ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อ การจัดเก็บ การจัดแยก การจัดทำและแสดงเครื่องหมาย

ข่าวการเมือง Tuesday March 9, 2021 18:35 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อ การจัดเก็บ การจัดแยก การจัดทำและแสดงเครื่องหมาย การจัดให้มีเอกสารที่จำเป็นและการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อ การจัดเก็บ การจัดแยก การจัดทำและแสดงเครื่องหมาย การจัดให้มีเอกสารที่จำเป็นและการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

คค. เสนอว่า

1. โดยที่มาตรา 190 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อ การจัดเก็บ การจัดแยก การจัดทำและแสดงเครื่องหมาย การจัดให้มีเอกสารที่จำเป็น และการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และในปัจจุบันการขนส่งทางน้ำมีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเฉพาะในเรื่องการขนส่ง และการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุทางน้ำขึ้นโดยสภาพของสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และประโยชน์สาธารณะอย่างร้ายแรง ยากต่อการแก้ไขฟื้นฟู และเยียวยา อันส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมทางน้ำและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของกรมเจ้าท่าตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยกำหนดไว้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำของประเทศโดยรวม

2. คค. ได้พิจารณาทบทวนตามคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) แล้ว สรุปได้ว่า

2.1 ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 3 (5) มีที่มาจากประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายทางทะเลระหว่างประเทศ (IMDG Code) Volume 1 Part 4 Part 5 Part 6 ประกอบกับภาชนะเปล่าที่ผ่านการบรรจุสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้มีการกำหนดมาตรฐานและรายละเอียดอื่น ๆ ไว้ในร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 4 และ 5 ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แล้ว

2.2 ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 9 มีที่มาจากประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสินค้าฯ Part 4 Chapter 4.1.5 โดยการเคลื่อนย้ายและการขนส่งสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ระหว่างขนส่งควรอนุญาตให้ขนส่งหรือเคลื่อนย้ายเฉพาะกลุ่มที่ไม่ทำปฏิกิริยาต่อกัน ดังนั้น การจัดแยก (Segregation) ต้องอยู่ในกลุ่มที่เข้ากันได้ (Compatibility Group) เท่านั้น จึงจะให้ทำการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายได้ สำหรับกลุ่มที่เข้ากันไม่ได้ (Incompatibility Group) ย่อมไม่สามารถอนุญาตให้ขนส่งหรือเคลื่อนย้ายได้ จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้แต่อย่างใด

2.3 ร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 14 และข้อ 15 มีที่มาจากประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสินค้าฯ Part 1 Chapter 1.1 , 1.3 และ 1.4 ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับกิจกรรมต่อเนื่องกับเรือ หรือท่าเรือที่ต้องปฏิบัติการกับเรือ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี กรมเจ้าท่าขอเสนอปรับปรุงถ้อยคำ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) แล้ว

จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อ การจัดเก็บ การจัดแยก การจัดทำและแสดงเครื่องหมาย การจัดให้มีเอกสารที่จำเป็นและการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1. กำหนดบทนิยามความหมายของสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้

2. กำหนดหลักเกณฑ์คุณภาพ มาตรฐานภาชนะและวิธีการบรรจุสิ่งของ การจัดทำเครื่องหมายภาชนะที่ใช้บรรจุสิ่งของ การจัดเก็บและการจัดแยกสิ่งของ การบรรทุกการขนส่งและการขนถ่ายสิ่งของ และเอกสารกำกับการขนส่งสิ่งของ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้

3. กำหนดหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติของเจ้าของหรือผู้ครอบครองท่าเทียบเรือที่ใช้บรรทุกหรือขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และหน้าที่นายเรือหรือผู้ควบคุมเรือกรณีสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้มีการตกหล่นหรือรั่วไหลจากเรือ

4. กำหนดให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้ประกาศกำหนดรายละเอียดวิธีการและคู่มือเพื่อปฏิบัติตามกฎกระทรวง

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ