ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

ข่าวการเมือง Tuesday January 12, 2021 20:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ภาพรวม ประเด็นสำคัญที่มีการหารือกันอย่างกว้างขวางและทุกประเทศให้ความสำคัญ ได้แก่ การขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน การรับมือการแพร่ระบาดและผลกระทบของโรคติดเชื้อโควิด-19 การฟื้นฟูและสร้างอนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนในยุคหลังโควิด-19 และสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยมีเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรวมทั้งสิ้น 20 ฉบับ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงบทบาทและวิสัยทัศน์การรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาวเพื่อรับมือกับความท้าทายอื่นๆ ในอนาคต รวมทั้งการสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยและภูมิภาคในระยะยาว เพื่อให้ ?ล้มแล้วลุกไว? ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประชาชนผ่านความร่วมมือกับคู่เจรจาในเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ การแก้ปัญหา ข่าวปลอม การบริหารจัดการภัยพิบัติ และ การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ

2. การขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ผู้นำอาเซียนสนับสนุนข้อริเริ่มของเวียดนามภายใต้ หลัก ?แน่นแฟ้นและตอบสนอง? ได้แก่ การทบทวนกึ่งวาระของแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 การเริ่มต้นกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 การทบทวนการดำเนินการตามกฎบัตรอาเซียน การส่งเสริมภาพลักษณ์และความตระหนักรู้ และการส่งเสริมการดำเนินการของกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อาเซียน

3. การรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 ประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจามุ่งมั่นที่จะร่วมกันรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการเสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขและ การพัฒนายาและวัคซีนโควิด-19 ให้เป็นสินค้าสาธารณะ โดยอาเซียนและคู่เจรจาได้ดำเนินการต่าง ๆ เช่น 1) การเปิดตัวคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข 2) ไทยประกาศบริจาคอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลยาฟาวิพิราเวียร์ และเครื่องวัดอุณหภูมิ และประเทศสมาชิกอื่น ๆ เช่น เวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐอินเดีย ประกาศบริจาคเงินสมทบกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 และ 3) อาเซียนและญี่ปุ่นได้ประกาศเปิดตัวศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและ โรคอุบัติใหม่ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องหารือถึงการคัดเลือกที่ตั้งของศูนย์ฯ ต่อไป ซึ่งในขณะนี้ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศไทย และเวียดนาม แสดงความพร้อมที่จะเป็นที่ตั้งของศูนย์ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผู้นำอาเซียนได้รับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยกรอบข้อตกลงระเบียงการเดินทางของอาเซียน และอินโดนีเซียได้เสนอให้อาเซียนพิจารณาจัดทำระเบียงการเดินทางกับจีนและญี่ปุ่น นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนและคู่เจรจาได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะรักษาห่วงโซ่อุปทานของสินค้าจำเป็น ระบบการค้าพหุภาคีและการค้าเสรีที่เปิดกว้าง

4. การฟื้นฟูอย่างครอบคลุมภายหลังโควิด-19 อาเซียนได้ให้การรับรองกรอบการฟื้นฟู ที่ครอบคลุมเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งและสามารถยืนหยัดต่อความท้าทายใหม่ ๆ โดยไทยย้ำถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อให้สามารถรอดพ้นวิกฤติ โควิด-19 ได้ การส่งเสริมบทบาทของสตรีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการผลักดันความยั่งยืนในทุกมิติและ วาระของประชาชน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงกับอาเซียนตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 ซึ่งรวมถึงโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย และ ส่วนขยายไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งความร่วมมือกับเกาหลีในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการสร้างศักยภาพของอาเซียนเพื่อใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่ประชาชน และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ได้ประกาศสนับสนุนเงินจำนวน 10 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์เพื่อส่งเสริม การทำเกษตรให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศในอาเซียน และไทยได้ผลักดันความร่วมมือเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว กับคู่เจราจาด้วย ทั้งนี้ ผู้นำประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคยังเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงดังกล่าว โดยอาเซียนได้ย้ำและยืนยันถึงโอกาสที่ยังคงเปิดกว้างสำหรับอินเดียในการเข้าร่วมในอนาคต

5. สถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาทิ 1) สถานการณ์ในอินโด-แปซิฟิก โดยญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ยืนยันการสนับสนุนมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก เพื่อเสริมสร้างภูมิภาคที่เสรี เปิดกว้าง และรุ่งเรือง โดยอาเซียนและญี่ปุ่นได้รับรองแถลงการณ์ร่วมเรื่องความร่วมมือเกี่ยวกับมุมมองอาเซียนต่อ อินโด-แปซิฟิก และอินเดียพยายามผลักดันความร่วมมือกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะความร่วมมือทางทะเล 2) สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ มีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นในทะเลจีนใต้ โดย ทุกประเทศย้ำถึงเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่าน ความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนยืนยันเจตนารมณ์ในการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ และสนับสนุนการปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติ วิธีโดยเร็ว เป็นต้น

6. การส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2564 ในช่วงพิธีปิดการประชุมสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้ส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้แก่บูรไนดารุซซาลาม (บรูไน) โดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ทรงประกาศแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนปี 2564 ของบรูไน ได้แก่ ?We Care, We Prepare, We Prosper?

ทั้งนี้ เพื่อให้มีการนำผลประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธนาคารแห่งประเทศไทย นำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ