การจัดทำข้อตกลงการบริหารจัดการกองทุน UN COVID-19 Response and Recovery Multi-Partner Trust Fund (UN COVID-19 MPTF)

ข่าวการเมือง Tuesday June 23, 2020 18:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อการจัดทำข้อตกลงการบริหารจัดการกองทุน UN COVID-19 MPTF และอนุมัติให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นผู้ลงนามข้อตกลงฯ ของฝ่ายไทย ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นจะต้องแก้ไขปรับปรุงร่างข้อตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนการลงนาม ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า การสนับสนุนงบประมาณแก่กองทุนฯ ดังกล่าว เป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมของไทยในกรอบสหประชาชาติในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเป็นการสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่ไทยเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council – ECOSOC) วาระปี ค.ศ. 2020 – 2022 ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยแสดงจุดยืนในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงอนุมัติงบประมาณ จำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,300,000 บาท เพื่อบริจาคสมทบกองทุนฯ ดังกล่าว และจะต้องจัดทำข้อตกลงการบริหารจัดการกองทุนฯ กับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) ตามขั้นตอนที่สหประชาชาติกำหนด เพื่อความโปร่งใสในการบริหารจัดการเงินบริจาค

2. ร่างข้อตกลงฯ ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับรายละเอียดการบริจาคเงินให้แก่กองทุนฯ และการใช้เงินของกองทุนฯ ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขซึ่งจะบังคับกับองค์การภายใต้สหประชาชาติที่เป็นผู้รับ (UN Recipient Organization) และตัวแทนบริหารจัดการ (Administrative Agent) โดยไม่มีการกำหนดพันธกรณีใด ๆ สำหรับผู้บริจาค (Donor)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 เลขาธิการสหประชาชาติประกาศจัดตั้งกองทุน “United Nations COVID-19 Response and Recovery Multi-Partner Trust Fund” หรือ “UN COVID-19 MPTF” เพื่อเป็นกองทุนระหว่างหน่วยงาน (inter-agency fund) ของสหประชาชาติ สำหรับสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง โดยกองทุนฯ มีเป้างบประมาณจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีระยะเวลาในการบริหารกองทุนฯ 2 ปี (จนถึงเดือนเมษายน 2565) ตามที่ข้อมูลเปิดเผย สถานะ ณ เดือนมิถุนายน 2563 มีประเทศต่าง ๆ บริจาคเพื่อสนับสนุนงบประมาณแก่กองทุนฯ แล้ว ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และสโลวาเกีย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ