ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษและการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามสมัยพิเศษว่าด้วยโควิด-19

ข่าวการเมือง Thursday August 13, 2020 19:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษและการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามสมัยพิเศษว่าด้วยโควิด-19 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่าการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษและการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) สมัยพิเศษว่าด้วยโควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ซึ่งมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโควิด-19

1.1 ประเด็นสถานการณ์โควิด-19 ในภูมิภาค ประเทศสมาชิกได้เน้นย้ำความสำคัญของ การรักษาตลาดที่เปิดและไม่ใช้มาตรการจำกัดการค้าและการลงทุนโดยไม่จำเป็น เพื่อเป็นการรักษาห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งยืนยันที่จะลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปี 2563 โดยประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่าในการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและวางแผนฟื้นฟูในระยะยาวควรให้ความสำคัญกับ 3T คือ Technology Transparency และ Togetherness นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบข้อเสนอของเลขาธิการอาเซียนในการจะนำประสบการณ์จากสถานการณ์โควิด-19 มาประกอบการพิจารณาทบทวนหรือปรับปรุงความตกลงทาง การค้า สินค้าอาเซียน รวมทั้งความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาในอนาคตด้วย

1.2 การรับรองแผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 โดยกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็น โดยเฉพาะสินค้าทางการแพทย์และอาหารซึ่งต้องมี การอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อบรรเทาผลกระทบของการกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19

2. การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามสมัยพิเศษว่าด้วยโควิด-19

2.1 การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โดยในส่วนของประเทศไทยแจ้งว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศลดลง รัฐบาลจึงได้จัดทำมาตรการผ่อนปรนสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับการร่วมมือกันในการสร้างเสถียรภาพและ การฟื้นตัวให้กับห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค

2.2 การรับรองถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เพื่อร่วมมือกันหาแนวทางการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด -19 โดยเน้นย้ำประเด็นสำคัญ ได้แก่

(1) รักษาตลาดที่เปิดก้าวสำหรับการค้าและการลงทุนเพื่อเสริมสร้างการฟื้นตัวและความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาค

(2) แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการ

(3) อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจในภูมิภาคตามนโยบายของแต่ละประเทศโดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุข

(4) สนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ในการใช้เทคโนโลยี และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ

(5) ฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านเวที RCEP โดยผลักดันการลงนามให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 ทั้งนี้คาดว่าสมาชิกอาเซียนบวกสามจะสามรถให้การรับรองแผนปฏิบัติการดังกล่าวได้ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 23 ในเดือนสิงหาคม 2563

3. การหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียและสภาธุรกิจร่วมเกี่ยวกับแผนรับมือกับโควิด-19 โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษระดับสูงด้วย โควิด-19 เพื่อทำงานร่วมกับผู้แทนภาคเอกชนและจัดทำข้อเสนอแก่ผู้นำอาเซียนด้านการรับมือกับผลกระทบจาก โควิด-19 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน เดือนพฤศจิกายน 2563

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ