ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอทิศทางประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด 19 ในด้านการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์

ข่าวการเมือง Tuesday April 27, 2021 17:30 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอทิศทางประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด 19 ในด้านการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอทิศทางประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด 19 ในด้านการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และ การอุตสาหกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

เรื่องเดิม

1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอทิศทางประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด 19 ในด้านการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และ การอุตสาหกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม เห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง และยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการบิน และภาคธุรกิจบริการต่าง ๆ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร รวมถึงกิจกรรมสันทนาการและบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินมาตรการล็อคดาวน์ในแต่ละประเทศ จึงมีข้อเสนอแนะว่าประเทศไทยควรมีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางประเทศใหม่ โดยเฉพาะประเด็นด้านการผลิตและการค้าซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำศักยภาพในด้าน ต่าง ๆ ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทยมาพิจารณา ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมสิ่งทอทางการแพทย์และเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมสื่อสารสนเทศ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ และควรปรับโครงสร้างการค้าของไทย โดยลดการพึ่งพาตลาดเดิม รวมทั้งควรผลักดันให้มีภาคบริการใหม่ ๆ เช่น ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) การส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ (Health Care) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) การส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)

2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ อก. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข้อเท็จจริง
1. อก. เสนอว่าได้พิจารณารายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 แล้ว โดยเห็นด้วยกับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ

1. การปรับโครงสร้างการผลิต โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีความจำเป็นต่อประเทศ (Critical Industry Supply Chain : CISC) และมีห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศที่เข้มแข็ง การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ

1. ควรส่งเสริมการขยายห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็น สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และลดการพึ่งพิงการผลิตหรือการนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งและนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิต

2. ควรพัฒนาบุคลากรที่อยู่ในกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ การตัดสินใจของมนุษย์ซึ่งระบบอัตโนมัติหรือเครื่องจักรกล ไม่สามารถทดแทนได้ และยกระดับจากผู้รับจ้างผลิตให้เป็นผู้ผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม

3. ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เนื่องจาก SMEs ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ โควิด 19 ซึ่งมีความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงินและการตลาดค่อนข้างต่ำ

4. ควรกำหนดเป้าหมายร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ตามแนวคิด BCG Economy (Bio ? Circular - Green Economy) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ 2. การปรับโครงสร้างการค้าของไทย โดยเน้นการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ โดยลดการพึ่งพาตลาดเดิม ได้แก่ควรเร่งผลักดันการเร่งเจรจาความตกลงทางการค้า FTA ในแต่ละฉบับที่ค้างอยู่ เร่งพิจารณาศึกษาการเข้าร่วมการเจรจาตามกรอบความตกลง การเจรจาเป็นพันธมิตรทางการค้าในกรอบความตกลงในระดับภูมิภาคที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าไทยและควรผลักดันให้มีภาคบริการใหม่ ๆ เช่น ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E - Commerce) การส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ (Health Care) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Mecical Tourism) การส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)

ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ

1. ขณะนี้อยู่ ระหว่างการศึกษาและเจรจาความตกลงทางการค้า สร้างพันธมิตรทางการค้ากับประเทศในภูมิภาคอาเซียนหรือการรวมกลุ่มในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาค CLMVT เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทานการผลิตของไทย ส่งเสริมความเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศในอาเซียนผ่านระบบดิจิทัลและสร้างมาตรฐานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่ค้านอกภูมิภาค รวมทั้งควรขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ดำเนินนโยบาย ?เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด? เพื่อพัฒนาภาคเกษตรไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก

2. การส่งเสริมการค้าภาคบริการ เห็นควรผลักดันให้เกิดแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าระดับชาติเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และรายย่อยเพื่อลดต้นทุนและระยะเวลาในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการเชื่อมโยงการค้าดิจิทัลในภูมิภาค และอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งควรกำหนดมาตรการที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ใน การประกอบธุรกิจและเห็นควรปรับปรุงและทบทวนมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุน เช่น การปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 รวมถึง การกำหนดมาตรการรองรับหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากความตกลงทางการค้า

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

1. ด้านพาณิชย์ ควรเน้นนโยบายการค้าของไทยโดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ด้านระบบโลจิสติกส์เกษตรในระดับภูมิภาค และด้านธุรกิจพลังงาน เพื่อเป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขาย LNG ประจำภูมิภาคและศูนย์กลางแลกเปลี่ยนไฟฟ้าในอาเซียน รวมถึงควรส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและกระจายไปสู่เมืองรองมากขึ้น

2. ด้านอุตสาหกรรม ควรยกระดับศักยภาพของสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค เสริมภูมิต้านทาน เช่น ฟ้าทะลายโจร กัญชา เพื่อเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ และควรพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศได้ เช่น อุตสาหกรรมใหม่ด้านพลังงานในอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น รวมทั้งการผลักดันนโยบายปฏิรูปด้านแรงงานภาคการผลิตการจัดการความปลอดภัยและชีวอนามัยสำหรับการทำงานอย่างปลอดภัยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ