แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ. 2563 - 2565

ข่าวการเมือง Tuesday April 20, 2021 17:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ. 2563 - 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
2. ให้ สธ. รับความเห็นของกระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป รวมทั้งให้ สธ. ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้

2.1 พิจารณาแนวทางการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ. 2563 - 2565 อย่างรอบคอบและจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินงานให้มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความสอดคล้อง ความเป็นไปได้ และผลกระทบ ตลอดจนความพร้อมของปัจจัยในการขับเคลื่อนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าประสงค์ตามกรอบยุทธศาสตร์ได้อย่างครบถ้วน ลดความซ้ำซ้อนด้านภารกิจและงบประมาณ และนำไปสู่การวางแนวทางการรับมือที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์จริงทั้งระยะก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัยให้มีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ

2.2 ให้ความสำคัญกับการบูรณาการและยกระดับระบบการสื่อสารบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อให้การรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาที่เกิดสาธารณภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและควรพิจารณากำหนดกลไก/ลำดับขั้นตอนในการรายงานและสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจนและมีการทดสอบระบบการสื่อสารที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ รวมถึงการทบทวนและซักซ้อมแนวทางปฏิบัติกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์จริงสามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยอย่างเหมาะสม

2.3 กำหนดกลไกการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ โดยมีกลไกการเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาคควรศึกษาและถอดบทเรียนจากแนวทางการรับมือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอดีตของแต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานเชิงรุกโดยเฉพาะการกำหนดมาตรการป้องกันที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเลือกใช้วิธีป้องกันและลดผลกระทบที่เหมาะสมที่สุดแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า
1. ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับโรคและภัยพิบัติธรรมชาติอย่างรุนแรงในหลายรูปแบบ ทั้งแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ อุทกภัย รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อประชากรอย่างกว้างขวาง โรคและภัยพิบัติธรรมชาติเหล่านี้ถือเป็นปัญหาภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ รวมถึงเป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองของประเทศด้วย ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ สธ. จึงเล็งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการที่เข้มแข็งเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและบริหารจัดการกับโรคและภัยพิบัติในด้านการแพทย์และการสาธารณสุขที่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการฟื้นฟูบูรณะหลังเกิดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ. 2563 - 2565 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติทางธรรมชาติแบบบูรณาการที่ครบวงจรและมีเอกภาพ
2. สธ. ได้ริเริ่มการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการแพทย์และการสาธารณสุขเป็นครั้งแรกในคราวประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 17 - 18 กันยายน 2556 โดยมีการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด และกลยุทธ์ในเบื้องต้น หลังจากนั้น นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา สธ. ได้ดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดของแผนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการประชุมหารือและรับฟังข้อคิดเห็นและกระบวนการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณภัยในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้งในระดับกรมและระดับจังหวัด เพื่อให้แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ พ.ศ. 2563 - 2565 มีเนื้อหาที่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน รวมทั้งมีการเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 - 2580 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 และกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ. 2558 - 2573
3. สธ. (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ได้เสนอแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยฯ พ.ศ. 2563 - 2565 ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนแนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560) ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ พ.ศ. 2563 - 2565 โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

3.1 การกำหนดวัตถุประสงค์ของแผน ควรกำหนดวัตถุประสงค์เพิ่มเติมให้รวมถึงการปฏิบัติด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับท้องถิ่น ชุมชน และภาคเอกชน เพื่อให้ครอบคลุมภาคส่วนที่สำคัญสำหรับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีประสิทธิภาพ

3.2 การให้ความสำคัญกับจุดเน้นภายใต้ยุทธศาสตร์ เช่น ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาศักยภาพและกลไกการบริหาร เน้นการบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน/ภาคส่วนต่าง ๆ ที่รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่

3.3 การกำหนดประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนแผน เช่น ควรพิจารณาบูรณาการร่วมกับแผนด้านสาธารณภัยทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ยุทธศาสตร์การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในภาพรวมของประเทศ ในระยะยาว (5 - 10 ปี)

3.4 การติดตามประเมินผลแผน เช่น ควรกำหนดการติดตามประเมินผลให้มีความสอดคล้องกับรายงานผลความคืบหน้าของยุทธศาสตร์ชาติต่อรัฐสภาและมีการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเชิงรายการของการปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อนำมาสรุปเป็นรายงานสรุปโดยอัตโนมัติ (automatically generated report) เพื่อให้ลดภาระการจัดทำรายงาน สามารถปรับปรุงแผนให้เหมาะสมการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ

3.5 การจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการ ควรมุ่งเน้นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการประเมินสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับทุกหน่วยงาน ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้าง กฎหมาย ระเบียบ และกลไกการประสานงานที่เชื่อมโยงบูรณาการหน่วยงาน

ทั้งนี้ สธ. ได้ดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดดังกล่าวแล้ว 4. แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ พ.ศ. 2563 - 2565 สาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และ การสาธารณสุข พ.ศ. 2563 - 2565

(1) วิสัยทัศน์ ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยได้รับบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีความมั่นใจในระบบบริการสาธารณสุขทุกระยะของการเกิดภัยอย่างทันท่วงที ในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

(2) เป้าหมาย พัฒนาระบบบูรณาการและการปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุขในทุกระดับให้เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพด้วยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ลดความสูญเสียของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(3) พันธกิจ

  • ทุกภาคส่วนมีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการจัดการหลังเกิดภัยให้พร้อมกับการเผชิญสาธารณภัย
  • ส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัยในระดับท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคส่วนต่าง ๆ ให้มีส่วนร่วมในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย
  • ส่งเสริมให้บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีความตระหนักถึงความปลอดภัย
  • มีการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย มุ่งเข้าสู่ การรับรู้ - ปรับตัว - ฟื้นเร็วทั่ว - อย่างยั่งยืน

(4) ตัวชี้วัด

(4.1) ร้อยละของการจัดทำและดำเนินการตามแผนการเตรียมพร้อมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และการสาธารณสุขทุกระดับสำหรับทุกเพศทุกวัย

(4.2) อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนในพื้นที่ประสบภัย

(4.3) ระดับความสำเร็จของการปฏิบัติการฟื้นฟูด้านการแพทย์และสาธารณสุขหลังเหตุการณ์สาธารณภัย

(4.4) จำนวนกลไกและระดับบูรณาการของภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินงาน

(5) กลไกการประเมินและติดตาม

  • คณะอนุกรรมการจัดทำแผนติดตามและประเมินผล ชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความก้าวหน้างานภายใต้แผนแต่ละระดับ
  • จัดทำรายงานการติดตามประเมินผลภาพรวมเสนอคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.)

(6) กรอบยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการลดความเสี่ยงต่อสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน

  • สร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงสร้างองค์ความรู้ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน
  • จัดทำระบบบริหารความต่อเนื่อง ที่สามารถสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรแก่การจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 บูรณาการระบบและให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัยอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

  • พัฒนาระบบสื่อสารในภาวะฉุกเฉินและเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการประเมินสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันและเชื่อถือได้
  • พัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรในการจัดการภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย ระบบบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูด้านการแพทย์และการสาธารณสุขหลังเกิดสาธารณภัย

ร่วมกับหน่วยงานภาคีในระดับปฏิบัติการพื้นที่พัฒนาระบบปฏิบัติการฟื้นฟูด้านการแพทย์และการสาธารณสุขให้สอดคล้องกับแนวทางการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ (Disaster Recovery Framework : DRF)

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาศักยภาพและกลไกการบริหารจัดการเชิงบูรณาการทางการแพทย์และการสาธารณสุขระหว่างประเทศในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

  • พัฒนาขีดความสามารถ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข
  • เสริมสร้างทักษะและความชำนาญของเครือข่ายด้านการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และการสาธารณสุข และส่งเสริมมาตรฐานความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการความเสี่ยง

5. ประมาณการงบประมาณ ปี พ.ศ. 2563 - 2565 สำหรับการดำเนินโครงการ/กิจกรรมตามกรอบยุทธศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 588.41 ล้านบาท โดยแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการจัดทำแผนงบประมาณที่สอดรับกับแผนปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของแต่ละหน่วยงานต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ