รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2563

ข่าวการเมือง Tuesday December 8, 2020 19:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2563 และให้เสนอรัฐสภาทราบต่อไป

กค. เสนอว่า
1. มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติว่าภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้ กค.รายงานการกู้เงินและการค้ำประกันที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบ โดยรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดของการกู้เงินและการค้ำประกัน รวมถึงผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ ประกอบกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549 ข้อ 16 กำหนดให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะติดตามประเมินผลโครงการหรือแผนงานที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และจัดทำรายงานผลสำเร็จของโครงการนั้น ประกอบด้วยความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบของโครงการ และความยั่งยืนของโครงการเพื่อเสนอต่อ กค. พร้อมกับรายงานการกู้เงินและการค้ำประกันเสนอต่อกระทรวงการคลังเพื่อเสนอรัฐสภาทราบต่อไป
2. กค. ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประจำปีงบประมาณ 2563 เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย 2 ส่วน ดังนี้

2.1 รายงานการกู้เงินและการค้ำประกันที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้ว และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ

2.2 รายงานการประเมินผลโครงการพัฒนาและโครงการประจำปีงบประมาณ 2563 ตามหลักเกณฑ์การประเมินผล 5 ประการ ได้แก่ ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ (Relevance) ประสิทธิภาพ (Efficiency) ประสิทธิผล (Effectiveness) ผลกระทบ (Impact) และความยั่งยืนของโครงการ (Sustainability) โดยในปีงบประมาณ 2563 กค. โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ดำเนินการประเมินผลโครงการพัฒนาและโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จของรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง จำนวนรวม 15 โครงการ

จึงได้เสนอรายงานฯ มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของเรื่อง
1. รายงานการกู้เงินและการค้ำประกันที่กระทำในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

1.1 โครงสร้างของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติและรับทราบ มีวงเงินรวม 2,991,574.40 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 แผนงานย่อย ได้แก่

แผนงานย่อย - วงเงิน (ล้านบาท)

(1) แผนการก่อหนี้ใหม่ 1,656,020.40

(2) แผนการบริหารหนี้เดิม 968,510.10

(3) แผนการชำระหนี้ 367,043.90

1.2 รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 รวมทั้งสิ้น 2,364,050.34 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.02 ของแผน

1.3 กค. รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ บริหารและจัดการหนี้สาธารณะตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงินรวม 2,364,050.34 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ผลการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,298,592.66 ล้านบาท 2) ผลการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 685,126.56 ล้านบาท และ 3) ผลการชำระหนี้ วงเงิน 380,331.12 ล้านบาท และ กค. รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐได้ใช้เครื่องมือทางการเงินและอาศัยโอกาสที่ภาวะตลาดการเงินเอื้ออำนวยดำเนินการบริหารหนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) อยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด (ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP) อยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด (ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP) รวมทั้งสามารถจัดหาเงินกู้ที่มีต้นทุนต่ำและอยู่ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่เหมาะสม

1.4 การจัดหาเงินกู้ของภาครัฐทำให้รัฐบาลมีเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายในการบริหารประเทศ เพื่อการวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสให้แก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินโครงการแผนงานลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่สำคัญด้านต่าง ๆ เช่น (1) โครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) (2) โครงการรถไฟฟ้า จำนวน 5 โครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และ (3) โครงการพัฒนาระบบราง จำนวน 5 โครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ ? รังสิต โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จำนวน 3 โครงการ

1.5 การระดมทุนของรัฐบาลด้วยวิธีการออกพันธบัตรทำให้มีปริมาณการออกพันธบัตรอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอในการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark) เพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

1.6 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีจำนวน 7,848,155.88 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 49.34 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) โดยเป็นหนี้รัฐบาล จำนวน 6,734,881.76 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 795,980.29 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกันสินเชื่อ) (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 309,472.36 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 7,821.47 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 946,354.33 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.71 หนี้สาธารณะดังกล่าวสามารถจำแนกตามแหล่งที่มา โดยเป็นหนี้ต่างประเทศ 139,390.11 ล้านบาท และหนี้ในประเทศ 7,708,765.77 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.78 และร้อยละ 98.22 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ และจำแนกตามอายุหนี้คงเหลือ แบ่งเป็นหนี้ระยะยาว 6,770,098.48 ล้านบาท และหนี้ระยะสั้น 1,078,057.40 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 86.26 และร้อยละ 13.74 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

2. รายงานการประเมินผลโครงการพัฒนาและโครงการประจำปีงบประมาณ 2563

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กค. โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ดำเนินการประเมินผลโครงการพัฒนาและโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 15 โครงการ โดยทั้ง 15 โครงการดังกล่าว ได้มีแหล่งเงินกู้มาจากเงินกู้ในประเทศ (กค. ค้ำประกันเงินกู้ และ กค. ไม่ค้ำประกันเงินกู้) ดังนี้

รัฐวิสาหกิจ

1) โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้าจำนวน 112 คัน

เจ้าของโครงการ การรถไฟแห่งประเทศไทย

วงเงินกู้(ล้านบาท) 193.28

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ (กค. ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการขนส่ง ลดภาระขาดทุน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบการขนส่งด้วยระบบรางตามนโยบายรัฐบาล โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ C หมายถึง พึงพอใจ

2) โครงการทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี

เจ้าของโครงการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

วงเงินกู้(ล้านบาท) 2,245.17

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ(กค. ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการรองรับเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีกับปากทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยตรง ลดปัญหาการจราจร ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศ โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ B หมายถึง พึงพอใจมาก

3) แผนงานเปลี่ยนระบบสายป้อนอากาศเป็นสายป้อนใต้ดิน

เจ้าของโครงการ การไฟฟ้านครหลวง

วงเงินกู้(ล้านบาท) 200.00

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ(กค. ไม่ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้าและเพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์ให้สวยงาม โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ B หมายถึง พึงพอใจมาก

4) โครงการปรับปรุงขยายการประปาพัทยาจังหวัดชลบุรี

เจ้าของโครงการ การประปาส่วนภูมิภาค

วงเงินกู้(ล้านบาท) 765.65

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ (กค. ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการเพิ่มกำลังผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพัทยาให้สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำประปาที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของชุมชนในระยะเวลา 10 ปี ข้างหน้า โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ B หมายถึงพึงพอใจมาก

5) โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 7/1

เจ้าของโครงการ การประปานครหลวง

วงเงินกู้(ล้านบาท) 833.00

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ (กค. ไม่ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการยกเลิกใช้น้ำบาดาลและเพิ่มประสิทธิภาพการสูบจ่ายน้ำให้กับบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเชื่อมต่อระบบท่อ/อุโมงค์ส่งน้ำเส้นที่ 3 จากโรงงานผลิตน้ำบางเขนไปยังสถานีสูบจ่ายน้ำบางพลีให้ครบวงจรทั้งระบบ โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ A หมายถึง พึงพอใจมากที่สุด

6) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายประปาอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

เจ้าของโครงการ การประปาส่วนภูมิภาค

วงเงินกู้(ล้านบาท) 95.83

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ (กค. ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการเพิ่มกำลังผลิตน้ำประปาของ กปภ. สาขาอรัญประเทศ ขนาด 200 ลบ.ม./ชม. เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำประปาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ B หมายถึง พึงพอใจมาก

7) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายประปาร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด

เจ้าของโครงการ การประปา ส่วนภูมิภาค

วงเงินกู้(ล้านบาท) 128.71

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ(กค. ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาร้อยเอ็ด ขนาด 1,000 ลบ.ม./ชม. เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ B หมายถึง พึงพอใจมาก

8) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายประปาฉะเชิงเทรา (น.เทพราช) จังหวัดฉะเชิงเทรา

เจ้าของโครงการ การประปาส่วนภูมิภาค

วงเงินกู้(ล้านบาท) 350.07

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ (กค. ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการเพิ่มกำลังผลิตน้ำประปาของหน่วยบริการเทพราช สาขาบางคล้า ขนาด 1,000 ลบ.ม./ชม. เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ C พึงพอใจ

9) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายประปาปากท่อ จังหวัดราชบุรี

เจ้าของโครงการ การประปาส่วนภูมิภาค

วงเงินกู้(ล้านบาท) 246.73

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ (กค. ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการเพิ่มกำลังผลิตน้ำประปา ขนาด 500 ลบ.ม./ชม. เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยผลการประเมินในภาพรวม อยู่ในระดับ C พึงพอใจ

10)โครงการก่อสร้างระบบจำหน่ายด้วยสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะต่าง ๆ ที่มีไฟฟ้าใช้แล้ว (เกาะมุกด์ เกาะสุกร และเกาะลิบง จังหวัดตรัง)

เจ้าของโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

วงเงินกู้(ล้านบาท) 253.00

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ (กค. ไม่ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าและลดปัญหาในการปฏิบัติการและบำรุงรักษา ลดหน่วยสูญเสียในระบบจำหน่าย โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ B หมายถึง พึงพอใจมาก

11)โครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะศรีบอยา เกาะปู และเกาะพีพีดอน จังหวัดกระบี่

เจ้าของโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

วงเงินกู้(ล้านบาท) 558.07

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ (กค. ไม่ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าและลดปัญหาในการปฏิบัติการและบำรุงรักษา ลดหน่วยสูญเสียในระบบจำหน่าย โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ B หมายถึงพึงพอใจมาก

12)โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา (โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจะน)

เจ้าของโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

วงเงินกู้(ล้านบาท) 4,657.47

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ (กค. ไม่ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภาคใต้ โดยเพิ่มกำลังการผลิตพร้อมจ่ายในพื้นที่และลดการพึ่งพาหรือความเสี่ยงในการถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าจากภาคกลางและมาเลเซีย โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ A พึงพอใจมากที่สุด

13)โครงการโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2

เจ้าของโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

วงเงินกู้(ล้านบาท) 4,000.00

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ (กค. ไม่ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ รวมทั้งลดการสูญเสียในระบบไฟฟ้าจากการส่งพลังงานไฟฟ้าจากภาคกลาง โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ A พึงพอใจมากที่สุด

14)โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ต เรล ลิงค์)

เจ้าของโครงการ การรถไฟแห่งประเทศไทย

วงเงินกู้(ล้านบาท) 34,362.15

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ (กค. ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการเดินทาง บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ผู้ที่เดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ D หมายถึง ไม่พึงพอใจ

15)โครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทางเดินเชื่อมสถานีเพชรบุรี)(ประเมินร่วมกับโครงการลำดับที่ 14)

เจ้าของโครงการ การรถไฟแห่งประเทศไทย

วงเงินกู้(ล้านบาท) 84.15

แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ (กค. ค้ำประกันเงินกู้)

ผลการประเมิน

  • เป็นการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการเดินทาง บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ผู้ที่เดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ D หมายถึง ไม่พึงพอใจ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ