวบางช่วงมีขนาดเป็น 2 ช่องจราจร สภาพเส้นทางเป็นเขาคดเคี้ยว เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องทางจราจร

2. โครงการฯ มีจุดเริ่มต้นโครงการจากอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ที่ กม. 183 + 750 (กม. 300 + 049 ใหม่) และสิ้นสุดโครงการที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ที่ กม. 199 + 900 (กม. 316 + 199 ใหม่) ระยะทางรวม 16.150 กิโลเมตร ใช้มาตรฐานชั้นทางพิเศษ ผิวทางแอสฟัลติกคอนกรีต (Asphaltic Concrete) กว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร เกาะกลางแบบยก (Raised Median) หรือแบบกำแพงคอนกรีต (Concrete Barrier) โดยโครงการฯ ตัดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ จำนวน 1 จุด เริ่มต้นที่ กม. 199 + 700 ถึง กม. 199 + 900 (กม. 315 + 999 ถึง กม. 316 + 199 ใหม่) รวมระยะทาง 200 เมตร

3. กรมทางหลวงได้จัดทำรายงาน EIA ภายใต้ชื่อโครงการทางหลวงหมายเลข 101 สาย อำเภอ ร้องกวาง – น่าน ตอน 2 เริ่มต้นที่ กม. 190 + 225 (กม. 306 + 524) ถึง กม. 200 + 400 (กม. 316 + 699 ใหม่) รวมระยะทาง 10.175 กิโลเมตร (ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการฯ) โดยได้ระบุว่า สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันและเป็นที่ราบสลับเนินเขา สภาพพื้นที่สองข้างทางเป็นป่า ป่าละเมาะ สวนไม้สัก และไร่ข้าวโพด มีพื้นที่ชุมชนอยู่ตามแนวสองข้างทางในบางส่วน แนวโครงการตัดผ่านแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ ห้วยแม่คำมี ห้วยแม่สาคร และห้วยน้ำอุ่น ผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำสาและป่าแม่สาครฝั่งซ้าย อีกทั้งตัดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ จำนวน 2 จุด รวมระยะทาง 400 เมตร ได้แก่ (1) เริ่มต้นที่ กม. 199 + 700 ถึง กม. 199 + 900 (กม. 315 + 999 ถึง กม. 316 + 199 ใหม่) ระยะทาง 200 เมตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ที่ คค. นำเสนอมาในครั้งนี้ และ (2) เริ่มต้นที่ กม. 200 + 200 ถึง กม. 200 + 400 (กม. 316 + 499 ถึง กม. 316 + 699 ใหม่) ระยะทาง 200 เมตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ คค. นำเสนอมาในครั้งนี้ โดยโครงการมีอัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 15.37

4. กก.วล. ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 ได้ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ (คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ) โดยให้กรมทางหลวงรับความเห็นของ กก.วล. ไปพิจารณาดำเนินการในประเด็นความเหมาะสมของท่อลอดและทางระบายน้ำ รวมถึงการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรื่องสัตว์ในระบบนิเวศและดำเนินการ ดังนี้

4.1 ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ในการประชุมครั้งที่ 15/2561 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 อย่างเคร่งครัด

4.2 ให้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ เช่น

องค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง / มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ทรัพยากรดิน

  • บำรุงรักษาโครงสร้างที่ช่วยในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินอย่างต่อเนื่อง
  • ดูแลพืชคลุมดินอยู่เสมอ หากพบว่าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ให้ปลูกใหม่ทดแทนชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 เอ
  • ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านทรัพยากรดิน คุณภาพน้ำผิวดิน และนิเวศวิทยาทางน้ำอย่างเคร่งครัด
  • กำหนดเขตการก่อสร้างให้ชัดเจน ควบคุมผู้รับจ้างให้ดำเนินการก่อสร้างภายในเขตก่อสร้างที่กำหนดไว้เท่านั้นและห้ามใช้พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่1 เอ ในการทำกิจกรรมอื่น ๆ

การโยกย้ายและการเวนคืน

  • กำหนดให้มีขั้นตอนการจัดซื้อโดยวิธีปรองดอง
  • จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่
  • จ่ายเงินภายใน 120 วัน นับแต่วันทำสัญญา

องค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง / มาตรการติดตามและตรวจสอบ

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทรัพยากรดิน

  • สำรวจสภาพโครงสร้างป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
  • สำรองสภาพพืชที่ปลูกคลุมดินไว้
  • สำรวจสภาพรางรับน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อยู่เสมอ

4.3 นำความเห็นของ กก.วล. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาตามมาตรา 49 และมาตร 51/6 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ต่อไป โดย กก.วล. ได้มีความเห็น ดังนี้

4.3.1 การออกแบบท่อลอดและทางระบายน้ำสำหรับสัตว์ป่าขนาดเล็กที่อาศัยและหากินตามพื้นดิน โดยเฉพาะสัตว์เลื้อยคลาน ควรมีการปรับขนาดและรูปแบบให้เหมาะสมกับสัตว์ที่สำรวจพบในพื้นที่โครงการและความเหมาะสมในการใช้งาน

4.3.2 ควรดำเนินการมาตรการติดตามและตรวจสอบผลกระทบอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องสัตว์ในระบบนิเวศควรมีการสำรวจและติดตามอย่างต่อเนื่องและชัดเจนมากกว่าปีละครั้ง เนื่องจากจะมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละฤดูกาล

5. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่บางส่วนได้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ดังนั้น หาก คค. พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ ขอให้ คค. ดำเนินการผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2529 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 รวมทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน การบำรุงรักษาป่าธรรมชาติ การปลูกป่าทดแทน และการป้องกันการบุกรุกป่าจากการดำเนินโครงการ ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะเปิดดำเนินการ และขอให้ คค. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระเบียบ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

6. ในส่วนของงบประมาณ สำนักงบประมาณ (สงป.) ได้เห็นชอบความเหมาะสมของราคาค่าก่อสร้างโครงการฯ ในวงเงิน 1,093,900,000 บาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 220,000,000 บาท ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายแล้ว ส่วนที่เหลือ จำนวน 873,900,000 บาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2565 ต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ