รายงานผลการดำเนินการตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

ข่าวการเมือง Wednesday December 23, 2020 09:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะรัฐมนตรีมีมติ (29 สิงหาคม 2560) เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติซึ่งเป็นมาตรการที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียนโดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2569 ประกอบด้วย 1) มาตรการทางด้านการตลาด (Marketing) 2) มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ออกแบบและบูรณาการระบบ (System Integrator: SI) 3) มาตรการสร้างอุปทาน (Supply) 4) มาตรการจัดตั้ง Center of Robotics Excellence (CoRE) สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และการส่งเสริมการใช้งานด้านต่าง ๆ และ 5) มาตรการด้านอื่น ๆ เช่น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
2. ความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระหว่างปี 2561-2563 เช่น

2.1 การลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม มีมูลค่ารวมประมาณ 1.67 แสนล้านบาท โดยมีอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งนี้ สถานประกอบการเดิมมีการลงทุนปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 92 กิจการมูลค่ารวมประมาณ 13,894 ล้านบาท

2.2 การจัดตั้ง CoRE เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานชั้นนำด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศรวม 15 หน่วยงาน และรับผิดชอบด้านการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี โดยในปี 2562 ได้มีการพัฒนาความพร้อมของ SI และผู้ใช้งานให้มีความสามารถทางวิศวกรรมระบบ รวม 770 คน และผลักดัน Startup ที่เป็น SI 35 กิจการ นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SI และผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับประยุกต์ใช้ในโรงงานรวม 85 ต้นแบบ ต่อมาในปี 2563 ได้พัฒนา SI อย่างต่อเนื่องรวม 625 คน บ่มเพาะ Startup 35 กิจการ และพัฒนาหุ่นยนต์ จำนวน 100 ต้นแบบ

2.3 การฝึกอบรมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรม รวม 2,612 คน และยกระดับ SI ให้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานที่ CoRE กำหนด โดยปัจจุบันมี SI ที่ขึ้นทะเบียนกับ CoRE แล้วจำนวน 68 ราย

2.4 การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการในการเข้าถึงบริการ ต่าง ๆ ของภาครัฐได้สะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งใช้ในการบริหารจัดการเครือข่าย CoRE ในรูปแบบ Web Service ประกอบด้วย 1) ระบบการขึ้นทะเบียนและรับรองคุณสมบัติของ SI 2) ระบบลงทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการเพื่อเข้ารับการฝึกอบรม 3) ระบบการรับรองกิจการที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 4) ระบบเพื่อการใช้สิทธิยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และ 5) ระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

2.5 โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG) โดยการพัฒนาระบบนิเวศน์นวัตกรรมที่เอื้อต่อการยกระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการผลิตอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล ทั้งในส่วนของการพัฒนาผลงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์

2.6 การร่างประกาศการยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วน อุปกรณ์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SI ในประเทศ และผลักดัน SI ให้มีจำนวนเพียงพอในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอนาคต

2.7 การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม Industrial Transformation Platform ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการที่ต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอย่างครบวงจร 3. ปัญหา อุปสรรค และโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

3.1 ปัญหาและอุปสรรค ในปัจจุบันระบบอุตสาหกรรมภายในประเทศมีความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น แต่ยังมีการใช้งาน SI เพียงร้อยละ 10 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (มูลค่ารวมประมาณ 11,519 ล้านบาท) เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศ ซึ่งมีสาเหตุที่สำคัญ ดังนี้

3.1.1 ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องการปรับปรุงระบบที่หลากหลายโดยไม่สามารถหา SI ที่ตอบสนองความต้องการแบบเบ็ดเสร็จได้

3.1.2 ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องการใช้ระบบอัตโนมัติอย่างง่าย แต่ขาดการเชื่อมโยง SI ในภูมิภาคที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจ SMEs ธุรกิจชุมชนและอุตสาหกรรมการเกษตรในภูมิภาค รวมทั้งมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์

3.1.3 SI ในประเทศมีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถรับงานที่มีความซับซ้อนได้

3.1.4 ธนาคารพาณิชย์ขาดความรู้ในการประเมินความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทำให้การปล่อยสินเชื่อเงินกู้เพื่อการลงทุนเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติเกิดความล่าช้า

3.1.5 CoRE มีปัญหาในการบริหารจัดการเนื่องจากเป็นการรวมตัวของหน่วยงานต่าง ๆ ในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือและต้องพึ่งพางบประมาณของภาครัฐเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณจะส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาองค์กรของ CoRE และทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมขาดความต่อเนื่อง

3.2 โอกาสของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คาดว่า จะทำให้การผลิตและการแข่งขันของอุตสาหกรรมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้กันมากขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้หุ่นยนต์ในสาขาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและภาคการบริการ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไทย ทั้งนี้ แผนการดำเนินการในระยะต่อไปจึงควรเน้นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคและสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการ SI ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มากขึ้น 4. แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระยะต่อไป

4.1 เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในประเทศอย่างครบวงจรเพื่อปรับระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ โดยยกระดับระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการ CoRE ให้เป็น Platform เพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ โดยเพิ่มกลไกการคัดเลือก SI การจัดทำสัญญาการควบคุมโครงการ และการบริหารโครงการ

4.2 พัฒนาระบบอัตโนมัติอย่างง่ายที่เหมาะสมกับบริบทของ SMEs ในภูมิภาค ซึ่งต้องการเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน บำรุงรักษาง่าย และมีมูลค่าต่อโครงการที่ไม่สูงมาก รวมทั้งเพิ่มจำนวน SI ในพื้นที่ต่างจังหวัดให้มีจำนวนเพียงพอเพื่อรองรับการขยายตัวและความต้องการของระบบดังกล่าว

4.3 ส่งเสริมการผลิตเชิงอุตสาหกรรมด้วยการเชื่อมโยงต้นแบบงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยจัดทำพื้นที่ซึ่งเรียกว่า Tech transfer to Commercial และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Testbed หรือ Sandbox เพื่อลดความเสี่ยงของ SI ในการทดลองรับงานนวัตกรรมใหม่ ๆ

4.4 บูรณาการการทำงานเครือข่าย CoRE กับผู้ประกอบการ SI เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมในประเทศ และให้คำปรึกษากับโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตรวมทั้งยกระดับการทำงานของเครือข่าย CoRE ให้มีรูปแบบทางธุรกิจในการหารายได้ เช่น การขึ้นทะเบียน SI การตรวจสอบรับรองคุณสมบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ นอกจากนี้ ในอนาคต CoRE ควรมีสถานะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบองค์การมหาชนหรือกิจการเพื่อสังคมและพัฒนารูปแบบธุรกิจให้มีความยั่งยืน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ