ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน – บางพลี

ข่าวการเมือง Wednesday December 23, 2020 09:07 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน ? บางพลี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน ? บางพลี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ คค. รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

กำหนดให้การใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน ? บางพลี ถ้ายานยนตร์นั้นจะต้องผ่านสถานที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียม ผู้ใช้ยานยนตร์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง ณ สถานที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมนั้น โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะออกบัตรไว้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงว่าผู้ใช้ยานยนตร์นั้นได้เสียค่าธรรมเนียมแล้ว หรือชำระค่าธรรมเนียมผ่านบัตรอัตโนมัติหรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่อธิบดีกรมทางหลวงประกาศกำหนด

ทั้งนี้ คค. เสนอว่า

1. โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน ? บางพลี สรุปได้ดังนี้

1.1 กฎกระทรวง ฉบับที่ 19 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ผู้ใช้ยานยนตร์ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยเงินสด

1.2 กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดเพิ่มวิธีการเสียค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์โดยการชำระเงินผ่านบัตรอัตโนมัติได้อีกวิธีหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกในการชำระค่าธรรมเนียมแก่ประชาชนผู้ใช้ยานยนตร์ที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

1.3 กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน ? บางพลี พ.ศ. 2558 ออกตามความในมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ผู้ใช้ยานยนตร์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยเงินสดหรือโดยชำระเงินผ่านบัตรอัตโนมัติ

2. เนื่องจากปริมาณการจราจรบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน ? บางพลี เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เดิมเมื่อปี พ.ศ. 2542 มีปริมาณจราจรผ่านด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางเฉลี่ยประมาณ 57,000 คันต่อวัน ในปี พ.ศ. 2562 มีปริมาณจราจรมากกว่า 300,000 คันต่อวัน ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด แออัด บริเวณหน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียม กรมทางหลวงได้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้เพิ่มจำนวนช่องจราจรและช่องเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทาง แต่การเพิ่มจำนวนช่องเก็บเงินมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ พื้นที่และการเวนคืนพื้นที่สำหรับการก่อสร้าง ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างขยายช่องเก็บเงินจนเต็มพื้นที่เขตทางเกือบทั้งหมดแล้ว อีกทั้งได้ดำเนินการใช้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System) แบบมีไม้กั้นเรียกว่าระบบ M-Pass พร้อมทั้งได้เชื่อมต่อระบบ M-Pass เข้ากับระบบ Easy-Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อให้สามารถใช้อุปกรณ์ที่ติดตั้งในรถ (On Board Unit : OBU) ร่วมกัน นอกจากนี้ แม้จะได้ปรับปรุงสภาพทางกายภาพของด่านเก็บค่าธรรมเนียม การเพิ่มเจ้าหน้าที่บริหารจัดการการจราจรบริเวณหน้าด่านแล้วก็ตาม ก็ยังไม่เพียงพอกับการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดที่หน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง

3. กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัจฉริยะ ผลการศึกษาเทคโนโลยีการจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่าความสามารถในการระบายรถของการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางในรูปแบบต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน ดังนี้

3.1 การจัดเก็บด้วยเงินสด (Manual Toll Collection System : MTC) ระบายรถได้ประมาณ 400 ? 550 คัน/ช่อง/ชั่วโมง

3.2 การจัดเก็บแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection : ETC) แบบมีไม้กั้น ซึ่งเป็นการชำระเงินผ่านบัตรอัตโนมัติ (M-Pass) ระบายรถได้ประมาณ 800 ? 900 คัน/ช่อง/ชั่วโมง

3.3 การจัดเก็บแบบอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นในรูปแบบของช่องทางเดี่ยว (Single Lane Free-Flow : SLFF) ระบายรถได้ประมาณ 1,200 ? 1,500 คัน/ช่อง/ชั่วโมง

3.4 การจัดเก็บแบบอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นในรูปแบบหลายช่องทาง (Multi Lane Free-Flow : MLFF) ระบายรถได้มากกว่า 2,000 คัน/ช่อง/ชั่วโมง

4. ที่ปรึกษามีความเห็นว่าแนวทางการพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 แบบไม่มีไม้กั้น ซึ่งมีการปรับใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยอาศัยเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบการอ่านหมายเลขทะเบียนรถอัตโนมัติ (Automatic License Plate Recognition : ALPR) ร่วมกับการตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ (Automatic Vehicle Identification : AVI) เพื่อใช้ตรวจสอบยานพาหนะและระบุตัวตนผู้ใช้บริการและมีการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางภายหลังการใช้บริการ (Post ? Paid) ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถดำเนินการชำระค่าผ่านทางได้ผ่านหลากหลายช่องทางการชำระเงิน เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต การตัดเงินผ่านบัญชีธนาคาร แอปพลิเคชันของธนาคาร และการใช้ QR Code เป็นต้น และเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของกรมทางหลวง ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น จึงใช้ชื่อว่า ?ระบบ M ? Flow? โดยจะเริ่มดำเนินการนำร่องบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ที่ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 และด่านธัญบุรี 2 สำหรับรถยนต์ทุกชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทางหลวงพิเศษ

5. กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินโครงการ ?งานติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow System Infrastructure)? บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 รวมถึงโครงการ ?งานจ้างบริหารจัดการระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M ? Flow) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9? โดยว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบและสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรมทางหลวงในด้านเทคนิคสำหรับการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นดังกล่าว ตามแผนจะดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างเพื่อจัดหาและติดตั้งระบบงานต่าง ๆ และเปิดให้บริการระบบ M ? Flow ภายในต้นปี พ.ศ. 2564 โดยใช้แหล่งเงินจากทุนหมุนเวียนค่าธรรมเนียมที่กรมทางหลวงจัดเก็บได้ ทั้งนี้ การนำระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Free Flow) มาใช้ในการจัดเก็บและชำระค่าธรรมเนียมบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 เป็นการเพิ่มวิธีการเสียค่าธรรมเนียมโดยการชำระค่าธรรมเนียมด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแตกต่างจากระบบเก็บค่าธรรมเนียมแบบบัตรอัตโนมัติ M ? PASS ตามกฎกระทรวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องเสนอขอออกกฎกระทรวงนี้

6. คค. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้แล้ว

จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน ? บางพลี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ