ร่างเอกสารผลลัพธ์ที่จะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27

ข่าวการเมือง Tuesday November 10, 2020 19:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 31 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารดังกล่าว และเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 และร่างปฏิญญาผู้นำว่าด้วยวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี ค.ศ. 2020 และอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารผลลัพธ์ข้างต้นในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารนาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 (ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ค.ศ. 2020) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในการรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่

(1) การบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 โดยเฉพาะการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดและดำเนินมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการฟื้นฟูและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

(2) การบรรลุการสร้างประชาคมเอเปคที่มีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยเปิดตัวปฏิญญาผู้นำว่าด้วยวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี ค.ศ. 2020 เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินการในช่วง 20 ปีข้างหน้า

(3) การพัฒนาบริบทว่าด้วยประเด็นการค้าและการลงทุนโดยย้ำความสำคัญของสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เสรีและเปิดกว้าง สนับสนุนการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎระเบียบ รวมถึงการส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคมผ่านแนวคิดการทำธุรกิจที่ครอบคลุม มีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม

(4) การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี และ

(5) การขับเคลื่อนความยั่งยืนรูปแบบใหม่และครอบคลุม โดยเอเปคสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2030 การปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการค้าที่มุ่งก่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม

2. ร่างปฏิญญาผู้นำว่าด้วยวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี ค.ศ. 2020 เป็นเอกสารกำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินงานของเอเปคใน 20 ปีข้างหน้า โดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการค้าและการลงทุนเสรี นวัตกรรมและกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การเติบโตที่สมดุล เข้มแข็ง ยั่งยืนและครอบคลุม รวมถึงการรักษาสถานะของเอเปคให้เป็นเวทีหลักของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดที่สำคัญ ทั้งนี้ ประเด็นที่ไทยผลักดันและได้รับการบรรจุอยู่ในร่างเอกสารฯ ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (เอ็มเอสเอ็มอี) และแนวทางการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานไปสู่ประเด็นที่ไทยจะผลักดันในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี 2565

3. ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 31 สรุปความร่วมมือในประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการรับมือและการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ได้แก่ การมุ่งส่งเสริมการค้าและการลงทุนเสรีเปิดกว้าง และยึดหลักกฎระเบียบเพื่อมุ่งสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ฟื้นฟูเศรษฐกิจและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 รักษาการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี การปฏิรูปโครงสร้าง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการที่มุ่งเน้นความร่วมมือที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุนควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ