การประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 และการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12

ข่าวการเมือง Tuesday November 10, 2020 19:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ? สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-ROK Summit Joint Statement) และการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 (Joint Statement of the 12th Mekong-Japan Summit) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ทั้งสองฉบับดังกล่าวตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วม ฯ ทั้งสองฉบับ
1. ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ? สาธารณรัฐเกาหลี ครั้ง 2 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศสมาชิกฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 ยินดีต่อพัฒนาการของกรอบความร่วมมือฯ ตามปฏิญญาแม่น้ำโขง ? แม่น้ำฮัน ที่ได้รับการรับรองในการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 1 ณ นครปูซาน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ที่เป็นการวางพื้นฐานที่สำคัญสำหรับกรอบความร่วมมือให้เข้มแข็งขึ้น และการยกระดับความร่วมมือสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อประชาชน ความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ

1.2 เน้นย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของประเทศสมาชิกในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 และลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนโรคโควิด-19 อย่างเท่าเทียมกัน การเปิดตลาด การส่งเสริมบทบาทภาคธุรกิจ ความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน และระบบการค้าพหุภาคี

1.3 รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลุ่มน้ำโขง ? สาธารณรัฐเกาหลี ค.ศ. 2017 ? 2020 และยินดีต่อการรับรองแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ ค.ศ. 2021 ? 2025 และการดำเนินบนพื้นฐานของ 3 เสาและ 7 สาขาความร่วมมือ

1.4 รับทราบความคืบหน้าของโครงการภายใต้กองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี และการสนับสนุนของสาธารณรัฐเกาหลีต่อกองทุนฯ

1.5 ยินดีต่อการกำหนดให้ปี 2564 ให้เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนความร่วมมือของประเทศ ลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลีในโอกาสครบรอบ 10 ปีของกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน

1.6 รับทราบถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันและสอดคล้องกันระหว่างความร่วมมือ ลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลีและกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในภูมิภาค

1.7 เน้นย้ำความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลี 2. ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศสมาชิกฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 แสดงความเสียใจต่อความสูญเสียและผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และแสดงความชื่นชมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความร่วมมือของประชาคมระหว่างประเทศในการรับมือกับภัยคุกคาม โดยเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหา ยินดีต่อการรับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามสมัยพิเศษว่าด้วยโรคโควิด-19 สนับสนุนการดำเนินการขององค์การอนามัยโลก พร้อมทั้งชื่นชมบทบาทของญี่ปุ่นในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

2.2 แสดงความชื่นชมต่อความก้าวหน้าของการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2018 ใน 3 สาขาหลัก ได้แก่

1) การพัฒนาความเชื่อมโยงที่ดีและมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพด้านคมนาคม พลังงาน ดิจิทัล กฎระเบียบ และอุตสาหกรรม รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุนและการเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน

2) การสร้างสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา การเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบสาธารณสุข การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งความร่วมมือทางกฎหมายและอาญา

3) การสร้างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทาภัยพิบัติและ การบริหารจัดการน้ำ

2.3 สานต่อการดำเนินความร่วมมือในอนาคต 3 แนวทาง ได้แก่ (1) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการตามข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2) ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และ (3) การดำเนินการตามแผนแม่บท ACMECS

2.4 ยินดีต่อความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นที่จะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโตเกียวในปี 2564 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านกีฬาและพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนของประเทศลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่น เพื่อวางรากฐานที่เข้มแข็งของ ?สังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง?

2.5 ยืนยันความตั้งใจจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 13 ในปี 2564 ที่ประเทศญี่ปุ่น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ