หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน

ข่าวการเมือง Tuesday September 15, 2020 18:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะประกาศใช้บังคับไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 (ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 141 ที่บัญญัติให้ในกรณีพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 12 ที่บัญญัติให้ในกรณีที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกใช้ไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วมาใช้ไปพลางก่อนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการ สงป. กำหนดโดยอนุมัตินายกรัฐมนตรี) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. การจัดสรรงบประมาณ

หน่วยรับงบประมาณ

1. หน่วยรับงบประมาณทั่วไป

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณฯ

ให้ สงป. มีอำนาจจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ ของกรอบวงเงินของแผนงานและรายการตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมถึงที่มีการโอนงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 การโอนตามกฎหมายอื่น และการโอนตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

2. หน่วยรับงบประมาณที่ตั้งขึ้นใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ได้รับโอนงบประมาณรายจ่ายมาจากหน่วยรับงบประมาณอื่น*

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณฯ

  • ให้ สงป. มีอำนาจจัดสรรงบประมาณได้เต็มจำนวนงบประมาณรายจ่ายแต่ละแผนงานตามที่ได้รับโอนมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และหากยังไม่เพียงพอ สงป. อาจจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นได้

3. เทศบาลนคร เทศบาลเมือง*

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณฯ

  • ให้ สงป. จัดสรรงบประมาณให้ได้เฉพาะค่าใช้จ่ายบุคลากรและเงินสงเคราะห์หรือสวัสดิการที่จ่ายแก่ประชาชน ไม่เกินหนึ่งในสี่ของงบประมาณที่ได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

*ในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้ สงป. จัดสรรโดยไม่ต้องเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

2. การจัดสรรงบประมาณเกินกว่าหรือนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ข้างต้น ให้ สงป. มีอำนาจจัดสรรงบประมาณได้ตามความจำเป็น เฉพาะกรณี เช่น รายจ่ายตามข้อผูกพันสัญญาการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ และการดำเนินการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนแต่ต้องไม่เกินวงเงินงบประมาณรายจ่ายตามที่กำหนดไว้ในแต่ละแผนงานและรายการตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมถึงที่มีการโอนงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 การโอนตามกฎหมายอื่นและการโอนตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

3. การใช้จ่ายงบประมาณ ให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 โดยใหถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ ให้ สงป. มีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติในการอนุมัติเงินจัดสรรการบริหารงบประมาณรายจ่าย และการหักงบประมาณรายจ่ายออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และให้ผู้อำนวยการ สงป. มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้

4. การกำหนดวิธีปฏิบัติฯ สงป. จะแจ้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้ให้หน่วยรับงบประมาณทราบและให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันในไตรมาสที่ 1 และส่งให้ สงป. ภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 และเมื่อ สงป. พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว จะอนุมัติเงินจัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันได้เมื่อเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ