ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2563

ข่าวการเมือง Wednesday March 24, 2021 09:11 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. การเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2563

1.1 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงและชั่วโมงการทำงานยังต่ำกว่าภาวะปกติ

ไตรมาสสี่ ปี 2563 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 38.3 ล้านคน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2) อัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 1.86 (ลดลงจากร้อยละ 1.95 และ 1.90 ในไตรมาสสองและไตรมาสสามตามลำดับ) เช่นเดียวกันกับผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่มีจำนวนลดลงมากจาก 171,987 คน ในเดือนพฤษภาคม 2563 เหลือ 64,760 คน ในเดือนธันวาคม 2563 สะท้อนให้เห็นถึงการจ้างงานในระบบที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มและชั่วโมงการทำงานลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ (45.4 ชั่วโมง/สัปดาห์) ทั้งนี้ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนช่วงครึ่งปี 2563 พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท (ลดลงร้อยละ 10.45)

ปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานปี 2564 ได้แก่ (1) ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด ? 19 ระลอกใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดในระลอกแรก โดยหากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดและมีความล่าช้าในการได้รับวัคซีน กลุ่มแรงงานอาจได้รับผลกระทบรุนแรงและยาวนานขึ้น (2) สถานการณ์ภัยแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนปี 2564 มีน้อย จึงอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำและส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร (3) การขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่การยก/เปลี่ยนระดับทักษะแรงงานยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว ทั้งนี้ จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จึงควรมีแนวทางการบริหารจัดการตลาดแรงงาน ประกอบด้วย (1) การรักษาระดับการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงนโยบายการเสริมสภาพคล่องของภาครัฐเพื่อรักษาการจ้างงาน และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงานและประชาชนเข้าถึงงานได้มากขึ้น (2) การจัดเตรียมมาตรการรองรับปัญหาภัยธรรมชาติที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงานภาคการเกษตร โดยวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมอาชีพเสริม การเข้าถึงเงินทุน และการตลาด และ (3) การสนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ ให้กับแรงงาน โดยฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานและส่งเสริมการเข้าถึงบริการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของภาครัฐ

1.2 หนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสาม ปี 2563 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.9 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน (ร้อยละ 3.8) หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.6 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด ? 19 ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาสสาม ปี 2563 ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 144,329 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.91 ของสินเชื่อรวม ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.12 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชะลอการด้อยคุณภาพของสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อทุกประเภทดีขึ้น ทั้งนี้ ในระยะถัดไปคาดว่าหนี้สินครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนเนื่องจากมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐและเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ? 19 ระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นความท้าทายในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่อง ดังนั้น อาจต้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ (1) การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่ (2) การจำแนกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด ? 19 ระลอกใหม่ ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น เพื่อไม่ให้กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินเข้ารับมาตรการช่วยเหลือ และ (3) การให้ความช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ เนื่องจากการลดลงของรายได้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ

1.3 ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ (1) การเจ็บป่วยโดยรวมลดลงในเกือบทุกโรค คิดเป็นร้อยละ 51.9 เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และปอดอักเสบ เนื่องจากประชาชนมีการป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของโควิด ? 19 แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว (2) การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 4.7 เนื่องจากภาครัฐได้มีมาตรการปิดสถานบันเทิงและห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากการแพร่ระบาดของโควิด ? 19 (3) คดีอาญารวมลดลงร้อยละ 23.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราการเกิดอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นจากปี 2562 สูงถึงร้อยละ 96.5 อีกทั้งภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ? 19 รูปแบบการก่ออาชญากรรมด้านอื่นเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสาม ปี 2563 จึงต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวังการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ การแพร่ระบาดของสารเสพติดรูปแบบใหม่ รวมทั้งการลักลอบข้ามชายแดนเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายและการลักลอบเล่นการพนัน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด ? 19 ระลอกใหม่ (4) การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตในภาพรวมลดลง โดยในไตรมาสสี่ ปี 2563 มีการรับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงร้อยละ 10.7 ผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 14.1 และผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 7.2 ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 สะท้อนให้เห็นว่ายังคงต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถและใช้ถนน สภาพแวดล้อมทางกายภาพ และการบูรณาการการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน (5) การร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เพิ่มขึ้น โดย สคบ. ได้รับการร้องเรียนเรื่องสินค้าและบริการเพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 39.7 ซึ่งประเด็นหลักที่ได้รับการร้องเรียน คือ การขายตรงและการตลาดแบบตรง ขณะที่การร้องเรียนผ่านสำนักงาน กสทช. เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.2 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยประเด็นหลักที่ได้รับการร้องเรียน คือ มาตรฐานและคุณภาพการให้บริการของโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต 2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ

2.1 การพัฒนาทักษะดิจิทัลที่มีความสำคัญกับการทำงานในอนาคต จากการแพร่ระบาดของโควิด ? 19 ส่งผลให้มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้น ซึ่งจากการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก 2020 ระบุว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจจะมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะมากขึ้นร้อยละ 34 โดยเฉพาะในสาขาอาชีพที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก ขณะที่แรงงานไทยมีทักษะด้านดิจิทัลเพียงร้อยละ 54.9 รวมถึงมีจุดอ่อนในด้านความพร้อมรองรับอนาคต การฝึกอบรมและการศึกษา และทัศนคติการปรับตัวในการทำงานในอนาคต ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) การพัฒนาทักษะของแรงงานด้านดิจิทัลให้ตรงตามความต้องการของตลาด และ (2) การยกระดับการศึกษาด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาตลอดชีวิต

2.2 หลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ ประเทศไทย (ไทย) จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2566 แต่การออมในผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต ซึ่งรายได้พึงมีที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในช่วงอายุ 60 - 100 ปี คือประมาณ 4.3 ล้านบาท นอกจากนี้ ระบบบำนาญของไทยยังได้รับการจัดอันดับในระดับต่ำ โดยเฉพาะในมิติด้านความเพียงพอ ดังนั้น ภาครัฐควรดำเนินการ ดังนี้ (1) ส่งเสริมการออม เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ โดยการสร้างการรับรู้และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงหลักประกันให้สะดวกรวดเร็ว รวมทั้งการทบทวนฐานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบประกันสังคมและปรับอัตราการออมเพื่อให้แรงงานสามารถออมได้มากขึ้น และ (2) เพิ่มรายได้ โดยการส่งเสริมการมีรายได้หลังเกษียณและความรู้ทางการเงิน การประกอบอาชีพตามความสามารถของผู้สูงอายุ และการเพิ่มความรู้ในการบริหารจัดการเงิน 3. บทความเรื่อง พ.ร.ก. เงินกู้ ให้อะไรกับประชาชน การออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด ? 19 โดยการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และเป็นการสนับสนุนให้ไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัลเร็วขึ้น เนื่องจากภาครัฐได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือ/เยียวยาผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังและถุงเงิน ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับการใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น อีกทั้งการลงทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ในโครงการต่าง ๆ ทำให้เกิดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้ การดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าว ทำให้มีบทเรียนซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงระบบและเตรียมความพร้อมให้สามารถรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ (1) การเตรียมความพร้อมในการรองรับโรคอุบัติใหม่ (2) การสร้างหลักประกันรายได้ของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ (3) การพัฒนาฐานข้อมูลบุคคลด้านสวัสดิการสังคมให้มีความสมบูรณ์ และสามารถเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ระหว่างหน่วยงานได้ (4) การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้มีความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และ (5) การสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอและโปร่งใส ตลอดจนการสร้างระบบการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานในอนาคต

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ