รายงานผลการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองฯ

ข่าวการเมือง Tuesday December 29, 2020 18:17 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบ ดังนี้

1. รับทราบรายงานผลการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

2. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ตามที่ มท. เสนอ ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี

3. ให้ทุกหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมาย เร่งตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบของตน เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยเร็ว

สาระสำคัญ

มท. เสนอว่า

1. กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพื่อดำเนินการยกร่างกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ประกอบกับเห็นว่าการออกกฎหมายลำดับรองในเรื่องนี้จะมีมาตรการการกำหนดโทษอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือผู้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่กำหนด การศึกษาข้อมูลจึงต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ รวมทั้งร่างกฎกระทรวงที่จะออกตามความในมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ 2561 จะต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำกับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ซึ่งขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการวางผังระบายน้ำในบริเวณลุ่มน้ำ จำนวน 25 ลุ่มน้ำ ตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ตลอดจนยังมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษากฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของ มท. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความชัดเจน นอกจากนี้ ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายลำดับรอง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการกำหนดค่าทดแทนความเสียหายหรือเสื่อมสิทธิจากการระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ผิดไปจากที่ได้กำหนดไว้ในผังเมืองรวม ตามมาตรา 37 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายลำดับรองที่ออกตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ดังนั้น การดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองในเรื่องนี้จึงต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ

2. โดยที่มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 บัญญัติให้การจัดทำร่างกฎหมายใดที่จะกำหนดให้มีโทษอาญา โทษทางปกครอง หรือสภาพบังคับที่เป็นผลร้ายอื่นแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม หรือมีบทบัญญัติที่กำหนดให้การขออนุญาตหรืออนุญาตหรือการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่จะกำหนดไว้ในกฎซึ่งจะออกในภายหลัง ในร่างกฎหมายนั้นต้องมีบทบัญญัติที่ห้ามมิให้ใช้บทบัญญัติดังกล่าวในทางที่เป็นผลร้ายแก่บุคคล จนกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายหรือจนกว่าจะมีการออกกฎดังกล่าวแล้ว ซึ่งกฎหมายที่มิใช่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎ หรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือยังมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ และบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ แต่ในกรณีที่บทบัญญัติในเรื่องนั้นให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับได้โดยไม่ต้องมีกฎหรือดำเนินการดังกล่าว ซึ่งระยะเวลา 2 ปีดังกล่าวคณะรัฐมนตรีจะมีมติขยายออกไปอีกก็ได้ แต่ไม่เกิน 1 ปี และต้องมีมติก่อนที่จะครบกำหนดเวลา 2 ปีดังกล่าว

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 และให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลใช้บังคับแล้วในวันที่ 27 มกราคม 2562 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังมิได้มีการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองเพื่อให้มีผลใช้บังคับภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ (ครบกำหนดวันที่ 27 มกราคม 2564) จึงจำเป็นต้องรายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ และขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายดังกล่าวต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ