รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนตุลาคม 2563

ข่าวการเมือง Tuesday December 29, 2020 18:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนตุลาคม 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญ และข้อเท็จจริง
1.สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนตุลาคม 2563

การส่งออกของไทยอยู่ในภาวะฟื้นตัว สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางและการขนส่ง ส่งผลให้ภาคการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นอกจากนี้ มาตรการทางการเงินและการคลัง เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในหลายประเทศ ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้าขยับตัวขึ้น ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ขณะเดียวกันหลายตลาดกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบหลายเดือน ทั้งนี้ การส่งออกเดือนตุลาคม 2563 มีมูลค่า 19,376.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.71 ขณะที่การส่งออก 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) มีมูลค่า 192,372.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.26

สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังคงเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

เตาอบไมโครเวฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ 3) สินค้าเกี่ยวกับ การป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่มีการแพร่ระบาด และส่งผลให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อราคายางพาราของไทยในช่วงนี้

ด้านตลาดส่งออก ตลาดสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันหลายตลาดกลับมาขยายตัวอีกครั้ง อาทิ อินเดีย ลาตินอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก ขณะที่ตลาดอื่นๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญล้วนหดตัวลดลง เช่น ฮ่องกง เยอรมนี และสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม การค้าชายแดนกับกลุ่มประเทศ CLMV หดตัวมากขึ้นจากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสที่สูงขึ้น

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนตุลาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 19,376.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.71 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้ามีมูลค่า 17,330.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 14.32 การค้าเกินดุล 2,046.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 192,372.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.26 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 169,702.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 14.61 ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 22,670.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนตุลาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 600,335.92 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.51 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 544,197.91 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 12.37 การค้าเกินดุล 56,138.01 ล้านบาท ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 5,987,376.14 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.38 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 5,350,086.03 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 14.87 ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 637,290.11 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 8.8 (YoY) หลังจากที่ขยายตัวในเดือนก่อน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวร้อยละ 183.0 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย จีน สปป.ลาว และมาลาวี) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 17.4 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี มาเลเซีย ออสเตรเลีย) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 13.1 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สเปน และอิตาลี) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 10.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และเนเธอร์แลนด์) ผักผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 6.9 (ขยายตัวในตลาดจีน ฮ่องกง มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 75.0 (หดตัวในหลายตลาด อาทิ กัมพูชา จีน ไต้หวัน แต่ขยายตัวดีในตลาดเวียดนาม ญี่ปุ่น และปาปัวนิวกินี) ข้าว หดตัวร้อยละ 20.1 (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ สหรัฐฯ แองโกลา และจีน แต่ขยายตัวดีในตลาดเบนิน ฮ่องกง แคนาดา กานา และอินโดนีเซีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 12.4 (หดตัวเกือบทุกตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ แต่ขยายตัวดีในตลาดมาเลเซีย และเวียดนาม) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 3.0 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และซาอุดีอาระเบีย แต่ขยายตัวดีในตลาดสหรัฐฯ เยเมน จีน ชิลี และกัมพูชา) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัวร้อยละ 1.5 (หดตัวในหลายตลาด อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ แต่ขยายตัวดีในตลาดจีน มาเลเซีย ฮ่องกง และแคนาดา) ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 13.6

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 4.7 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 25.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม ฮ่องกง จีน เม็กซิโก ไต้หวัน สิงคโปร์ บราซิล และเกาหลีใต้) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัว ร้อยละ 19.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และอาร์เจนตินา) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 17.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 4.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี เม็กซิโก และเกาหลีใต้) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.8 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ ไต้หวัน ฝรั่งเศส สิงคโปร์ เยอรมนี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวร้อยละ 27.1 (หดตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี แต่ขยายตัวดีในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 19.8 (หดตัวแทบทุกตลาด อาทิ จีน เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และสปป.ลาว แต่ขยายตัวดีในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐฯ) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หดตัวร้อยละ 13.2 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีน มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา แต่ขยายตัวดีในตลาดออสเตรเลีย สปป.ลาว และฮ่องกง) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 12.6 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน ซาอุดีอาระเบีย และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวดีในตลาดญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐฯ และเม็กซิโก) ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 7.0

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปตลาดสำคัญอยู่ในทิศทางฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป มูลค่าการส่งออก

ในหลายตลาดปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน และหลายตลาดกลับมาขยายตัวในระดับสูง ทั้งนี้ ภาพรวม

การส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากตลาดสหรัฐฯ ที่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 17.0 ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป(15) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาก เหลือหดตัวเพียงร้อยละ 0.4 ขณะที่ญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 5.3 2) ตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 13.5 โดยการส่งออกไปตลาดจีน อาเซียน(5) และ CLMV หดตัวร้อยละ 6.1 ร้อยละ 27.2 และร้อยละ 17.0 ตามลำดับ ขณะที่เอเชียใต้กลับมาขยายตัวร้อยละ 15.6 และ 3) ตลาดศักยภาพระดับรอง หดตัวร้อยละ 2.8 โดยตลาดตะวันออกกลาง(15) แอฟริกา และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 18.1 ร้อยละ 16.7 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย(25) ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนร้อยละ 4.2 และลาตินอเมริกากลับมาขยายตัวร้อยละ 12.9

2. แนวโน้ม และมาตรการส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563

แนวโน้มการส่งออกของไทย ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี หลายสินค้าสามารถขยายตัวได้ แม้เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศ สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อไปได้อีกระยะหนึ่งยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่มีศักยภาพท่ามกลางโควิด-19 อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาด หรือสินค้า

ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) แต่อาจกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 สำเร็จ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการ ทำให้ทราบแนวโน้มนโยบายของว่าที่ผู้นำคนใหม่

ที่คาดว่าจะช่วยให้สถานการณ์การค้าโลกผันผวนน้อยลง อย่างไรก็ดี ผู้นำคนใหม่อาจมีนโยบายด้านมาตรฐานและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เห็นว่า เป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะยกระดับการผลิตสินค้าให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นและแข่งขันได้มากขึ้น ดังนั้นการเพิ่มมูลค่าส่งออกในระยะถัดไป จำเป็นต้องขยายตลาด

ในสินค้ากลุ่มใหม่ และให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูง

มาตรการส่งเสริมการส่งออก คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.พาณิชย์) มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 3 ประเด็นหลัก คือ เร่งรัดการส่งออก ผลักดันและแก้ไขปัญหาการค้าชายแดน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านกลับมามีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สูงอีกครั้ง และเจรจาข้อตกลงทางการค้าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงประเด็นย่อย อาทิ การเร่งรัดส่งออกข้าวที่เหลืออีก 3 แสนตันตาม MOU ไทย-จีน การแก้ไขปัญหาต้นทุนค่าขนส่ง โดยเฉพาะค่าระวางเรือที่มีอัตราสูง การแก้ไขการขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าทางเรือ รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าอาหารไทยว่าปลอดจากเชื้อไวรัส

โควิด-19 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ