รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

ข่าวการเมือง Tuesday June 16, 2020 17:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ และให้ส่งความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาต่อไป ดังนี้

1. รับทราบผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และรายงานสรุปผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุง พัฒนาและยกระดับ ตลอดจนเตรียมความพร้อมรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

2. รับทราบรายชื่อหน่วยงานที่ดำเนินการไม่ครบตามขั้นตอนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด

3. ให้ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสใน การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยเตรียมพร้อมในการประเมินอย่างต่อเนื่องและให้ข้อมูลประกอบการประเมินที่เกิดจากการดำเนินงานหรือที่เกิดจากการให้บริการประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงนำผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มาใช้ในการพัฒนาหน่วยงาน

4. ให้ทุกกระทรวงพิจารณากำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวง หรือกลุ่มส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ได้มีบทบาทในการเตรียมความพร้อมและยกระดับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

5. ให้องค์กรสื่อของรัฐ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วประเทศรับทราบและเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน ซึ่งจะช่วยให้ผลการประเมินสามารถสะท้อนการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐได้ดียิ่งขึ้น

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า

1. การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) เป็นการดำเนินการตามตัวชี้วัด 10 ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561-2580) โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน รวมทั้งสิ้น 8,299 หน่วยงาน ดังนี้

หน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมิน / จำนวน

องค์กรอิสระ / 5 หน่วยงาน

องค์กรศาล / 3 หน่วยงาน

องค์กรอัยการ / 1 หน่วยงาน

หน่วยงานในสังกัดรัฐสภา / 3 หน่วยงาน

ส่วนราชการระดับกรม / 144 หน่วยงาน

องค์การมหาชน / 40 หน่วยงาน

รัฐวิสาหกิจ / 54 หน่วยงาน

หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ / 28 หน่วยงาน

กองทุน / 8 หน่วยงาน

สถาบันอุดมศึกษา / 83 หน่วยงาน

จังหวัด / 76 หน่วยงาน

หน่วยงานรัฐขอเข้าร่วม / 2 หน่วยงาน

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) / 7,852 หน่วยงาน

2. ผลการประเมินในภาพรวมของประเทศ ในปี 2562 หน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน 8,299 หน่วยงานนั้น มีผลการประเมิน ITA ในภาพรวมของประเทศไทยที่ 66.73 คะแนน จัดอยู่ในระดับ C โดยจำแนกออกเป็น 7 ระดับตามช่วงค่าคะแนน โดยสรุปผลในภาพรวมของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด สรุปได้ ดังนี้

ระดับผลการประเมิน ITA / จำนวนหน่วยงาน / ร้อยละ

AA / 34 / 0.41

A / 936 / 11.28

B / 1,671 / 20.13

C / 1,522 / 18.34

D / 1,860 / 22.41

E / 997 / 12.01

F / 1,038 / 12.51

ดำเนินการไม่ครบขั้นตอน (N/A) / 241 / 2.9

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการไม่ครบตามขั้นตอนการประเมินคุณธรรม ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีจำนวน 241 หน่วยงาน

(หมายเหตุ : การประมวลผลค่าเฉลี่ยของคะแนนจะนับเฉพาะหน่วยงานที่ดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนที่กำหนด)

3. ผลการประเมินรายตัวชี้วัดการประเมิน การประเมิน ITA ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้รับ การพัฒนาโดยมีเนื้อหาครอบคลุมหลายด้านซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณธรรม ความโปร่งใส และการทุจริต ทั้งที่มีลักษณะ การทุจริตทางตรงและการทุจริตทางอ้อม รวมไปถึงบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานในการนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข ลดโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐและส่งผลต่อการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทยในระยะยาวได้ โดยจำแนกออกเป็น 10 ตัวชี้วัด มีผลการประเมิน ดังนี้

1) การปฏิบัติหน้าที่ 88.72 คะแนน

2) การใช้งบประมาณ 79.91 คะแนน

3) การใช้อำนาจ 82.66 คะแนน

4) การใช้ทรัพย์สินราชการ 78.21 คะแนน

5) การแก้ไขปัญหาการทุจริต 79.24 คะแนน

6) คุณภาพการดำเนินงาน 79.60 คะแนน

7) ประสิทธิภาพการสื่อสาร 77.74 คะแนน

8) การปรับปรุงการทำงาน 74.72 คะแนน

9) การเปิดเผยข้อมูล 52.69 คะแนน

10) การป้องกันการทุจริต 42.34 คะแนน

ผลการประเมินตามตัวชี้วัดทั้ง 10 ตัวชี้วัดแสดงให้เห็นว่าตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ตัวชี้วัดที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ และตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ ตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต เมื่อพิจารณาผลการประเมินในทุกมิติแล้วพบว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องมีการพัฒนาและยกระดับผลการประเมินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI ประจำปี 2561 ที่ประเทศไทยได้รับคะแนนการประเมิน 36 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 99 จากประเทศที่เข้าร่วมการประเมินทั้งสิ้น 180 ประเทศ

4. ผลการประเมินตามประเภทของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำแนกได้เป็นประเภทหน่วยงานตามลักษณะทางกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน มีผลการประเมินของหน่วยงานภาครัฐแต่ละประเภท สรุปได้ดังนี้

4.1 ประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ องค์กรศาล องค์กรอัยการ หน่วยงานในสังกัดรัฐสภา รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ตามลำดับ ส่วนประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ตามลำดับ

4.2 ประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีสัดส่วนของหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์มากที่สุด ได้แก่ องค์กรศาล องค์กรอัยการ หน่วยงานในสังกัดของรัฐสภา กรมหรือเทียบเท่า และองค์การมหาชน ตามลำดับ ส่วนประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์น้อยที่สุด ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ตามลำดับ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ