บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) ของประเทศไทยสำหรับการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 รอบที่ 2

ข่าวการเมือง Wednesday December 23, 2020 10:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบบทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) ของประเทศไทยสำหรับการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) รอบที่ 2 ตามที่ คระกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เสนอ

สาระสำคัญ บทสรุปผู้บริหารฯ ประกอบด้วย ข้อมูลการต่อต้านการทุจริตและการติดตามทรัพย์สินคืนของประเทศไทย และข้อเสนอแนะจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) เกี่ยวกับเรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตและการติดตามทรัพย์สิน รวมทั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความสำเร็จและแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

1. มาตรการป้องกันการทุจริต

1.1 ข้อมูลการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทย เช่น

(1) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมาตรการและดำเนินการเชิงป้องกันหลายประการ ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้บริหาร ตลอดจนหลักสูตรการศึกษาและความริเริ่มในการปลุกจิตสำนึกสาธารณะให้ตระหนักถึงความเสี่ยงในการทุจริต

(2) ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการและริเริ่มด้านการต่อต้านการทุจริตในระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และระดับทวิภาคี ตลอดจนมีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและรัฐบาลต่างประเทศรวมถึงหน่วยงานอื่นของต่างประเทศเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินการต่อต้านการทุจริต

(3) ประเทศไทยไม่ได้นำกระบวนการพิเศษมาใช้ในการคัดเลือก การฝึกอบรม และการหมุนเวียนตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริต เนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนได้กำหนดให้นำการฝึกอบรมและมาตรการเพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์และการป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์มาใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกราย

1.2 ข้อเสนอแนะเรื่องมาตรการป้องกันการทุจริต เช่น

(1) ให้คงไว้ซึ่งการติดตามความมีประสิทธิภาพและผลกระทบที่ได้รับจากการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงปรับใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการประสานงานและลดความซ้ำซ้อนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับต่าง ๆ ของรัฐบาล

(2) ควรระบุตำแหน่งราชการที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการทุจริต และกำหนดกระบวนการในการคัดเลือก ฝึกอบรม และหมุนเวียนบุคคลในตำแหน่งดังกล่าวตามความเหมาะสม

(3) พิจารณากำหนดมาตรการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรายงานหรือเปิดเผยกิจกรรมนอกราชการ อันรวมถึงผลประโยชน์ที่ไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการขัดกันของผลประโยชน์กับการปฏิบัติราชการ และกำหนดมาตรการเพื่อดำเนินการหรือจัดการกับการขัดกันของผลประโยชน์ดังกล่าวเมื่อมีการขัดกันเกิดขึ้น

(4) พิจารณาขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องหรืออุทธรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างจากเดิมกำหนดไว้ 7 วัน และเสริมสร้างมาตรการควบคุมบุคลากรด้านการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การเปิดเผยผลประโยชน์ในการจัดจ้างของรัฐ กระบวนการคัดกรอง และการฝึกอบรมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต

(5) กำหนดบทบัญญัติห้ามมิให้นำค่าใช้จ่ายที่ใช้เป็นสินบนมาลดหย่อนภาษี

(6) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต 2. การติดตามทรัพย์สินคืน

2.1 ข้อมูลการติดตามทรัพย์สินคืนของประเทศไทย เช่น

(1) อัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางและผู้ประสานงานหลักในเรื่องความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการติดตามทรัพย์สินคืนในเรื่องทางอาญา

(2) ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งมีบทบัญญัติเรื่องการติดตามทรัพย์สินคืนร่วมกับ 14 ประเทศ (เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สาธารณรัฐฝรั่งเศส ราชอาณาจักรนอร์เวย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี) รวมถึงสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาในภูมิภาคอาเซียน

(3) ศาลไทยอาจมีคำสั่งอายัดหรือยึดทรัพย์สินตามคำสั่งอายัดหรือยึดทรัพย์สินซึ่งออกโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจของต่างประเทศแม้ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ และขณะนี้สำนักอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการร่างระเบียบในการรักษาทรัพย์สิน

2.2 ข้อเสนอแนะเรื่องการติดตามทรัพย์สินคืน

(1) ทำให้แน่ใจว่าไม่มีอุปสรรคสำหรับประเทศไทยในการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศอันเนื่องมาจากการใช้เงื่อนไขเรื่องหลักความผิดสองรัฐโดยเคร่งครัด และการให้อำนาจอย่างกว้างแก่นายกรัฐมนตรีในการตัดสินใจเกี่ยวกับคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพของผู้ประสานงานกลางในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว

(2) ทำให้แน่ใจว่า 1) สถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจและผู้ประกอบอาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเรื่องการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าและการระบุตัวผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง 2) มีการควบคุมเกี่ยวกับผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงอย่างเพียงพอ 3) พยายามให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินและภาคส่วนต่าง ๆ ในการระบุตัวบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง การดำเนินการควบคุมที่เหมาะสม และการตรวจสอบในระดับที่เข้มข้นที่สุดสำหรับบัญชีที่เปิดหรือคงไว้ในนามของบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองเพื่อระบุหาธุรกรรมต้องสงสัย 4) ยกเลิกข้อยกเว้นสำหรับบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองบางกลุ่มที่มิต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเรื่องการรายงานธุรกรรมต้องสงสัย

(3) พิจารณาขยายขอบเขตของกฎหมายเพื่ออนุญาตให้มีการริบทรัพย์โดยไม่มีคำพิพากษาคดีอาญาในกรณีที่ไม่สามารถฟ้องร้องผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้

(4) พิจารณาดำเนินมาตรการเพิ่มเติมในการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการรักษาทรัพย์สินเพื่อนำไปสู่การริบทรัพย์ตามคำร้องขอจากต่างประเทศ

(5) กำหนดมาตรการซึ่งอนุญาตให้มีการคืนทรัพย์สินแก่รัฐผู้ร้องขอ 3. ข้อสังเกตเกี่ยวกับความสำเร็จและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตและการติดตามทรัพย์สินคืน

ประเทศไทย โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนจัดสัมมนาแก่สถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจ และผู้ประกอบอาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมทั้งกำหนดให้มีการยื่นแสดงรายการทางการเงินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมหลักฐานพิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ