เอกสารที่จะมีการรับรองในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 1

ข่าวการเมือง Tuesday January 12, 2021 20:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ด้านดิจิทัล ครั้งที่ 1 หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขถ้อยคำในร่างเอกสารฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการได้ โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารฯ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ

สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 1

1. ร่างแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 (ASEAN Digital Masterplan 2025: ADM 2025) ร่างแผนแม่บทฉบับใหม่นี้เป็นการกำหนดทิศทางความร่วมมืออาเซียนด้านดิจิทัล ระยะ 5 ปี ระหว่าง 2564 - 2568 เพื่อมุ่งให้อาเซียนบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นประชาคมชั้นนำด้านดิจิทัลและกลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี บริการดิจิทัล และระบบนิเวศที่มีความปลอดภัยและปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งแผนแม่บท ADM 2025 ได้กำหนดผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ 8 ประการ ดังนี้ (1) การเร่งฟื้นตัวของภูมิภาคอาเซียนจาก โควิด - 19 (2) การยกระดับคุณภาพและความครอบคลุมด้านโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้ง แบบประจำที่และเคลื่อนที่ (3) การสร้างบริการดิจิทัลที่เชื่อถือได้และการคุ้มครองผู้บริโภค (4) การสร้างตลาดที่มี การแข่งขันอย่างยั่งยืนในการจัดหาบริการดิจิทัล (5) การเพิ่มคุณภาพและการส่งเสริมการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (6) การพัฒนาบริการดิจิทัลที่สนับสนุนการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างธุรกิจและอำนวยความสะดวก ด้านการค้าข้ามพรมแดน (7) การเพิ่มศักยภาพให้กับภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัล และ (8) การส่งเสริมการเป็นสังคมดิจิทัลที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

2. ร่างแนวทางการดำเนินงานสำหรับกรอบการจัดการข้อมูลอาเซียนและกลไกการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนของอาเซียน (Implementing Guideline for ASEAN Data Management Framework (DMF) and ASEAN Cross Border Data Flows (CBDF) Mechanism) เป็นแนวทางการดำเนินงานตามกรอบการจัดการข้อมูลอาเซียน และกลไกการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนของอาเซียน โดยระบุถึง (1) กรอบการจัดการข้อมูลอาเซียน (ASEAN Data Management Framework: DMF) ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับภาคธุรกิจในอาเซียน โดยเฉพาะ SMEs ในการนำไปประยุกต์ใช้กับระบบบริหารจัดการข้อมูลของแต่ละองค์กร เพื่อให้มีการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาล และ (2) กลไกการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนของอาเซียน (ASEAN Cross Border Data Flows (CBDF) Mechanism) ซึ่งอาเซียนได้พัฒนาข้อสัญญาต้นแบบอาเซียน (ASEAN Model Contractual Clauses: MCCs) ที่จัดทำขึ้นบนหลักการของกรอบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอาเซียน เพื่อเป็นเครื่องมือที่อยู่บนหลักการของความสมัครใจในการเลือกใช้งานของประเทศสมาชิกอาเซียน และไม่มีผลผูกพันและไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณี ภายใต้กฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ

3. ร่างปฏิญญาปุตราจายา (Putrajaya Declaration) ย้ำถึงการดำเนินการตามผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ที่ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล และการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 และแสดงถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการขับเคลื่อนแผนแม่บท ADM 2025 เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทฯ อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการต่อยอดความร่วมมือกับคู่เจรจาองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุน การดำเนินกิจกรรม/โครงการความร่วมมือให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ของแผนแม่บทฯ ตลอดจนการส่งเสริมการประยุกต์ใช้กลไกการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนของอาเซียน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน

4. ร่างข้อริเริ่มอาเซียนในการอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดระบบนิเวศโอทีทีที่ยั่งยืน (ASEAN Initiative for Facilitating Sustainable OTT Ecosystem) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ร่วมมือกันเพื่ออำนวยความสะดวกต่อระบบนิเวศของ OTT อย่างยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านเวทีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน การประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องหรือการประชุมอื่น ๆ ที่สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเกี่ยวกับบริการ OTT โดยที่ร่างข้อริเริ่มฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ (1) การกำหนดนิยามของ OTT ในอาเซียน และการจัดทำรายการธุรกิจที่ถือว่าเป็น OTT (2) ประเด็นด้านสังคม อาทิ การส่งเสริมการกำกับดูแลตนเองเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และการกำกับดูแล OTT ธุรกิจในประเทศ และ (3) ประเด็นด้านเศรษฐกิจ อาทิ การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเท่าเทียม และการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจ OTT อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ข้อริเริ่มนี้ไม่มีลักษณะผูกพัน และไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือข้อผูกมัดตามกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ