ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการโครงการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

ข่าวการเมือง Wednesday July 29, 2020 16:34 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการโครงการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการโครงการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 171.60 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า

1. ผลการหารือทวิภาคีกับสหภาพยุโรปเมื่อเดือนธันวาคม 2562 มีข้อเสนอแนะจากสหภาพยุโรปว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ของประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถคงประสิทธิภาพการดำเนินการได้อย่างเข้มแข็งเหมือนช่วงก่อน การปลดใบเหลือง (ใบเหลืองคือการตักเตือนให้มีการปรับปรุงแก้ไข) และมีความเสี่ยงว่าหากประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจจะได้รับใบเหลืองครั้งที่ 2 โดยมีสาเหตุมาจาก (1) ประสิทธิภาพของระบบการตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมง (Monitoring Control and Surveillance : MCS) และศูนย์ติดตามและควบคุมเรือประมง (Fisheries Monitoring Center : FMC) มีแนวโน้มลดต่ำลง (2) การบริหารจัดการกองเรือและทรัพยากรประมงที่ยังต้องดำเนินการเพิ่มเติมตามที่ได้หารือ (3) ระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง และ (4) การบังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับมีเงื่อนไขการกีดกันทางการค้าในประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม โดยประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎระเบียบในการป้องกันการทำลายสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) จากการทำประมง ซึ่งหากไม่มีการเตรียมการและมีแผนบริหารจัดการที่ชัดเจน อาจส่งผลกระทบให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปประเทศสหรัฐอเมริกาได้ในปี 2565

2. ปีงบประมาณ 2563 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) และองค์การสะพานปลาได้รับจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอต่อการคงประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและมีงบประมาณบางส่วนจัดสรรคืนให้กับรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา/ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัย ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยกรมประมงโอนงบประมาณดังกล่าวตามร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 จำนวน 113.16 ล้านบาท ทำให้กรมประมงไม่สามารถเจียดจ่ายงบประมาณประจำปีเพื่อใช้ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายให้เป็นไปตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสหภาพยุโรป ทำให้อาจเกิดความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะได้รับใบเหลืองอีกเป็นครั้งที่ 2

3. คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ในการประชุม ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย และให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งมีรายละเอียดโครงการฯ ดังนี้

3.1 วัตถุประสงค์

1) เพื่อให้การทำประมงของประเทศไทยทั้งในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย เป็นไปอย่างถูกกฎหมาย มีการรายงาน และมีการควบคุมตามมาตรฐานสากล

2) เพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงการควบคุมไม่ให้สินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมายเข้ามาในห่วงโซ่การผลิต

3) เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า รายได้ คุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำในการประกอบอาชีพของประมงพื้นบ้าน

4) เพื่อการอนุรักษ์และความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ

3.2 วิธีดำเนินงาน

1) การปรับปรุงการเก็บข้อมูล ทั้งจากการทำประมงพาณิชย์และพื้นบ้านให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดชายทะเล และดำเนินการปรับปรุงวิธีการคำนวณค่าผลผลิตสัตว์น้ำสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield: MSY) ให้ถูกต้องแม่นยำและเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ทรัพยากรประมง

2) การตรวจสอบความถูกต้องและข้อเท็จจริงของการบริหารจัดการเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์

3) การตรวจสอบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงของเรือประมงไทยที่ทำการประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำไทย ทั้งก่อนออกทำการประมง ระหว่างทำการประมง และเมื่อกลับเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำ

4) การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ผลิตภัณฑ์ประมงจะมาจากการทำประมงแบบไม่ถูกต้อง เพื่อตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะสินค้าสัตว์น้ำที่มีปริมาณและมูลค่าการนำเข้าสูง

5) การดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรสัตว์ทะเลหายาก และสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

6) การจัดทำฐานข้อมูลคดีเพื่อบูรณาการการดำเนินการทางกฎหมาย และลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

7) การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในภาคประมง และการจัดหาแรงงานที่ถูกกฎหมาย

8) การส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดความเหลื่อมล้ำ

3.3 ระยะเวลาดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2563 ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน (กรกฎาคม – กันยายน 2563)

3.4 งบประมาณ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 171.60 ล้านบาท จำแนกได้ ดังนี้

1) กรมประมง เช่น โครงการจัดจ้างเพื่อขยายขอบข่ายระบบตรวจสอบย้อนกลับให้ครอบคลุมเรือประมงพื้นบ้าน งบประมาณ 118.98 ล้านบาท 2) กรมเจ้าท่า เช่น การกู้เรือ ทำลายเรือประมงที่กีดขวางทางเดินเรือ งบประมาณ 16.19 ล้านบาท

3) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น การจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย งบประมาณ 14.41 ล้านบาท

4) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เช่น การตรวจสถานประกอบกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ งบประมาณ 1.64 ล้านบาท

5) องค์การสะพานปลา เช่น การพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับ งบประมาณ 20.38 ล้านบาท

4. นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 171.60 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการฯ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กรกฎาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ