มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเดือนเมษายน 2564

ข่าวการเมือง Wednesday May 5, 2021 20:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. รับทราบการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ดำเนินการอยู่ โดยเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาดำเนินการเลื่อนกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 และโครงการทัวร์เที่ยวไทย ออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 จะคลี่คลายลงตามขั้นตอนของระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

2. เห็นชอบในหลักการของข้อเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 และเห็นควรมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบ เร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. เห็นควรให้การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) โดยขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าวภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนของพระราชกำหนดฯ ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ข้อเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเบื้องต้น รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมไปถึงการใช้ชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมสามารถขับเคลื่อนได้ในระยะต่อไป ดังนี้

มาตรการที่สามารถดำเนินได้ทันที

1) มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

1.1) มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด 19 เป็นการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ : ผู้มีรายได้ประจำ เช่น พนักงาน/ลูกจ้างหน่วยงานเอกชนที่มีเงินเดือนประจำ เป็นต้น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย เป็นต้น และเกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตรที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน ผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. แห่งละ 10,000 ล้านบาท) คิดอัตราตอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี (ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก) ทั้งนี้ ให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม ระยะเวลาดำเนินงานถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณ รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non - Performing Loans: NPLs) ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการเสนอมาตรการดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

1.2) มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้ารายย่อย ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ โดยการพักชำระเงินต้นเพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ หรือเพื่อนำเงินงวดที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือเพื่อการประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยวิธีการชำระหนี้ที่พักชำระไว้ดังกล่าวจะต้องไม่เพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้มากจนเกินควรเมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาสัญญาเงินกู้ ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยกรณีที่ SFIs ได้พิจารณาพักชำระไว้ด้วย นอกจากนี้ ให้ SFIs พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะพิจารณาแนวทางในการช่วยเหลือ SFIs ตามความจำเป็นและเหมาะสมในกรณีที่การดำเนินการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องหรือฐานะทางการเงินของ SFIs

2) มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) โดยให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาตามมาตรการเดิมที่ได้ดำเนินการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2564 ดังนี้

2.1) ค่าไฟฟ้า เสนอให้สิทธิค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ดังนี้

(1) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก

(2) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้

  • กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
  • กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้ (2.1) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 (2.2) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 50 และ (2.3) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

(3) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก

ทั้งนี้ มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก กำหนดให้ดำเนินการเป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน 2564

2.2) ค่าน้ำประปา เสนอให้ลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2564

ทั้งนี้ เห็นควรให้หน่วยงานรับผิดชอบ (การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค) ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) โดยขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าว ภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนของพระราชกำหนดฯ ต่อไป

2. มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน

1) โครงการเราชนะ จำนวนกลุ่มเป้าหมายประมาณ 32.9 ล้านคน โดยเป็นการขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้ประชาชนอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีระยะเวลาการใช้จ่ายสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กรอบวงเงินประมาณ 67,000ล้านบาท

2) โครงการ ม 33 เรารักกัน จำนวนกลุ่มเป้าหมายประมาณ 9.27 ล้านคน โดยเป็นการขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีระยะเวลาการใช้จ่ายสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กรอบวงเงินประมาณ 18,500 ล้านบาท

3. มาตรการในระยะต่อไป (เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 คลี่คลายลง) กรอบวงเงินเบื้องต้น 140,000 ล้านบาท โดยจะขอใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ

1) มาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1.1 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3จำนวนกลุ่มเป้าหมายประมาณ 13.65 ล้านคน โดยการให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเติม เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (เดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2564)

1.2 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จำนวนกลุ่มเป้าหมายประมาณ 2.5 ล้านคน โดยการให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มเติม เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6เดือน (เดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2564)

2) มาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง ได้แก่

2.1) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับ

ฐานราก เพิ่มอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศ โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในส่วนของค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ในลักษณะร่วมจ่าย (CO - pay) ร้อยละ 50 ของราคาสินค้า ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนผู้ได้สิทธิตามโครงการไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 31 ล้านคน

2.2) โครงการ ?ยิ่งใช้ยิ่งได้? โดยรัฐสนับสนุน e - Voucher ให้กับประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า ค่าอาหาร และเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยเมื่อประชาชนใช้จ่ายดังกล่าวจะได้รับสนับสนุน e - Voucher จากภาครัฐในช่วงเดือนกรกฎาคมถึง ธันวาคม 2564 และสามารถนำ e - Voucher ไปใช้จ่ายได้ในเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2564 ทั้งนี้ คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 4 ล้านคน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ