โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ข่าวการเมือง Tuesday August 25, 2020 16:31 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568)

2. อนุมัติกรอบวงเงินในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อดำเนินโครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG) จำนวน 5,408.77 ล้านบาท

สาระสำคัญของโครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG) มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2568) วงเงินลงทุนรวม 5,408.77 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ (SI) นักนวัตกร ตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้ และการทดลองปฏิบัติจริง ซึ่งครอบคลุม Industry Assessment Tools, Learning Station/Line และ testbed/sandbox และรวมไปถึงกิจกรรมวิจัยเพื่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ โดยมีสถานที่ตั้งโครงการ บนพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEci) วังจันทร์วัลเลย์โซน E (ARIPOLIS Pilot Plant) อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ

กรอบกิจกรรมการดำเนินงานและเป้าหมายในการจัดตั้ง SMC เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรม โดยกลยุทธ์การดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ EECi ผสมผสานกับแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ที่เกี่ยวข้อง จัดกลุ่มเป็น 2 ส่วนงานหลักคือ

1. ส่วนงานด้านพัฒนาผลงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบการผลิต (Manufacturing Management and Process Development) เพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัย พัฒนาและทดสอบในด้านกระบวนการพัฒนาต้นแบบการผลิตให้กับผู้ประกอบการ

2. ส่วนงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ (Manufacturing Product Development) เพื่อรองรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทดสอบศักยภาพ ในด้านกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ตลาดให้กับผู้ประกอบการ

โดยกิจกรรมย่อยทั้งหมดของโครงการ SMC ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ได้แก่

(1) Reference Architecture and Standards หมายถึง งานบริการทดสอบและจัดทำมาตรฐาน

(2) Service & Industry Promotion หมายถึง งานบริการและสนับสนุนอุตสาหกรรม : สร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่และสนับสนุนการประกอบธุรกิจเทคโนโลยีด้วยบริการครบวงจร

(3) Workforce Development หมายถึง งานด้านการพัฒนาคน : เตรียมความพร้อมและยกระดับทักษะแรงงาน สร้างและพัฒนาทักษะและความสามารถของบุคลากรในภาคเอกชน

(4) Pilot Line หมายถึง ศูนย์สาธิต ด้านอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ได้แก่ 1) Re-Manufacturing 2) Warehouse 3) Smart Energy & utility 4) Command unit 5) Maintenance

(5) Industry 4.0 Testlabs/Tested bed and R&I หมายถึง งานบริการทดสอบต้นแบบและผลิตภัณฑ์ งานวิจัยพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการร่วมวิจัยและนวัตกรรมกับภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ในการดำเนินงานจำเป็นต้องมีกลุ่มพันธมิตรสำคัญในการขับเคลื่อน SMC ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก 3 กลุ่มสมาชิก ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงข้อมูลและบริการลดหลั่นกันไปตามลำดับ ได้แก่

Tier 1 ได้แก่ กลุ่มร่วมทุน (Anchor) โดยมีเป้าหมายสำคัญในการก่อตั้งศูนย์ฯ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยตลอดห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ผลิตบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ตลอดจนผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องทั่วไป

Tier 2 ได้แก่ กลุ่มสมาชิก (member) ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

(1) ผู้ประกอบการที่นำผลิตภัณฑ์มาร่วมวาง/สาธิต/ทดสอบ ในศูนย์

(2) ผู้ประกอบการที่ใช้บริการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ

โดยกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญ คือ การพัฒนาต่อยอดผลงานบนฐานนวัตกรรมสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจรวมถึงการเผยแพร่ผลงาน เพื่อให้บริการในเชิงธุรกิจแก่กลุ่มอุตสาหกรรมและการบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

Tier 3 ได้แก่ กลุ่มเครือข่าย (Partners) เช่น กลุ่มเมกเกอร์ นักศึกษา บุคคลทั่วไป โดยมีบทบาทสำคัญ คือ การร่วมส่งเสริมให้มีการขยายผลการใช้งานและแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะทำให้เกิดการส่วนร่วมในระบบนิเวศนวัตกรรมอุตสาหกรรม

ขั้นตอนและแผนการดำเนินงาน โครงการ SMC ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะที่ 1 เริ่มปีงบประมาณ 2564 กลุ่มปฏิบัติการมุ่งเน้นด้านกระบวนการวางพื้นฐานองค์ความรู้ และองค์ประกอบสำหรับกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

2. ระยะที่ 2 เริ่มปีงบประมาณ 2565 – 2567 กลุ่มปฏิบัติการมุ่งเน้นด้านยกระดับกระบวนการการวางพื้นฐานทดสอบต้นแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

3. ระยะที่ 3 เริ่มปีงบประมาณ 2568 กลุ่มปฏิบัติการมุ่งเน้นด้านการพัฒนากระบวนการผลิตก้าวหน้า สู่การวางพื้นฐานและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตขั้นสูงของภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ

1. โครงสร้างพื้นฐานและกำลังคนเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ พร้อมให้บริการแก่หน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยตลอดห่วงโซ่การผลิต (Value chain)

2. ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ รวมถึงหน่วยงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสามารถทดสอบการขยายผลการวิจัยพัฒนาไปสู่การลงทุนต่อยอดผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ด้วยความพร้อมทั้งทางเทคนิคและศักยภาพการแข่งขัน 3. ศูนย์กลางเครือข่ายองค์ความรู้และโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีเพื่อการยกระดับการผลิตสินค้าและบริการของเขตนวัตกรรมอุตสาหกรรมเกิดใหม่แบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยและพร้อมสู่ระดับสากล ซึ่งจะเป็นปัจจัยดึงดูดนักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยต่างชาติ และนักลงทุน

ประมาณการรายได้รวมของโครงการและผลตอบแทนจากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาใน EECi ในระยะ 10 ปี

1. เกิดรายได้สำหรับการพึ่งพาตนเองลดภาระรายจ่ายงบประมาณภาครัฐของโครงการ SMC จะมุ่งเน้นการบริการในกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่และกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนรวม 2,349.25 ล้านบาท

2. เกิดโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ BCG โดยคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม เสริมมศักยภาพความเข้มแข็งทางการแข่งขันของผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมถึงก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและพัฒนาคุณค่าผลิตภัณฑ์และบริการด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมอัจฉริยะทั้งการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต รวมถึงการผลิตสินค้าและบริการใหม่ให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 จึงนับได้ว่าเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในการลงทุน

3. เกิดมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มเติมของผู้ประกอบการที่เข้ารับบริการจากโครงการ ศูนย์ฯ คาดว่าจะมีการปรับปรุงพัฒนากระบวนการ ผลิตอัจฉริยะเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นรวม 26,136.84 ล้านบาท

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ