ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. .... และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่

ข่าวการเมือง Tuesday October 6, 2020 17:27 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. .... และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างระเบียบ

เป็นการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 และให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 ดังนี้

1. ร่างพระราชกฤษฎีกา

ปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ดังนี้

1.1 กำหนดนิยามคำว่า ?จังหวัด? ?กลุ่มจังหวัด? ?ภาค? ?แผนพัฒนาจังหวัด? ?แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด? ?แผนพัฒนาภาค? ?ภาคประชาสังคม? ฯลฯ

1.2 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ เรียกโดยย่อว่า ?ก.บ.บ.? ประกอบด้วย

(1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ

(2) รองนายกรัฐมนตรีทุกคน รัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการ ก.พ.ร. และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

(3) นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

(4) ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสภาเกษตรแห่งชาติ

(5) ผู้ทรงคุณวุฒิจาก ก.พ.ร. ซึ่งประธาน ก.พ.ร. กำหนดหนึ่งคน

(6) ผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสองคน

(7) ผู้แทนภาคประชาสังคมที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสองคน เป็นกรรมการ ให้เลขาธิการ สศช. เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการ สศช. ที่เลขาธิการ สศช. กำหนด ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

1.3 กำหนดหน้าที่และอำนาจของ ก.บ.บ. เช่น เพิ่มเติมอำนาจในการกำหนดกรอบนโยบายและวางระบบในการบริหารงานภาคแบบบูรณาการ, กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดทำแผนพัฒนาภาค, บูรณาการแผนของส่วนราชการและแผนพัฒนาระดับพื้นที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนในพื้นที่ของกระทรวง กรม สอดคล้องกับศักยภาพหรือประเด็นปัญหาในพื้นที่และเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

1.4 กำหนดหน้าที่งานธุรการของ ก.บ.บ. จากสำนักงาน ก.พ.ร. เป็น สศช. และให้แก้ไขระยะเวลาของแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด จาก 4 ปี เป็น 5 ปี

1.5 กำหนดให้ผู้ให้ความเห็นชอบแผน เดิมเป็นคณะรัฐมนตรี เปลี่ยนเป็นให้ ก.บ.บ. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบแทน และให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และกำหนดให้แก้ไขปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดหรือแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัดนำเสนอ ก.บ.จ. หรือ ก.บ.ก. พิจารณาแล้วแต่กรณี แล้วส่ง ก.บ.บ. ให้ความเห็นชอบ และกำหนดให้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาภาค และระยะเวลาของแผนพัฒนาภาค ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงในปัจจุบัน

1.6 กำหนดให้ประกาศ หลักเกณฑ์ แนวทาง มติ หรือคำสั่ง ซึ่งได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณการ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไป จนกว่าจะมีการออกประกาศ หลักเกณฑ์ แนวทาง มติ หรือคำสั่ง ตามพระราชกฤษฎีกานี้

2. ร่างระเบียบ

กำหนดให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560

ทั้งนี้ ก.พ.ร. เสนอว่า

1) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดหลักการการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ รวมทั้งการจัดทำงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นกรรมการและเลขานุการ และกำหนดให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของ ก.น.จ. และหน้าที่อื่นตามที่ ก.น.จ. กำหนด และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบกับมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาค โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บภ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และให้เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ

2) สำนักงาน ก.พ.ร. เห็นว่า โดยที่ในปัจจุบันการจัดทำและให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด การจัดทำและบริหารงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จะต้องปฏิบัติตามนโยบาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ ตามข้อ 1) ได้แก่ ก.น.จ. และ ก.บ.ภ. แต่โดยที่องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกัน จึงเห็นควรยุบรวมคณะกรรมการทั้ง 2 คณะดังกล่าว แล้วจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.บ.บ.) และกำหนดให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รับผิดชอบงานเลขานุการของ ก.บ.บ. เพียงหน่วยงานเดียว

3) ในการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ได้พิจารณา เรื่อง แนวทางการโอนภารกิจของ ก.น.จ. จากสำนักงาน ก.พ.ร. ไปยัง สศช. ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนออนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ เกี่ยวกับการตีความและวินิจฉัยปัญหากฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน (อ.ก.พ.ร.) พิจารณา ก่อนเสนอ ก.พ.ร. ให้ความเห็นชอบและให้ดำเนินการต่อไปได้

4) สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 และกำหนดให้จัดตั้ง ก.บ.บ. ขึ้น โดยยุบรวม ก.น.จ. แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 กับ ก.บ.ภ. แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 ให้เหลือเพียงคณะกรรมการเดียว และกำหนดให้ สศช. รับผิดชอบงานเลขานุการของ ก.บ.บ. ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการโอนงานภารกิจของ ก.น.จ. จากสำนักงาน ก.พ.ร. ไปยัง สศช. ตามข้อ 3) ซึ่งร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จะทำให้การดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด การจัดทำและบริหารงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัด มีการบูรณาการการทำงาน ลดความซ้ำซ้อนและดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

5) อ.ก.พ.ร. ได้ดำเนินการตามที่ ก.พ.ร. มีมติมอบหมายตามข้อ 3) โดยได้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. .... และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 พ.ศ. .... โดยมีผู้แทนจาก สศช. สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณ เข้าร่วมประชุมด้วย และเห็นด้วยกับร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 2 ฉบับดังกล่าว และให้นำเสนอ ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาต่อไป

6) ในการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. ... และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 พ.ศ. .... ตามข้อ 5) และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยมีข้อสังเกต เรื่อง องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) ว่า ก.บ.จ. มีความจำเป็นต้องมีผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษ เช่น เมืองพัทยา เข้าร่วมเป็นองค์ประกอบของ ก.บ.จ. เหมือนดังเช่นคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) หรือไม่ ทั้งนี้ ควรให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหารือเรื่องดังกล่าวร่วมกันในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ต่อไป

จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 2 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ