สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤษภาคม 2564

ข่าวการเมือง Tuesday May 11, 2021 16:54 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

		วันนี้ (11 พฤษภาคม 2564)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี                    เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า                     ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

1. 	เรื่อง 	ร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมให้					ทันสมัย 6 ประเด็น)
2. 	เรื่อง 	ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น					รัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาด				กลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล)
3. 	เรื่อง 	ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
4. 	เรื่อง 	ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดแอลอีดีขั้วคู่ที่ออกแบบ				เพื่อเปลี่ยนทดแทนหลอดฟลูออเรสเซนซ์ชนิดตรง-คุณลักษณะที่ต้องการด้านความ				ปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
5. 	เรื่อง 	ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดแอลอีดีมีบัลลาสต์ในตัว				สำหรับการให้แสงสว่างทั่วไปด้วยแรงดันไฟฟ้ามากกว่า 50V ? คุณลักษณะที่					ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ สังคม

6. 	เรื่อง 	ขอขยายเวลาในการยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ตามมติ					คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563
7. 	เรื่อง 	การปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนขั้นสูงสุดของผู้ปฏิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง				ประเทศไทย ระดับ 14 (รองผู้ว่าการ)
8. 	เรื่อง 	ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง 					รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน เพื่อเป็นทุน					ประเดิมเบื้องต้นให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค
9. 	เรื่อง 	ผลการสำรวจการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแผนปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2564
10. 	เรื่อง 	การสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรม				ราชชนนีพันปีหลวง และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่อยู่แผ่นดิน และรายงานผลการ					ดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามมติ					คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563
11. 	เรื่อง 	รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564
12. 	เรื่อง 	รายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง					ครบถ้วนตามหมวด  5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 					พุทธศักราช 2560 กรณีการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันเด็ก
13. 	เรื่อง  	ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา  เรื่อง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 				2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของ						คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
14. 	เรื่อง 	สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2564
15. 	เรื่อง 	โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564
16. 	เรื่อง 	โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิต
ปี 2563/2564
		17. 	เรื่อง 	ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม           				ครั้งที่ 15/2564

ต่างประเทศ

18. 	เรื่อง  	การเลื่อนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ 			ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021)
19.  	เรื่อง  	ร่างแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล พ.ศ. 2564 -2568 			(ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris
2021 - 2025)

แต่งตั้ง

20. 	เรื่อง 	การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ					ทรงคุณวุฒิ  (กระทรวงสาธารณสุข)
21. 	เรื่อง 	การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ					ทรงคุณวุฒิ  (สำนักนายกรัฐมนตรี)
22. 	เรื่อง 	การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง 					(กระทรวงการต่างประเทศ)
23. 	เรื่อง 	การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย 				ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565



สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396















กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น)
		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....                  (แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น) ของกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผน            ในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม               ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของ พณ. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ
		ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เป็นการดำเนินการตาม              มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ดำเนินการแยก                         ร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น) ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ออกจากร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ การควบบริษัท การแปรสภาพบริษัท) ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติให้รวมร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับเป็นฉบับเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....  ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ                    บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โดยเป็นการปรับปรุงใน 6 ประเด็น ให้สามารถดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันและอำนวยความสะดวกแก่บริษัทมหาชนจำกัด
 		สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
		เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 สรุปได้ดังนี้
 		1. เพิ่มเติมช่องทางโฆษณาทางอื่นนอกจากทางหนังสือพิมพ์ โดยกำหนดให้การโฆษณาข้อความเกี่ยวกับบริษัท สามารถดำเนินการทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใดแทนการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ก็ได้ (เดิมกำหนดให้บริษัทมหาชนจำกัดมีหน้าที่บอกกล่าว แจ้งข้อความ หรือโฆษณาข้อความเกี่ยวกับบริษัทให้ประชาชน ผู้ถือหุ้นทราบทางหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทย)
 		2. เพิ่มเติมช่องทางการส่งเอกสาร โดยกำหนดให้บริษัทหรือคณะกรรมการสามารถส่งหนังสือหรือเอกสารให้แก่กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของบริษัท โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
		3. แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการประชุมกรรมการ และเพิ่มเติมช่องทาง เพื่อให้คณะกรรมการอาจประชุม            ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการ หรือการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์           ตามกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดสถานที่ที่ถือเป็นสถานที่จัดการประชุมในกรณีดังกล่าว ได้แก่ สำนักงานใหญ่ของบริษัทหรือจังหวัดใกล้เคียงเว้นแต่ข้อบังคับจะกำหนดให้ประชุม ณ ท้องที่อื่น ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายในราชอาณาจักร และกำหนดให้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นการประชุม ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัท
		4. แก้ไขเพิ่มเติมการเรียกประชุมกรรมการ โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเรียกประชุม เช่น กำหนดให้มีการเรียกประชุมได้ในกรณีที่ไม่มีประธานกรรมการ โดยให้รองประธานเป็นผู้เรียกประชุม และถ้าไม่มีทั้งประธานกรรมการและรองประธานกรรมการ ให้กรรมการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมีอำนาจเรียกประชุมได้
		5. กำหนดให้ผู้ถือหุ้นที่เรียกประชุมผู้ถือหุ้นเองส่งหนังสือนัดประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์            ได้เช่นเดียวกับกรณีที่คณะกรรมการบริษัทมหาชนจำกัดเรียกประชุม
 		6. กำหนดให้มีการมอบฉันทะโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้น            แทนได้

2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..)                   พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจ              สู่เศรษฐกิจดิจิทัล)
 		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับความเห็นของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
		ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
 		1. เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร               (ฉบับที่ 647) พ.ศ. 2560 [มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)               ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์] ได้สิ้นสุดการบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงขอให้ กค. พิจารณาขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยได้จัดทำนิยามโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ (Software) เพื่อให้สอดคล้องกับคุณลักษณะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้และจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันตามเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความก้าวหน้า ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ (Software) ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานและบริหารจัดการธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
 		2. กค. พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ             ยุคใหม่ และช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ (Software) มาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานและบริหารจัดการธุรกิจเพิ่มมากขึ้น จึงเห็นควรกำหนดมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยตราเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล)              เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหรือจ้างทำหรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ (Software) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลัง                     วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565
  		3. กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยคาดว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 380 ล้านบาท แต่มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
 			3.1 จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)                มีการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
 			3.2 เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำข้อมูลของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลภาครัฐมากขึ้น ซึ่งรัฐสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดมาตรการหรือกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านต่าง ๆ ได้
 		สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
		1. กำหนดบทนิยามคำว่า ?ขาย? ?สินค้า? ?บริการ? และ ?โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software)?
 		2. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วใน             วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหรือค่าจ้างทำหรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท สำหรับ                รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565
 		3. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหรือจ้างทำหรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) ต้องไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) นั้น ตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
 		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ มีสาระสำคัญดังนี้
 		1. สำนักงบประมาณได้เผยแพร่รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำ                 ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทางเว็บไซต์สำนักงบประมาณ  และได้ดำเนินการจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และเอกสาร ประกอบงบประมาณ รวม 39 เล่ม เรียบร้อยแล้ว
 		2.  เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้เสนอตั้งงบประมาณ                   เพื่อชดเชยงบประมาณรายจ่ายที่หน่วยรับงบประมาณได้ก่อหนี้ผูกพันตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วแต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทัน ทำให้งบประมาณพับไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 สำนักงบประมาณได้จัดทำคำชี้แจงกรณีดังกล่าวไว้ในเอกสารประกอบงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ การตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยงบประมาณรายจ่ายที่พับไปดังกล่าวสำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบบประมาณจะไม่ถือว่าเป็นกรณีที่หน่วยรับงบประมาณก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าวงเงินก่อหนี้ผูกพันที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้แล้ว
 		 3. กรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณที่กำหนดไว้ สำนักงบประมาณได้เสนอมาตรการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย ได้แก่  (1) การให้เอกชน               ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) (2) การลงทุนของหน่วยงานในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (THAILAND FUTURE FUND) และ (3) การใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ  2548 ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้จัดทำคำชี้แจงเหตุผลความจำเป็นของมาตรการดังกล่าว และจะได้จัดทำคำแถลงต่อรัฐสภาต่อไป

4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดแอลอีดีขั้วคู่ที่ออกแบบเพื่อเปลี่ยนทดแทนหลอดฟลูออเรสเซนซ์ชนิดตรง-คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
 		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดแอลอีดีขั้วคู่ที่ออกแบบเพื่อเปลี่ยนทดแทนหลอดฟลูออเรสเซนซ์ชนิดตรง-คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย                   ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
 		ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ อก. เสนอ เป็นการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลอดแอลอีดีขั้วคู่ที่ออกแบบเพื่อเปลี่ยนทดแทนหลอดฟลูออเรสเซนซ์ชนิดตรง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้                  หลอดแอลอีดีคุณภาพต่ำหรือไม่ได้มาตรฐานและสอดคล้องกับสภาพอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ซึ่ง อก. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว
 		สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
 	 	กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดแอลอีดีขั้วคู่ที่ออกแบบเพื่อเปลี่ยนทดแทนหลอดฟลูออเรสเซนซ์ชนิดตรง ? คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2779 ? 2562                   ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5865 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลอดแอลอีดีขั้วคู่ที่ออกแบบเพื่อเปลี่ยนทดแทนหลอดฟลูออเรสเซนซ์ชนิดตรง ? คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ประกาศ ณ วันที่                   10 สิงหาคม 2563 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดแอลอีดีมีบัลลาสต์ในตัวสำหรับการให้                 แสงสว่างทั่วไปด้วยแรงดันไฟฟ้ามากกว่า 50V ? คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
 		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดแอลอีดี    มีบัลลาสต์ในตัวสำหรับการให้แสงสว่างทั่วไปด้วยแรงดันไฟฟ้ามากกว่า 50 V ? คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
 		ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ อก. เสนอ เป็นการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลอดแอลอีดีมีบัลลาสต์ในตัวสำหรับการให้แสงสว่างทั่วไปด้วยแรงดันไฟฟ้ามากกว่า 50 V เพื่อเป็นการส่งเสริมและ                       เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ทำและผู้นำเข้า และเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่ง อก. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว
 		สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
 		กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หลอดแอลอีดีมีบัลลาสต์ในตัวสำหรับการให้แสงสว่างทั่วไปด้วยแรงดันไฟฟ้ามากกว่า 50 V ? คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2780 - 2562 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 5866 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลอดแอลอีดีมีบัลลาสต์ในตัวสำหรับการให้แสงสว่างทั่วไปด้วยแรงดันไฟฟ้ามากกว่า 50 V ? คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ประกาศ              ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2563 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

เศรษฐกิจ สังคม

6. เรื่อง ขอขยายเวลาในการยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่              23 มิถุนายน 2563
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการดำเนินการและผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่                23 มิถุนายน 2563 และเห็นชอบขยายเวลาในการยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ โดยให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายเวลาในการยื่นคำขออนุญาต ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ   โดยจะไม่ให้มีการผ่อนผันอีก
		สาระสำคัญของเรื่อง
		ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (7 ธันวาคม 2559) ให้ ทส. เร่งรัดตรวจสอบการเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทั้งหมดที่ยังมิได้ขออนุญาตการเข้าใช้พื้นที่ให้ครบถ้วน ซึ่งต่อมา ทส.          ได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 มิถุนายน 2563) เห็นชอบมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตฯ เฉพาะส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นคำขออนุญาตฯ ไว้แล้ว หรือยื่นคำขออนุญาตฯ เข้าทำประโยชน์ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ครบกำหนดระยะเวลาวันที่ 18 ธันวาคม 2563) และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 25231 ซึ่งในครั้งนี้ ทส. เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (23 มิถุนายน 2563) โดยมีสาระสำคัญคือ ตามที่ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ว่ามีส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตฯ จำนวน 21,908 แห่ง ปรากฏว่าต่อมามีหน่วยงานยื่นคำขออนุญาตฯ เพิ่มเติมรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 58,923 แห่ง ซึ่งเกินกว่า                 ที่แจ้งต่อคณะรัฐมนตรีไว้เดิมถึง 38,110 แห่ง โดยมีหน่วยงานที่ยื่นคำขออนุญาตฯ เพิ่มเติม เช่น
หน่วย : แห่ง
หน่วยงาน	จำนวนคำขออนุญาตฯ ตามบัญชีเดิม	จำนวนคำขออนุญาตฯ ที่ยื่นจริง	จำนวนคำขออนุญาตฯ ที่ยื่นเกินจากบัญชีเดิม
กระทรวงมหาดไทย (มท.) 	12,836	40,220	27,384
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) 	393	5,835	5,442
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) 	3	1,245	1,242
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) 	16	1,182	1,166
ทส. 	2,113	3,250	1,137
และเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายเวลาในการยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ โดยให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ยื่นคำขออนุญาตฯ ภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เนื่องจากยังมีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี (23 มิถุนายน 2563) ที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอ                     อนุญาตฯ อีกจำนวน 1,095 แห่ง
1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 กรกฎาคม 2523) อนุมัติในหลักการมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีส่วนราชการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้และได้รับอนุมัติให้ใช้พื้นที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์                  (ทส. ในปัจจุบัน) เสียก่อนจึงจะเข้าไปดำเนินการได้ หากปรากฏว่ายังมีส่วนราชการใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตอีก กรมป่าไม้จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด

7. เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนขั้นสูงสุดของผู้ปฏิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระดับ 14 (รองผู้ว่าการ)
		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนขั้นสูงสุดของผู้ปฏิบัติงาน    การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระดับ 14 (รองผู้ว่าการ) จากอัตรา 235,900 บาท เป็นอัตรา 294,900 บาท ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
		สาระสำคัญ
		พน. เสนอขอความเห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนขั้นสูงสุดของผู้ปฏิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระดับ 14 (รองผู้ว่าการ) จาก 235,900 บาท เป็น 294,900 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ กฟผ. ในคราวประชุม ครั้งที่ 11/2561             เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2563                     เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 และสำนักงาน ก.พ. ด้วยแล้ว รวมทั้งกระทรวงการคลังเห็นว่า การปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของ กฟผ. อย่างมีนัยสำคัญ

8. เรื่อง ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย              เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้นให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค
 		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (งบกลางฯ) งบเงินอุดหนุน จำนวน 350,000,000 บาท เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้นให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค ตามที่พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนด ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ
 		สาระสำคัญของเรื่อง
		สปน. รายงานว่า
		1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 46 บัญญัติให้สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคและองค์กรของผู้บริโภคดังกล่าวมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค                  พ.ศ. 2562 ขึ้น เพื่อให้สิทธิแก่ประชาชนในการรวมตัวกันเป็นองค์กรของผู้บริโภค และเข้าร่วมกันจัดตั้งเป็น                 สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ต่อมาเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (นางสาวสารี อ๋องสมหวัง) ได้ยื่นขอเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อนายทะเบียนกลางพร้อมเอกสารแสดงความยินยอมขององค์กรของผู้บริโภค 151 องค์กร เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 และนายทะเบียนกลางได้ประกาศการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ตามนัยมาตรา 9 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาฯ                  ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องจัดสรรเงินอุดหนุนไว้ที่ สปน. เป็นการจ่ายขาดเพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้นให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค ตามนัยมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาฯ สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงได้จัดส่งข้อบังคับสภาองค์กรของผู้บริโภค บัญชีรายชื่อคณะกรรมการสภาองค์กรของผู้บริโภค นโยบาย แนวทาง หรือแผนงานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค บัญชีรายชื่อสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภค และงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้นในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค รวมถึงแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ? 2565 ให้ สปน. ดำเนินการตามที่พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาฯ กำหนด ดังนี้
ลำดับที่	แผนงานหลัก	จำนวนแผนงานย่อย	จำนวนโครงการ/กิจกรรม	งบประมาณ (ล้านบาท)
				ปี 2564	ปี 2565	รวม
1.	แผนงานสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค	3	8	70.00	94.10	164.10
2.	แผนงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค	3	5	25.00	31.32	56.32
3.	แผนงานสนับสนุนหน่วยประจำจังหวัดและองค์กรของผู้บริโภค	3	5	70.00	99.75	169.75
4.	แผนงานสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค	-	1	30.00	45.00	75.00
5.	แผนงานจัดตั้งสำนักงานและพัฒนากำลังคนของสภาองค์กรของผู้บริโภค	5	18	120.00	108.07	228.07
6.	แผนเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น	-	-	35.00	-	35.00
	รวม	14	37	350.00	378.24	328.24
 		2. อย่างไรก็ดี สปน. ไม่สามารถขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กำหนด ดังนั้น สปน. จึงได้เสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) พิจารณาให้ความเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลางฯ จำนวน 728,240,000 บาท ดังกล่าว และส่งให้สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาดำเนินการตามนัยระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562
		3. สงป. แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ สปน. ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลางฯ จำนวน 350,000,000 บาท เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้นให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค ตามนัยมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือ จำนวน 378,240,000 บาท ซึ่งเป็นการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นั้น ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคพิจารณาใช้จ่ายจากเงินทุนประเดิมที่มีเหลือจ่าย รวมทั้งเงินรายได้อันเกิดจากค่าลงทะเบียน ค่าบำรุง และค่าบริการที่จะพึงเรียกเก็บจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก หากไม่เพียงพอให้ สปน. เสนอขอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป

9. เรื่อง ผลการสำรวจการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแผนปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2564
 		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอผลการสำรวจการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแผนปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2564 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มิถุนายน 2545) ที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของรัฐบาล แล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] โดย สสช. ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 6 มกราคม ? 8 กุมภาพันธ์ 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
 	 	1. ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
 		 	1.1 แหล่งข้อมูลที่รับรู้ข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐมากที่สุด ได้แก่ โทรทัศน์ (ร้อยละ 89.8) สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ (ร้อยละ 53.5) การพูดคุยกับเพื่อน/ญาติ/คนในครอบครัว/บุคคลทั่วไป (ร้อยละ 38.0) และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (ร้อยละ 21.1)
 			1.2 การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ประชาชนร้อยละ 66.7 ระบุว่ามีส่วนร่วมในการใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้ง ร้อยละ 17.5 เกือบทุกครั้ง ร้อยละ 6.7 เป็นบางครั้ง ร้อยละ 3.3 นาน ๆ ครั้ง และร้อยละ 5.8 ไม่มีส่วนร่วมในการใช้สิทธิเลือกตั้งเลย
 			1.3 การมีส่วนร่วมทางการเมือง 3 อันดับแรก ได้แก่ การให้ความร่วมมือกับทางราชการในการพัฒนาประเทศ เช่น เสียภาษี ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นพลเมืองที่ดี (ร้อยละ 82.2) การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองในกลุ่มเพื่อน/ญาติ/คนในครอบครัว/คนรู้จัก (ร้อยละ 81.0) และการติดตามผลคะแนนการเลือกตั้ง (ร้อยละ 70.7)
 			1.4 ความเชื่อมั่นต่อระบบธรรมาภิบาล มีคะแนนเฉลี่ย 3.20 คะแนน (คะแนนเต็ม 5 คะแนน) โดยประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่ามีความเชื่อมั่นต่อระบบธรรมาภิบาลอยู่ในระดับกลาง ๆ /ไม่แน่ใจ (ร้อยละ 44.7)
 			1.5 การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่าหน่วยงานภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 46.4) และประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 39.3)
			1.6 การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อหน่วยงานภาครัฐในการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 51.4) และมีข้อเสนอแนะแนวทางการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกระดับมากขึ้น ลงพื้นที่สอบถามความต้องการ รับฟังปัญหา ติดตามข้อมูลต่าง ๆ ของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ
 		2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สสช. มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
 			2.1 หน่วยงานภาครัฐควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางที่สะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล เนื่องจากประชาชนมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53.5) รับรู้ข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์
 			2.2 หน่วยงานภาครัฐควรให้ข้อมูล/ข้อเท็จจริงต่อประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินงาน และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
 			2.3 หน่วยงานภาครัฐควรส่งเสริมและสร้างความเข้าใจในทุกระดับโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อประกอบการตัดสินใจของภาครัฐ เช่น การรับฟังความคิดเห็น การจัดเวทีสาธารณะ
 			2.4 หน่วยงานภาครัฐควรมีการลงพื้นที่เพื่อสอบถามความต้องการ ความคิดเห็น รับฟังปัญหา และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลต่อการดำเนินโครงการของรัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน/หมู่บ้าน

10. เรื่อง การสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563
 		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ การสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย และให้ มท. โดยกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดย มท. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
 		1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมฯ
เรื่อง	ผลการดำเนินงาน
1) การส่งเสริมและสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง 	ทุกจังหวัดมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองตามความเหมาะสมของท้องถิ่น โดยกำหนดให้ข้าราชการ ประชาชนแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน จำนวน 51 จังหวัด
2) การสร้างการรับรู้มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย 	- จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้เพื่อรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์ โดยสื่อออฟไลน์ที่ใช้มากที่สุดคือ การจัดนิทรรศการ จำนวน 37 จังหวัด ส่วนสื่อออนไลน์ที่ใช้มากที่สุดได้แก่ Facebook จำนวน 72 จังหวัด
- จัดกิจกรรม Road Show ผ้าไทย โดย พช. ได้จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าจากผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายและตามหน่วยงานสถานที่ราชการต่าง ๆ 8 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรุงเทพมหานคร กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) กระทรวงอุตสาหกรรม มท. (พช.) มียอดการจำหน่ายรวม 4,365,320 บาท มีผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP                 ที่เข้าร่วม จำนวน 252 ราย
3) การจัดทำแผนงาน/โครงการรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง 	- รวบรวมเนื้อหาสาระและข้อมูลเกี่ยวกับผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองในพื้นที่ จำนวน               61 จังหวัด และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 15 จังหวัด
- จัดทำแผนปฏิบัติการรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองของจังหวัดจำนวน 57 จังหวัด และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการ จำนวน 19 จังหวัด
4) การสร้างความร่วมมือกับภาคเครือข่าย 	จังหวัดที่มีการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่จังหวัดสงขลา จำนวน 200 หน่วยงาน อุดรธานี จำนวน 91 หน่วยงาน และบุรีรัมย์ จำนวน 89 หน่วยงาน
5) การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองในจังหวัดตามห้วงเวลาที่เหมาะสม 	จังหวัดที่มีการจัดกิจกรรมสูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จำนวน 96 ครั้ง ชัยภูมิ จำนวน 81 ครั้ง และตาก จำนวน 64 ครั้ง และมีหน่วยงานภาคีที่เข้าร่วมมากที่สุดระหว่าง 1 ? 20 หน่วยงาน จำนวน 48 จังหวัด ทั้งนี้ จังหวัดที่มีหน่วยงานภาคีที่เข้าร่วมกิจกรรมสูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ จังหวัดสงขลา จำนวน 170 หน่วยงาน อุทัยธานี จำนวน 120 หน่วยงาน และพิษณุโลก จำนวน 76 หน่วยงาน
6) การจัดให้มีการอนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญาเกี่ยวกับการแปรรูปผ้าไทยผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ 	จัดกิจกรรมอนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญาเกี่ยวกับการแปรรูปผ้าไทย จำนวน 61 จังหวัด รวม 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง มีกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 750 กลุ่ม/ราย 2) โครงการ ?ประกวดผ้าสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน? โดยมี 75 จังหวัดส่งผ้าที่              ชนะการประกวดเข้าจัดแสดงในงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ประจำปี พ.ศ. 2563 และร่วมออกบูทแสดงสินค้าภายในงานดังกล่าว และ                 3) โครงการ CDD Young Designer Contest โดยดำเนินการในทุกจังหวัดและ                 ผู้ชนะเลิศจากทุกจังหวัดได้รับโล่ที่งาน OTOP City 2020 และ 4) การจัดประกวดการแต่งกายผ้าไทย จำนวน 39 จังหวัด
7) การประกาศยกย่องหน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต้นแบบ 	มีจังหวัดที่ดำเนินการ จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ เชียงราย ตาก นครพนม นครราชสีมา พัทลุง พิจิตร ยโสธร ยะลา ศรีสะเกษ สกลนคร สุโขทัย สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ และอุบลราชธานี
8) การขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยสู่การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผ้าไทย 	สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทย ว่า ?ผ้าไทยใส่ให้สนุก? เมื่อคราวเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 โดยได้พระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย ?ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ? รวมทั้งพระราชทาน                พระอนุญาตให้เป็นลายต้นแบบในการรังสรรค์ ถักทอเรื่องราวไปตามแต่ละภูมิภาค                       ให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้า มีผลการดำเนินงาน ดังนี้ 1) นำลายผ้าพระราชทาน ?ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ?  ไปต่อยอด จำนวน 1,042 กลุ่ม 10,168 คน มียอดจำหน่าย จำนวน 6,856,740 บาท 2) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ?ผ้าไทยใส่ให้สนุก? ผ่านสื่อช่องทางต่าง  ๆ เพื่อเชิญชวนแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง และ 3) ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการทอผ้า โดยดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้าจังหวัดตราด และจัดตั้งกลุ่มอาชีพทอผ้า ซึ่ง พช. ได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 796,100 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและค่าวัสดุในการฝึกอบรม
9) ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ 	- รายได้จากการจำหน่าย (เดือนมิถุนายน 2563 ? มกราคม 2564) จำนวน 8,511,653,145 บาท จังหวัดที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และอุดรธานี
- ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ได้รับประโยชน์ จำนวน 8,016 กลุ่ม/ราย โดยจังหวัดที่มีจำนวนผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ได้รับประโยชน์มากที่สุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์
- สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับประโยชน์จำนวนทั้งสิ้น 69,553 คน โดยจังหวัดที่มีจำนวนสมาชิกที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด
 		2. ปัญหา อุปสรรค แนวทางการแก้ไขและข้อเสนอแนะ สรุปได้ ดังนี้
ปัญหา/อุปสรรค	แนวทางการแก้ไข
2.1 ด้านการผลิต
1) ต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากต้องซื้อวัตถุดิบจากนอกพื้นที่ และไม่ได้สั่งซื้อวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น ด้าย เข็ม จากโรงงานโดยตรง
2) ผู้ประกอบการบางส่วนมีข้อจำกัดด้านการผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าครั้งละจำนวนมากได้ เน้นผลิตตามยอดสั่งซื้อ และจะผลิตในช่วงว่างจากการทำการเกษตร
3) ความไม่ต่อเนื่องในการผลิตของบางจังหวัดเนื่องจากจังหวัดไม่มีผ้าเอกลักษณ์หรือผ้าพื้นเมือง 	1) ส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบการผลิตในพื้นที่เพื่อลดต้นทุน เช่น เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ตลอดจนการรวมกลุ่มซื้อวัตถุดิบเพื่อต่อรองราคา
2) ผลิตผ้าพื้นถิ่น และประยุกต์ให้มีรูปแบบสวยงาม แปลกใหม่ น่าสนใจ มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง
3) ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าให้มีเพิ่มมากขึ้น
2.2 ด้านการพัฒนาและแปรรูป
1) กลุ่มทอผ้าขาดทักษะ เทคนิคการทอไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ และการให้เฉดสีที่ตรงกลุ่มลูกค้า ตลอดจนผู้ทอผ้าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ
2) กลุ่มตัดเย็บผ้า บางพื้นที่ขาดความประณีต การออกแบบ และการตัดเย็บผ้า/แปรรูปผ้าที่สวยงามและทันสมัย 	1) ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการออกแบบ ทักษะการตัดเย็บและความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น ให้กับผู้ประกอบการ OTOP เช่น จัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลายผ้าและนักออกแบบรุ่นใหม่ออกแบบเสื้อผ้าที่สามารถใส่ได้จริงในทุกเทศกาล
2) ส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพทอผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ให้สามารถผลิตผ้ามัดย้อมได้เพียงพอต่อการแปรรูป
3) ส่งเสริมให้นักออกแบบออกแบบเสื้อผ้าให้ตรงตามความสนใจของแต่ละวัย
4) ส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดผ้าไทย และสร้างผู้ทอผ้ารุ่นใหม่
2.3 ด้านการตลาด
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและผู้ซื้อสินค้าน้อยลง 	1) การส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มการรับรู้
2) จัดหาช่องทางการตลาด ให้มีช่องทางการจำหน่ายหลายช่องทาง
3) ส่งเสริมการจำหน่ายออนไลน์

11.  เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
		สาระสำคัญ
		ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ
		อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2564 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ              ปีก่อน คือ
		1. การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม หดตัวร้อยละ 18.48 จากการหยุดซ่อมบำรุงบางหน่วยกลั่นของ             โรงกลั่นน้ำมันบางแห่ง รวมถึงการใช้น้ำมันเครื่องบินยังอยู่ในระดับต่ำ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19               ที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การเดินทางลดลงทั้งการเดินทางในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศ
		2. เสื้อผ้าสำเร็จรูป หดตัวร้อยละ 33.32 โดยลดลงจากทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก             จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศและประเทศคู่ค้า ผู้บริโภค             ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงผู้ผลิตไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศจีนที่ผลิตสินค้าปริมาณมาก รวดเร็วและราคาถูกได้ และยังมีผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตชั่วคราว
		3. การผลิตเบียร์ หดตัวร้อยละ 26.22 เนื่องจากยังอยู่ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส            โควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้มีมาตรการเฝ้าระวังการระบาดเพิ่มขึ้น ทำให้ช่องทางการจำหน่ายลดลง
		อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
		1. น้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.85 จากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบมีมากกว่าเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รวมถึงโรงงานที่ปิดหีบแล้วบางส่วนมีการละลายน้ำตาลดิบเป็นน้ำตาลทรายอย่างต่อเนื่อง
		2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 ตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยังมีความต้องการต่อเนื่อง

12. เรื่อง รายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด  5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กรณีการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันเด็ก
		คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กรณีการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันเด็ก ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอและมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข รับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งความเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 (เรื่อง ขอปรับค่าอาหารกลางวันเด็ก) แล้วรายงานต่อผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป
		สาระสำคัญของเรื่อง
		1. ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รายงาน กรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กรณีการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันเด็ก ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันยังไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจาก             (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน
ให้แก่สถานศึกษาหลายแห่งล่าช้า (2) การขาดนักโภชนาการชุมชนครบทุกท้องถิ่น (3) ค่าเฉลี่ยอาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาลดลงต่ำกว่า 20 บาท (4) การนำวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์มาใช้บังคับกรณีการใช้จ่ายงินอุดหนุนอาหารกลางวันเด็กที่เกินกว่า 500,000 บาท ทำให้ค่าอาหารกลางวันเฉลี่ยต่อรายเพิ่มสูงขึ้นจากการบวกกำไรเพิ่มของผู้ประมูล และ (5) หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันกรณีเงินเหลือจ่ายที่กระทรวงการคลังและสถานศึกษาหลายแห่งถือปฏิบัติไม่สอดคล้องกับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงมีข้อเสนอแนะต่อประเด็นดังกล่าวมาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป
		2. กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้วมีความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อประเด็นข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เช่น

ประเด็นข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน	ความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
1. กรณีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีประเภทเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน
แก่สถานศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศล่าช้า
	?กค. และ มท. ชี้แจงว่า ปัจจุบันได้กำหนดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับกรณีอาหารกลางวันเพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและเป็นไปในแนวทางเดียวกันแล้ว
?ศธ. ชี้แจงว่าการขอรับการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กจาก อปท. บางแห่งล่าช้าเนื่องจากมีรายละเอียดขั้นตอนค่อนข้างมาก
2. กรณีการขาดนักโภชนาการชุมชนครบในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ	?ศธ. มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลสามารถจัดหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือนักโภชนาการหรือผู้มีความรู้ความสามารถในการจัดการด้านโภชนาการสำหรับเด็กให้เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง จะเป็นผลดีแก่ทั้งโรงเรียนและนักเรียน
3. กรณีค่าเฉลี่ยอาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาลดลงต่ำกว่า 20 บาท เนื่องจากงบประมาณโครงการอาหารกลางวันเด็กไม่ครอบคลุมถึงเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนขยาย
โอกาสทางการศึกษา	?ศธ.ชี้แจงว่า เด็กนักเรียนขยายโอกาสระดับมัธยมศึกษาเป็นนักเรียนที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนอาหารกลางวันและโรงเรียนไม่สามารถละเลยได้
?สงป. เห็นควรพิจารณาการใช้จ่ายเงินให้ครอบคลุมจากทุกแหล่งเงิน เช่น จากดอกผลของเงินกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา และเงินรายได้ของ อปท. มาสมทบค่าอาหารกลางวัน
4. กรณีการนำวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ
ภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาบังคับใช้แก่กรณีการใช้จ่ายเงินงบประมาณอุดหนุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียน
ที่เกินกว่า 500,000 บาท
	?กค.  มท. และ ศธ. ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีการกำหนด            แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดอาหารกลางวันที่มีความครอบคลุม ครบถ้วน และชัดเจนแล้ว
5.หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันกรณีเงินเหลือจ่ายที่ กค.
และสถานศึกษาหลายแห่งยึดถือไม่สอดคล้องกับที่ อปท. ยึดถือ	?กค. และ มท. ชี้แจงว่า หน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนจาก อปท. มีเงินเหลือจ่าย ต้องส่งคืนให้ อปท. อย่างไรก็ตาม ศธ. เห็นว่า ควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีปรับแก้ไขแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันเด็กให้โรงเรียนสามารถเก็บเงินเหลือจ่ายหรือที่ได้รับเงินดอกผลจากการนำเงินฝากธนาคารให้คงไว้ในบัญชีเพื่อสมทบเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารกลางวันตามความจำเป็นและเหมาะสม

นอกจากนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณ           มีความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มติมเกี่ยวกับประเด็นปริมาณและคุณภาพของอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน เช่น ควรมีระบบกำกับติดตามอาหารกลางวันที่มีคุณภาพควบคู่กับระบบเฝ้าระวัง คัดกรอง และส่งต่อภาวะโภชนาการ
รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันแก่เด็ก  ซึ่งสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เห็นชอบการปรับค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนให้สอดรับกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาแนวทางและมาตรการในการดำเนินการเพื่อส่งเสริม สนับสนุนหรือขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและผู้ปกครองนักเรียนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารกลางวันที่เหมาะสม เพียงพอและถูกหลักโภชนาการ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินโครงการอาหารกลางวันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กนักเรียนตามเจตนารมณ์ของโครงการดังกล่าวต่อไป

13. เรื่อง  ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา  เรื่อง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน             (PM 2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
		คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ  และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
		เรื่องเดิม
		1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5  ไมครอน (PM2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภามาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะรวม 2 ประเด็น ได้แก่ (1) การดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤตของทุกปี (ธันวาคม - กุมภาพันธ์) เช่น การนำน้ำมันดีเซลเกรดปกติที่มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มากที่สุด การขยายพื้นที่และเวลาในการจำกัดรถบรรทุกขนาดใหญ่ตั้งแต่ 6 ล้อ ขึ้นไปที่ใช้น้ำมันดีเซลไม่ให้เข้ามาภายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นต้น และ (2) มาตรการระยะยาว เช่น มาตรการลดการเกิดและปล่อยฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษอากาศ           เป็นต้น
		2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ทส. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ ฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทาง
และความเหมาะสมของรายงานและข้อสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
		ข้อเท็จจริง
		ทส. ได้รวบรวมผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  วุฒิสภา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 แล้ว มีความเห็นว่ารายงานและข้อเสนอแนะดังกล่าวส่วนใหญ่มีความเหมาะสมในหลักการและเป็นการศึกษาที่มีความครอบคลุมในหลายมิติ  และจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยสรุปผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
ข้อเสนอแนะของกรรมาธิการฯ	ผลการพิจารณา
1. การดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤตของทุกปี (ธันวาคม - กุมภาพันธ์)
เช่น ต้องนำน้ำมันดีเซลเกรดปกติที่มีกำมะถันไม่เกิน
10 ppm มาใช้ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล
ขยายพื้นที่และเวลาในการจำกัดรถบรรทุกขนาดใหญ่
ตั้งแต่ 6 ล้อ ขึ้นไป ที่ใช้น้ำมันดีเซล ไม่ให้เข้ามา
ภายในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล เป็นต้น	เนื่องจากการนำน้ำมันยูโร 5 ไปจำหน่ายในสถานีน้ำมัน
จำเป็นต้องมีระบบการจัดเก็บและการขนส่งน้ำมัน
ที่แยกออกมาโดยเฉพาะจากระบบการขนส่งน้ำมันตามปกติ จึงมีผู้ค้าน้ำมันเพียงบางรายเท่านั้นที่มีศักยภาพ
ในการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น การนำน้ำมันยูโร 5
ไปจำหน่ายในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลในช่วงวิกฤติ
ควรดำเนินการโดยขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมัน
2. มาตรการระยะยาว
	2.1 มาตรการลดการเกิดและปล่อยฝุ่นละออง
ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากแหล่งกำเนิด
การคมนาคมขนส่งทางถนน การเผาชีวมวลในที่โล่ง
และภาคอุตสาหกรรม
	2.2 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
มลพิษอากาศ
	1. มาตรการลดการเกิดและปล่อยฝุ่นละออง
ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากแหล่งกำเนิด
	1.1  การคมนาคมขนส่งทางถนน
		(1) กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้ประกาศปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
และน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์จากไม่เกิน 50 ส่วนในล้านส่วน เป็นไม่เกิน 10  ส่วนในล้านส่วน
โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1
ม.ค. 2567 เป็นต้นไป
		(2) จะได้เร่งรัดให้มีการออกกฎหมาย
กำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษสำหรับยานพาหนะ
ต่างแดนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศต่อไป
		(3) สำหรับการปรับปรุงเครื่องมือ
และวิธีการตรวจวัดควันดำที่ใช้ในการตรวจสภาพ
ด้านมลพิษประจำปีสำหรับรถที่ใช้น้ำมันดีเซล นั้น คค.
เห็นว่าการตรวจวัดควันดำแบบทึบแสงโดยวิธีการตรวจวัดควันดำแบบแสงไหลผ่านบางส่วน เป็นวิธีการ
ที่เหมาะสมแล้ว
		(4) เนื่องจากรถที่ใช้งานบนท้องถนน
มีการเสื่อมสภาพตามระยะเวลาการใช้งาน ประกอบกับ
มีการดัดแปลงสภาพรถ เป็นเหตุให้รถมีความไม่ปลอดภัย
ในการใช้งาน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งปล่อยมลพิษทางอากาศและทางเสียงเกินกว่าเกณฑ์ที่ราชการกำหนด จึงสมควรมีการลดเกณฑ์อายุรถที่จะต้องผ่านการตรวจสภาพด้านมลพิษก่อนการเสียภาษีและต่อทะเบียนประจำปี

	(5) ตช. ได้ดำเนินการเพิ่มความเข้มข้น
ในการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดกับรถยนต์
ที่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศและเสียงแล้ว
		1.2 การเผาชีวมวลในที่โล่ง
		(1) ได้มีการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ?การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง?
พ.ศ. 2562-2567 และข้อเสนอแนะของ กมธ.
อย่างจริงจัง เพื่อจะนำไปสู่การป้องกันและแก้ไข
ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)
ในเขต กทม. และปริมณฑล ให้มีประสิทธิผล
และประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น
			1.3 ภาคอุตสาหกรรม
		(1) ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการติดตั้งระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ซึ่งสามารถกำจัดสารเจือปนในอากาศประเภทก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ระบายออกจากโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้วรวมทั้งได้มีการดำเนินการให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 เป็นน้ำมันชนิดพื้นฐานของประเทศไทยแล้วและให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เป็นน้ำมันชนิดทางเลือก
		(2) ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดมลพิษ
ทางอากาศ คือ การเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาเซียนได้ริเริ่มจัดตั้งเครีอข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนขึ้น เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมือง
ของอาเซียนด้วยแล้ว


14. เรื่อง สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2564
		คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอสรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก พ.ศ. 2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 (1) ที่กำหนดให้ คจร. เสนอนโยบายและแผนหลักต่อคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
		1. ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
			1.1 รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น

สถานะโครงการ	จำนวน
(เส้นทาง)	ระยะทาง
(กิโลเมตร)	ตัวอย่างโครงการ
เปิดให้บริการแล้ว	9	170.38	- สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สมุทรปราการ (37.10 กิโลเมตร)
- สายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน (1.88 กิโลเมตร)
อยู่ระหว่างก่อสร้าง	6	150.76	- สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต (26.30 กิโลเมตร)
- สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง (30.40 กิโลเมตร)
อยู่ระหว่างประกวดราคา	2	37	- สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (23.60 กิโลเมตร)
อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน	5	55.24	- สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา (14.80 กิโลเมตร)
- สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก (Missing Link) (20.14 กิโลเมตร)
โครงการส่วนต่อขยาย ปี 2570 - 2572	10	140.03	- สายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย (38 กิโลเมตร)
- สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ท่าพระ (39.91 กิโลเมตร)
			1.2 รายงานความคืบหน้าแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งประกอบด้วย (1) การเพิ่มพื้นที่และความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรบนถนนในจุดที่จำเป็น ได้แก่ การก่อสร้างอุโมงค์ ถนน ทางยกระดับสะพานข้ามแยก เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดและการขาดความต่อเนื่องของโครงข่ายถนน จำนวน 12 แนวเส้นทาง วงเงินรวม 271,741 ล้านบาท และการบริหารจัดการการใช้ถนนเดิมให้มีประสิทธิภาพและ (2) การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดปริมาณรถส่วนบุคคลบนถนน วงเงินรวม 1,937 ล้านบาท เช่น การจัดพื้นที่จอดและจรตามแนวขนส่งมวลชนและการเพิ่มโครงข่ายเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรค (ถ้ามี) ของโครงการที่อยู่ในแผนแม่บทฯ ให้ คค. ทราบทุก 6 เดือน และนำเสนอให้ คจร. ทราบต่อไป
			1.3 ผลการทบทวนการศึกษาความเหมาะสมโครงการขอนแก่น Smart City               (ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น รวมถึงโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ซึ่ง คค. [สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)] จัดทำขึ้นเพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด เช่น การปรับปรุงระยะทางและจำนวนสถานีเพิ่มขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างทางวิ่งและตำแหน่งที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุง และการจัดสรรงบประมาณดำเนินการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่การขับเคลื่อนการคมนาคมสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
			1.4 ความคืบหน้าการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1                ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ซึ่ง คค. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ได้จัดทำ             สรุปสาระสำคัญผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ บนพื้นฐานเทคโนโลยีรถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็กเปรียบเทียบกับกรณีทางเลือกเทคโนโลยีรถไฟฟ้าเพิ่มเติมและทบทวนผลการศึกษาวิเคราะห์ใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ก่อนนำเสนอ คจร. ในคราวต่อไป
		2. ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
			2.1 การดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) โดยที่ประชุมมีมติ (1) เห็นชอบในหลักการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ โดยให้ดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่มีความพร้อมก่อน และให้ กทพ. พิจารณาแนวทางหรือมาตรการเพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรบริเวณแยกเกษตรที่มีข้อจำกัดทางด้านกายกาพในปัจจุบันด้วย และ (2) ให้ กทพ. พิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบและแนวเส้นทางโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนที่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการก่อสร้างให้มีความชัดเจนโดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางวิศวกรรม ค่าใช้จ่ายการก่อสร้าง การเวนคืน ระยะเวลาดำเนินการความยากง่ายในการดำเนินการ ผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรอบวงเงินลงทุนและกรอบระยะเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน และเสนอ คจร. ก่อนดำเนินการในระยะต่อไป ทั้งนี้ ให้รับข้อเสนอแนะของที่ประชุม เช่น กทพ. ควรเร่งรัดการเจรจาขอใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อจะได้สามารถนำเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยมาใช้เป็นแหล่งเงินทุน ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไป
			2.2 แนวทางการปฏิรูปเส้นทางระบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง โดยที่ประชุมมีมติ (1) เห็นชอบแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง เพื่อให้โครงข่ายเส้นทางรถโดยสารประจำทางมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนการจัดระบบการจราจรทางบกและลดผลกระทบต่อปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (2) เห็นชอบให้ คค. [กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สนข. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ] บูรณาการการดำเนินการตามแผนการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในอนาคตอาจมีการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางการเดินรถรองรับการขยายตัวของเมืองและเชื่อมต่อกับการขนส่งระบบอื่นให้สอดคล้องกับความต้องการและประโยชน์ของประชาชน เพื่อให้มีเส้นทางการเดินรถครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง ภายใต้การจัดการและระบบการเดินรถในโครงข่ายเดียวและการกำหนดค่าโดยสารในอัตราเดียว รวมทั้งอาจมีการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางจริง โดยให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ให้รับข้อเสนอแนะของที่ประชุม เช่น แนวทางการกำหนดค่าโดยสารในอัตราเดียว ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไป
			2.3 โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บรรจุโครงการทางหลวงพิเศษฯ เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเนื่องจากเป็นโครงการเพื่อบรรเทาสภาพปัญหาการจราจรติดขัดบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2)
			2.4 แผนการพัฒนาและดำเนินงานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง (ทล.) และบนทางพิเศษของ กทพ. โดยที่ประชุมมีมติรับทราบแผนการพัฒนาฯ และมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับ คค. บูรณาการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายกับผู้หลีกเลี่ยงฝ่าฝืนไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางสำหรับระบบ M-Flow หรือการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบ M-Flow รวมทั้งมอบหมายให้ คค. (ทล. ขบ. และ กทพ.) ศึกษาแนวทางการดำเนินการมาตรการเพิ่มเติม รวมถึงการออกระเบียบและการแก้ไขระเบียบที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการทางกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวทางสากล
			2.5 โครงการการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการศึกษาแผนแม่บทฯ ซึ่งแบ่งแผนเป็น 2 ระยะ ได้แก่ (1) แผนระยะที่ 1 ดำนินการในช่วงปี 2563-2569 พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ 5 เส้นทาง และ (2) แผนระยะที่ 2 ดำเนินการในช่วงปี 2570-2582 พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพิ่ม 1 เส้นทาง รวมระยะทางทั้งหมด 100.55 กิโลเมตร และมอบหมายให้ คค. (ขบ.) ดำเนินการตามขั้นตอนและสอดคล้องกับระยะเวลาของแผนพัฒนาฯ ตามผลการศึกษาต่อไป พร้อมทั้งรับข้อเสนอแนะของที่ประชุมเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานของระบบขนส่งสาธารณะและการส่งเสริมการใช้รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าไปดำเนินการต่อไปด้วย

15. เรื่อง โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564
		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
 		1. เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 ตามสาระสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) มีมติให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2564 ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายรวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 2.92 ล้านไร่ ภายใต้วงเงินงบประมาณจำนวน 311,418,600 บาท
 		2. เห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาล และเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส. บวก 1 (เท่ากับร้อยละ 2.2) ในปีงบประมาณถัดไปให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินรวม 318,269,810 บาท
 		3. มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการ ดังนี้
			3.1 ขายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 ให้ได้ตามเป้าหมายและตามกำหนดเวลาการเอาประกันภัยของเกษตรกรทั้งในส่วน Tier 1 และ Tier 2
			3.2 บริหารจัดการความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักการประกันภัย
 			3.3 ร่วมกับสมาคมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์โครงการฯ รวมทั้งให้ความรู้ด้านการประกันภัยให้แก่เกษตรกรและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในความสำคัญของการประกันภัย
 		4. มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานงานกับ ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย (สมาคมฯ) ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารทะเบียนเกษตรกร แบบประมวลรวบรวมความเสียหาย และการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย (แบบ กษ 02) แบบรายงานข้อมูลความเสียหายจริงของเกษตรกร (แบบ กษ 02 เพื่อการประกันภัย) และข้อมูลผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตลอดจนดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เพื่อรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น พร้อมทั้งเก็บข้อมูลพื้นที่ประสบภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และรายงานข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
 		5. มอบหมายให้สมาคมฯ พิจารณากำหนดรูปแบบการประเมินความเสียหายแก่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายแต่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ร่วมกับ  ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป ทั้งนี้ ให้พิจารณานำวิธีการประเมินความเสียหายในรูปแบบเชิงวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีมาใช้ร่วมด้วย
		6. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัยของโครงการฯ ปีการผลิต 2564 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์และอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2564 ได้ทันทีภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ รวมทั้งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2564 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 		สาระสำคัญ
		กระทรวงการคลัง เสนอหลักการและรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2564 ที่ นบขพ. ได้มีมติให้ความเห็นชอบในการประชุม ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ดังนี้
หัวข้อ	โครงการฯ ปีการผลิต 2564
อัตราเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) และพื้นที่เป้าหมาย 	ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 160 บาท/ไร่ (พื้นที่เป้าหมาย 2.8 ล้านไร่)
	ลูกค้าเกษตรกรทั่วไป/ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ซื้อเพิ่ม (พื้นที่เป้าหมาย 6 หมื่นไร่)
	พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 150 บาท/ไร่
	พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 350 บาท/ไร่
	พื้นที่ความเสี่ยงสูง 550 บาท/ไร่
อัตราเบี้ยประกันภัยโดยสมัครใจ (Tier 2) (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) และพื้นที่เป้าหมาย	พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 90 บาท/ไร่
	พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 100 บาท/ไร่
	พื้นที่ความเสี่ยงสูง 110 บาท/ไร่
	รวมพื้นที่เป้าหมาย 6 หมื่นไร่
ความคุ้มครอง Tier 1 	ภัยธรรมชาติ 1,500 บาท/ไร่
ภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่
1) น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก 2) ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง 3) ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น 4) ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง 5) ลูกเห็บ 6) ไฟไหม้ 7) ช้างป่า และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 	ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาท/ไร่
ความคุ้มครอง Tier 2 	ภัยธรรมชาติ 240 บาท/ไร่
	ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 120 บาท/ไร่
อุดหนุนเบี้ยประกันภัยเฉพาะ Tier 1 	- ธ.ก.ส. อุดหนุนเบี้ยประภัยภัยสำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 64 บาท/ไร่ (ไม่เกิน 2.8 ล้านไร่)
- รัฐบาลอุดหนุนเบี้ยประกันภัย ดังนี้
   - สำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 96 บาท/ไร่ รวมทั้งให้การอุดหนุนอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือคิดเป็น 108.27 บาท/ไร่
   - สำหรับเกษตรกรทั่วไป 96 บาท/ไร่ รวมทั้งให้การอุดหนุนอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือคิดเป็น 107.57 บาท/ไร่ (พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ) 122.64 บาท/ไร่ (พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง) 137.71 บาท/ไร่ (พื้นที่ความเสี่ยงสูง)
การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน 	การประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562
ระยะเวลาจำหน่าย 	กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ดังนี้
1) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2564
2) กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง ไม่เกินวันที่ 15 มกราคม 2565
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา

16. เรื่อง โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติ ดังนี้
		1. รับทราบแผนการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้
			1.1 ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ
				1.1.1 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ไม่เกินร้อยละ 10
				1.1.2 ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกินร้อยละ 5
				1.1.3 ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ร้อยละ 0
			1.2 หักเงินชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ต้นละ 30 บาท
			1.3 กำหนดโทษปรับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด
			1.4 จัดหาเครื่องสางใบอ้อยมาให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมเพื่อสางใบอ้อยให้สะดวกต่อการตัดอ้อยสด
			1.5 ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้ และลดการเผาใบอ้อยหลังตัด
			1.6 ขอความร่วมมือโรงงานช่วยประกันราคารับซื้ออ้อยสดในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการตัดอ้อยสดอย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต และให้จัดคิวรับอ้อยสดเข้าหีบเป็นอันดับแรก
			1.7 ขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดให้กับชาวไร่อ้อยในอัตราที่เหมาะสมอย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต
			1.8 สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลอื่น ๆ มาใช้ในไร่อ้อย
 		2. อนุมัติในหลักการโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ตามที่ อก. เสนอ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเป็นกรณีเฉพาะเป็นการชั่วคราว ภายในกรอบวงเงินโครงการ 6,065,550,000 บาท ประกอบด้วย
 			1) การช่วยเหลือเกษตกรชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ในอัตรา 120 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นอัตราที่กระทรวงการคลังได้เห็นชอบความเหมาะสมของอัตราค่าใช้จ่ายแล้ว ในวงเงิน 5,934,000,000 บาท
			2) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. สำหรับชดเชยต้นทุนเงินในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 และค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท วงเงิน 131,550,000 บาท
สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
		สาระสำคัญของเรื่อง
		อก. รายงานว่า
		1. ในสภาวะปัจจุบันได้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในหลายพื้นที่ของประเทศ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ ไอเสียรถยนต์ในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น การประกอบโรงงานอุตสาหกรรม และหมอกควันที่เกิดจากการเผาในพื้นที่โล่ง โดยในช่วงเดือนธันวาคม - เมษายนของทุกปี จะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา มีการเผาอ้อยเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อก. จึงนำเสนอแผนการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ มาเพื่อคณะรัฐมนตรีรับทราบ และโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 มาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
		2. ผลการดำเนินการที่ผ่านมา
			2.1 โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563
				2.1.1 การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกราย วงเงิน 6,500 ล้านบาท ในอัตราตันอ้อยละ 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตัน
					จ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย 190,104 ราย วงเงินที่จ่ายช่วยเหลือ 6,321.99 ล้านบาท ปริมาณอ้อยที่ได้รับการช่วยเหลือ 74.38 ล้านตัน
				2.1.2 การช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด วงเงิน 3,500 ล้านบาท ในอัตราตันอ้อยละ 92 บาท (ช่วยเหลือทุกตันอ้อยสดที่ส่งเข้าโรงงาน)
					จ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย 133,519 ราย วงเงินที่จ่ายช่วยเหลือ 3,457.49 ล้านบาท ปริมาณอ้อยสดที่ได้รับการช่วยเหลือ 37.58 ล้านตัน
				2.1.3 ชาวไร่อ้อยได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 190,104 ราย วงเงินที่จ่ายช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น จำนวน 9,779.48 ล้านบาท (จากวงเงินโครงการฯ 10,000 ล้านบาท)
				2.1.4 ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ลดพื้นที่การเผาอ้อยได้ถึง 1.2 ล้านไร่ ปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงจากร้อยละ 61.11 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมดในฤดูการผลิตปี 2561/2562 เป็นร้อยละ 49.65 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด
			2.2 ผลจากการดำเนินงานแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ผ่านมา
				2.2.1 ฤดูการผลิตปี 2561/2562 ปริมาณอ้อยไฟไหม้ร้อยละ 61.11 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด
				2.2.2 ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ปริมาณอ้อยไฟไหม้ร้อยละ 49.65 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด
				2.2.3 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เริ่มเปิดหีบอ้อยเข้าโรงงานตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2564 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 63.34 ล้านตัน เป็นอ้อยสด 46.87 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 74 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด อ้อยไฟไหม้ 16.47 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 26 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด
		3. โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 มีรายละเอียด ดังนี้
			3.1 วัตถุประสงค์
				3.1.1 เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีองค์การการค้าโลก (WTO) ในข้อกำหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Green box) ด้านการเกษตร
				3.1.2 เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในอนาคตได้
			3.2 แนวทางการดำเนินงาน
				3.2.1 ช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น โดยให้มีอัตราเงินช่วยเหลือเท่ากับเงินส่วนต่างรายได้ค่าแรงต่อวันที่ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดได้น้อยกว่าชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ที่อัตรา 120 บาทต่อตัน
				3.2.2 ธ.ก.ส. จะโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานโดยตรง โดยที่โรงงานจะต้องจัดส่งข้อมูลคู่สัญญาชาวไร่อ้อย พร้อมจำนวนตันอ้อยสดที่ส่งโรงงาน สำหรับหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยซึ่งได้ดำเนินการรวบรวมอ้อยจากชาวไร่อ้อยรายย่อยส่งให้กับโรงงานต่าง ๆ นั้น จะต้องแสดงบัญชีรายชื่อชาวไร่อ้อยรายย่อยที่อยู่ในสังกัดพร้อมจำนวนตันอ้อยสด เพื่อที่ ธ.ก.ส. จะได้โอนเงินช่วยเหลือไปยังบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยรายย่อยโดยตรง
				3.2.3 กำหนดจ่ายเงินช่วยเหลือ หลังปิดหีบของฤดูการผลิตปี 2563/2564 เพียงครั้งเดียว (คาดว่าจะจ่ายเงินในระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564)
			3.3 หลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือ
				ชาวไร่อ้อยในภาคอุตสาหกรรมที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานทุกราย ดังนี้
				3.3.1 กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้จัดทำคู่สัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย
				3.3.2 กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตเอทานอล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตเอทานอลหรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)
				3.3.3 กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง หรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของ กษ.
				3.3.4 การจ่ายเงินช่วยเหลือตามข้อ 3.3.1 - 3.3.3 จะจ่ายให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น โดย ?อ้อยสดคุณภาพดี? หมายความว่า อ้อยสดที่ไม่ถูกไฟไหม้ ยอดไม่ยาว ไม่มีสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อ้อยตามธรรมชาติปนเปื้อน เช่น ดิน ทราย กาบ ใบ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย ซึ่งจะทำให้รายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายลดลง
 		4. มาตรการขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2563 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 แล้ว
		5. อก. ได้รับแจ้งจาก ธ.ก.ส. ว่า ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการสำรองจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการฯ ไปพลางก่อน และได้รับแจ้งจาก กค. ว่าอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการฯ ในอัตรา 120 บาทต่อตัน ตามที่ อก. เสนอ มีความเหมาะสมแล้ว
		6. อก. แจ้งว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการฯ ในอัตรา 120 บาทต่อตัน มีความเหมาะสม โดยมีเหตุผลประกอบ ดังนี้
			6.1 อัตราค่าแรงงานตัดอ้อยสด
				6.1.1 ตารางเปรียบเทียบค่าแรงการตัดอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ (ข้อมูลเฉลี่ยทั่วประเทศ)
ประเภท	ปริมาณอ้อนที่ตัดได้
(ตันต่อวัน)	ค่าแรง
(บาทต่อตัน)	ค่าแรงที่ได้รับ ณ ปัจจุบัน
(บาทต่อวัน)
ตัดอ้อยสด	2.125	200.00	425.00
ตัดอ้อยไฟไหม้	6.000	112.50	675.00
				6.1.2 อัตราค่าแรงงานที่ผู้รับจ้างตัดอ้อยสดได้รับอยู่ที่ 425 บาทต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าแรงงานที่ผู้รับจ้างตัดอ้อยไฟไหม้ได้รับที่ 675 บาทต่อวัน ส่งผลให้ผู้รับจ้างตัดอ้อยสดจะได้รับค่าแรงต่อวันต่ำกว่าการรับจ้างตัดอ้อยไฟไหม้อยู่วันละ 250 บาท
				6.1.3 ผู้รับจ้างตัดอ้อยสดจะต้องได้รับการช่วยเหลือด้านต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 250 บาทต่อวัน เพื่อให้ผู้รับจ้างตัดอ้อยสดได้รับค่าแรงเทียบเท่ากับผู้รับจ้างตัดอ้อยไฟไหม้ และเนื่องจากผู้รับจ้างตัดอ้อยสดสามารถตัดอ้อยได้วันละ 2.125 ตัน การช่วยเหลือด้านต้นทุนเพื่อเป็นค่าจ้างตัดอ้อยสดจึงต้องอยู่ที่ตันละ 120 บาท (เทียบเท่าค่าแรงต่อวันเพิ่มขึ้น 255 บาท) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้รับจ้างตัดอ้อยสดได้รับค่าแรงเทียบเท่ากับผู้รับจ้างตัดอ้อยไฟไหม้
			6.2 ต้นทุนการผลิตอ้อย
				ราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับที่อัตรา 920 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. (คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 23 กุมภาพันธ์ 2564) อยู่ในระดับต่ำกว่ากับต้นทุนการผลิตอ้อย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอ้อยในคราวประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เฉลี่ยทั้งประเทศที่ 1,133.91 บาทต่อตัน อยู่ที่ 213.91 บาทต่อตัน ทำให้การผลิตอ้อยไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ดังนั้น การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานในครั้งนี้ ในอัตรา 120 บาทต่อตัน จะทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับราคาอ้อยที่ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต และมีผลตอบแทนเพียงพอสำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ รวมถึงการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว
		7. อก. แจ้งว่าการขอรับเงินอุดหนุนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 จากงบประมาณแผ่นดิน จะไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นไปตามพันธกรณีในข้อกำหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Green box) ด้านการเกษตร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและราคาสินค้า
		8. ในส่วนของแผนการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ อก. เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบนั้น คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้
			8.1 ปรับแผนการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้
				8.1.1 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ ไม่เกินร้อยละ 10 คาดการณ์ปริมาณอ้อย 80 ล้านตัน
				8.1.2 ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ ไม่เกินร้อยละ 5 คาดการณ์ปริมาณอ้อย 100 ล้านตัน
			8.2 เห็นควรขอรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลภายใต้โครงการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในอัตราที่เหมาะสมกับต้นทุนการตัดอ้อยสดในฤดูการผลิตนั้น ๆ ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต

17. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม  ครั้งที่ 15/2564
		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนา            การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ที่ได้พิจารณาจัดทำข้อเสนอแนวทางการดำเนินการตามมาตรา 6 วรรคสาม (ครั้งที่ 3) การพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) การพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ การพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการขอยกเลิกโครงการของจังหวัด และการพิจารณาปรับปรุงกลไกการเสนอโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก (ภายใต้กลุ่มแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น : ระดับพื้นที่) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ให้สอดคล้องกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 241/2563 เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้
		1. อนุมัติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5 (3) มาใช้เพื่อการตามมาตรา 5 (2) เพิ่มเติม              (ครั้งที่ 3) จำนวน 85,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเดือนเมษายน 2564
		2. มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐชะลอการเสนอข้อเสนอโครงการ ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 (ไม่รวมโครงการพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก) และคณะกรรมการฯ ชะลอการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของแผนงาน/โครงการ เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีกรอบวงเงินกู้คงเหลือสำหรับรองรับการดำเนินการตามแผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่คลี่คลายได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชกำหนด
		3. มอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เร่งประสานหน่วยงานรับผิดชอบที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการโดยใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ และดำเนินโครงการแล้วเสร็จ เร่งจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการฯ ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและคืนกรอบวงเงินกู้เหลือจ่าย ตามข้อ 19 และข้อ 20 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ โดยเร็ว เพื่อให้การบริหารจัดการเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
		4. อนุมัติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 384 รายการ กรอบวงเงิน 4,224.8246 ล้านบาท (ปรับลดลงจากกรอบวงเงินที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 16,795.5548 ล้านบาท หรือลดลง 12,570.7302 ล้านบาท) โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.4 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และดำเนินการอย่างเคร่งครัด
		5. อนุมัติโครงการพัฒนาการตลาดสินค้ากลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ วงเงิน 4,167,900 บาท (ปรับลดจาก 8,000,580 บาท) หรือปรับลดประมาณ 3,832,680 บาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการและดำเนินการอย่างเคร่งครัด
		6. อนุมัติโครงการขององค์กรภาคประชาชนภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 2 โครงการ โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ ได้แก่
			6.1 โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจครัวเรือนคนพิการและครอบครัวด้วยเกษตรสมัยใหม่และยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์และอาหาร โดยใช้การตลาดผสมผสาน Online ผ่าน Social Media ของมูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย กรอบวงเงิน 23,691,300 บาท (ปรับลดจากข้อเสนอวงเงิน 42,042,300 บาท หรือลดลงประมาณ 18,351,000 บาท) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 เดือน พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ อย่างเคร่งครัด
			6.2 โครงการสร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนและครบวงจร เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างต้นแบบ 1 อำเภอ 1 ตำบล ของสุพรรณบุรี เพื่อการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน พร้อม ?ร้านรวยน้ำใจ? สู้วิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของสวนพุทธชาติ ศูนย์เรียนรู้บริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน กรอบวงเงิน 1,644,000 บาท (ปรับลดจากข้อเสนอวงเงิน 2,830,400 บาท หรือลดลงประมาณ 1,186,400 บาท) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 เดือน พร้อมมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ ดำเนินการอย่างเคร่งครัด
		7. อนุมัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ปรับปรุงรายละเอียดโครงการเราชนะ เพื่อเพิ่มวงเงินสนับสนุนให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ตามกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่ม ที่ไม่เคยขอสละสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนประมาณ 33.5 ล้านคน คนละ 1,000 บาทต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ตามช่องทางการได้รับวงเงินสนับสนุนของแต่ละกลุ่ม ทำให้กรอบวงเงินรวม ของโครงการฯ เพิ่มขึ้นจากกรอบวงเงินไม่เกิน 213,242 ล้านบาท เป็นกรอบวงเงินไม่เกิน 280,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 67,000 ล้านบาท ทั้งนี้ วงเงินสนับสนุนที่ได้รับตามโครงการฯ สามารถสะสมเพื่อใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
		8. อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ปรับปรุงรายละเอียดโครงการ ม33 เรารักกัน ในส่วนของการเพิ่มวงเงินสนับสนุนให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับสิทธิตามโครงการฯ จำนวน 8.11 ล้านคน และกลุ่มที่อยู่ระหว่างทบทวนสิทธิ์ จำนวน 30,000 คน โดยเป็นการจ่ายวงเงินสนับสนุนจำนวน 2,000 บาทต่อคน (สัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการฯ จำนวน 48,841.4700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 11,741.4700 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติจำนวน 37,100 ล้านบาท รวมถึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการของโครงการฯ จากไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เป็นไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
		9. อนุมัติให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปลี่ยนแปลงแผนการเริ่มดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทย และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ในเดือนพฤษภาคม 2564 ออกไปก่อน โดยเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเดือนเมษายน คลี่คลายลงแล้วจะเร่งแจ้งแผนการเริ่มดำเนินโครงการฯ ให้คณะกรรมการฯ ทราบโดยทันที ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ พร้อมทั้งให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศ ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด
		10. รับทราบการปรับลดกรอบวงเงินของโครงการกำลังใจจาก 2,400.0000 ล้านบาท เป็น 1,370.0000 ล้านบาท หรือลดลงประมาณจำนวน 1,030.0000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและผลการดำเนินโครงการฯ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
		11. อนุมัติให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ปรับปรุงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล และศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยขยายระยะเวลาดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และโครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ
		12. อนุมัติให้จังหวัดศรีสะเกษยกเลิกการดำเนินโครงการย่อยที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนคุณภาพตามมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม วงเงิน 1.9500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
		13. เห็นชอบและรับทราบการปรับกลไกและกระบวนการในการขับเคลื่อนภายใต้โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากให้สอดคล้องกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 99/2564 รวมทั้งรับทราบการปรับปรุงคู่มือแนวปฏิบัติฯ ตามที่ สศช. เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในคู่มือแนวปฏิบัติฯ (ฉบับปรับปรุง) รวมถึงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทางราชการโดยเคร่งครัด

ต่างประเทศ

18. เรื่อง  การเลื่อนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2564     (ค.ศ. 2021)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 เรื่อง                     การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 ค.ศ. 2021 จากเดิม เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ.2021) เป็น ปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  (กก.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ขอเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และ             มาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) ให้ประเทศไทยเลื่อนการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 ตามที่สภาโอลิมปิกแห่งเอเชียได้แจ้งต่อคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในวงกว้าง ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตไปทั่วโลกและในประเทศไทย ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 จึงมีความจำเป็นต้องเลื่อนการแข่งขันรายการดังกล่าวออกไปเพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดจากเดิมในปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) เลื่อนไปเป็น                ปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022)

19.  เรื่อง  ร่างแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล พ.ศ. 2564 -2568 (ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris 2021 - 2025)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล                 พ.ศ. 2564 -2568 (ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris 2021 - 2025) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล พ.ศ. 2564 ? 2568 (ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris 2021 - 2025) ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในร่างแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล พ.ศ. 2564 -2568 (ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris 2021 - 2025) ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง                  ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับงบประมาณจากแหล่งทุน PROBLUE โดยการสนับสนุนของธนาคารโลกในการดำเนินกิจกรรมภายใต้ ASEAN Framework of Action on Marine Debris ดำเนินการจัดทำ              ร่างแผนปฏิบัติการฯ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการประสานงานทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศให้มี             การจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเล เนื่องจากขยะประเภทนี้มีปริมาณมากและใช้เวลาในการย่อยสลายนาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทางของการออกแบบบรรจุภัณฑ์    ไปจนถึงปลายทางในเรื่องการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
                   ร่างแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ด้าน ตามกรอบปฏิบัติการฯ ดังนี้                                (1) Component I: Policy Support and Planning (2) Component II: Research, Innovation, and Capacity Building (3) Component III: Public Awareness, Education, and Outreach (4) Component IV: Private Sector Engagement โดยแผนปฏิบัติการนี้สามารถดำเนินงานได้อย่างสอดประสานกัน เพื่อแก้ไขปัญหาตลอดห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติก ซึ่งตอบสนองต่อกรอบปฏิบัติการฯ ทั้ง 4 ด้าน และครอบคลุมการดำเนินการในทุกช่องของพลาสติก ได้แก่ (1) ลดการนำพลาสติกเข้าสู่ระบบ (2) ส่งเสริมการจัดเก็บและลดการรั่วไหลออกจากระบบ และ                  (3) สร้างมูลค่าให้กับพลาสติกที่ถูกนำมาใช้ซ้ำ

แต่งตั้ง

20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ                      (กระทรวงสาธารณสุข)
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายชุติเดช               ตาบองครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) ระดับสูง] โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม) โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์               ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ               (สำนักนายกรัฐมนตรี)
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแต่งตั้ง นางศิริเนตร กล้าหาญ ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองติดตามและประเมินผลการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
 		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการ            พลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
 		1. นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี
 		2. นายมังกร ประทุมแก้ว กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้
 		ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้ง 2 ราย ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

23. เรื่อง การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
   		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ มีสาระสำคัญดังนี้
 		1. กำหนดจำนวนกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 64 ท่าน เท่ากับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยการกำหนดสัดส่วน ของกรรมาธิการฯ ดังนี้
 			1.1 กรรมาธิการฯ ที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อ จำนวน 16 ท่าน ซึ่งเป็นจำนวนไม่เกินหนึ่งในสี่ ของจำนวนกรรมาธิการฯ หรือจำนวนไม่เกิน 16 ท่าน ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 มาตรา 91 วรรคสอง
 			1.2  สำหรับกรรมาธิการฯ ในสัดส่วนพรรคการเมือง จำนวน 48 ท่าน จะมีการคัดเลือกตามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป
 		2.  จำนวนกรรมาธิการฯ ในสัดส่วนที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อจำนวนไม่เกิน 16 ท่าน เห็นสมควรให้ประกอบด้วยข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำ ตามรายชื่อที่ระบุไว้แล้ว จำนวน 4 ท่าน [1) นายอาคม               เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง              3) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง 4) นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ] สำหรับจำนวนกรรมาธิการฯ ที่ยังไม่ระบุรายชื่ออีกจำนวน 12 ท่าน เห็นสมควรให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนด ตามความเหมาะสมต่อไป

          ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤษภาคม 2564

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ