มาตรการการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

ข่าวการเมือง Tuesday February 2, 2021 20:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ มาตรการการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ให้มีมติเห็นชอบมาตรการฯ ดังกล่าวแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. การแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

1. สถานที่รับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์และงบประมาณในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มีจำกัด

มาตรการแก้ไข

ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) กรมการปกครอง และกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดสถานที่รับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชนและนำไปจัดการอย่างถูกต้อง จัดทำระบบการติดตามตรวจสอบและรายงานผลเพื่อกำกับดูแลให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้รับการจัดการ

อย่างถูกต้อง โดยให้มีการสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากร และสถานที่ในการดำเนินการ โดยมีระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

2. การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีอย่างจำกัด

มาตรการแก้ไข

1. ให้กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย เฝ้าระวังสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมถอดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้อง โดยให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

2. ให้กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเฝ้าระวัง การปนเปื้อนมลพิษและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

3. ไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

มาตรการแก้ไข

1. ใช้กฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563

2. ให้กรมอนามัยออกกฎกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดให้กิจการถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเตรียมความพร้อมของหลักกณฑ์/สุขลักษณะของสถานประกอบกิจการถอดแยกและวิธีการถอดแยกอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ระยะเวลดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

3. ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผลักดันให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นตามกฎกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดให้กิจการถอดแยกซากขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และให้หน่วยงาน กำกับดูแลเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสถานประกอบกิจการถอดแยกฯ ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

4. ให้กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... เพื่อให้มีระบบการจัดการขยะอิล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน

5. ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด จัดทำโครงการนำร่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน

4. การสนับสนุนด้านงานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และการลดการใช้สารอันตรายในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างจำกัด

มาตรการแก้ไข

ให้สำนักงานวิจัยแห่งชาติ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พัฒนาเทคโนโลยี/นวัตกรรม ด้านการจัดการขยะอิล็กทรอนิกส์ และลดการใช้สารอันตรายในขยะอิเล็กทรอนิกส์ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน

2. การแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

1. มีการลักลอบการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์

มาตรการแก้ไข

1. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้ยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ (428 รายการ) โดยออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563

2. ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว เพื่อควบคุมชนิดและปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้วที่เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศ ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

2. ข้อจำกัดในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนี้

2.1 มีการออกใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นปริมาณมากเกินศักยภาพการรองรับของโรงงานและเจ้าหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบมีจำนวนไม่เพียงพอในการตรวจสอบโรงงาน

2.2 มีข้อจำกัดในการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์นำเข้าสินค้าทุกตู้ทำให้เกิดการลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนดเข้ามาในประเทศ

2.3 ไม่มีระบบการตรวจสอบเส้นทางการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากท่าเรือถึงโรงงานรับกำจัดตามที่แสดงในใบขออนุญาต

มาตรการแก้ไข

ให้กรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดให้มี ระบบการตรวจสอบตู้บรรทุกสินค้าอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างผิดกฎหมายหรือการสำแดงเท็จ ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 6 เดือน

3. การปนเปื้อนจากการประกอบกิจการถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์สู่สิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

มาตรการแก้ไข

1. ให้กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย เฝ้าระวังสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เกิดจากการประกอบกิจกรรม ถอดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้อง เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนระยะเวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

2. ให้กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเฝ้าระวังการปนเปื้อนมลพิษที่เกิดจกการประกอบกิจกรรม ถอดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้อง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ระยะเวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ