รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

ข่าวการเมือง Tuesday February 23, 2021 18:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (เป็นการดำเนินการตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 338/2562 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ข้อ 2.5 ที่กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่จัดทำรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปี) สรุปผลการดำเนินงานที่สำคัญได้ ดังนี้
1. การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 4 คณะ ได้แก่

(1) คณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ

(2) คณะอนุกรรมการเยียวยากรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ

(3) คณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ และ

(4) คณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้เชิญผู้แทนคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจมาเยือนประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ในการติดตามบุคคลที่ถูกบังคับให้หายสาบสูญ ภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สิ้นสุดลง 2. การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการต่าง ๆ จำนวน 4 คณะ สรุปได้ ดังนี้

คณะอนุกรรมการ / ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

1) คณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ

  • ติดตามและตรวจสอบ รวมทั้งส่งข้อมูลบุคคลตามบัญชีของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อนำส่งคณะทำงานดังกล่าวเรียบร้อยแล้วจำนวน 67 ราย และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จำนวน 8 ราย
  • ลงพื้นที่เพื่อเข้าพบญาติของผู้ถูกบังคับให้หายสาบสูญ โดยจะดำเนินการให้ครบถ้วนทุกคน ได้แก่

(1) กรณีที่ญาติอยู่ต่างประเทศ จะประสานผ่านทาง กต.

(2) กรณีที่ญาติแสดงความประสงค์ไม่ตรงกัน จะดำเนินการติดตามต่อไป

(3) กรณีที่ญาติไม่ให้ความร่วมมือ จะจัดทำบันทึกข้อเท็จจริงฝ่ายเดียวพร้อมภาพถ่าย หรือดำเนินการผ่านองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องหรือประสานงานผ่านบุคคลที่ญาติไว้วางใจ ทั้งนี้ กรณีที่ไม่พบข้อมูลทายาทจะทำหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินงาน และ (4) กรณีมีการร้องเรียนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ไปพบครอบครัวบุคคลผู้ถูกบังคับให้หายสาบสูญเพื่อโน้มน้าวใจให้ถอนหรือยุติการติดตามผู้สูญหาย จะเชิญเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศหรือภาคประชาสังคมเข้าร่วมลงพื้นที่ในการเข้าพบญาติหรือติดตามผู้สูญหายด้วยเพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน

2) คณะอนุกรรมการเยียวยากรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ- พิจารณาเยียวยาให้กับผู้ถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ได้แก่ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 (พฤษภาทมิฬ) จำนวน 1 ราย และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อื่น ๆ จำนวน 5 ราย รวม 6 ราย โดยไม่สามารถเยียวยาเพิ่มเติมได้ เนื่องจากได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลแล้ว และบางกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ เนื่องจากไม่ได้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับการขอเยียวยาในด้านอื่น ๆ (เช่น การขอที่อยู่อาศัย) ขณะนี้ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

  • ศึกษาแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาสำหรับกรณีที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลที่สูญหายเกิดจากการกระทำของผู้ใด โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์การสูญหาย และไม่เคยได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานใด รวม 2 แนวทาง ได้แก่

(1) การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยอาศัยมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 และ

(2) การศึกษาโดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรีเทียบเคียงกรณีผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พร้อมกำหนดอัตราช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบและจัดสรรเงินเยียวยาแก่ทายาทต่อไป

3) คณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ

  • จัดประชุม สัมมนา และฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดทำสื่อการสอนออนไลน์และสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ เพื่อช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4) คณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ

  • รับเรื่องราวร้องทุกข์และการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นกรณีถูกกระทำทรมานโดยคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ เขตพื้นที่ 1 - 11 (ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 - กันยายน 2563) ได้รับเรื่องร้องเรียน จำนวน 35 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้องเรียนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรมราชทัณฑ์ สำหรับกรณีถูกบังคับให้หายสาบสูญ มีเพียง 2 กรณี คือ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และนางแอเสาะ เปาะสา อย่างไรก็ดี คดีที่อยู่ในความสนใจ เช่น นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคณะกรรมการคัดกรองฯ ได้ตรวจสอบและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ