ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การปิดงาน การนัดหยุดงาน และการกระทำอันไม่เป็นธรรม พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday March 9, 2021 18:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การปิดงาน การนัดหยุดงาน และการกระทำอันไม่เป็นธรรม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานศาลยุติธรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

รง. เสนอว่า พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานการทำงานของลูกจ้างและคนประจำเรือ เพื่อคุ้มครองแรงงานทางทะเลอันจะเป็นการรับรองว่าแรงงานทางทะเลจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมตามมาตรฐานสากลตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention, 2006) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ประกอบกับมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การปิดงาน การนัดหยุดงาน และการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่เกี่ยวข้องสำหรับคนประจำเรือและเจ้าของเรือ รง. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การปิดงาน การนัดหยุดงาน และการกระทำอันไม่เป็นธรรม พ.ศ. .... เพื่อเป็นการส่งเสริมเสรีภาพในการรวมตัวของคนประจำเรือและเจ้าของเรือ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานหน่วยงานระหว่างประเทศ

จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การปิดงาน การนัดหยุดงาน และการกระทำอันไม่เป็นธรรม พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1. กำหนดบทนิยาม คำว่า ?ข้อพิพาทแรงงานทางทะเล? ?การปิดงาน? ?การนัดหยุดงาน? และ ?คณะกรรมการ?

2. กำหนดหลักเกณฑ์การทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างฝ่ายคนประจำเรือกับฝ่ายเจ้าของเรือ กรณีเจรจากันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ให้ถือว่ามีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องอาจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) ตกลงกับฝ่ายรับข้อเรียกร้องให้มีการไกล่เกลี่ยโดยฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง ทำเป็นหนังสือหรือวิธีการอื่นใดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการไกล่เกลี่ย

(2) ตกลงกันนำข้อพิพาทแรงงานทางทะเลที่ตกลงกันไม่ได้ไปเจรจาตกลงกันเอง

(3) ตกลงกันให้มีบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานโดยสมัครใจ

(4) ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานทางทะเลเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

(5) ปิดงานหรือนัดหยุดงาน เมื่อเป็นข้อพิพาทแรงงานที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยแล้ว ตกลงกันไม่ได้ หรือเป็นข้อพิพาทแรงงานไม่อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่อยู่ระหว่างการชี้ขาดของบุคคล คณะบุคคล หรือคณะกรรมการแรงงานทางทะเล

3. กำหนดให้เจ้าของเรืออาจปิดงานหรือคนประจำเรืออาจนัดหยุดงานได้เมื่อมีการแจ้งข้อเรียกร้องต่ออีกฝ่ายตามประกาศกระทรวงแรงงานฯ หรือเมื่อฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง หรือไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด ไม่อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน กรณีที่จะปิดงานหรือนัดหยุดงานต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่และอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ก่อนการปิดงานหรือนัดหยุดงาน โดยนับเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่และอีกฝ่ายได้รับแจ้ง

4. กำหนดให้กรณีที่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งห้ามเจ้าของเรือกระทำต่อคนประจำเรือ เช่น การเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้คนประจำเรือไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่คนประจำเรือร่วมกันจัดตั้งองค์กรเอกชนฝ่ายคนประจำเรือ เป็นต้น

5. กำหนดให้คนประจำเรือผู้เสียหายอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานทางทะเลเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องคนประจำเรือผู้เสียหายหรือเจ้าของเรือผู้ถูกกล่าวหาหากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของคณะกรรมการฯ มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับทราบคำสั่ง กรณีที่เจ้าของเรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาลต้องวางเงินต่อศาลแรงงานโดยครบถ้วนตามคำสั่งฯ จึงจะฟ้องคดีได้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ