รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมกราคม 2564

ข่าวการเมือง Tuesday March 16, 2021 17:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมกราคม 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญ
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมกราคม 2564

การส่งออกของไทยเดือนมกราคม 2564 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนธันวาคมปีก่อน โดยมีมูลค่า 19,706.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.35 แม้จะยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่การส่งออกของไทยในเดือนมกราคมขยายตัว และมีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (18,319 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เริ่มเห็นผลชัดเจน และมีการกระจายวัคซีนในวงกว้าง ส่งผลให้เกิดอุปสงค์และสร้างความเชื่อมั่นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.57 ซึ่งสะท้อนการเติบโตจากภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector)

สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นและแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ 3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ และถุงมือยาง เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกอย่างมากในช่วงนี้ และ 4) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยในระยะถัดไป

ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และตะวันออกกลาง ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตลาด CLMV พลิกกลับมาเป็นบวกในรอบ 10 เดือน แสดงถึงการค้าชายแดนที่เริ่มกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ตลาดอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญต่อการส่งออกของไทย เช่น สหภาพยุโรป เอเชียใต้ และอาเซียน (5) ยังคงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างมาก ทำให้การฟื้นตัวของการส่งออกในตลาดดังกล่าวเป็นไปอย่างช้า ๆ

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมกราคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 19,706.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.35 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 19,908.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.24 ดุลการค้าขาดดุล 202.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนมกราคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 587,373.95 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.09 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 601,897.76 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.70 ดุลการค้าขาดดุล 14,523.81 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.7 (YoY) ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวร้อยละ 345.1 (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย กัมพูชา และลาว) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 50.5 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย) ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 31.7 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ฮ่องกง และมาเลเซีย) สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 38.5 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง เมียนมา และกัมพูชา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 19.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และออสเตรเลีย) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 1.5 (ขยายตัวในหลายตลาด เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ตุรกี อินเดีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 48.1 (หดตัวในหลายตลาด อาทิ อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ แต่ขยายตัวดีในเวียดนาม และลาว) ข้าว หดตัวร้อยละ 15.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวดีในแคเมอรูน แอฟริกาใต้ และจีน) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัวร้อยละ 7.9 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวดีในเกาหลีใต้ และสิงคโปร์) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 0.8 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน แต่ขยายตัวดีในสหรัฐฯ อียิปต์ และแคนาดา)

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.9 (YoY) ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ถุงมือยาง ขยายตัวร้อยละ 200.5 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และจีน) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 25.7 (ขยายตัวในหลายตลาด เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เวียดนาม มาเลเซีย) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 17.4 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ลาว สิงคโปร์) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 12.6 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ จีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 12.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ออสเตรเลีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 9.2 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์) ยางรถยนต์ กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.2 (ขยายตัวในหลายตลาด เช่น ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม เม็กซิโก อินโดนีเซีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวร้อยละ 90.3 (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ อินเดีย และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวได้ดีในฮ่องกง และออสเตรเลีย) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 8.2 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน แต่ขยายตัวได้ดีในฮ่องกง และมาเลเซีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ กลับมาหดตัวร้อยละ 5.2 (หดตัวในตลาดอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา แต่ขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน และอินโดนีเซีย) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว กลับมาหดตัวร้อยละ 5.0 (หดตัวในตลาดฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น เวียดนาม และฮ่องกง) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 4.5 (หดตัวในหลายตลาด อาทิ จีน กัมพูชา และมาเลเซีย แต่ขยายตัวได้ดีในเวียดนาม ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย)

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปตลาดสำคัญหลายตลาดขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนการฟื้นตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า สอดคล้องกับภาคการผลิตและการบริโภคทั่วโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวม

การส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 5.7 ตามการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นร้อยละ 12.4 และร้อยละ 7.4 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรป (15)

หดตัวร้อยละ 5.4 2) ตลาดศักยภาพสูง ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากการส่งออกไปจีน และกลุ่มประเทศ CLMV ที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปอาเซียน (5) และเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 11.0 และร้อยละ 8.3 ตามลำดับ และ 3) ตลาดศักยภาพระดับรองขยายตัวร้อยละ 10.3 ตามการขยายตัวต่อเนื่องของส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) ร้อยละ 30.3 และตะวันออกกลาง (15) ร้อยละ 13.1 และการกลับมาขยายตัวของการส่งออกไปทวีปแอฟริกาที่ร้อยละ 6.3 ขณะที่การส่งออกไปลาตินอเมริกา และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 2.9 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ 2. แนวโน้ม และมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564

การส่งออกของไทยระยะต่อไปน่าจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีความชัดเจน สะท้อนจาก (1) ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (2) ความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่เริ่มขยายตัว สะท้อนจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่แล้ว และกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (3) การกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาค ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสูงขึ้น สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกปี 2564 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) มีนโยบายสำคัญ อาทิ การส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเร่งผลักดันแผนยุทธศาสตร์ข้าวเพื่อให้ไทยเป็นผู้นำทั้งด้านคุณภาพและการตลาด สนับสนุนการส่งออกสินค้าฮาลาล เพื่อเจาะตลาดสินค้าอาหารประเทศมุสลิม ขณะเดียวกันเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ อาทิ ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า เป็นต้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ