การต่ออายุบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MoU) ว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย

ข่าวการเมือง Wednesday March 24, 2021 11:19 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การต่ออายุบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MoU) ว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงอาหารแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการต่ออายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงอาหารแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ และมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงอาหารแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิได้ทำให้สาระสำคัญในร่าง MoU เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้อยู่ในดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมายที่จะดำเนินการได้ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง
1. เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือส่งถึงกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่าฝ่ายบังกลาเทศประสงค์ขอต่ออายุ MoU ซึ่งมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ออกไปอีก 5 ปี เป็นสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2569 ซึ่งการต่ออายุ MoU มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศสามารถนำเข้าข้าวจากไทยได้เมื่อจำเป็น ซึ่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศวางแผนที่จะนำเข้าข้าวทั้งหมดประมาณ 5 แสนตัน ภายในเดือนกรกฎาคม 2563 ? มิถุนายน 2564 เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางด้านอาหารและรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวภายในประเทศ เนื่องจากเกิดความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงกลางปี 2563
2. รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศได้เสนอร่าง MoU ให้รัฐบาลไทยพิจารณา โดยกระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าต่างประเทศ) และกระทรวงการต่างประเทศ (กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา) ได้ปรับแก้ถ้อยคำในร่าง MoU ให้มีความเหมาะสมแล้ว โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

สาระสำคัญ

ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศตกลงที่จะซื้อขายข้าวไทยทุกชนิดแบบรัฐต่อรัฐ ปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี ระหว่าง ปี พ.ศ. 2564 ? 2568 ตามความต้องการของสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตของทั้งสองประเทศและระดับราคาในตลาดโลก

หน่วยงานดำเนินการ

  • รัฐบาลไทยมอบหมายกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินการ
  • รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศมอบหมายกรมอาหาร กระทรวงอาหาร เป็นผู้ดำเนินการ

การแก้ไข เมื่อร่าง MoU มีผลใช้บังคับ ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเสนอขอแก้ไขอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งภาคีอีกฝ่ายจะตอบกลับภายในหนึ่งเดือนนับจากวันที่ได้รับการแจ้งขอแก้ไขดังกล่าว

ผลบังคับใช้

บังคับใช้ในวันที่ฝ่ายสุดท้ายลงนามและมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เว้นแต่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แจ้งความประสงค์ขอยกเลิกร่าง MoU ฉบับนี้ เป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางการทูต เป็นระยะเวลา 6 เดือนล่วงหน้าก่อนวันที่ประสงค์จะยกเลิก

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ