ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ด

ข่าวการเมือง Tuesday October 6, 2020 18:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ด (ตามมติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่าได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ด เพื่อป้องกันการทำลายหลักฐานที่สำคัญ อนุรักษ์เมืองเก่าไว้เป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลัง และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่อไป โดยพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่เมืองเก่ากลุ่มที่ 22 มีลักษณะเป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นกำแพงเมือง ? คูเมือง และได้รับการกำหนดเป็นโบราณสถานที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร รวมทั้งมีสถาปัตยกรรมและโบราณสถานที่ผ่านการวิเคราะห์และประเมินคุณค่าความสำคัญในด้าน ต่าง ๆ แล้ว เช่น ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ด้านอายุและความเก่าแก่ ด้านสภาพอาคารและสถานที่ เป็นต้น

2. ในการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้

2.1 ให้ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ดตามขอบเขตพื้นที่ตามที่ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นกับจังหวัด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546

2.2 กรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ดเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณาและจัดทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป

3. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ดมีเนื้อที่ทั้งหมด 3.01 ตารางกิโลเมตร โดยมีการแบ่งเป็นเขตพื้นที่ (Zoning) ดังนี้

พื้นที่ที่ 1 บริเวณใจกลางเมืองร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองเก่าร้อยเอ็ด ประกอบด้วย วัดบึงพระลานชัย สระชัยมงคล บึงพลาญชัย ศาลหลักเมือง สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด และอนุสาวรีย์ พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์

พื้นที่ที่ 2 บริเวณวัดกลางมิ่งเมือง วัดบูรพาภิราม วัดราษฎร์ศิริ และย่านการค้า ถนนผดุงพานิชด้านตะวันออก ประกอบด้วย แนวกำแพงเมือง ? คูเมือง ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ วัดกลางมิ่งเมืองวัดบูรพาภิราม วัดราษฎร์ศิริ ย่านชุมชนโดยรอบวัด และย่านการค้าถนนผดุงพานิชด้านทิศตะวันออก

พื้นที่ที่ 3 บริเวณวัดสระทอง วัดเหนือ วัดคุ้มวนาราม และย่านการค้าถนนผดุงพานิชด้านตะวันตก ประกอบด้วย แนวกำแพงเมือง ? คูเมืองทางค้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือวัดสระทอง วัดเหนือ วัดคุ้มวนาราม ย่านชุมชนโดยรอบวัด และย่านการค้าถนนผดุงพานิชด้านทิศตะวันตก

พื้นที่ที่ 4 บริเวณวัดสระแก้ว และย่านชุมชนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ประกอบด้วย แนวกำแพงเมือง - คูเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ วัดสระแก้วและชุมชนโดยรอบวัด และย่านชุมชนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้

พื้นที่ที่ 5 บริเวณย่านสถานที่ราชการ ประกอบด้วย แนวกำแพงเมือง - คูเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อาคารสถานที่ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และย่านชุมชนโดยรอบ

4. คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ดจะเป็นผู้กำหนด นโยบาย แผนงาน มาตรการ และแนวทางเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดยอาศัยกรอบแนวทางที่คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าได้จัดทำขึ้น ซึ่งรวมถึงประเด็นการบริหารจัดการ การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์โบราณสถาน และสถานที่ที่มีคุณค่าและความสำคัญ การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน การควบคุมการก่อสร้างและดัดแปลงอาคาร การควบคุมกิจกรรมบางประเภทที่ไม่เหมาะสม และมาตรการด้านอื่น ๆ เช่น มาตรการจูงใจทางด้านภาษี เป็นต้น ทั้งนี้ กรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ด ประกอบด้วยแนวทางทั่วไปและแนวทางสำหรับเขตพื้นที่สรุปได้ ดังนี้

4.1 แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาทั่วไป

แนวทาง -การดำเนินงาน

1. การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์

(1) การประชาสัมพันธ์โดยวิธีต่าง ๆ เช่น การพบปะพูดคุย การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ

(2) การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและจัดกิจกรรมเมืองเก่าอย่างต่อเนื่อง

2. การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน

(1) จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดกรอบการสร้างจิตสำนึกทางสังคม

(2) ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างกลไกการเรียนรู้ต่าง ๆ และจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน และกิจกรรมวันครอบครัวผ่านสื่อต่าง ๆ

3. การส่งเสริมกิจกรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น

จัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่ ฟื้นฟูงานเทศกาลต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

4. การส่งเสริมคุณภาพชีวิต

จัดให้มีบริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และธุรกรรมบริการที่ครบสมบูรณ์สำหรับผู้อยู่อาศัยในย่านเมืองเก่าและนักท่องเที่ยวทุกเพศวัย

5. การป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์และธรรมชาติ

(1) คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าระดับเมืองสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบหรือระงับยับยั้งกิจกรรมการพัฒนาก่อสร้างที่จะเป็นผลกระทบต่อโบราณสถานและแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม

(2) จัดให้มีการศึกษาปัญหาความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ วางแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันรักษาแหล่งศิลปวัฒนธรรมและจัดวางระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

6. การประหยัดพลังงานด้านการสัญจรและสภาพแวดล้อม

(1) ส่งเสริมพัฒนาทางเดินเท้า การใช้จักรยาน และพาหนะทางเลือก

(2) นำระบบกระบวนการธรรมชาติและสภาพภูมิประเทศมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านกายภาพของชุมชนเมืองเก่า

7. การดูแลและบำรุงรักษาอาคารและสาธารณูปการ ขยายบทบาทองค์กรปกครองท้องถิ่นในคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าระดับเมืองในการดูแลมิให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อลักษณะทางกายภาพที่สำคัญของสิ่งก่อสร้างในย่านเมืองเก่า และส่งเสริมให้มีการบำรุงรักษาสภาพภายนอกของอาคารอย่างต่อเนื่อง

4.2 แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาสำหรับเขตพื้นที่

แนวทาง -การดำเนินการ

1. ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน

(1) ลดการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนที่ไม่จำเป็นในเขตพื้นที่ศาสนสถาน

(2) ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อหัตถกรรม การท่องเที่ยว พาณิชยกรรม การอยู่อาศัย ศาสนสถาน สถานศึกษา หน่วยงานราชการ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ นันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น

(3) ที่ดินบนแนวกำแพงเมืองและคูเมืองจะต้องฟื้นฟูพื้นที่ขอบให้เห็นชัดเจน

2. ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม

รักษาสภาพแวดล้อมโดยกำหนดความสูง สัดส่วนพื้นที่ว่าง (Open Space Ratio) ขนาด ลักษณะ แบบ รูปทรงของอาคารให้สอดคล้องและกลมกลืน หรือไม่ทำลายโบราณสถานในพื้นที่

3. ด้านระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง

(1) ส่งเสริมให้มีทางเดินเท้าและการสัญจรด้วยยานพาหนะขนาดเบาเพื่อลดมลภาวะ เช่น รถจักรยาน รถลากจูง เป็นต้น

(2) ลดปริมาณการจราจร ห้ามรถบรรทุกหนักและรถขนาดใหญ่เข้าสู่พื้นที่

(3) จำกัดการก่อสร้างลานจอดรถขนาดใหญ่

4. ด้านการพัฒนาภูมิทัศน์

(1) สร้างเส้นทางต่อเนื่องระหว่างตำแหน่งองค์ประกอบเมือง โบราณสถานและพื้นที่เปิดโล่งในเมือง โดยจัดให้มีทางคนเดิน ทางจักรยาน หรือพาหนะขนาดเบา

(2) จัดทางคนเดินที่ปลอดภัย พร้อมอุปกรณ์สาธารณูปโภคอำนวยความสะดวก

5. ด้านการบริหารและการจัดการ

(1) ให้จังหวัดจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า

(2) ให้จังหวัดออกประกาศ เรื่อง มาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมีในบริเวณเมืองเก่า

(3) จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า และคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน

(4) วางนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเมืองเก่า

(5) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาคเอกชน

5. โดยที่เรื่องดังกล่าวได้จัดให้มีกิจกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ดแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 และวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเห็นด้วยกับขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ด

[2] คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ในการประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556 มีมติเห็นชอบการจัดลำดับความสำคัญเมืองเก่ากลุ่มที่ 2 รวม 27 เมือง ซึ่งรวมถึงเมืองเก่าร้อยเอ็ดด้วย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ