รายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562

ข่าวการเมือง Wednesday July 29, 2020 17:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอรายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562-31 พฤษภาคม 2563 (ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 มาตรา 6 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้ รง. จัดทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ จำนวนคดี การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานในงานประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ประกอบกับประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การรายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 กำหนดให้ รง. จัดทำรายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว เสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนกรกฎาคมของทุกปี) สรุปได้ดังนี้

1. ด้านนโยบาย (Policy) แต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน พร้อมออกกฎหมายลำดับรองเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงทั้งระบบ

2. ด้านการป้องกัน (Prevention) บริหารจัดการแรงงานประมงและเรือประมงให้เป็นไปตามกฎหมาย แก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทย ในรอบปีการประมง พ.ศ. 2563-2564 จำนวน 10,202 ลำ ออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์นอกน่านน้ำไทย จำนวน 6 ลำ จดทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำนอกน่านน้ำไทย จำนวน 9 ลำ ต่ออายุใบอนุญาตใช้เรือประมง จำนวน 9,575 ลำ ต่อใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงออกไปอีก 2 ปี จำนวน 34,590 คน ส่งเสริมการนำเข้าแรงงานประมงตามระบบ MOU จำนวน 1,280 คน ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวเพื่อแสดงความพร้อมในการทำงานบนเรือประมง จำนวน 92,233 คน จัดฝึกอบรมเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานประมงก่อนการทำงาน จำนวน 1,507 คน บริหารจัดการศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานประมง จำนวน 1,595 ราย และส่งเสริมให้สถานประกอบการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีไปใช้ จำนวน 13,086 แห่ง

3. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) ตรวจเรือประมง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) จำนวน 37,054 เที่ยว พบการกระทำความผิด 9 ลำ ตรวจเรือประมงกลางทะเล จำนวน 508 ลำ พบการกระทำความผิด 2 ลำ รวมทั้งจับกุมและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงานในประมงทะเล จำนวน 3 คดี

4. ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) ช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ จำนวน 3 ราย จ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเลโดยใช้กองทุนประกันสังคม จำนวน 2,068,238 บาท และกองทุนเงินทดแทน จำนวน 14,878,996 บาท ขึ้นทะเบียนกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าว จำนวน 70,867 คน และคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเล จำนวน 5 ราย

5. ด้านการมีส่วนร่วม (Partnership) จัดทำโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights Project) ร่วมกับสหภาพยุโรปและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยกำหนดและดำเนินมาตรการปกป้องและส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงานทางทะเลและแรงงานต่างด้าวจนนำไปสู่การให้สัตยาบันพิธีสารส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง นอกจากนี้ ได้จัดตั้งศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลจังหวัดสงขลา ตลอดจนดำเนินโครงการ ATLAS Project ร่วมกับกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ รง. ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเพื่อให้แรงงานในงานประมงได้รับการคุ้มครองสิทธิสอดคล้องตามมาตรฐานสากล เช่น การกำหนดแผนปฏิบัติการประจำปี การกำหนดกลไกในการดำเนินงานและบรรทัดฐานในการคุ้มครองแรงงานประมง การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและผลักดันกลไกของหน่วยงานภาครัฐ และการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กรกฎาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ