ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “แนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ”

ข่าวการเมือง Tuesday February 2, 2021 20:37 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ?แนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ? ของคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ?แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ? ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ?แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ? มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้มีข้อเสนอแนะและข้อสังเกต ทั้ง 9 ประเด็น ได้แก่ (1) การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (2) การนิรโทษกรรม (3) กระบวนการยุติธรรม (4) การรักษาบรรยากาศของการปรองดอง สมานฉันท์ (5) ข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อ (6) ข้อสังเกตด้านการเยียวยา (7) การแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษ (8) ข้อสังเกตเกี่ยวกับกองทัพ และ (9) ข้อสังเกตเกี่ยวกับการชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุม ทั้งนี้ เพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในอดีตที่ผ่านมาและเพื่อให้บ้านเมืองเกิดบรรยากาศของการปรองดอง สมานฉันท์
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่างในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข้อเท็จจริง

ยธ. รายงานว่า ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณารายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อ 1. โดยมีข้อเสนอแนะและมาตรการดำเนินการ ดังนี้

1) การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมเห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันมีกระบวนการเพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว สำหรับการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนนั้น จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีกฎหมายที่สามารถจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชน และต้องกำหนดกรอบระยะเวลาการจัดตั้งให้ชัดเจน โดยเทียบเคียงกับการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจน นอกจากนี้ เรื่องการยุบสภาภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเสร็จแล้ว เห็นว่า เป็นดุลยพินิจและอำนาจของนายกรัฐมนตรีซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

2) การนิรโทษกรรม ที่ประชุมเห็นว่า ผู้ที่หนีคดีไปต่างประเทศจะต้องกลับมาสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน จึงสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการนิรโทษกรรมได้และให้นำมาใช้กับทุกคดี รวมทั้งได้เสนอหลักการร่างกฎหมาย นิรโทษกรรม มี 4 ข้อ ดังนี้

2.1) นิรโทษกรรมจากการชุมนุมทางการเมือง โดยไม่รวมคดีอาชญากรรมร้ายแรง คดีเกี่ยวกับการคอรัปชัน และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

2.2) นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ไม่ว่าคดีจะตัดสินเสร็จหรืออยู่ระหว่างการต่อสู้ในขั้นตอนใดก็ตาม

2.3) ไม่ตัดสิทธิบุคคลที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการหรือหนีคดีไป สามารถใช้สิทธิได้ แต่ต้องกลับสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน

2.4) มีคณะกรรมาธิการพิเศษขึ้นมาตัดสิน แยกแยะ ออกกฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายลำดับรองว่าอะไรเข้าข่าย ไม่เข้าข่าย เช่น อะไรที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม ที่ประชุมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมสำหรับบุคคลที่หนีคดี ซึ่งอาจขัดกับหลักการพิจารณาคดีของกระบวนการยุติธรรม สมควรนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ร่วมกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างคู่ขัดแย้ง อำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายและลดปัญหาความขัดแย้ง โดยอาจนำมาตรการหรือศึกษาประสบการณ์ของต่างประเทศที่เคยเผชิญความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย ซึ่งอาจกำหนดกลไกพิเศษสำหรับคนที่หลบหนีคดี และต้องมีการศึกษาให้รอบคอบ ทั้งนี้ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ควรดำเนินการในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจเป็นเพียงการชะลอปัญหาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และอาจกระทบต่อบรรยากาศของการสร้างความปรองดองได้ และควรยกเว้นคดีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีทุจริต

3) กระบวนการยุติธรรม การนำหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งให้เกิดเป็นรูปธรรมนั้น เป็นเรื่องยากและมีความซับซ้อนเนื่องจากไม่มีกรอบหรือรูปแบบที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ซึ่งหากสังคมยังไม่มีความเข้าใจ หรือยอมรับแนวความคิดที่จะปรองดองและสมานฉันท์แล้ว การนำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้อาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่อาจเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่พึงปรารถนา สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ บนพื้นฐานว่าจะจดจำหรือลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมาตรการในการลงโทษผู้กระทำความผิดหรือเน้นเยียวยาผู้เสียหาย โดยมีวิธีการ ดังนี้

3.1) การฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

3.2) การนิรโทษกรรมอาจเป็นผลมาจากการต่อรองระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ หรือบางกรณีได้รับการยกเว้นการลงโทษด้วยการยอมรับว่าได้กระทำความผิดลงไป

3.3) คณะกรรมการค้นหาความจริงมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏในช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเปิดเผยให้ผู้ได้รับผลกระทบหรือสังคมได้ทราบรายละเอียดเหตุการณ์อย่างถูกต้อง และเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ได้รับผลกระทบได้แสดงออก

3.4) โครงการช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย และทรัพย์สินผ่านโครงการหรือการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการกล่าวคำขอโทษจากคู่ขัดแย้งอย่างเป็นทางการ

3.5) การระลึกถึงผู้ได้รับผลกระทบเป็นกระบวนการที่ทำให้สังคมยอมรับ ตระหนักรู้ และกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในศีลธรรมถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก โดยอาจอยู่ในรูปของพิพิธภัณฑ์หรืออนุสรณ์แห่งความทรงจำ

3.6) การปฏิรูปสถาบัน เป็นกระบวนการปฏิรูปสถาบัน หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ กองทัพทหาร ตำรวจ สื่อสารมวลชน กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้หน่วยงานหรือองค์กรดังกล่าวใช้รูปแบบเดิมในการปฏิบัติที่อาจนำความรุนแรงกลับมาอีกครั้ง

ที่ประชุมเห็นว่า การนำหลักการของกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ยังคงมีความสำคัญ โดยต้องพิจารณาในระยะเวลาที่เหมาะสม บรรยากาศภาพรวมของสังคมและประชาชนต้องมีความรู้สึกในการปรองดอง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายยอมรับที่จะยุติเรื่องในการดำเนินการ ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมเมื่อเกิดบรรยากาศเหล่านั้น จะนำไปสู่กลไกการปรับแก้ไขกฎหมายหรือเพิ่มเติมกลไกเพื่อให้สามารถใช้บังคับตามหลักการดังกล่าวได้ ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการที่มาเสริมการดำเนินการในส่วนนี้ได้

4) การรักษาบรรยากาศของการปรองดอง สมานฉันท์ และสื่อ โดยให้รัฐบาล ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะสื่อมวลชนและประชาชนควรร่วมกันบริหารความขัดแย้งอย่างสันติวิธี อันจะทำให้สังคมก้าวผ่านความขัดแย้งไปสู่ความปรองดองได้ ส่วนการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อทุกแขนงจะต้องมีความระมัดระวังและมีความรับผิดชอบในการเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชน โดยไม่เสนอข้อมูลเท็จ บิดเบือน หรือถ้อยคำในการปลุกเร้าหรือปลุกระดมมวลชนให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งปัจจุบันมีร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... และเห็นควรให้มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวออกมาบังคับใช้โดยเร็ว

5) การเยียวยา เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยกระบวนการที่นำมาใช้ จะต้องมีการตกผลึก มีความชัดเจนและพิจารณาถึงความละเอียดรอบคอบ ครบถ้วน และรอบด้าน ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะการเยียวยาด้วยตัวเงินเท่านั้น

6) การแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษ เป็นกระบวนการค้นหาความจริง โดยจะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจ ตระหนัก และยอมรับถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของกระบวนการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เมื่อความจริงปรากฏและได้ข้อยุติจะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบและดำเนินการขอโทษในท้ายที่สุด

7) กองทัพ ปัจจุบันภารกิจบางประการอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่การปฏิบัติภารกิจอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย มีความโปร่งใส มีความเป็นกลาง และไม่สนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยศึกษาบทเรียนจากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในความเป็นกลางทางการเมืองและการปฏิบัติภารกิจทางทหารกับในส่วนที่อาจไปเกี่ยวข้องกับการเมืองได้เป็นอย่างดี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเมืองในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม การลดความหวาดระแวงระหว่างกัน การเห็นอกเห็นใจกัน และการอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ทุกคนต้องเคารพและใช้บังคับไม่ให้เกิดความขัดแย้ง โดยเจ้าหน้าที่และประชาชนต้องร่วมกันหาทางออกให้ได้ ทั้งนี้ จะต้องไม่ให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเป็นเครื่องมือไปสนับสนุนมวลชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเด็ดขาด

8) การชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุม เห็นว่า สามารถกระทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด โดยการแสดงออกไม่ควรกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น

ที่ประชุมจึงเห็นว่า การสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ตามข้อ 4) - ข้อ 8) เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการและไม่สามารถเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ทันที โดยในหลักการสามารถนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาใช้ในการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ อย่างไรก็ตาม การนำหลักการดังกล่าวมาใช้จะต้องมีการศึกษาให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับบรรยากาศ ซึ่งประเด็นต่าง ๆ มีความละเอียดอ่อน ควรดำเนินการในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะกลไกทางกฎหมายจะต้องพิจารณาให้รอบด้านและมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก่อนที่จะมีการตรากฎหมาย เพื่อให้สามารถยุติปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ควรถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้มีความรู้ที่ถูกต้อง ครบถ้วน และมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ