รายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

ข่าวการเมือง Tuesday April 27, 2021 18:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และเห็นชอบตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการรายงานว่า
1. คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ได้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุมผลการดำเนินงานของ 3 องค์กรสำคัญ ที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนภารกิจงานของคณะกรรมการดังกล่าว ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (2) คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และ (3) สขร. สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

ประเด็น

1) คณะอนุกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ

1.1) การปรับปรุงแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร

ผลการดำเนินงาน

คณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายและอนุบัญญัติเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นกฎหมายกลางเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อใช้บังคับหน่วยงานของรัฐทุกประเภทและบุคคลทั้งหมด ทั้งนี้ สขร. ได้ดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและเผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนแล้ว

1.2) การรับเรื่องอุทธรณ์และพิจารณาเรื่องร้องเรียนของประชาชน

ผลการดำเนินงาน

คณะอนุกรรมการส่งคำอุทธรณ์และพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้รับเรื่องอุทธรณ์ 523 เรื่อง และได้รับเรื่องร้องเรียนการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ของหน่วยงานของรัฐ 625 เรื่อง โดยพิจารณาแล้วเสร็จทุกเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลการตรวจสอบการใช้อำนาจการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงาน 327 เรื่อง (คิดเป็นร้อยละ 52.32 ของจำนวนทั้งหมด)

1.3) การตรวจสอบข้อมูลข่าวสารตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ

ผลการดำเนินงาน

คณะอนุกรรมการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการได้รับเรื่องร้องเรียน กรณีผู้ยื่นขอข้อมูลข่าวสาร แต่หน่วยงานปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลข่าวสาร ซึ่งผู้ขอไม่เชื่อว่าเป็นความจริง ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้ตรวจสอบความมีอยู่ของข้อมูลข่าวสารในหน่วยงานครบถ้วนทุกเรื่องแล้ว 89 เรื่อง

1.4) การตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ

คณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ได้รับเรื่องขอหารือเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯจากส่วนราชการ 37 เรื่อง โดยพิจารณาแล้วเสร็จครบถ้วนทุกเรื่องแล้ว

1.5) การกำหนดยุทธศาสตร์ ติดตาม ประเมินผล และพัฒนาองค์กร

ผลการดำเนินงาน

คณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์ ติดตาม ประเมินผล และพัฒนาองค์กร ได้พิจารณาหลักเกณฑ์การมอบโล่รางวัลแก่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น ประจำปี 2564 และยุทธศาสตร์/แผนงานของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 2) คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่าง ๆ (หน่วย : เรื่อง)

สาขา / จำนวนเรื่องอุทธรณ์ / จำนวนเรื่องที่พิจารณาแล้วเสร็จ

การแพทย์และสาธารณสุข / 4 / 4

ต่างประเทศ ความมั่นคง และการเมือง / 3 / 3

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมและการเกษตร / 3 / 3

เศรษฐกิจและการคลัง / 8 / 8

สังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย / 519 / 463

รวมทั้งสิ้น / 537 / 481 3) สขร.

3.1) โครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการในส่วนท้องถิ่นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

  • จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ของราชการให้กับหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศ รวม 12 ครั้ง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 1,000 แห่ง/ปี มีหน่วยงานที่เข้าร่วม 825 หน่วยงาน (คิดเป็นร้อยละ 82.50) ซึ่งหน่วยงานของรัฐในส่วนท้องถิ่นประเมินตนเองตามแบบเกณฑ์การประเมินศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการอิเล็กทรอนิกส์ เกินร้อยละ 50 จำนวน 786 หน่วยงาน (คิดเป็นร้อยละ 95.27) ของหน่วยงานทั้งหมด
  • แจ้งเวียนหน่วยงานของรัฐเข้าร่วมประกวดศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น ปี 2563 ซึ่งมีหน่วยงานที่เข้าร่วมสมัครทั้งสิ้น 149 หน่วยงาน แบ่งเป็นส่วนกลาง (สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงและกรม) 28 หน่วยงาน ส่วนภูมิภาค 57 หน่วยงาน ส่วนท้องถิ่น 48 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจ 12 หน่วยงาน และหน่วยงานอื่น 4 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น จำนวน 19 หน่วยงาน

3.2) โครงการทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ประจำปี 2563 ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

  • จัดทดสอบในส่วนกลาง จำนวน 2 ครั้ง และส่วนภูมิภาค จำนวน 13 ครั้ง โดยมี ผู้เข้ารับการทดสอบ จำนวน 1,678 คน ผ่านเกณฑ์การทดสอบร้อยละ 50 จำนวน 757 คน (คิดเป็นร้อยละ 45.11)

3.3) การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ และการเผยแพร่ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ

  • ดำเนินโครงการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายข้อมูลข่าวสารภาคประชาชน โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักงานตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่ง สผผ. ได้บูรณาการความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงในการเสริมสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาเครือข่ายผู้นำชุมชนในส่วนภูมิภาคให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามกฎหมาย จำนวน 2 ครั้ง 274 คน
  • ดำเนินโครงการคลินิกข้อมูลข่าวสารเคลื่อนที่ โดยมีกระทรวงแรงงาน (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน) กระทรวงสาธารณสุข (กรมสุขภาพจิต) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) กระทรวงคมนาคม (การท่าเรือแห่งประเทศไทย) กระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) และสำนักนายกรัฐมนตรี (กรมประชาสัมพันธ์) ได้ร่วมบูรณาการจัดตั้งคลินิกข้อมูลข่าวสารเคลื่อนที่ ให้คำปรึกษา แนะนำ รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ

3.4) การเผยแพร่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการผ่านช่องทางต่าง ๆ

  • จัดทำข่าว/บทความ สรุปย่อคำวินิจฉัย เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ จำนวน 60 เรื่อง/ปี โดยส่งให้กับหน่วยงานและสื่อมวลชนเผยแพร่เป็นประจำทุกเดือน
  • เผยแพร่ผลการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการร้องเรียนและอุทธรณ์ (อินโฟกราฟิก) ทางเว็บไชต์และเฟซบุ๊กของ สขร.

3.5) การพัฒนาระบบสารสนเทศข้อมูลข่าวสาร

  • จัดทำชุดความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ (E - training) จำนวน 8 ตอน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการได้อย่างเข้าใจง่ายและทั่วถึงผ่านทางเว็บไซต์ของ สขร.
  • เพิ่มช่องทางให้ผู้ร้องเรียนตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ สามารถตรวจสอบสถานะของเรื่องร้องเรียนผ่านทางเว็บไชต์ www.oic.go.th ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
  • เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของราชการภาคประชาชนผ่านเว็บไซต์ www.oic.go.th มีสถิติผู้ใช้บริการ 218,489 ครั้ง และใช้บริการเว็บไซต์ฐานข้อมูลหน่วยงานของรัฐ 602,046 ครั้ง
  • ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ผ่านระบบข้อซักถามทางอิเล็กทรอนิกส์ (Webboard) จำนวน 554 เรื่อง

3.6) การติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

ให้หน่วยงานของรัฐส่งแบบรายงานผลการติดตามประเมินผลของหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ จำนวน 2 เรื่อง เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ต่อไป 2. แผนงาน/โครงการในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เช่น (1) โครงการคลินิกข้อมูลข่าวสารเคลื่อนที่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานในเชิงรุกเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดในการใช้กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ (2) โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายข้อมูลข่าวสารภาคประชาชนปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง สปน. กับองค์กรอิสระ และเครือข่ายภาคประชาชนของหน่วยงานในสังกัดในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานราชการ รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายข้อมูลข่าวสารภาคประชาชนในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และ (3) โครงการจัดการเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์ด้วยระบบดิจิทัล (e - Complaint and Appeal) เพื่อส่งเสริมให้ สขร. มีระบบสารสนเทศในลักษณะ web service 3. คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ โดยมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ดังนี้

ข้อเท็จจริง

1) มีการทดสอบความรู้ ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐและกำหนดเป็นตัวชี้วัดของเจ้าหน้าที่ในช่วงเวลาหนึ่ง รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ ความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยให้หน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของหน่วยงาน แต่เจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ดังนั้น แม้จะมีสื่อและช่องทางมากเพียงใด หากไม่มีผลบังคับแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐมักไม่ให้ความใส่ใจ

ข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ

ควรให้สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้พิจารณา ให้การผ่านเกณฑ์การทดสอบพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ เป็นคุณสมบัติหนึ่งของการเลื่อนระดับสูงขึ้นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยพิจารณาด้วยว่าเป็นระดับใดบ้าง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารได้ถูกต้องนำไปสู่ Open Government ได้อย่างเป็นรูปธรรม

2) คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้มีประกาศลงวันที่ 16 มกราคม 2558 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำสรุปผลการพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐเป็นรายเดือนทุกเดือน ตามแบบ สขร. 1 ประกอบกับได้มีพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ให้หน่วยงานของรัฐต้องรับรู้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) โดยกรมบัญชีกลางได้ปรับระบบ e - GP ให้สอดคล้องกับแบบ สขร. 1 แต่หน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานยังละเลยต่อการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว

ข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ

ควรให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยสรุปผลการพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนตรวจดูได้เป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสตรวจสอบได้และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

3) คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้มีประกาศลงวันที่ 27 มกราคม 2559 กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารตามเกณฑ์มาตรฐานความโปร่งใสและตัวชี้วัดความโปร่งใสของหน่วยงานของรัฐเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ

ข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ

ให้ สขร. ติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ จะทำให้การบริหารงานภาครัฐโปร่งใส รวมทั้งป้องกันและลดการทุจริตได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ