ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนกันยายน 2563

ข่าวการเมือง Tuesday October 20, 2020 17:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนกันยายน 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

หัวข้อ - สาระสำคัญ

1. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

1.1 ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

  • จัดประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบเรื่องสำคัญ เช่น

(1) การดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 (คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563)

(2) โครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563) และ

(3) การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ทั้ง 6 คณะ

  • จัดการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเมือง และภาคสื่อ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ โดย สศช. จะประมวลความคิดเห็นทั้งหมดเสนอคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายน 2563
  • พิจารณาแผนระดับที่สามตามนัยของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 มีหน่วยงานส่งแผนระดับที่สามมายัง สศช. รวมทั้งสิ้น 101 แผน 41 หน่วยงานจำแนกเป็น

(1) ผ่านกระบวนการพิจารณาและรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว จำนวน 60 แผน

(2) อยู่ระหว่างพิจารณากลั่นกรองหรือเห็นสมควรทบทวนปรับปรุงแผนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป จำนวน 30 แผน และ

(3) ผ่านกระบวนการพิจารณา ณ รอบเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 จำนวน 11 แผน

1.2 ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ

  • คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทุกคณะได้ส่งร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) มายัง สศช. แล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 โดยได้ปรับปรุงร่างแผนฯ ตามผลการรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งระบุกิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ทั้งนี้ สศช. จะเสนอร่างแผนฯ ให้ที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศทุกคณะพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ก่อนรายงานให้รัฐสภาทราบตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

1.3 ผลการดำเนินการอื่น ๆ

  • รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนมกราคม-มีนาคม 2563) ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 และต่อวุฒิสภา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และ 8 กันยายน 2563 โดยมีประเด็นภาพรวมของการอภิปรายที่สำคัญ เช่น

(1) การปรับปรุงรายงานความคืบหน้าฯ ให้สะท้อนความก้าวหน้าของการปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรม

(2) การนำประเด็นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ และ

(3) ข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ

  • เผยแพร่วีดิทัศน์เพื่อสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่าง ๆ ต่อการขับคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ได้แก่ วีดิทัศน์ชุด ?เราเท่ากัน? สร้างพลังสร้างสรรค์สังคมแห่งโอกาสโดยนำเสนอภาพลักษณ์ของคนพิการในเชิงบวกเพื่อปรับมุมมองของคนพิการและของสังดม ซึ่งจะทำให้คนพิการได้ตระหนักถึงคุณค่าของตนเองและพัฒนาศักยภาพให้พร้อมเพื่อเป็นแรงในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

2. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ

  • ประเด็นท้าทายที่มีความเสี่ยงสูงในการบรรลุเป้าหมาย คือ รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทยเพิ่มขึ้นโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการเตรียมการดำเนินกิจกรรมและโครงการที่สอดคล้องกับร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีภายหลังจากที่แผนดังกล่าวประกาศใช้ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของประเทศให้สามารถ ?ล้มแล้วลุกไว? เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ