เสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษา สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

ข่าวการเมือง Tuesday May 26, 2020 19:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความตระหนักและส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยต่อไป ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับแนวทางดังกล่าวไปพิจารณาใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจต่อไป

2. เห็นชอบให้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนกรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันพระปกเกล้าให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กสม. รายงานว่า กสม. ได้พัฒนาการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการเสริมสร้างทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน อันจะเป็นรากฐานในการสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้นำมาซึ่งความผาสุกของสังคมและประเทศชาติต่อไป ทั้งนี้ ได้ดำเนินการโดยมุ่งหมายให้เกิดการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ ดังนี้

1. การส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการเผยแพร่ความรู้และพัฒนาความเข้มแข็งด้านสิทธิมนุษยชน อันจะช่วยสร้างเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน และทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและดำเนินงานต่าง ๆ ตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงาน โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจะเกิดขึ้นกับประชาชน สร้างความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว กสม. ได้ดำนินการอย่างมีส่วนร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาใน กสม. ผู้แทนสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาและกระบวนการยุติธรรมจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกลุ่มเป้าหมาย ต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ให้เกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ที่มุ่งเน้นที่จะก่อให้เกิดสังคมแห่งความเสมอภาค โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง สร้างโอกาสที่เป็นธรรม โดยไม่แบ่งแยก และคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ประกอบด้วย หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาพื้นฐาน หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกระบวนการยุติธรรม หลักสูตรประกาศนียบัตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง และหลักสูตรธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ

2. การส่งเสริมเผยแพร่ให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของแต่ละบุคคลที่ทัดเทียมกัน และการเคารพสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นซึ่งอาจแตกต่างกันในทางวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา โดยได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการซึ่งกำกับดูแลสถานศึกษาในสังกัดกว่า 30,000 แห่ง มีบุคลากรทางการศึกษากว่า 400,000 คน ทำหน้าที่สนับสนุนและให้การศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กนักเรียนในประเทศกว่า 7,000,000 คน ดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมในการจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อใช้เป็นแนวทางอย่างเป็นระบบในการสร้างเสริมสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ช่วงวัยเรียน/วัยรุ่นตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์โดยคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาพื้นฐาน ประกอบด้วย คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษา 5 ช่วงชั้น (ระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษาตอนต้น ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ