ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติจำนวน 2 ฉบับ โดยมีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และนายจาตุรนณ์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ หลังถูกที่ประชุม สว.ยับยั้งไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 177 ครบกำหนด 180 วันแล้วจึงนำกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเพื่อยืนยันการบังคับใช้
ที่ประชุมลงมติให้ยืนยันร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ตามร่างเดิมที่เคยได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยคะแนน 375 ต่อ 0 งดออกเสียง 80 ไม่ลงคะแนน 1
โดยเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคือ ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวในการทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชน โดย สส.ส่วนใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน อภิปรายไปแนวทางเดียวกัน สนับสนุนให้ใช้หลักการเสียงข้างมากชั้นเดียวในการทำประชามติ ใช้เป็นช่องทางผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นผลสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม นายพริษฐ์ อภิปรายว่า ร่างฉบับนี้เป็นเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎรเคยได้ให้ความเห็นชอบไปแล้วในวาระที่สาม แต่ยับยั้งไว้ 180 วันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างเสียงข้างมากของ สส.ที่เห็นด้วยกับการปรับกติกามติมาใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นกับเสียงข้างมากของ สว.ที่เห็นควรให้คงกติกาประชามติไว้เป็นเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น ทั้งนี้ตนเห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมากหนึ่งชั้น เพราะวันนี้นับเป็นครั้งที่ 6 จาก 1 ปีที่ผ่านมาที่ร่างกายถูกดึงกันไปดึงกันมาระหว่างสองสภา
นายพริษฐ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ตนและพรรคประชาชนสนับสนุนให้เปลี่ยนจากกติกาเสียงข้างมากสองชั้นมาเป็นกติกาเสียงข้างมากนั้น ไม่ใช่เพื่อให้ประชามติในเรื่องต่าง ๆ ผ่านง่ายขึ้น แต่เป็นเพราะเราต้องการให้มีการทำประชามติในทุก ๆ เรื่องมีความเป็นธรรมมากขึ้น ระหว่างฝ่ายที่อยากจะเห็นประชามติผ่านกับฝ่ายที่อาจจะไม่อยากเห็นประชามติผ่าน โดยเปลี่ยนมาใช้กติกาข้างมากหนึ่งชั้นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นการปิดช่องไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จากการรณรงค์ให้ประชาชนไม่ออกมาใช้สิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงประชามติ แต่จะเป็นกติกาที่ทำให้ทุกฝ่ายมีแรงจูงใจที่ตรงไปตรงมาในการพยายามรณรงค์ทางความคิดของตนเองและเชิญชวนประชาชนให้ออกมาใช้สิทธิ์และลงคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด
ด้านน.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี และโฆษกพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้ ถ้าโดยชื่อว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วย แต่เมื่อเราต้องมายืนยันเนื้อหาที่อยู่ข้างใน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้คือการออกเสียงชั้นเดียว โดยไม่คำนึงถึงผู้ใช้สิทธิ เราจึงมีความกังวลว่า การออกเสียงประชามติที่จะใช้เสียจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในการออกความคิดเห็น เพราะการออกเสียงประชามติไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเรื่องที่สำคัญ ๆ หลายอย่างในประเทศ ที่เราจะสามารถใช้การออกเสียงประชามติ เพื่อลงความเห็นของประชาชนทั้งประเทศได้
ดังนั้นการที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ถูกนำกลับมาให้สภาฯ ยืนยัน พรรคภูมิใจไทยต้องบอกว่า ไม่ถึงขั้นที่เราจะไม่เห็นด้วย เพราะเราอยู่ตรงกลางความก้ำกึ่งของฉบับนี้ เราอยากให้ พ.ร.บ.ประชามติผ่าน แต่อยากให้ผ่านด้วยความรอบคอบ ผ่านด้วยเนื้อหาที่กลั่นกรองและนับจำนวนคนผู้มาออกเสียงผู้มาใช้สิทธิ์ อย่างที่สามารถประกาศออกไปอย่างชัดเจนว่านี้คือเสียงส่วนใหญ่ของผู้ที่มาลงคะแนนเกินครึ่งหนึ่ง ในการลงประชามติในเรื่องนั้น ๆ