ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณี ฉุกเฉินหรือจำเป็น

ข่าวการเมือง Tuesday February 2, 2021 20:39 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณี ฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตามมาตรา 13 (4) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 279,782,374 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ทั้งนี้ กษ. เสนอว่า

เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีการแพร่ระบาด ขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบันได้มีการระบาดใน 34 ประเทศ หลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งเป็นทวีปยุโรปจำนวน 13 ประเทศ ทวีปแอฟริกาจำนวน 7 ประเทศทวีปเอเชียจำนวน 13 ประเทศ และประเทศแถบโอเชียเนีย 1 ประเทศ โดยมีรายงานการระบาดครั้งแรกของทวีปเอเชียที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งประเทศล่าสุดในทวีปเอเชียที่พบการระบาดของโรค คือ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 รวมทั้งพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของแต่ละประเทศ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงเพิ่มสูงยิ่งขึ้น

ประเทศไทยมีความเสี่ยงเพิ่มสูงยิ่งขึ้นที่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจะแพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ดังนี้

1. การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศเพื่อนบ้านยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและขยายเป็นวงกว้าง

2. ชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร มีความยาวรวมกว่า 5,000 กิโลเมตร จึงมีความเสี่ยงที่จะมีการลักลอบนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรผ่านตามแนวชายแดน

3. การลักลอบนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่ติดตัวมากับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดของโรครวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งจากการตรวจยึดการลักลอบการนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรมีจำนวน 4,402 ครั้ง ตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร จำนวน 440 ตัวอย่าง (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563)

กรมปศุสัตว์จึงได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและผู้ว่าราชการจังหวัดของจังหวัดที่ได้รับการประเมินความเสี่ยงตามหลักการทางระบาดวิทยาแล้วพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงถึงสูงมากได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่ 43 จังหวัด พร้อมดำเนินมาตรการตามแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างเข้มงวด

สาระสำคัญ

1. โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก และหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและยาที่รักษาโรค และเชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิตและยิ่งกว่านั้นโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรง ทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบร้อยละ 100 แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์อื่น แต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง จากการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องสูญเสียสุกรที่ป่วยตายจากโรค จนถึงขั้นหมดอาชีพ และยังกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ได้แก่ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร ธุรกิจการค้าเวชภัณฑ์สัตว์ รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท อีกทั้งยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตรกร ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก และใช้เวลานาน จะก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสุกรในการบริโภคอย่างรุนแรงส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและความมั่นคงทางอาหารของประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาส ในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกรไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าไม่น้อยกว่า 22,000 ล้านบาทต่อปี

2. มาตรการลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตสุกรและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 150,000 ล้านบาท รักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยในการนำเข้าทั้งสุกรมีชีวิตและซากสุกร ทั้งนี้ หากพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทยจะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกร รายละเอียดดังนี้

2.1 กรณีต้องมีการทำลายสุกรเพื่อการควบคุมโรคจะมีมูลค่าความเสียหาย ดังนี้

ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำนวน 187,272 ราย เป็นเกษตรกร รายย่อย 184,091 ราย เลี้ยงสุกรขุน 2,246,332 ตัว สุกรพันธุ์ 390,993 ตัว ลูกสุกร 689,562 ตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 3,181 ราย เลี้ยงสุกรขุน 5,746,265 ตัว สุกรพันธุ์ 683,998 ตัว และลูกสุกร 1,532,035 ตัว หากเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย จะต้องมีการทำลายสุกรเกิดการสูญเสีย ดังนี้

1) กรณีเกิดโรคร้อยละ 30 ของสุกรที่เลี้ยง เกษตรกรรายย่อย 5,133,886,800 บาท เกษตรกรรายใหญ่ 11,544,610,200 บาท รวม 16,678,497,000 บาท

2) กรณีเกิดโรคร้อยละ 50 ของสุกรที่เลี้ยง เกษตรกรรายย่อย 8,556,478,000 บาท เกษตรกรรายใหญ่ 19,236,245,500 บาท รวม 27,792,723,500 บาท

3) กรณีเกิดโรคร้อยละ 80 ของสุกรที่เลี้ยง เกษตรกรรายย่อย 13,690,364,800 บาท เกษตรกรรายใหญ่ 30,777,992,800 บาท รวม 44,468,357,600 บาท

4) กรณีเกิดโรคร้อยละ 100 ของสุกรที่เลี้ยง เกษตรกรรายย่อย 17,112,956,000 บาท เกษตรกรรายใหญ่ 38,472,491,000 บาท รวม 55,585,447,000 บาท

2.2 ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

1) โดนระงับการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ เนื้อสุกรแปรรูปเป็นมูลค่าปีละ 6,000 ล้านบาท

2) สูญเสียโอกาสการส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นมูลค่าปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท

3) ด้านธุรกิจอาหารสัตว์ 66,666 ล้านบาท ประมาณการความเสียหายจากการระบาดของโรคที่ร้อยละ 50

4) ด้านธุรกิจเวชภัณฑ์ 3,500 ล้านบาท ประมาณการความเสียหายจากการระบาดของโรคที่ร้อยละ 50

5) ผลกระทบด้านราคาสุกรขุนมีชีวิตภายในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคเกิดความตื่นตระหนก ทำให้ราคาลดลง ดังนี้

  • ราคาลดลงกิโลกรัมละ 10 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 22,000 ล้านบาท
  • ราคาลดลงกิโลกรัมละ 20 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 44,000 ล้านบาท
  • ราคาลดลงกิโลกรัมละ 30 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 66,000 ล้านบาท

2.3 ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นจำนวนมากและใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเป็นเวลานาน

3. ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่มีการแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน จนถึงปัจจุบันประเทศไทยยังคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยในการนำเข้าทั้งสุกรมีชีวิตและซากสุกรเพิ่มมากขึ้น ดังข้อมูลการส่งออกสุกรของประเทศไทยปี พ.ศ. 2563 ( 1 มกราคม ถึง 14 ธันวาคม 2563) ประเทศไทยสามารถส่งออกสุกรมีชีวิตจำนวนมากกว่า 2.3 ล้านตัว มูลค่ารวมกว่า 16,000 ล้านบาท โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มูลค่าประมาณ 3,400 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกเนื้อสุกรสดและเนื้อสุกรแปรรูป มีปริมาณมากกว่า 54,000 ตัน โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนสำหรับการส่งออกเนื้อสุกรสด และประเทศญี่ปุ่นสำหรับการส่งออกเนื้อสุกรแปรรูป ซึ่งการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 300 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาและแนวโน้มการส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

4. การป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรไม่ให้เข้ามาระบาดในประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความจำเป็นต้องลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่ในอัตราร้อยละ 15 ซึ่งจากการประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ โดยใช้วิธี Spatial Multi ? criteria Decision Analysis พบว่าจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง คือ

จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทั้งหมด 27 จังหวัด จำนวน 108 อำเภอ จำนวนเกษตรกรประมาณ 43,230 ราย จำนวนสุกรประมาณ 517,188 ตัว ดังนั้นการลดความเสี่ยงที่ร้อยละ 15 คิดเป็นจำนวนเกษตรกรประมาณ 6,485 ราย จำนวนสุกรประมาณ 77,578 ตัว การดำเนินการลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 13 (4) และกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากเป็นโรคระบาด หรือมีเหตุอันสงสัยว่าเป็นโรคระบาด หรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด พ.ศ. 2560 กำหนดให้ชดใช้ราคาแก่เจ้าของสัตว์หรือซากสัตว์สามในสี่ของราคาสัตว์ หรือซากสัตว์ ซึ่งขายได้ในตลาดท้องที่ก่อนเกิดโรคระบาด โดยการชดใช้ราคาสัตว์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาสัตว์ ประกอบด้วย สัตวแพทย์ 1 คน พนักงานฝ่ายปกครองท้องที่ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น อย่างน้อย 2 คน เป็นกรรมการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ