การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

ข่าวการเมือง Wednesday July 29, 2020 17:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 สิงหาคม 2563 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอเรื่องการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ดังนี้

1. เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ

2. การดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เชิญหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดฯ ในด้านต่าง ๆ ผู้แทนส่วนราชการและประชาคมข่าวกรองเข้าร่วมการประชุม โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติของส่วนราชการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลกยังรุนแรงอยู่ในหลายภูมิภาค และมีคนไทยจากต่างประเทศเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันได้มีการบังคับใช้มาตรการผ่อนคลายกิจกรรม/กิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาภายในราชอาณาจักร เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติยิ่งขึ้นและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคภายในประเทศ

2.2 ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่ายังมีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฯ เพื่อกำกับดูแลและบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ 1) การควบคุมการเดินทางเข้า – ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง 2) การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย และ 3) การกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่มีการบูรณาการกำลังจากพลเรือน ตำรวจ และทหาร เข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง

2.3 ที่ประชุมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าอำนาจตามพระราชกำหนดฯ นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญของภาครัฐในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศแล้ว ยังจะช่วยเอื้อประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นรองรับการดำเนินการในอนาคตอีกด้วย

2.4 สมช. ได้นำผลการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบผลการประชุม และมีมติให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กรกฎาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ