แนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2564 ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย”

ข่าวการเมือง Wednesday March 24, 2021 10:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ แนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2564 ภายใต้แนวคิด ?สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย? ดังนี้

สาระสำคัญ
1. กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดประชุมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการรณรงค์ในการสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2564 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายอิทธิพล คุณปลื้ม) เป็นประธานฯ ทั้งนี้ หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงประเพณีสงกรานต์ ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมจำนวน 17 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปานครหลวง) กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรน้ำ) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กรมอุตุนิยมวิทยา) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กรมการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจร สำนักนายกรัฐมนตรี (กรมประชาสัมพันธ์) กระทรวงคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก) กระทรวงศึกษาธิการ (คณะกรรมการการอาชีวะศึกษา) กรุงเทพมหานคร (สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว และสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และมูลนิธิเมาไม่ขับ ทั้งนี้ ที่ประชุมบูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางจัดงานสงกรานต์ พุทธศักราช 2564 มีมติเห็นชอบแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2564 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ
2. แนวทางการดำเนินการในปีพุทธศักราช 2564 ภายใต้แนวคิด ?สงกรานต์ วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย? สื่อความหมายได้ ดังนี้

2.1 สงกรานต์วิถีใหม่ หมายถึง การดำเนินการจัดงานตามแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ขณะเดียวกันก็คำนึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงประเพณีสงกรานต์ และการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด รวมถึงการรักษาความปลอดภัยในด้านอื่น ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.2 สืบสานวัฒนธรรมไทย หมายถึง การอนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ ที่ทรงคุณค่า สาระอันดีงาม และการปฏิบัติตามแบบของประเพณีวัฒนธรรมที่เหมาะสม ซึ่งสะท้อนถึงการแสดงออกที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร มีน้ำใจไมตรีให้แก่กันและกัน และบรรยากาศแห่งการแสดงความกตัญญูที่สามารถแสดงออกได้ ต่อพระพุทธศาสนา ครอบครัว บรรพบุรุษ บิดามารดา และ ผู้มีพระคุณ เช่นการเข้าวัดฟังเทศน์ ฟังธรรม การทำบุญตักบาตร การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ 3. แนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2564

3.1 การรณรงค์เรื่อง ?สงกรานต์วิถีใหม่? ประกอบด้วย

3.1.1 ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์แบบฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวและสุขภาพ งดเว้นการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากและมีการสัมผัสกันใกล้ชิด

3.1.2 ขอความร่วมมือประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะและใช้ถนนหนทางให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่อง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม

3.1.3 ดำเนินกิจกรรมสงกรานต์ให้สอดคล้องกับแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ดังนี้

(1) การจัดพิธีรดน้ำดำหัว ขอให้ยึดถือตามมาตรการ DMHT (T:Tracking) หลีกเลี่ยงการจัดในที่คับแคบ หรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม ตามขนาด ของสถานที่ 1 คน ต่อ 1 ตารางเมตร และการรดน้ำฯ ให้มีการเรียงแถวเข้ารดน้ำแบบเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และสวมหน้ากากอนามัยทุกคน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน

(2) การจัดงานสงกรานต์ ขอให้ยึดถือตามมาตรการ DMHT (T:Tracking) ควรจัดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี และในพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึง จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมตามขนาดของสถานที่ 1 คน ต่อ 1 ตารางเมตร งดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ได้แก่ งดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ได้แก่ งดการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ และงดการจัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสกันใกล้ชิด ได้แก่ งดประแป้ง งดการเล่นปาร์ตี้โฟม หลีกเลี่ยงการจัดเลี้ยง และสังสรรค์ ในกลุ่มที่มาจากหลากหลายพื้นที่

3.1.4 การขอความร่วมมือองค์กร/หน่วยงานผู้จัดงาน ดำเนินกิจกรรมสงกรานต์ให้สอดคล้องกับแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. และขอความร่วมมือ งดดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่สาธารณะตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

3.1.5 กิจกรรมอื่น ๆ นอกจากนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

3.2 การรณรงค์เรื่อง ?สืบสานวัฒนธรรมไทย? ประกอบด้วย

3.2.1 ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในเทศกาลสงกรานต์ ร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงาม เหมาะสม

3.2.2 ขอความร่วมมือจากประชาชนในการสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์ เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน วัด สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระ ขอพรผู้สูงอายุ

3.2.3 รณรงค์ให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น หรือชุดไทยย้อนยุค เข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ

3.2.4 การขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนศิลปินพื้นบ้าน ในการจัดกิจกรรม การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ตามแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. เพื่อเป็นการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันสืบสานประเพณี โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม และร่วมกัน เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง 17 หน่วยงาน มีความเชื่อมั่นว่า การประสานความร่วมมือในการบูรณาการแนวทางและมาตรการรณรงค์ ตามแนวคิด ?สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย? จะก่อให้เกิดการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ตามแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีสงกรานต์ ให้คงคุณค่า สาระ และความงดงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมการเพื่อป้องกันอุบัติภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการดูแลทรัพย์สิน สุขอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ