ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษ)

ข่าวการเมือง Wednesday May 5, 2021 19:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. และกระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ กค. เสนอว่า

1. สืบเนื่องจากพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 704) พ.ศ. 2563 ได้สิ้นสุดการบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ยธ. จึงได้มีหนังสือขอให้ กค. พิจารณาขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการจ้างงานผู้พ้นโทษเข้าทำงานตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวออกไป เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสให้กับผู้พ้นโทษสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมั่นคงและเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

2. กค. พิจารณาแล้ว เห็นว่าเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการในการจ้างผู้พ้นโทษเข้าทำงาน จึงเห็นควรขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคมท พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 โดยตราเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษ) เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเข้าทำงานในสถานประกอบการ อันเป็นการส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ช่วยให้ผู้พ้นโทษสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีอาชีพก่อให้เกิดรายได้และไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก

3. กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยคาดว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1,935 ล้านบาท แต่มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้

3.1 สร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษให้มีอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้พึ่งพาตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี

3.2 สร้างโอกาสให้ผู้พ้นโทษกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมั่นคง ก่อให้เกิดการสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากการลดการกลับมากระทำความผิดซ้ำ

3.3 เสริมสร้างด้านเศรษฐกิจตลาดแรงงานในประเทศไทยที่ขาดแคลนโดยไม่ต้องพึ่งแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน อันจะช่วยสร้างประโยชน์ในทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. กำหนดบทนิยามคำว่า ?ผู้พ้นโทษ? หมายความว่า นักโทษเด็ดขาดซึ่งมีสัญชาติไทยที่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เนื่องจากครบกำหนดโทษตามหมายศาล ลดวันต้องโทษจำคุก หรือพักการลงโทษ

2. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งรับผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัว เข้าทำงาน สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564

3. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ตั้งแต่เดือนที่รับผู้พ้นโทษเข้าทำงานจนถึงเดือนสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

4. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เนื่องจากรายจ่ายในการจ้างงานบุคคลดังกล่าวตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรอีก ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ