ร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 รวม 5 ฉบับ

ข่าวการเมือง Tuesday October 6, 2020 17:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 รวม 5 ฉบับ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปประกอบการตรวจพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงจำนวน 5 ฉบับ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เป็นการออกกฎกระทรวงเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเกี่ยวกับการใช้เงินกู้และให้สินเชื่อ การรับฝากเงิน ก่อหนี้ และสร้างภาระผูกพัน รวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การจัดชั้นสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และการจำกัดปริมาณการทำธุรกรรมกับลูกหนี้และเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง ของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน อันเป็นการสร้างเสถียรภาพแก่สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 89/2 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 (เรื่อง แนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน) รวมถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ซึ่งสั่งการว่า ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน รวมถึงกองทุนออมทรัพย์อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาทางการเงินให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินงานและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนี้

1. ร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ....

1.1 กำหนดให้สหกรณ์จะให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ 3 ประเภท ตามวัตถุประสงค์และเงื่อนไข ดังนี้

1.1.1 เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน เป็นการให้เงินกู้ในกรณีสมาชิกมีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนจะกำหนดงวดชำระนี้ได้ไม่เกิน 12 งวด

1.1.2 เงินกู้สามัญ เป็นการให้เงินกู้แก่สมาชิกมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายหรือการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ต่าง ๆ จะกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 150 งวด

1.1.3 เงินกู้พิเศษ เป็นการให้เงินกู้แก่สมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพ หรือการเคหะ หรือประโยชน์ในความมั่นคงหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต จะกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 360 งวด

1.2 กำหนดให้ผู้ขอกู้จะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย ดังนี้

1.2.1 มีความมั่นคงทางการเงิน และมีความสามารถในการชำระหนี้

1.2.2 มีความสามารถในการบริหารจัดการที่ดี และได้ปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ และระเบียบของทางราชการโดยเคร่งครัดสม่ำเสมอ

2. ร่างกฎกระทรวงการรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน ซึ่งรวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ....

2.1 กำหนดให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์กำหนดดอกเบี้ยเงินรับฝากทุกประเภทเป็นไปตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด

2.2 กำหนดให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้กู้เงินสามารถกู้เงินได้เฉพาะจากสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภท ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นในนิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุประสงค์ว่าด้วยการให้กู้ยืมเงิน กองทุนพัฒนาสหกรณ์หรือกองทุนอื่นตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด

2.3 กำหนดให้การก่อหนี้และภาระผูกพันของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จะต้องอยู่ภายในหลักเกณฑ์ ดังนี้

2.3.1 สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์จะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกิน 1.5 เท่า ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์

2.3.2 สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกิน 5 เท่า ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์

2.3.3 สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ไม่เกิน 3 ปี

3. ร่างกฎกระทรวงการบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ....

3.1 กำหนดให้สหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ปราศจากภาระผูกพัน เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร เงินฝากชุมนุมสหกรณ์หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยชุมนุมสหกรณ์ และหลักทรัพย์หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นต้น โดยเฉลี่ยรายเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของยอดเงินรับฝากทุกประเภท

3.2 กำหนดให้ชุมนุมสหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ปราศจากภาระผูกพัน เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร และหลักทรัพย์หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลไทย ธปท. หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นต้น โดยเฉลี่ยรายเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 ของยอดเงินรับฝากทุกประเภท

4. ร่างกฎกระทรวงการจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรองของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ....

4.1 กำหนดให้สหกรณ์จัดชั้นลูกหนี้เงินกู้ ได้แก่ ลูกหนี้จัดชั้นปกติ ลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ และลูกหนี้จัดชั้นสูญ

4.2 กำหนดให้สหกรณ์ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากต้นเงินคงเหลือสำหรับลูกหนี้จัดชั้น ดังนี้

4.2.1 ลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ ร้อยละ 2

4.2.2 ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ร้อยละ 20

4.2.3 ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย ร้อยละ 50

4.2.4 ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ ร้อยละ 100

4.2.5 ลูกหนี้จัดชั้นสูญ ร้อยละ 100

5. ร่างกฎกระทรวงการกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ....

5.1 สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จะฝากเงินหรือให้กู้เงินแก่สหกรณ์ทุกประเภทหรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนเรือนหุ้น รวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ฝากเงินหรือให้กู้เงิน แต่ไม่นับรวมถึงการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก

5.2 สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับสหกรณ์ทุกประเภทหรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของทุนเรือนหุ้น รวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ก่อหนี้และภาระผูกพัน ยกเว้นกรณีสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกรวมกันแล้ว ให้ทำได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ผู้ก่อหนี้และภาระผูกพัน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ