สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2564

ข่าวการเมือง Tuesday June 15, 2021 16:03 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

		วันนี้ (15 มิถุนายน 2564)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี                    เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า                     ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย


1. 	เรื่อง 	ร่างกฎกระทรวง (พ.ศ. ?.) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร 					พุทธศักราช 2477 ว่าด้วยเครื่องแบบทหารเรือ ฉบับที่ ..
2. 	เรื่อง 	ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต และการอนุญาต และ				การขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา 				ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ พ.ศ. ?.
3. 	เรื่อง 	ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคาร					ออมสิน (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. ?.
4. 	เรื่อง 	ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความ				ปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร 					ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. ?.
5.	เรื่อง 	ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำ					สินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 96) พ.ศ. 2536 พ.ศ. ?.
6. 	เรื่อง 	ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบของบุคคลซึ่งสมัครเป็น					ผู้ประกันตนในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... และร่าง				กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับ				บุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส
โคโรนา 2019 พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
7. 	เรื่อง 	การยกเว้นอากรศุลกากรและภาษีสรรพสามิต สำหรับโครงการระบบดาวเทียม					สำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศ สำหรับ					โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) (รวมร่างประกาศ					กระทรวงการคลัง 2 ฉบับ)
เศรษฐกิจ-สังคม


8. 	เรื่อง 	การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมรองรับการทำประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างด้าวผู้				ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A 				(ระยะ 1 ปี) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562
9. 	เรื่อง 	(ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570
10. 	เรื่อง 	ขออนุมัติหลักการในการอุดหนุนทางการเงินและให้ความช่วยเหลือด้านอื่นให้แก่				โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระ					กนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพิ่มเติม 				จำนวน 3 โรง
11. 	เรื่อง 	ผลการพิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้านการผลิต				และการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ					ไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม 					วุฒิสภา
12. 	เรื่อง 	ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้					และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ของคณะกรรมาธิการการ				พัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส 				วุฒิสภา
13. 	เรื่อง 	โครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง อำเภอแม่ออน ตามพระราชดำริ จังหวัด					เชียงใหม่
14. 	เรื่อง 	รายงานรายรับจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 				21 สิงหาคม 2550 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559
15. 	เรื่อง  	รายงานประจำปี 2563 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
16. 	เรื่อง 	รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563
17. 	เรื่อง 	รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริม				และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุง					กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
18. 	เรื่อง 	ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการ				เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการ					บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/2564
19. 	เรื่อง 	แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน (กรณีกระทรวงพลังงานกำหนดนโยบาย				และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ตามมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ					แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
20. 	เรื่อง  	รายงานผลการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด -19 ให้กับบุคลากรภาคคมนาคมขนส่ง			สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ
21. 	เรื่อง 	สรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ
ต่างประเทศ

22. 	เรื่อง 	ผลการประชุมรัฐมสตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง					อาเซียน+3 ครั้งที่ 24
23. 	เรื่อง 	ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค 				(Structural Reform Ministerial Meeting) ครั้งที่ 3
24.  	เรื่อง  	ขอความเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน				กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น 				สมัยพิเศษ
แต่งตั้ง

25. 	เรื่อง 	การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ					ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
26. 	เรื่อง 	แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้				รถใช้ถนน
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
กฎหมาย


1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง (พ.ศ. ?.) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช 2477                 ว่าด้วยเครื่องแบบทหารเรือ ฉบับที่ ..
 		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง (พ.ศ. ?.) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช 2477 ว่าด้วยเครื่องแบบทหารเรือ ฉบับที่ .. ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
 		ทั้งนี้ กห. เสนอว่า เนื่องจากกฎกระทรวง (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช 2477 ว่าด้วยเครื่องแบบทหารเรือ ฉบับที่ 16 ได้กำหนดสายกระบี่เป็น 2 แบบ คือ แบบที่ 1               ทำด้วยหนังสีดำ และแบบที่ 2 ทำด้วยสักหลาด มีแถบไหมทองหรือวัตถุเทียมไหมทองตรึงตรงกลาง ทำให้ไม่สะดวกในการใช้งานและไม่เป็นรูปแบบเดียวกับเหล่าทัพอื่น ดังนั้น จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงดังกล่าว โดยปรับปรุงสายกระบี่สำหรับนายทหารสัญญาบัตร (สายกระบี่) ของกองทัพเรือ ให้มีสีดำและมีแถบไหมทอง หรือวัตถุเทียมไหมทองตรึงตรงกลางเพียงชนิดเดียว เพื่อให้เกิดความสง่างาม มีความสะดวกในการใช้งาน และเป็นรูปแบบเดียวกับเหล่าทัพอื่น กห. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวง (พ.ศ. ?.) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช 2477              ว่าด้วยเครื่องแบบทหารเรือ ฉบับที่ .. ขึ้น และคณะกรรมการตรวจร่างกฎหมายประจำ กห. และสภากลาโหมได้เห็นชอบด้วยแล้ว
 		สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
 		แก้ไขเพิ่มเติมสายกระบี่สำหรับนายทหารสัญญาบัตร โดยมีสีดำ 2 สาย กว้างสายละ 1.5 เซนติเมตร และมีแถบไหมทองหรือวัตถุเทียมไหมทอง กว้างสายละ 1.2 เซนติเมตร ตรึงตรงกลางตามยาวด้านนอก ตอนบนมีขอสำหรับแขวนกับเข็มขัด ตอนล่างมีขอชนิดแหนบสำหรับเกี่ยวกับกระบี่

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต และการอนุญาต และการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ พ.ศ. ?.
 		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต และการอนุญาต และการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ พ.ศ. ?. ของกระทรวงกลาโหม (กห.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
 		ข้อเท็จจริง
 	 	สคก. ได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงการอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. เสร็จแล้ว มีการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ โดยแก้ไขรูปแบบร่างกฎหมายจากการแก้ไขเพิ่มเติม เป็นการปรับปรุงกฎหมายนี้ทั้งฉบับ รวมทั้งแก้ไขชื่อร่างกฎกระทรวงเป็น ?ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต และการอนุญาต และการขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ พ.ศ. ?.? เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และเกิดความสะดวกแก่ผู้ใช้กฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ สคก. แจ้งว่า กห. ได้ให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว
		สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
 		1. ยกเลิกกฎกระทรวงการอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2555
 		2. กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตสั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิตหรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ ให้ยื่นคำร้องขอต่อกรมการอุตสาหกรรมทหาร
 		3. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในสถานที่เก็บหรือสถานที่ผลิตยุทธภัณฑ์เพื่อตรวจสอบลักษณะและความปลอดภัยในการเก็บยุทธภัณฑ์ กรรมวิธีการผลิต ตลอดจนการนำไปใช้ และถ้าตรวจสอบแล้วเห็นว่าสถานที่ดังกล่าวสามารถเก็บหรือผลิตยุทธภัณฑ์ได้อย่างปลอดภัย ให้ออกหนังสือบันทึกการตรวจสถานที่เก็บ หรือสถานที่ผลิตยุทธภัณฑ์แก่ผู้ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วเสร็จ เพื่อนำไปประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาต
 		4. กำหนดให้การยื่นคำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานประกอบคำขอ ให้ยื่นต่อกรมการอุตสาหกรรมทหารหรือยื่นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กรมการอุตสาหกรรมทหารประกาศกำหนด ตามแบบคำขอรับใบอนุญาตให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 		5. ให้กรมการอุตสาหกรรมทหารตรวจสอบคำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งข้อมูลเอกสาร และหลักฐานว่าถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ กรณีที่คำขอรับใบอนุญาต หรือข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้บันทึกความบกพร่อง และแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาต หรือจัดส่งข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง กรณีที่การยื่นคำขอรับใบอนุญาตไม่ได้กระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและผู้ขอรับใบอนุญาตลงนามไว้ในบันทึก
 		6. ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำขอ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลหรือความจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว อาจขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องมีหนังสือแจ้งเหตุผลหรือความจำเป็นนั้นให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว
 		7. ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตได้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว ให้กรมการอุตสาหกรรมทหารออกใบอนุญาตภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับค่าธรรมเนียม กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตไม่อาจชำระค่าธรรมเนียมภายในกำหนดอาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมออกไปได้อีกไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ครบกำหนด

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารออมสิน (ฉบับที่ ..)                พ.ศ. ?.
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารออมสิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
		ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ กค. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารออมสิน พ.ศ. 2547 เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบกิจการให้สินเชื่อ โดยยกเลิกหลักเกณฑ์ในการประกาศประกอบกิจการหรือเลิกประกอบกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารที่จะกระทำ ณ สำนักงานแห่งใหญ่ สาขา หรือตัวแทน ของธนาคารออมสิน และแก้ไขเพิ่มเติมให้ธนาคารออมสินสามารถขายหรือโอนลูกหนี้สินเชื่อได้ และกำหนดหลักเกณฑ์การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคารออมสิน รวมทั้งกำหนดระยะเวลาขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคารออมสินฯ เพื่อให้การดำเนินงานของธนาคารออมสินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น และสอดคล้องกับกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบัน
 		สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
 		1. ให้ยกเลิกการประกาศกำหนดกิจการอันพึงเป็นงานของธนาคารออมสินที่จะกระทำ ณ สำนักงานแห่งใหญ่ สาขา หรือตัวแทน
 		2. กำหนดให้ธนาคารออมสินมีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ตกเป็นของธนาคารออมสินซึ่งได้มาจากการชำระหนี้ การประกันสินเชื่อ การเอาจำนองหลุด หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งจำนองหรือเป็นประกันการชำระหนี้ไว้แก่ธนาคารออมสินจากการขายทอดตลาด ด้วยวิธีการขาย จำหน่าย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือวิธีการอื่นที่ธนาคารพาณิชย์สามารถกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ตามระเบียบที่คณะกรรมการธนาคารออมสินกำหนด และกำหนดให้ธนาคารออมสินสามารถขายหรือโอนลูกหนี้สินเชื่อ รวมทั้งบริหารจัดการทรัพย์สินที่ตกเป็นของธนาคารออมสินดังกล่าวได้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการธนาคารออมสินกำหนด
 		3. กำหนดให้ธนาคารออมสินจะต้องขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคารภายใน 5 ปี นับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของธนาคาร เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะอนุญาตขยายระยะเวลาเกินกว่านั้น หรืออนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินธุรกิจ หรือสำหรับผู้อำนวยการ พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารออมสินใช้ประโยชน์ และกำหนดให้การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวให้กระทำโดยวิธีขายทอดตลาด หรือโดยวิธีอื่นใด ตามที่คณะกรรมการธนาคารออมสินเห็นสมควร
 		4. กำหนดบทเฉพาะกาลให้ธนาคารออมสินจะต้องดำเนินการขออนุญาตขยายระยะเวลาการถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคารออมสินครบ 5 ปี ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2565 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ร่างกฎกระทรวงฯ ใช้บังคับ

4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย                 อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. ?.
 		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. ?.                 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
		ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ รง. เสนอ เป็นการกำหนดให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเพื่อให้การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำมีมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างมีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น
		สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
 		1. ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2552
 		2. กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย  และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับ
 			2.1 เครื่องจักร 6 ประเภท ได้แก่ (1) เครื่องปั๊มโลหะ (2) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าและเครื่องเชื่อมก๊าซ (3) รถยก (4) ลิฟต์ (5) เครื่องจักรสำหรับใช้ในการยกคนขึ้นทำงานบนที่สูง และ (6) รอก
 			2.2 ปั้นจั่น 3 ประเภท ได้แก่ (1) ปั้นจั่นเหนือศีรษะและปั้นจั่นขาสูง (2) ปั้นจั่นหอสูง และ (3) รถปั้นจั่นและเรือปั้นจั่น รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับปั้นจั่น
			2.3 หม้อน้ำ 4 ประเภท ได้แก่ (1) หม้อน้ำ (2) หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน (3) ภาชนะรับความดัน และ (4) ภาชนะบรรจุก๊าซทนความดัน
 		3. กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์และดูแลให้ลูกจ้างใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐานในงาน 10 ประเภท ได้แก่ (1) งานเชื่อมหรือตัดชิ้นงานด้วยไฟฟ้า (2) งานลับ ฝน หรือแต่งผิวโลหะด้วยหินเจีย (3) งานกลึงโลหะ งานกลึงไม้ งานไสโลหะ งานไสไม้ หรืองานตัดโลหะ (4) งานปั๊มโลหะ (5) งานชุบโลหะ (6) งานพ่นสี (7) งานยก ขนย้าย หรือติดตั้ง (8) งานควบคุมเครื่องจักร (9) งานปั้นจั่น และ (10) งานหม้อน้ำ หม้อต้ม ที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน หรือภาชนะรับความดัน
 		4. กำหนดให้วิศวกรตามคำนิยาม ?วิศวกร? ในกฎกระทรวงนี้เป็นผู้ทดสอบการดำเนินการตามกฎหมาย จนกว่าจะมีบุคคลที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 9 หรือนิติบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 แล้วแต่กรณี

5. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 96) พ.ศ. 2536 พ.ศ. ?.
 		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 96) พ.ศ. 2536 พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
		ทั้งนี้ พณ. เสนอว่า
 		1. ได้มีการประกาศใช้บังคับประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 96) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2536 โดยกำหนดให้เครื่องจักรที่สามารถใช้เพื่อประโยชน์ในการละเมิดลิขสิทธิ์เทปเพลง วีดีโอเทปและแผ่นซีดี เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า
 		2. ต่อมา สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ได้เสนอให้ พณ. ยกเลิกกฎหมายที่กำกับดูแลการนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการละเมิดลิขสิทธิ์ฯ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
 		3. พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ประชุมหารือร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบและป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อพิจารณายกเลิกกฎหมายตามข้อเสนอของสำนักงาน ป.ย.ป. โดยที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 96) พ.ศ. 2536 เนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการละเมิดโดยใช้เทปเพลง วีดีโอเทป และแผ่นซีดี เป็นการละเมิดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ประกอบกับปัจจุบันไม่พบว่ามีการนำเข้าเครื่องจักรที่สามารถใช้เพื่อประโยชน์ในการละเมิดลิขสิทธิ์ฯ
		4. พณ. โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้แจ้งความเห็นเพิ่มเติมว่าการยกเลิกประกาศ พณ. ดังกล่าว จะไม่ทำให้การป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ด้อยประสิทธิภาพลง เนื่องจากเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถใช้กลไกตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับการเอาผิดกับผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งยังมีกลไกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาได้
		5. ดังนั้น เพื่อเป็นการดำเนินการตามข้อเสนอของสำนักงาน ป.ย.ป. ตามข้อ 2. พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศจึงได้ดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 96) พ.ศ. 2536 พ.ศ. ?. และได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมศุลกากร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อขอความเห็นต่อร่างประกาศ พณ. ดังกล่าวแล้ว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเห็นด้วยกับร่างประกาศ พณ. ดังกล่าว
 		6. โดยที่พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาตรา 5 บัญญัติให้ในกรณีที่จำเป็นหรือสมควร เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สาธารณประโยชน์ การสาธารณสุข ความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดของรัฐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเรื่องการกำหนดให้สินค้าใดที่ส่งออกหรือนำเข้าเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หนังสือรับรองคุณภาพสินค้า หรือหนังสือรับรองอื่นใดตามความตกลงหรือประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศ และกำหนดมาตรการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบในการส่งออกหรือการนำเข้า ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับโดยอนุโลมกับการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกประกาศตามมาตรานี้ด้วย ดังนั้น การยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 96) พ.ศ. 2536 จำเป็นต้องดำเนินการโดยการออกประกาศ


		สาระสำคัญของร่างประกาศ
		ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 96) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2536 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

6. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตนในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ
		1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ....
		2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ....
รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้นำร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาพร้อมกับร่างพระราชกฤษฎีกาในคราวเดียวกัน
		รง. เสนอว่า
		1. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีการระบาดในประเทศไทยอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจึงสมควรเร่งให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานนอกระบบ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ โดยการลดอัตราเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
		2. ในคราวประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางการเยียวยาและการฟื้นฟูแรงงานนอกระบบจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ดังนี้
			2.1 เห็นชอบการลดเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบเดิม เป็นระยะเวลา 6 เดือน ดังนี้
ประเภทการส่งเงินสมทบ	อัตราเงินสมทบเดิม	อัตราเงินสมทบใหม่
?	ทางเลือกที่ 1 ได้ประโยชน์ทดแทน 3 กรณี	70 บาทต่อเดือน	42 บาทต่อเดือน
?	ทางเลือกที่ 2 ได้ประโยชน์ทดแทน 4 กรณี	100 บาทต่อเดือน	60 บาทต่อเดือน
?	ทางเลือกที่ 3 ได้ประโยชน์ทดแทน 5 กรณี	300 บาทต่อเดือน	180 บาทต่อเดือน
			2.2 สำหรับเงินสมทบที่รัฐบาลชำระเข้ากองทุนประกันสังคมให้ดำเนินการปรับลดให้สอดคล้องกับมาตรา 40 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ที่บัญญัติให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน
		3. โดยที่มาตรา 40 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ บัญญัติให้หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน ประเภทของประโยชน์ทดแทน ที่จะได้รับ ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 40 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน
			รง. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... เพื่อลดอัตราการจ่ายเงินสมทบที่ผู้ประกันตน ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม โดยลดอัตราเงินสมทบลงเหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบเดิมเป็นระยะเวลา 6 เดือน และยกร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... เพื่อลดอัตราการจ่ายเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมและสอดคล้องกับการลดอัตราเงินสมทบฯ ตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ตามข้อ 2 และมาตรา 40 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
		4. รง. ได้เสนอรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาด้วยแล้ว ดังนี้
			4.1 ภายหลังปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน คาดว่าจะมีเงินสมทบลดลง 567 ล้านบาท โดยลดจากจำนวนเดิม 1,417.5 ล้านบาท เหลือจำนวน 850.5 ล้านบาท โดยการลดลงของเงินสมทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมจัดสรรเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามอัตราปกติสำหรับการบริหารจัดการเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีอื่นจะได้รับผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งสำนักงานประกันสังคมสามารถบริหารจัดการด้วยการนำเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องมาจ่ายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบในระยะยาว
			4.2 การปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะส่งผลให้ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบลดลง 378 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และช่วยให้ผู้ประกันตนมีกำลังซื้อมากขึ้น และส่งผลให้รัฐบาลนำส่งเงินสมทบลดลง 189 ล้านบาท รวมทั้งจะช่วยให้แรงงานนอกระบบมีแนวโน้มที่จะเลือกส่งเงินสมทบตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ซึ่งเป็นแบบสมัครใจเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราการจ่ายเงินสมทบดังกล่าว
		สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
		1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน                       ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
			1.1 กำหนดให้ลดอัตราการจ่ายเงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ดังนี้
ประเภทการส่งเงินสมทบ	อัตราเงินสมทบเดิม	อัตราเงินสมทบใหม่
?	ทางเลือกที่ 1 ได้ประโยชน์ทดแทน 3 กรณี ได้แก่
1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
2. กรณีทุพพลภาพ
3. กรณีตาย	70 บาทต่อเดือน	42 บาทต่อเดือน
?	ทางเลือกที่ 2 ได้ประโยชน์ทดแทน 4 กรณี ได้แก่
1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
2. กรณีทุพพลภาพ
3. กรณีตาย
4. กรณีชราภาพ	100 บาทต่อเดือน	60 บาทต่อเดือน
?	ทางเลือกที่ 3 ได้ประโยชน์ทดแทน 5 กรณี wfhcdj
1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
2. กรณีทุพพลภาพ
3. กรณีตาย
4. กรณีชราภาพ
5. กรณีสงเคราะห์บุตร	300 บาทต่อเดือน	180 บาทต่อเดือน
			1.2 กำหนดให้ใช้อัตราเงินสมทบตามข้อ 1.1 ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนถัดไปจากเดือนที่                 พระราชกฤษฎีกานี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 6 เดือน
		2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
			2.1 กำหนดให้ลดอัตราการจ่ายเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ดังนี้
ประเภทการส่งเงินสมทบ	อัตราเงินสมทบเดิม	อัตราเงินสมทบใหม่
?	กรณีเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามทางเลือกที่ 1 	30 บาทต่อเดือน	21 บาทต่อเดือน
?	กรณีเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามทางเลือกที่ 2	50 บาทต่อเดือน	30 บาทต่อเดือน
?	กรณีเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามทางเลือกที่ 3 	150 บาทต่อเดือน	90 บาทต่อเดือน
			2.2 กำหนดให้ใช้อัตราเงินสมทบตามข้อ 2.1 ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนถัดไปจากเดือนที่กฎกระทรวงนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 6 เดือน

7. เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรและภาษีสรรพสามิต สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) (รวมร่างประกาศกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ)
 		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ดังนี้
 		1. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศสำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2)
 		2. อนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2)
รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
 		เรื่องเดิม
 		1. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาดาวเทียม Remote Sensing ของประเทศไทย (THEOS-1) เพื่อใช้ประโยชน์ในการสำรวจทรัพยากรของประเทศไทยและสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ              (4 พฤศจิกายน 2546) เห็นชอบในการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายใต้โครงการ THEOS-1 กค. จึงได้ออกกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อยกเว้นอากรศุลกากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่มตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
 		2. ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (14 มีนาคม 2560) อนุมัติการดำเนินโครงการ THEOS-2 วงเงิน 7,800 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรศุลกากร และภาษีสรรพสามิต) ระยะดำเนินการ 5 ปี โดยมอบหมายให้ สทอภ. รับผิดชอบโครงการตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ เนื่องจากดาวเทียม THEOS-1 ใกล้หมดอายุการใช้งาน
 		3. สทอภ. ได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศสำหรับโครงการ THEOS-2 มูลค่า 6,984 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 โดย สทอภ. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบอากรศุลกากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการดังกล่าว
  		ข้อเท็จจริง
 		กค. เสนอว่า สทอภ. ได้มีหนังสือถึง กค. เพื่อหารือถึงแนวทางปฏิบัติสำหรับการเสนอเรื่องขอยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรศุลกากร และภาษีสรรพสามิต สำหรับโครงการ THEOS-2 โดยมีลักษณะของวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการเช่นเดียวกับโครงการ THEOS-1 แต่ กค. มีความเห็นว่า สทอภ. สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามระบบอยู่แล้ว อีกทั้งของที่จะนำเข้าภายใต้โครงการดังกล่าวไม่มีภาระอากรศุลกากรและภาษีสรรพสามิต
		ต่อมา สทอภ. มีหนังสือถึง กค. อีกครั้งเพื่อหารือแนวทางปฏิบัติสำหรับการเสนอเรื่องขอยกเว้นอากรศุลกากรและภาษีสรรพสามิตสำหรับโครงการ THEOS-2 เนื่องจากปรากฏว่าของที่จะนำเข้ามีภาระอากรศุลกากรและภาษีสรรพสามิต เช่น แผงวงจรกระจายไฟฟ้า ส่วนประกอบสำหรับเชื่อมต่อแผงอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ที่เป็นส่วนประกอบของดาวเทียมดวงเล็ก เป็นต้น ประกอบกับ สทอภ. ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินด้วย
	 	กค. พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการ THEOS-2 มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเช่นเดียวกับโครงการ THEOS-1 ประกอบกับเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดาวเทียม นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านเศรษฐกิจอวกาศ เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบบองค์รวม และเพิ่มศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงเห็นควรเสนอให้ยกเว้นอากรศุลกากรและภาษีสรรพสามิต สำหรับโครงการระบบดาวเทียมฯ THEOS-2 กค. จึงได้ดำเนินการยกร่างประกาศ รวม 2 ฉบับ ดังนี้ 1) ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศสำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2)  2) ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2)
 		กค. ได้รายงานการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีอากรจากการยกเว้นอากรศุลกากรและภาษีสรรพสามิตประมาณ 64.37 ล้านบาท และ 0.63 ล้านบาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินประมาณ 65 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบบองค์รวม และเพิ่มศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer)
 		สาระสำคัญของร่างประกาศรวม 2 ฉบับ
 		1. ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศสำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) เป็นการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับเครื่องมือและอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นของตามพิกัดประเภทใด ซึ่ง สทอภ. นำเข้ามาเพื่อใช้ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมฯ สำหรับโครงการ THEOS-2 และของที่จะได้รับการยกเว้นอากรจะต้องมีหนังสือรับรองจากผู้อำนวยการ สทอภ. ว่านำมาใช้สำหรับโครงการระบบดาวเทียมฯ โครงการ THEOS-2 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
 		2. ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศสำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) เป็นการยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องมือและอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นสินค้าตามพิกัดประเภทใด ซึ่ง สทอภ. นำเข้ามาเพื่อใช้ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมฯ สำหรับโครงการ THEOS-2 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
 		3. กำหนดให้ร่างประกาศกระทรวงการคลังรวม 2 ฉบับ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจาก                 วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

เศรษฐกิจ สังคม


8. เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมรองรับการทำประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจ             ลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) ตามมติคณะรัฐมนตรี                      เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอดังนี้
		1. อนุมัติในหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมรองรับการทำประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างด้าว             ผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562
		2. มอบหมายสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไข             ในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
		3. มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ปรับปรุงแนวปฏิบัติการตรวจลงตราประเภทคน             อยู่ชั่วคราว Non-Immigrant รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สธ. และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องพร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติทราบอย่างทั่วถึง
		สาระสำคัญของเรื่อง
		สธ. รายงานว่า
		1. หลังจากที่ ตช. ได้มีคำสั่งปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าว           ขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยให้คนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa) รหัส O-A ต้องซื้อประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 พบว่า เกิดปัญหาในการดำเนินการของผู้ขอรับการตรวจลงตราในการซื้อประกันสุขภาพ ดังนี้
			1.1 ชาวต่างชาติอายุเกิน 70 ปี ไม่สามารถซื้อประกันในไทยได้ ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติ             ในการขออยู่ต่อ
			1.2 แบบฟอร์มการรับรองการซื้อประกันในต่างประเทศ ไม่สอดคล้องกับระบบธุรกิจประกันภัย/สิทธิประโยชน์จากกองทุนต่าง ๆ
			1.3 ผู้ที่ยื่นต่ออายุวีซ่าครั้งที่สอง (Extend) ประสงค์จะขอใช้ประกันสุขภาพจากต่างประเทศ
		2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้คำสั่งที่ระบุให้                 คนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa) รหัส O-A ต้องซื้อประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักร สรุปได้ ดังนี้
วันที่	ผลการดำเนินการ
22 มกราคม 2563	ที่ประชุมปรึกษาหารือแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์การทำประกันสุขภาพสำหรับ           คนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa              รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) ระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพร่วมกับกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 กรมการกงสุล คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย มีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในการรองรับการขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว                (Non-Immigrant Visa รหัส O-A) ให้มีประกันสุขภาพภาคบังคับ โดยให้ สตม. ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวให้สอดรับกับนโยบาย
17 มีนาคม 2563	ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางบริการรักษาพยาบาล (Medical Service Hub) ครั้งที่ 1/2563 มีมติรับทราบความก้าวหน้าการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมรองรับการทำประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างด้าว ผู้ขอรับการตรวจ              ลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562
9 เมษายน 2563	ที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาร่างกฎหมาย และระเบียบของ สตม. มีมติให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาหลักเกณฑ์เพิ่มเติม รองรับการทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภท Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี) โดยเชิญ กต. สตม. คปภ. บริษัทประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมเพื่อให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจนและสามารถแก้ไขปัญหา  ได้อย่างเป็นรูปธรรม
29 มิถุนายน 2563	ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ครั้งที่ 1/2563 มีมติเห็นชอบในหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมรองรับการทำประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562
17 มิถุนายน 2563
25 มิถุนายน 2563
และ
23 กรกฎาคม 2563	ที่ประชุมหารือแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจลงตราประเภทรักษาพยาบาล (Medical Visa) Non-MT ระยะเวลา 1 ปี เข้าออกได้หลายครั้ง (Multiple Entry)   ครั้งที่ 2/2563 ครั้งที่ 3/2563 และครั้งที่ 4/2563 มีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดหลักเกณฑ์ในการตรวจลงตราตามที่ประชุมเสนอ (ตามข้อ 3) และมอบหมายกองทุนสุขภาพระหว่างประเทศ สธ. เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
2 ตุลาคม 2563	ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ครั้งที่ 2/2563 มีมติรับทราบความก้าวหน้า               การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังกล่าว

			3. หลักเกณฑ์ใหม่ที่จะขอปรับปรุงมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

หลักเกณฑ์เดิม	หลักเกณฑ์ใหม่
ต้องซื้อประกันสุขภาพของไทยที่มีวงเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาล
1. กรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท
2. กรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท
โดยซื้อกรมธรรม์แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ longstay.tgia.org	1. การขอตรวจลงตราฯ ครั้งที่ 1
	ให้มีประกันสุขภาพ หรือสวัสดิการภาครัฐที่มีวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,000,000 บาท (ปรับวงเงินประกันสุขภาพ)
	2. การขอตรวจลงตราฯ เพื่อการขออยู่ต่อ อนุญาต ดังนี้
	ซื้อประกันสุขภาพจากต่างประเทศ หรือมีสวัสดิการภาครัฐจากต่างประเทศได้ โดย
	- ให้มีหน่วยงานภาครัฐรับรองแบบฟอร์มกลาง                    การทำประกันสุขภาพที่มาแสดง ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย หรือ
	- ประสานกระทรวงการต่างประเทศของประเทศผู้ขอรับการตรวจลงตราฯ ให้รับรองลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารที่มาแสดง (Notary)
	3. กรณีผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเหตุให้บริษัทประกันปฏิเสธทั้งหมด             หรือบางส่วน ให้มีเอกสารแสดงเพิ่มเติม ได้แก่
	- หนังสือปฏิเสธการซื้อประกันสุขภาพ
	- หลักทรัพย์/เงินฝาก/ประกันสุขภาพอื่น ๆ รวมวงเงิน             ไม่น้อยกว่า 3,000,000 บาท ตามเกณฑ์ที่ สตม. กำหนด
หมายเหตุ	การปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้างต้นเป็นการขอปรับปรุงหลักเกณฑ์ของ ตช. และ กต. ดังนี้
		1. คำสั่ง ตช. ที่ 548/2562 เรื่อง ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 27 กันยายน 2562
		2. แนวปฏิบัติการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) ของ กต. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2562
		4. ที่ผ่านมา สธ. ได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประกันสุขภาพให้ชาวต่างชาติจำนวน 4 ราย เพื่อนำไปประกอบการยื่นขอต่ออายุวีซ่า เนื่องจากถูกปฏิเสธการซื้อประกันสุขภาพในไทย เป็นเหตุให้ไม่สามารถขอต่ออายุวีซ่าได้

9. เรื่อง (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570
		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอดังนี้
		1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570
		2. ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย นำ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 ไปใช้เป็นกรอบแนวทางและเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการบริการ ดูแล พัฒนา และจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยและปฏิบัติการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว
		3. มอบสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการจัดทำแผนงบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย             พ.ศ. 2564 - 2570
		สาระสำคัญของเรื่อง
		ศธ. รายงานว่า
		1. คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (คณะกรรมการฯ) ในคราวประชุม                   ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 และครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 - 2570 ตามที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำแผนพัฒนา             เด็กปฐมวัยและกำหนดองค์ประกอบคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเสนอ รวมทั้งมอบหมายให้ สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ นำ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 - 2570 เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอแผนระดับที่ 3 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ             (สภาพัฒนาฯ) ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการของ               (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 - 2570 โดยสภาพัฒนาฯ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมบางประการและ สกศ. ได้พิจารณาดำเนินการปรับแก้ไขตามข้อเสนอแนะดังกล่าวแล้ว เช่น ปรับห้วงเวลาของแผนจากปี พ.ศ. 2563 - 2570 เป็น พ.ศ. 2564 - 2570 เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาเริ่มต้นในการขับเคลื่อนแผนดังกล่าวปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยให้เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตรอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการขยายสิทธิการลา การส่งเสริมให้มีระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น การทำงานจากที่บ้าน (work from home) การกำหนดเป้าประสงค์ของการพัฒนาเด็กในแต่ละกลุ่มการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการพัฒนาเด็กในมิติต่าง ๆ ขอบเขตกลุ่มเด็กภายใต้แผนดังกล่าว* เป็นต้น
		2. (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาโครงสร้างการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศด้วยการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายหลักให้เด็กปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของกระบวนการพัฒนาเด็กให้เป็นเด็ก ?เก่ง ดี มีสุข? มีพัฒนาการ              ทุกด้านแบบองค์รวม มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ประเด็นที่ 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และประเด็นที่ 12 การพัฒนา              การเรียนรู้ แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมทั้งแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 ยุทธศาสตร์ที่ 3                 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วยวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดย (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 ประกอบด้วย
			2.1 นโยบายด้านเด็กปฐมวัย 3 ข้อ ได้แก่ (1) เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการพัฒนา             อย่างรอบด้าน อย่างมีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง (2) การพัฒนาเด็กตามนโยบายข้อ 1 ต้องจัดให้เป็นระบบและมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยบูรณาการชัดเจนระหว่างหน่วยงานราชการและที่ไม่ใช่ราชการ ระหว่างวิชาชีพที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และระหว่างระดับต่าง ๆ ของการบริหารราชการแผ่นดินจากระดับชาติ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และ (3) รัฐและทุกภาคส่วนต้องร่วมกันระดมทรัพยากรให้เพียงพอแก่              การพัฒนาเด็กปฐมวัยตามนโยบายข้อ 1
			2.2 วิสัยทัศน์ เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพ                 เป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองคุณภาพ
			2.3 เป้าประสงค์ เด็กปฐมวัย*ทุกคน ซึ่งหมายถึงเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย รวมถึงเด็กที่เป็นลูกแรงงานต่างชาติและเด็กที่ไม่ได้มาจากครอบครัวไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านอย่างมีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน
			2.4 ยุทธศาสตร์ 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์	ตัวชี้วัดรายยุทธศาสตร์/มาตรการที่สำคัญ/หน่วยงานที่รับผิดชอบ
1. การจัดการและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย	ตัวชี้วัด: เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ - 6 ปี อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมตามศักยภาพของเด็กแต่ละคนด้วยความเท่าเทียม
มาตรการที่สำคัญ: เช่น สร้างกลไกความร่วมมือในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จัดให้มีระบบการสำรวจ คัดกรอง และวินิจฉัยเพื่อหาภาวะความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาส เป็นต้น
ผู้รับผิดชอบหลัก: กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) ศธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ อปท.
ผู้รับผิดชอบรอง: กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา              (กสศ.) และองค์กรเอกชน
2. การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย	ตัวชี้วัด: พ่อแม่ ผู้ปกครอง ทุกครอบครัวมีความรู้ ความพร้อม และทักษะในการเลี้ยงดูเด็กและปกป้องสิทธิทุกด้านของเด็กอย่างถูกต้องเพื่อให้เด็กได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ
มาตรการที่สำคัญ: เช่น ขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จัดหรือสนับสนุนให้มีบริการรับเลี้ยงและพัฒนาเด็กทารกวัยเตาะแตะในชุมชน/สถานประกอบการ เป็นต้น
ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. อว. มท. ศธ. สธ. และ อปท.
ผู้รับผิดชอบรอง: รง. กสศ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และองค์กรเอกชน
3. การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการพัฒนาเด็กปฐมวัย	ตัวชี้วัด: มีการพัฒนาระบบการดูแลเด็กแบบองค์รวมเพื่อให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกแห่งนำไปใช้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ
มาตรการที่สำคัญ: เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกแห่งอย่างเพียงพอ สร้างระบบพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น
ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. อว. มท. ศธ. สธ. อปท. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
ผู้รับผิดชอบรอง: กสศ. ทุกหน่วยงานที่มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในสังกัด และองค์กรเอกชน
4. การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศเด็กปฐมวัยและการนำไปใช้ประโยชน์	ตัวชี้วัด: มีการบูรณาการ การพัฒนาและวางระบบการใช้ฐานข้อมูลและสารสนเทศที่พัฒนาแล้วไปใช้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพและมีระบบปกป้องเพื่อมิให้เป็นการละเมิดสิทธิหรือเป็นผลร้ายต่อเด็กและผู้ที่เกี่ยวข้อง
มาตรการที่สำคัญ: เช่น วิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างฐานข้อมูลรายบุคคลและสารสนเทศเด็กปฐมวัยที่สำคัญ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการวางแผน ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มท. ศธ. สธ. อปท. และ กสศ.
ผู้รับผิดชอบรอง: กระทรวงกลาโหม อว. ยธ. รง. อก. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน) และองค์กรเอกชน
5. การจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมาย	ตัวชี้วัด: มีกฎหมาย กฎระเบียบ และมีระบบและกลไกในการรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ยและดำเนินการทางคดีเพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับประโยชน์ตามสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรการที่สำคัญ: เช่น รวบรวม จัดทำ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อลดความซ้ำซ้อน และให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 และมาตรฐานสากล           เป็นต้น
ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. มท. ยธ. ศธ. สธ. สำนักงาน ก.พ. และ อปท.
ผู้รับผิดชอบรอง: อว. รง. อก. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และองค์กรเอกชน
6. การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้	ตัวชี้วัด: มีการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการดูแลและส่งเสริมศักยภาพของเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้านและอย่างทั่วถึง จากการนำเอาความรู้และผลวิจัยนำไปสู่การปฏิบัติจริง
มาตรการที่สำคัญ: เช่น วิเคราะห์และสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยพัฒนาระบบการจัดการความรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยในมิติต่าง ๆ เป็นต้น
ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. อว. มท. สธ. ศธ. อปท. และกรมประชาสัมพันธ์
ผู้รับผิดชอบรอง: สสส. กสศ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และองค์กรเอกชน
7. การบริหารจัดการ การสร้างกลไกการประสานการดำเนินงานและการติดตามประเมินผล	ตัวชี้วัด: มีการบูรณาการระบบการบริหารจัดการ และการประเมินติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน
มาตรการที่สำคัญ: เช่น พัฒนาระบบการบริหารจัดการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างกลไกการประสานงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น
ผู้รับผิดชอบหลัก: พม. มท. ศธ. สธ. อปท. สำนักงบประมาณ และกรุงเทพมหานคร
ผู้รับผิดชอบรอง: องค์กรเอกชน
			2.5 การขับเคลื่อนและการติดตามประเมินผล ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ (1) การสร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงเข้ากับแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การบูรณาการระหว่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 เป็นต้น (2) การนำแผนสู่การปฏิบัติ เช่น การผลักดันให้มีงบประมาณเชิงบูรณาการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น และ (3) การติดตามและประเมินผล เช่น การติดตามและประเมินผลด้วยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ เป็นต้น
*สกศ. ชี้แจงว่า (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 ครอบคลุมถึงเด็กปฐมวัยทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย เพื่อไม่ให้เป็นการลิดรอนสิทธิของเด็กปฐมวัยทุกคนตั้งแต่เริ่มต้น อย่างไรก็ตาม การให้บริการทางสังคมหลายประเภทไม่ได้ให้บริการแก่เด็กที่เป็นลูกแรงงานต่างชาติหรือเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ดังนั้น หาก (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว หน่วยงานของรัฐและ อปท. ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้จะต้องพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ ประเด็นข้อขัดแย้งทางกฎหมาย และกฎระเบียบต่าง ๆ ร่วมด้วย
*เด็กปฐมวัย คือ วัยที่เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์หรือก่อนเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มอายุ ได้แก่ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี หรือเด็กอายุ 0 - 3 ปี และกลุ่มเด็กอายุ 3 - 5 ปี

10. เรื่อง ขออนุมัติหลักการในการอุดหนุนทางการเงินและให้ความช่วยเหลือด้านอื่นให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ                       สยามบรมราชกุมารี เพิ่มเติม จำนวน 3 โรง
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการในการอุดหนุนทางการเงินและให้ความช่วยเหลือด้านอื่นให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ (กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ) สยามบรมราชกุมารี (โครงการตามพระราชดำริฯ) เพิ่มเติม จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนดาราวิทยา โรงเรียนนราวิทย์อิสลาม และโรงเรียนสมานมิตรวิทยา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2567 เพื่อให้การอุดหนุนด้านอาคารเรียน อาคารประกอบ และสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน โดยตั้งงบประมาณเป็นรายปี ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ โดยให้ ศธ. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป โดยให้คำนึงถึงความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์เป็นสำคัญ ตามนัยของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
		สาระสำคัญของเรื่อง
		ศธ. รายงานว่า
		1. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมี             พระมหากรุณาธิคุณรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริของพระองค์ ตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปี 2563 รวมจำนวน 16 แห่ง (โรงเรียนทั้ง 16 แห่ง ได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายขึ้นมา ชื่อว่า ?เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐา               ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี?) ซึ่ง ศธ. โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ [สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)] ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี รายการเงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริฯ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นระยะเวลาต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อให้การอุดหนุนด้านอาคารเรียน อาคารประกอบและการจัดหาสื่ออุปกรณ์และครุภัณฑ์ต่าง ๆ ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้เหมาะสมและมีคุณภาพเช่นเดียวกับสถานศึกษาอื่น ๆ
		2. ต่อมาในปี 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม              ราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริฯ เพิ่มเติมอีก จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนดาราวิทยา โรงเรียนนราวิทย์อิสลาม และโรงเรียนสมานมิตรวิทยา ปัจจุบันจึงมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริฯ รวมทั้งสิ้น จำนวน 19 แห่ง สช. จึงได้แจ้งให้โรงเรียนในส่วนที่เพิ่มเติม จำนวน 3 แห่ง จัดทำข้อมูลแผนแม่บท อาคารเรียน และอาคารประกอบของโรงเรียน (Master Plan) เหตุผลความจำเป็น และความเหมาะสมในการของบประมาณด้านกายภาพ โดยให้คำนึงถึงขนาดพื้นที่และจำนวนนักเรียนของแต่ละแห่ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณงบลงทุน ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในคราวประชุม ครั้งที่ 12/2563 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ได้เห็นชอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สช.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการในการอุดหนุนทางการเงินและให้ความช่วยเหลือด้านอื่นให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริฯ จำนวน 3 แห่ง โดยตั้งงบประมาณเป็นรายปี
		3. ในครั้งนี้ ศธ. โดย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สช.) จึงได้เสนอขออนุมัติหลักการในการอุดหนุนทางการเงินและให้ความช่วยเหลือด้านอื่นให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริฯ เพิ่มเติม จำนวน 3 แห่ง โดยมีประมาณการรายจ่ายในการดำเนินโครงการตามพระราชดำริฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 - 2567 สรุปได้ ดังนี้
หน่วย : บาท
ปีงบประมาณ พ.ศ.	รวมงบประมาณทั้งสิ้น
2565	2566	2567
3,930,000	6,175,000	4,230,000	14,335,000
		รายชื่อและสถานที่ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริฯ จำนวน 19 แห่ง สรุปได้ ดังนี้
ลำดับ	รายชื่อ	สถานที่
1	โรงเรียนจรรยาอิสลาม	ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
2	โรงเรียนคลองหินอิสลามวิทยา
(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพีระยานาวินคลองหินวิทยา)	ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
3	โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์	ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
4	โรงเรียนอิบตีดาวิทยา	ตำบลลาโละ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
5	โรงเรียนนิรันดรวิทยา	ตำบลบางปอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
6	โรงเรียนต้นตันหยง	ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
7	โรงเรียนบ้านกูวิง	ตำบลท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี
8	โรงเรียนอัตเตาฟีกียะห์อิสลามมียะห์	ตำบลซากอ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
9	โรงเรียนส่งเสริมอิสลาม	ตำบลปลักหนู อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
10	โรงเรียนศาสน์อิสลาม	ตำบลเตราะบอน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
11	โรงเรียนดารุลฮิกมะห์	ตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
12	โรงเรียนธรรมพิทยาคาร	ตำบลลุโบะยิไร อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี
13	โรงเรียนบากงวิทยา	ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
14	สถาบันศึกษาปอเนาะอิสลามศาสน์ดารุสสาลาม	ตำบลตาแซะ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
15	โรงเรียนอิสลามบูรพา	ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
16	โรงเรียนธรรมคีรีวิทยา	ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
17	โรงเรียนดาราวิทยา	ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
18	โรงเรียนนราวิทย์อิสลาม	ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
19	โรงเรียนสมานมิตรวิทยา	ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส
หมายเหตุ : ลำดับที่ 17 - 19 เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ ศธ. ขออนุมัติเพิ่มในครั้งนี้

11. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้านการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
		คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้านการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
		เรื่องเดิม
		1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการศึกษา เรื่อง การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้านการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1) พิจารณาปรับแนวทางการนำนโยบายมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐสู่การปฏิบัติ 2) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ 3) สร้างมาตรกการที่ส่งเสริมความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน 4) สร้างมาตรการจูงใจแก่ภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 5) ยกระดับผลิตภัณฑ์จากพืชเกษตรเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และส่งเสริมพืชเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น 6) สร้างมาตรการเพื่อกระตุ้นบรรยากาศในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ชุมชน และ 7) พัฒนาฐานข้อมูล (Big Data) เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
		2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) พิจารณาแล้วมีคำสั่งมอบหมายให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
		ข้อเท็จจริง
		กค. เสนอว่าได้ดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการสรุปผลการพิจารณาดำเนินการในภาพรวมของรายงานดังกล่าวแล้ว ซึ่งได้ดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กก. พม. กษ. ดศ. พณ. มท. รง. อว. อก. สศช. สสว. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) โดยพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อ 1 แล้ว ซึ่งมีผลการพิจารณาเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้
		1. พิจารณาปรับแนวทางการนำนโยบายมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐสู่การปฏิบัติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดโครงการภายใต้ 5T ตามข้อเสนอของกรรมาธิการฯ แล้ว และได้มีมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยให้สถาบันการเงินกู้ยืมในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี
		2. การให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นสู่ความมั่นคงในเศรษฐกิจ การจัดทำหลักสูตรอาชีพออนไลน์ การจัดทำตลาดนัดออนไลน์ การให้บริการจัดหางานของศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย
		3. การสร้างมาตรการที่ส่งเสริมความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น พัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและที่ดินทำกิน โครงการ Digital Village by DBD พัฒนาชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ ผลักดันสินค้าชุมชนเข้าสู่การค้าออนไลน์ โดยผ่านแพลตฟอร์ม e-Marketplace
		4. การสร้างมาตรฐานการจูงใจแก่ภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการประกวด SME Start up Awards ปี 2563 ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SME ตื่นตัวพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ทั้งระดับประเทศและระดับสากล รวมทั้งดำเนินการสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้กับประธานหรือผู้บริหารเครือข่ายธุรกิจเพื่อพัฒนาความรู้และการตลาดสมัยใหม่
		5. การยกระดับผลิตภัณฑ์จากพืชเกษตรเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และส่งเสริมพืชเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการ เช่น โครงการควบคุมระบบให้น้ำอัตโนมัติภาคการเกษตร โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล รวมทั้งได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐานสินค้าในระดับ OTOP Select
		6. การสร้างมาตรการเพื่อกระตุ้นบรรยากาศในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าปศุสัตว์ โดยการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และได้มีโครงการสร้างสรรค์สินค้าและบริการท่องเที่ยวในรูปแบบ Creative Tourism
		7. การพัฒนาฐานข้อมูล (Big Data) เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตร และได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ รวมถึงดำเนินการพัฒนาระบบคลาวด์ภาครัฐ ซึ่งสามารถรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามหน่วยงาน

12. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ                 คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
		คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
		เรื่องเดิม
		1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การสร้างสังคมแห่ง               การเรียนรู้และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ดังนี้ 1) ส่งเสริมให้มีการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และให้มีการจัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อ 2) ผลักดันรัฐบาลโดยกำหนดให้มีการส่งเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชนเป็นวาระแห่งชาติ และให้มีคณะกรรมการระดับชาติที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน 3) สนับสนุนให้ทุกระดับทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สื่อทุกแขนง รวมถึงสื่อบุคคล และองค์กรวิชาชีพสื่อร่วมกันเสนอแนะข้อมูล ความรู้ ที่ถูกต้องในการรับมือกับภัยที่มากับสื่อ 4) ผลักดันให้ภาครัฐจัดสรรพื้นที่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหลากหลาย จริงจัง และเป็นรูปธรรม และ              5) สนับสนุนและผลักดันให้มีการร่างกฎหมายกำกับดูแลการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน
		2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ดศ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
		ข้อเท็จจริง
		ดศ. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ	ผลการพิจารณา
	1. ควรส่งเสริมให้มีการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และให้มีการจัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อ		กรมกิจการเด็กและเยาวชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ประจำปี การจัดทำชุดความรู้ในประเด็นการใช้สื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน เช่น แนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ การพนันออนไลน์ อีสปอร์ต ในส่วนแผนการดำเนินงานปี 2564 ได้มีการจัดทำ                    ร่างหลักสูตรสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในประเด็นการปกป้องคุ้มครองเด็กจากการใช้สื่อออนไลน์ การพัฒนาและจัดทำหลักสูตร E-learning เพื่อการคุ้มครองเด็กในประเด็นการใช้สื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน
	2. ผลักดันรัฐบาลโดยกำหนดให้มีการเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชนเป็นวาระแห่งชาติ และให้มีคณะกรรมการระดับชาติที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน		กรมกิจการเด็กและเยาวชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีองค์ประกอบจาก หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายภายใต้การบูรณาการร่วมกัน ได้ดำเนินงานเชิงนโยบายภายใต้กลไกคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกระดับพื้นที่ประเด็นการใช้สื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน ในพื้นที่นำร่อง 20 จังหวัด
	3. สนับสนุนให้ทุกระดับทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สื่อทุกแขนง รวมถึงสื่อบุคคล และองค์กรวิชาชีพสื่อ ร่วมกันเสนอแนะข้อมูล ความรู้ที่ถูกต้องในการรับมือกับภัยที่มากับสื่อ เพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาในการใช้สื่อ		ดศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเสวนา เวทีนโยบายสาธารณะและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ประเด็นการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ และการผลิตสื่อความรู้และสื่อประชาสัมพันธ์ ประเด็นการใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีการดำเนินโครงการจัดทำแนวทางป้องกันและส่งเสริมการตระหนักรู้ของเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ โครงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อยกระดับสังคมดิจิทัลอย่างมีคุณภาพ โครงการจัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อดิจิทัล ในส่วนแผนการดำเนินงาน ปี 2564 มีการจัดเวทีมหกรรมเด็กและเยาวชนไทยกับสื่อออนไลน์ โครงการการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) เพื่อนำมาพัฒนาสมรรถนะด้านดิจิทัล และพัฒนาให้เป็น อสด. ประจำหมู่บ้าน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ดิจิทัลให้แก่ประชาชนในทุกกลุ่ม ทุกวัย ในทุกชุมชน/หมู่บ้านทั่วประเทศ พร้อมทั้งจะพัฒนาพื้นที่นำร่องในแต่ละจังหวัด และโครงการวิเคราะห์สถานการณ์และพฤติกรรมเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันและส่งเสริมการตระหนักรู้ของเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์
	4. ผลักดันให้ภาครัฐจัดสรรพื้นที่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหลากหลาย จริงจัง และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ และกองทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจัดสรรให้มีโครงการสนับสนุนพื้นที่สร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนจะได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมทำในกิจกรรมหรือโครงการที่เหมาะสมกับช่วงวัยและความสนใจ		กรมกิจการเด็กและเยาวชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 (ปีงบประมาณ 2561, ปีงบประมาณ 2563) การประกวดสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนที่สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ปีงบประมาณ 2562) ในส่วนแผนการดำเนินงานปี 2564 มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต้นแบบ 20 จังหวัด ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
	5. สนับสนุนและผลักดันให้มีการร่างกฎหมายกำกับดูแลการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน และให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับเกมส์ และผู้ประกอบการโทรคมนาคม คำนึงถึงการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนตามกติกาสากลเป็นสำคัญ		กรมกิจการเด็กและเยาวชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดทำร่างระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่ถูกทารุณกรรมจากการใช้สื่อออนไลน์ จัดทำร่างบทบัญญัติแทรกประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยฐานความผิดจากการใช้สื่อออนไลน์ และจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการสร้างความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อเด็ก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) ในส่วนแผนการดำเนินงาน ปี 2564 มีการผลักดันร่างระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่ถูกทารุณกรรมจากการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ การปรับปรุงร่างบทบัญญัติแทรกประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยฐานความผิดจากการใช้สื่อออนไลน์จากความเห็นในเวทีประชาพิจารณ์ การเสนอร่างแผนปฏิบัติการด้านการสร้างความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อเด็กระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) ที่แก้ไขตามข้อเสนอแนะของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบ

13. เรื่อง โครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง อำเภอแม่ออน ตามพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง อำเภอแม่ออน ตามพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ สรุปได้ ดังนี้
 		1. โครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง ตามพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ราษฎรได้มีที่ทำกินในรูปหมู่บ้านสหกรณ์ และกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของสหกรณ์หมู่บ้าน กระทรวงมหาดไทย (มท.) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอโครงการฯ เพื่อสนองแนวพระราชดำริ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (9 กันยายน 2518) เห็นชอบด้วย และให้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการฯ ต่อมาในปี 2545 ได้มีการโอนภารกิจโครงการฯ มาอยู่ในความรับผิดชอบของ พม. และคณะรัฐมนตรีมีมติ (8 มกราคม 2556) รับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการฯ โดยมีพลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ เป็นประธานกรรมการฯ และมอบหมายให้ พม. ร่วมกับ มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์ เนื้อที่ประมาณ 75 ไร่ ซึ่งถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์แล้ว เพื่อให้เป็นไปตามสภาพการใช้ประโยชน์จริง และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการฯ [คณะรัฐมนตรีมีมติ (19 มกราคม 2564) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่ตำบลบ้านสหกรณ์ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ?. ] ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (16 กุมภาพันธ์ 2559) รับทราบการเปลี่ยนชื่อเป็น ?โครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง อำเภอแม่ออน                      ตามพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่? เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งเขตการปกครองของ มท. และใช้ชื่อกิจการของน้ำพุร้อนอำเภอสันกำแพงว่า ?กิจการน้ำพุร้อนสันกำแพง อำเภอแม่ออน ตามพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่?
 		2. พม. รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพงฯ เมื่อวันที่                     21 เมษายน 2563 ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการฯ เนื่องจากพลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ ประธานกรรมการฯ ได้ถึงแก่อสัญกรรม คณะกรรมการฯ ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท และขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพงฯ และได้รับแจ้งจากสำนักงานองคมนตรีว่าได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ดังนี้
 			2.1 ให้ปรับปรุงคณะกรรมการโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพงฯ ดังนี้
  			     (1) พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี
 			 	เป็นประธานกรรมการ
				แทน พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรม
 			     (2) พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี
 				เป็นรองประธานกรรมการ
 				แทน พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข ซึ่งเลื่อนเป็นประธานกรรมการ
 			     (3) ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
 				เป็นรองประธานกรรมการ (เพิ่มเติม)
 			     (4) เลขาธิการองคมนตรี
 				เป็นกรรมการ (แทนตำแหน่งราชเลขาธิการ)
 			     (5) อธิบดีกรมการท่องเที่ยว
				เป็นกรรมการ (เพิ่มเติม)
 			     (6) รองประธานและกรรมการอื่น ๆ คงเดิม จำนวนรวม 30 คน
 			     ตามคำสั่งประธานองคมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง อำเภอแม่ออน ตามพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 5 ธันวาคม 2563
 			2.2 ให้ปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพงฯ โดยคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันของสมาชิก ภายใต้พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
			2.3 ให้ปรับปรุงระบบการพัฒนากิจการน้ำพุร้อนสันกำแพง อำเภอแม่ออน ตามพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นสถานที่อนุรักษ์ คงสภาพเป็นธรรมชาติ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ เพื่อจัดเก็บรายได้มาบริหารโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพงฯ ต่อไป

14. เรื่อง รายงานรายรับจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2550 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559
		คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ รายงานรายรับจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2550 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (27 กันยายน 2559) ที่ให้ กค. จัดทำรายงานรายรับจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐที่ได้ดำเนินการในแต่ละปีเสนอคณะรัฐมนตรีทราบตามความเห็นของสำนักงบประมาณ] สรุปได้ ดังนี้

มติคณะรัฐมนตรี	การดำเนินการ
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2550 อนุมัติในหลักการให้ กค. จำหน่ายหุ้นบริษัท หินอ่อน จำกัด โดยให้ กค. และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ร่วมกันขายหุ้นที่แต่ละฝ่ายถืออยู่ รวมทั้งให้ กค. เป็นผู้กำหนดมูลค่าหุ้นและวิธีการที่เหมาะสมในการจำหน่าย และกำหนดราคา ระยะเวลาในการจำหน่ายและหาผู้ซื้อหุ้นร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต่อไป และนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นเข้าบัญชีเงินฝากเพื่อการซื้อหุ้น ทั้งนี้ เพื่อนำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในกิจการต่าง ๆ ที่อยู่ในแผนของ กค. ต่อไปตามระเบียบ กค. ว่าด้วยการจำหน่ายหุ้นและซื้อหุ้นของส่วนราชการ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ระเบียบ กค.ฯ)	กค. และบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ได้ร่วมกันขายหุ้นที่แต่ละฝ่ายถืออยู่ด้วยวิธีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปโดย กค. ได้รับเงินจำนวน 302,500,000 บาท และได้นำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากเพื่อการซื้อหุ้นตามระเบียบ             กค.ฯ แล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 เห็นชอบให้ปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 โดยอนุมัติในหลักการให้จำหน่ายหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และจดทะเบียนใน ตลท. และ กค. ถือต่ำกว่าร้อยละ 50 ที่มีลักษณะดังนี้ (1) หลักทรัพย์ที่ได้จากการยึดทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่ได้มาโดยนิติเหตุ (2) หลักทรัพย์
ที่ได้รับโอนมาจากส่วนราชการอื่นเนื่องจากหมดความจำเป็นตามนโยบายของภาครัฐ และ  (3) หลักทรัพย์ที่ภาครัฐไม่มีความจำเป็นในการถือครอง และมอบอำนาจให้ กค. เป็นผู้พิจารณาวิธีการจำหน่าย ราคาที่จะจำหน่าย สัดส่วนการถือครอง และดำเนินการ
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหลักทรัพย์ในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ และนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากเพื่อการซื้อหุ้นตามระเบียบ กค.ฯ รวมทั้งจัดทำรายงานรายรับจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐที่ได้ดำเนินการในแต่ละปีเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ 	กค. ได้จำหน่ายหลักทรัพย์ด้วยวิธีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไป จำนวน 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ หุ้นสามัญบริษัทบางกอกเดินเรือและการค้า จำกัดและหุ้นสามัญบริษัท สยามซิตี้ประกันภัยจำกัด (มหาชน) โดย กค. ได้รับเงิน
จำนวน 1,075,000 บาท และได้นำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากเพื่อการซื้อหุ้นตามระเบียบ กค.ฯ แล้วเมื่อวันที่           4 ตุลาคม 2562 และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562


15. เรื่อง  รายงานประจำปี 2563 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
		คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ  รายงานประจำปี 2563 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สรุปได้ ดังนี้
		ผลการดำเนินงานของ สสวท. ปี 2563 ใน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
			1. การพัฒนาหลักสูตร สื่อ  และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นปฏิบัติการและการสร้างความเข้าใจในระดับที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา กระตุ้นให้เกิดและใช้ความคิดสร้างสรรค์และสามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งสามารถนำไปศึกษาต่อเป็นนักนวัตกรตามแนวทาง KOSEN ได้การจัดทำบทเรียนออนไลน์รองรับผลกระทบจากการเลื่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การวิจัย วัดผลและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประเทศและระดับนานาชาติ และการวิจัยติดตามการใช้หลักสูตร สื่อการเรียนรู้ และพัฒนาเกณฑ์การจัดทำสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นต้น
			2. การขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์
คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ผ่านเครือข่าย สสวท. ให้มีคุณภาพทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ เช่น การพัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่ายเพื่อขยายการให้บริการหลักสูตรสื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ของ สสวท. การพัฒนาครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี และบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนโครงการพระราชดำริ การขับเคลื่อนสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี   การส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) และการยกระดับคุณภาพโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี   (โรงเรียนคุณภาพ SMT ตามมาตรฐาน สสวท.) เป็นต้น
			3. การขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี   ให้เน้นความเข้าใจ ลงมือปฏิบัติการ และสามารถนำไปใช้จริงทั้งในและนอกระบบ ตามแนวทาง สสวท. ได้พัฒนากลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสำหรับสถานศึกษาทั้งในและนอกระบบให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค และได้วิจัยและพัฒนาระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ โครงการ Project 14 เพื่อพัฒนาระบบจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ (Learning Management System) เช่น Project 14 เรียนได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านเว็บไซต์และโทรศัพท์มือถือ Project 14 Plus ครูจัดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Project14+ by IPST และ Project 14 DLTV เรียนรู้ทางไกลผ่านโทรทัศน์ทาง DLTV รวมทั้งพัฒนาศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลระดับชาติ เป็นต้น
			4. การเร่งรัด พัฒนา และส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เช่น การผลิตและพัฒนาครูคุณภาพ  การผลิตและพัฒนานักวิจัยคุณภาพชั้นนำของประเทศ            การคัดเลือกและจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ และการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยสอบคัดเลือกนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 3 และ 6 เข้าโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ประจำปีการศึกษา 2562
			5. การส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มการยอมรับ สสวท. ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของเยาวชนให้ทันสมัย  เช่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะผ่านหลักสูตรและกิจกรรมต่าง ๆ และเสริมสร้างความผูกพันภายในองค์กร การพัฒนาการบริหารจัดการ สสวท. ทุกมิติการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อขยายขีดความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรและการบริการในรูปแบบดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล 21 ระบบ การพัฒนาและขยายการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก และสร้างความตระหนักรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อสมัยใหม่ เช่น Facebook การจัดเทศกาลภาพยนตร์ วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 15 และจัดทำนิตยสาร สสวท. ทั้งฉบับสิ่งพิมพ์และฉบับออนไลน์เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ http://emagazine. ipst.ac.th

16. เรื่อง รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563
		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
		สาระสำคัญของเรื่อง
		ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 และรายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 - 2561 ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 มีมติเห็นชอบร่างรายงานดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับแล้ว และมอบหมายให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
		1. รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 ได้นำร่างรายงานฯ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ สาระสำคัญของรายงานฯ มีการนำเสนอภาพรวมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สถานการณ์และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ระดับภูมิภาค และภายในประเทศ รวมทั้งข้อมูลที่สำคัญอื่น ดังนี้
			1.1 สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขา จำนวน 11 สาขา ในช่วง พ.ศ. 2562 - เดือนมิถุนายน 2563 สรุปได้ ดังนี้
รายการ	รายละเอียด
สาขาที่มี
การเปลี่ยนแปลง
ไปในทิศทางที่ดีขึ้น	(1) ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน พื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น (2) ทรัพยากรแร่การผลิตและการใช้แร่ลดลง (3) พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น (4) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้น (5) ความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์เพิ่มขึ้น (6) สิ่งแวดล้อมชุมชน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพิ่มขึ้น และ (7) สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สถานภาพแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี
สาขาที่มี
การเปลี่ยนแปลง
ในทิศทาง
ที่ควรเฝ้าติดตาม	(1) ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า พื้นที่ป่าไม้คงที่ แต่พื้นที่ไฟไหม้ ความรุนแรงของไฟไหม้
รวมทั้งจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนสัตว์ป่าหลายชนิดอยู่ในสถานการณ์ที่ควรเฝ้าติดตาม (2) ทรัพยากรน้ำ ปริมาณฝนลดลง ทำให้ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำใช้การได้ลดลง รวมทั้งน้ำบาดาลมีระดับลดลงด้วย (3) สถานการณ์มลพิษ คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่เมืองใหญ่ หมอกควันจากไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งปริมาณขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายจากชุมชนเพิ่มขึ้น และ (4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นและปริมาณฝนเฉลี่ยลดลง
		1.2 ประเด็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ พ.ศ. 2563 มีจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่
ประเด็น	รายละเอียด
1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ	ลุ่มน้ำยมมีปัญหาน้ำล้นตลิ่งและเอ่อท่วมพื้นที่ตลอด 2 ข้างลำน้ำ ที่ผ่านมาได้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและอาคารควบคุมน้ำประเภทต่าง ๆ อาทิ ประตูระบายน้ำ ฝาย แก้มลิง และสถานีสูบน้ำจำนวนมาก แต่ก็สามารถเก็บน้ำได้เพียงส่วนน้อยของปริมาณน้ำทั้งหมด ทำให้ปัญหาน้ำแล้งและอุทกภัยยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำ ดังนั้น หน่วยงานที่มีภารกิจด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศหลายหน่วยงานได้บูรณาการข้อมูล และการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันในทุกระดับ มีแผนการศึกษาเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง ประตูระบายน้ำ การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน ซึ่งบางโครงการก่อสร้างแล้วและบางโครงการอยู่ระหว่างการศึกษา ทำให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม และการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2) ฝุ่นละออง
ขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)
ในพื้นที่ กทม.
และปริมณฑล	ในปี 2562 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานและค่าเฉลี่ยรายปีลดน้อยลงจากปี 2561 และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ยรายปี ตั้งแต่ปี 2554 - 2562 พบว่า มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานและค่าเฉลี่ยรายปีลดน้อยลง โดยปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 สูงขึ้น ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน มีแหล่งกำเนิดมลพิษสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ การจราจร โดยเฉพาะยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล การเผาในที่โล่งเพื่อกำจัดเศษวัสดุการเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ โดยมีการกำหนดเป็นมาตรการระยะเร่งด่วน/ช่วงวิกฤต ระยะสั้น (พ.ศ. 2562 - 2564) และระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567) การลดมลพิษ ณ แหล่งกำเนิด โดยการตรวจสภาพและบำรุงรักษารถยนต์ รณรงค์ลดการใช้รถส่วนตัว และสนับสนุนการใช้รถสาธารณะ การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้กับประชาชนและสถานศึกษา เผยแพร่ข้อมูลคุณภาพอากาศ และแจ้งเตือนผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศแก่ประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ
3) ไฟไหม้ป่า	ในปี 2563 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563) พบว่า พื้นที่ถูกไฟไหม้เกือบทุกภาคเพิ่มขึ้นจากปี 2562 สอดคล้องกับจำนวนจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติทั้งประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือและในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2563 พบจุดความร้อนสะสมเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปี 2562 และพบจุดความร้อนสะสมหนาแน่นมากกว่า 5 จุดต่อตารางกิโลเมตร ในหลายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ และจากสถิติปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ย้อนหลัง 8 ปี                    (พ.ศ. 2555 - 2562) ที่สถานีตรวจวัดศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงค่าฝุ่นละออง PM2.5 คล้ายคลึงกันโดยมีค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปีและมีค่าสูงสุดในเดือนมีนาคม ไฟไหม้ป่าส่งผลให้มีปริมาณฝุ่นละออง PM10 และปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายด้าน รวมถึงผลกระทบทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ป้องกันไฟไหม้ป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการจุดไฟบริเวณแนวเขตป่า ส่งเสริมความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ปลอดการเผา ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศจัดทำแผนที่จำแนกพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ลาดตระเวนตรวจปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และการตรวจติดตามข้อมูลจุดความร้อนสำหรับการจัดการเชื้อเพลิง เช่น จัดทำแนวกันไฟ การชิงเผา เปิดโอกาสให้มีการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่า เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ/อุปกรณ์สำหรับปฏิบัติงานดับไฟป่า และใช้ระบบบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ในช่วงวิกฤต
4) ระบบสาธารณสุขชุมชนภายใต้สภาวะวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ               โควิด 19 	ในพื้นที่ กทม. มีตัวเลขสะสมของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มากกว่าพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การคมนาคม การท่องเที่ยว และมีประชากรอาศัยหนาแน่น จึงทำให้ กทม. สั่งปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และมีมาตรการ              อื่น ๆ เช่น ส่งเสริมการเว้นระยะห่าง เกิดการใช้ชีวิตวิถีใหม่จากมาตรการดังกล่าวทำให้ กทม. มีคุณภาพอากาศดีขึ้น และมีปริมาณขยะมูลฝอยลดลง โดยในปี 2563 ขยะมูลฝอยทั่วไปมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 แต่สัดส่วนของขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จากการสั่งสินค้าออนไลน์ หรือการสั่งอาหารรูปแบบเดลิเวอรี่มีปริมาณเพิ่มขึ้น และมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น กทม. จึงได้จัดเก็บและกำจัด โดย (1) มูลฝอยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จัดส่งศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อส่งให้ผู้ประกอบการเอกชนนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผาขยะติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม (2) ขยะมูลฝอยทั่วไปจากสถานที่ทำงานหรือบ้านที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำนักเขตพื้นที่นั้น ๆ จะฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฟอกขาวและขนส่งไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผาขยะติดเชื้อชุมชนที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย และ (3) มูลฝอยติดเชื้อจากศูนย์กักกันโรงแรมสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผู้ประกอบการเอกชนจัดรถเฉพาะขนส่งมูลฝอยติดเชื้อไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผาขยะติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม
			1.3 การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้มีการ             สรุปสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในภาพรวม คาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตพร้อมนำเสนอประเด็นที่ควรเร่งแก้ไขปัญหาและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จำนวน 4 เรื่อง รวมทั้งได้เสนอข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายทั้งในระยะสั้น (1 - 2 ปี) และระยะยาว (3 - 10 ปี) ดังนี้
				1.3.1 การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต จากข้อมูลสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขาและประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ พ.ศ. 2563 มีประเด็นที่สำคัญที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้นและควรเร่งแก้ไขปัญหา จำนวน 4 เรื่อง สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น	รายละเอียด
1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ	ปัญหา การขาดแคลนน้ำเพื่อนำมาใช้ในภาคการเกษตร การรักษาระบบนิเวศ การบริโภคของชุมชนและภาคอุตสาหกรรมในช่วงฤดูแล้ง และการเกิดปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน
แนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น การเปิดโอกาสให้ชุมชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายได้เข้ามามีส่วนร่วมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการกำหนดกลยุทธ์ การจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรของน้ำ
พื้นที่ดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำเจ้าพระยา
2) ฝุ่นละออง PM2.5	ปัญหา ฝุ่นละออง PM2.5 มีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยมีแหล่งกำเนิดสำคัญจากการคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และหมอกควันข้ามแดน
แนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น การรณรงค์ให้ความรู้เพื่อลดการเผาในที่โล่ง การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดการใช้ยานยนต์ส่วนบุคคล การลดการปล่อยมลพิษทางอากาศของโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการมีระบบเตือนภัยให้มีการป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละออง PM2.5
พื้นที่ดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ กทม. และปริมณฑล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี
3) ไฟไหม้ป่า	ปัญหา ไฟไหม้ในพื้นที่ป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือ สาเหตุของไฟไหม้ป่าส่วนใหญ่มักเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของพื้นที่ รวมถึงทำให้มีปริมาณฝุ่นละออง PM10 และฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนด้วย
แนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น การให้ความรู้และรณรงค์ขอความร่วมมืองดเว้นการจุดไฟบริเวณแนวเขตป่า ส่งเสริมความรู้การทำเกษตรปลอดการเผา ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศจัดทำแผนที่จำแนกพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ตรวจติดตามข้อมูลจุดความร้อน นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับบินสำรวจและสนับสนุนการปฏิบัติงาน
พื้นที่ดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงราย ตาก น่าน แพร่ พะเยา และลำพูน พื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ป่าพรุบาเจาะและป่าพรุโต๊ะแดงในจังหวัดนราธิวาส
4) การจัดการระบบสาธารณสุขชุมชน
ภายใต้สภาวะวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19
	ปัญหา จากการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ได้แก่ การมีพลาสติกเป็นองค์ประกอบของขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นจากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และสั่งซื้ออาหารแบบเดลิเวอรี่ รวมถึงมีมูลฝอยติดเชื้อจากผู้ที่ต้องสังเกตอาการและผู้ที่ติดเชื้อปะปนในขยะมูลฝอยชุมชน
แนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น การปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด และกรณีการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ หรือสั่งซื้ออาหารแบบเดลิเวอรี่ ควรมีการคำนึงถึงการลดปริมาณขยะมูลฝอย และคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทาง และพิจารณาคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อใส่ถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นและระบุข้อความว่า ?ถุงขยะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว? ไว้ที่ถุงให้ชัดเจน และส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
พื้นที่ดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ พื้นที่เขตเมืองในทุกจังหวัด ชุมชนแออัด พื้นที่สาธารณะที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก
			1.3.2 ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย มีทั้งมาตรการในระยะสั้น (1 ? 2 ปี) และระยะยาว               (3 ? 10 ปี) ดังนี้
				1) มาตรการระยะสั้น (1 ? 2 ปี)

มาตรการ	ตัวอย่างหน่วยงานรับผิดชอบ
(1) พัฒนาการใช้ระบบฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อม โดยการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายระบบฐานข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจเชิงนโยบาย โดยมีเครือข่ายศูนย์ข้อมูลที่ทำหน้าที่ในการติดตาม กำกับ สังเคราะห์ และใช้ประโยชน์ในระดับพื้นที่ หรือภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มศักยภาพให้แก่ อปท. และชุมชนที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการรักษาสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น	- สผ.
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
(2) คุ้มครองพื้นที่ที่มีความสำคัญหรือมีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ พื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ชายฝั่งทะเล เกาะ แหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ หรือหายาก ย่านชุมชนเก่า แหล่งศิลปกรรมและแหล่งโบราณสถาน ควรมีมาตรการที่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที เพื่อปกป้อง คุ้มครอง และรักษาพื้นที่ที่สำคัญและได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน	- สผ.
- กรมศิลปากร
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

(3) สร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาใช้ในการผลิตและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดมลพิษในหลายด้าน ประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นและปล่อยมลพิษจากการบริโภคมากขึ้น ดังนั้น จึงควรให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกและความตระหนักให้แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และชุมชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางที่หลากหลาย	- สผ.
- กรมควบคุมมลพิษ
- กรมประชาสัมพันธ์

			2) มาตรการระยะยาว (3 ? 10 ปี)

มาตรการ	ตัวอย่างหน่วยงานรับผิดชอบ
(1) ส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจจากการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการ ซึ่งผู้ผลิตสินค้าและบริการได้นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นต้นทุนการผลิต ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบริโภคสินค้าและบริการที่เกินความจำเป็นทำให้เพิ่มการเกิดของเสีย และเป็นภาระในการบำบัดภายหลัง ดังนั้น จึงควรส่งเสริมความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม	- สผ.
- กรมควบคุมมลพิษ
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- กรมโรงงานอุตสาหกรรม
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- หอการค้าไทย
(2) ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ที่มีสภาพเสื่อมโทรมจากการถูกทำลาย โดยการตัดไม้ เผาป่า การบุกรุกเพื่อทำการเกษตร ที่อยู่อาศัย และรีสอร์ท นอกจากนี้ มีทรัพยากรอื่นที่ถูกทำลาย อาทิ พื้นที่ชายฝั่งที่เผชิญปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่ชุ่มน้ำตื้นเขินและเสื่อมโทรม แนวปะการังและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม รวมถึงแหล่งธรรมชาติ และแหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ ที่ควรได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อไม่ให้ฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ถูกทำลายไปมากกว่านี้	- สผ.
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- กรมป่าไม้
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- กรมควบคุมมลพิษ
- กรมศิลปากร
(3) ผลักดันการวิจัยและนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมสู่การปฏิบัติ ควรส่งเสริมการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเผยแพร่ให้มีการนำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถรองรับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ	- สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
- สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
- สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

		2. รายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 - 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 โดย ทส. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รายงานผลการดำเนินงานดังกล่าว มีข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้
			2.1 ผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 - 2561 จากทั้งหมด 119 ข้อเสนอแนะ 11 สาขา หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้ครบถ้วน จำนวน 111 ข้อเสนอแนะ (ร้อยละ 93 ของข้อเสนอแนะทั้งหมด) และยังดำเนินการได้ไม่ครบถ้วน 8 ข้อเสนอแนะ สรุปได้ ดังนี้
กลุ่มผลการดำเนินการ	รายละเอียดสาขา
ข้อเสนอแนะฯ
ที่ดำเนินการได้
ร้อยละ 100
ของข้อเสนอแนะทั้งหมด	มี 8 สาขา ได้แก่ (1) ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน (2) พลังงาน (3) ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า (4) ทรัพยากรน้ำ (5) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (6) ความหลากหลายทางชีวภาพ (7) สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม และ (8) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ (รวมทั้งสิ้น 62 ข้อเสนอแนะ)
ข้อเสนอแนะฯ
ที่ดำเนินการได้
ร้อยละ 70 ? 90
 ของข้อเสนอแนะทั้งหมด	มี 3 สาขาได้แก่ (1) ทรัพยากรแร่ (2) สถานการณ์มลพิษ และ (3) สิ่งแวดล้อมชุมชน (รวมทั้งสิ้น 57 ข้อเสนอแนะ มีข้อเสนอแนะที่ดำเนินการได้ร้อยละ 70 ? 90 จำนวน 8 ข้อเสนอแนะ โดยสาเหตุที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น เป็นโครงการขนาดใหญ่ข้ามเขตจังหวัด เป็นโครงการที่ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน เป็นการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมที่ต้องใช้งบประมาณสูง เป็นต้น
			2.2 ปัญหาและอุปสรรคในภาพรวมจากการติดตามการดำเนินงานโครงการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฯ และแนวทางแก้ไขปัญหา มีดังนี้
ปัญหาและอุปสรรค	แนวทางแก้ไขปัญหา
1) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบางเรื่องยังขาดนโยบายการดำเนินงาน ทำให้ไม่มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน
	จัดทำหรือกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเด็น หรือสาขาให้มีความชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน ลดการดำเนินงานซ้ำซ้อนกัน
2) เจ้าหน้าที่ อปท. ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการตามข้อกำหนดของผังเมือง ส่งผลให้การพัฒนาพื้นที่ไม่สอดคล้องกับผังเมือง	พัฒนาบุคลากรใน อปท. ให้มีองค์ความรู้ด้านผังเมืองโดยเฉพาะการอนุญาตพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปตามสีของผังเมือง รวมถึงการวางระบบระบายน้ำ
3) ประชาชนยังขาดความรู้และความเข้าใจด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงขาดความรู้
ความเข้าใจค่ามาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมทำให้ไม่มีการป้องกันร่างกายที่ถูกต้อง	สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความตระหนักและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงมีความเข้าใจเกณฑ์มาตรฐานมลพิษเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและเฝ้าระวังมลพิษที่เกิดขึ้น
4) การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เคร่งครัด	บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำประมงผิดกฎหมาย การบุกรุกพื้นที่ป่า
5) อปท. ยังไม่มีการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยและน้ำเสียชุมชนได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากขาดงบประมาณการก่อสร้างและดำเนินการ ตลอดจนขาดบุคลากรที่จะมาบริหารจัดการระบบดังกล่าว	เพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการขยะมูลฝอยของ อปท. โดยให้มีระบบกำจัดขยะมูลฝอยและระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับศักยภาพของ อปท.
6) การประยุกต์ผลการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการทรัพยากรแร่ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการจัดการมลพิษมีน้อย	ส่งเสริมการทำวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับสถาบันการศึกษา และสนับสนุนการนำผลการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้
7) ระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังไม่มีการพัฒนาให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสม ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้สนับสนุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ	พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำข้อมูลไปวิเคราะห์และตัดสินใจเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
8) เครือข่ายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ไม่ได้รับการเสริมสร้างศักยภาพในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ	สนับสนุนเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติงานของเครือข่าย เช่น การติดตั้งระบบเตือนภัย

17. เรื่อง รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
		คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
		เรื่องเดิม
		1. กสม. ได้ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยไปสู่สังคมสูงอายุ ตั้งแต่ประมาณปี 2548 มีจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หรือมีจำนวนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดในปี 2564 และคาดว่าในปี 2574 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลต่อสภาพสังคม สภาวะเศรษฐกิจ การจ้างงาน การจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณเพื่อการสาธารณสุข การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่ง กสม. ได้ติดตามสถานการณ์และรวบรวมข้อมูลกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุในทุกมิติ รวมถึงปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของรัฐในการรองรับสังคมสูงอายุ จึงเห็นว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่ต้องได้รับการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี
		2. กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ประเทศไทยมีจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว             มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ และจากการที่ กสม. ได้ติดตามสถานการณ์และรวบรวมข้อมูลกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุพบว่า การเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ของผู้สูงอายุยังมีอุปสรรคหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณ บุคลากร กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น กสม. จึงศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์การเข้าถึงสิทธิของผู้สูงอายุในทุกมิติ รวมถึงปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของรัฐในการรองรับสังคมสูงอายุ และได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี
		3. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งมอบหมายให้ พม. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงาน ก.พ. (ก.พ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ พม. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
		สาระสำคัญของเรื่อง
		พม. รายงานว่า ได้พิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กค. คค. มท. ยธ. รง. ศธ. สธ. สคก. สปสช. และ สำนักงาน ก.พ. ด้วยแล้ว สรุปผลการพิจารณาในภาพรวมได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม.	สรุปผลการพิจารณา
1. ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ
    1.1 ควรพิจารณาการกำหนดนโยบายและสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยผู้สูงอายุของสหประชาชาติ โดยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรมีรูปแบบภารกิจที่ชัดเจน และดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในด้านทรัพยากรมนุษย์ตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 - 2580 และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมเพื่อจะได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติให้บรรลุผลได้ อันเป็นการรองรับประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างเต็มรูปแบบ	- พม. ได้ผลักดันมาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติ (เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 เพื่อนำไปสู่การจัดทำกฎหมายรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน โดยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมสูงวัยของประเทศไทยและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)
- ควรจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในประเด็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ
- รง. ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขอความร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำ พ.ศ. 2562 การจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมาย การส่งเสริมสวัสดิการแก่แรงงานกลุ่มพิเศษ(ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส) โดยการส่งเสริมแนะนำการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีลูกจ้างเป็นคนพิการและผู้สูงวัยแล้ว
    1.2 ควรสนับสนุนกลไกระดับท้องถิ่นให้เป็นหน่วยงานดำเนินงานในเชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริม คุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและแผนผู้สูงอายุแห่งชาติที่กำกับคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแผนการกระจายอำนาจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2542 เพื่อจะได้ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุในเชิงพื้นที่	- การทบทวนแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ครอบคลุมทั้งอำนาจหน้าที่ ภารกิจ และงบประมาณ โดยพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน รวมทั้งต้องพิจารณาความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินภารกิจต่าง ๆซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ?. โดยได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
- การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ต้องคำนึงถึงหลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น               พ.ศ. ?. ประกอบการแก้ไขกฎหมายด้วย
- พม. ได้สนับสนุนกลไกระดับท้องถิ่น โดยถ่ายโอนภารกิจเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้              แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว

    1.3 ควรพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานคุ้มครอง ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับผู้สูงอายุ และการรณรงค์ส่งเสริมให้สังคมไทยสร้างจิตสำนึกในคุณธรรมและหน้าที่ของครอบครัว และสร้างความตระหนักในการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุภายใต้สถาบันครอบครัวและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดจิตอาสาในการให้บริการช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่บุคลากรของรัฐ และประชาชนทั่วไป
	- ควรจัดหามาตรการจูงใจให้มีการดูแลผู้สูงอายุ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ในเชิงภาษี เพื่อจูงใจแรงงานที่มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของผู้ดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรม เพื่อการดูแลผู้สูงอายุต่าง ๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์ และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุฉบับต่าง ๆ ให้สามารถจ่ายค่าตอบแทนที่จำเป็นให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุที่พึ่งพาตนเองไม่ได้พิจารณาศึกษาการปรับอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ เช่น ปัญหาสุขภาพและโรคประจำตัว และพื้นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นที่ผู้สูงอายุต้องแบกรับอย่างแท้จริง
- รง. มีกฎหมายภายใต้ความรับผิดชอบในการให้ความคุ้มครองลูกจ้างทั้งที่เป็นเด็ก ผู้หญิงมีครรภ์ และผู้สูงอายุให้ได้รับการคุ้มครอง สิทธิประโยชน์ ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว
- สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีภารกิจในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มเติม จะต้องคำนึงถึงหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายจัดตั้งแต่ละฉบับและตามกฎหมายเฉพาะในแต่ละเรื่อง รวมทั้งแผนการกระจายอำนาจที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และใช้บังคับต่อไปในอนาคตด้วย
    1.4 สิทธิในที่อยู่อาศัย ควรสนับสนุนการดำเนินงานที่สอดคล้องตามแนวคิด ?การตรึงผู้สูงอายุให้อยู่กับชุมชน? เพื่อให้ผู้สูงอายุยังคงใช้ชีวิตในชุมชนและสังคมได้โดยอิสระ	- พม. ได้ส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในที่พักอาศัยและสถานที่สาธารณะ โดยดำเนินการภายใต้ระเบียบกรมกิจการผู้สูงอายุ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุและการเสริมสร้างชุมชนที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุ พ.ศ. 2562 แล้ว
- การจัดสรรงบประมาณต้องให้เพียงพอต่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมบ้านให้เหมาะสมปลอดภัยกับผู้สูงอายุ และสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ มีความจำเป็นต้องให้อำนาจโดยการถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสถานที่สาธารณะให้เหมาะสมและปลอดภัยกับผู้สูงอายุ

    1.5 สิทธิด้านสุขภาพ ควรสนับสนุนการดำเนินงานคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพของผู้สูงอายุทั้งในระยะสั้น และระยะยาวให้เหมาะสมตามระดับความสามารถในการช่วยเหลือตนเองทั้งในสถานการณ์ปกติ และในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคติดต่ออันตราย	- สธ. ควรผลักดันกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่สนับสนุนให้เกิดระบบ Long - term care infrastructure ในระดับท้องถิ่น โดยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการ ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคติดต่อ ซึ่งการจัดบริการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ (Day care) เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงต้องมีหน่วยงานที่มีภารกิจหลักกำหนดแนวทาง เพื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ
- ควรมีมาตรการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุด้านสุขภาพโดยจัดอบรมระยะสั้น และระยะยาว โดยมีแผนความร่วมมือและสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาผลิตบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทาง
- สธ. ได้จัดทำมาตรการประเมินเพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันการติดโรคติดต่ออันตรายให้กับสถานที่บริการดูแล สถานที่พำนักอาศัย หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่จัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุผ่านระบบ Program Thai Stop COVID และจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรสาธารณสุข แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานดูแลผู้สูงอายุภาครัฐและภาคเอกชน คำแนะนำสำหรับญาติ หรือผู้มาติดต่อ รวมทั้งจัดทำแนวทางปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด ? 19 สำหรับประเภทกิจการและกิจกรรม กลุ่มที่ 2 แล้ว
- พม. ได้จัดทำคู่มือแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 และคู่มือมาตรการป้องกันโรคโควิด ? 19 ของสถานดูแลผู้สูงอายุแล้ว
- พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้สูงอายุในเชิงหลักการอยู่แล้ว และได้ดำเนินการด้านการเงิน เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพ หรือเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมในภาพใหญ่และบางเรื่องได้ดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศให้ประชาชนทราบ เช่น การดูแลในระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง
    1.6 สิทธิในหลักประกันรายได้ ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงสิทธิในหลักประกันรายได้ด้วยการสนับสนุนการออมตามระดับความสามารถ เพื่อให้มีเงินออมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังพ้นการทำงานและสร้างความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนการออมภาคบังคับ
	ควรส่งเสริม สนับสนุน ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบการ สภาเด็กและเยาวชน สมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้มีองค์ความรู้ในการออมเงินรองรับวัยเกษียณ โดยจัดหามาตรการส่งเสริมการออม ส่งเสริมการออมภาคบังคับ เพื่อให้ทุกคนมีความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณ สามารถดำรงชีพได้ และช่วยเหลือส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุให้รองรับกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป
    1.7 สิทธิในการทำงาน ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงสิทธิในการทำงานและมีสภาพการทำงานที่เหมาะสม เพื่อจะได้ทำงานได้ต่อเนื่องตราบเท่าที่ยังต้องการและสามารถสร้างผลิตผลในการทำงานได้
	- ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 บัญญัติให้ผู้สูงอายุได้รับความคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุน และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขอความร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำแล้ว
- ควรมีมาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการออกกฎกระทรวงเพื่อดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับการจ้างงานคนพิการ
    1.8 สิทธิในการศึกษาตลอดชีวิต ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีโอกาสได้เข้าถึงสิทธิในการศึกษาตลอดชีวิตตามระดับความสามารถ และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ	- ควรกำหนดนโยบาย มาตรการ เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ โดยปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้บูรณาการกับการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งการฝึกฝนทักษะด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นให้กับผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี รวมทั้งจัดทำหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ผ่านกลไกโรงเรียนผู้สูงอายุ
- ศธ. มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 ซึ่งครอบคลุมสิทธิในการศึกษาตลอดชีวิตของบุคคลทุกช่วงวัยแล้ว ตามมาตรา 6 ที่ยึดหลักความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั่วถึง เป็นธรรม มีคุณภาพเหมาะสมกับสภาพชีวิต สอดคล้องกับความสนใจและวิถีชีวิตของทุกกลุ่มเป้าหมาย
    1.9 สิทธิในการได้รับความคุ้มครองจากการถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำรุนแรง และถูกแสวงประโยชน์ ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครองจากการถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำรุนแรงและแสวงประโยชน์	- พม. ได้แก้ไขประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง การคุ้มครอง การส่งเสริมและสนับสนุนการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ประสบความเดือดร้อน โดยปรับวงเงินในการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกินวงเงินครั้งละ 3,000 บาท ไม่เกินสามครั้งต่อคนต่อปี เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อนด้านที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม ประสบปัญหาด้านครอบครัว ถูกทารุณกรรม ถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถูกทอดทิ้ง
- ควรมีผู้คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุเพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และการกำหนดบทลงโทษผู้ที่ทอดทิ้งบุพการี รวมทั้งควรศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติมเรื่องประเภทการลาของข้าราชการ เพื่อดูแลบุพการีผู้สูงอายุ
    1.10 สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในกรณีภัยพิบัติ ควรมอบหมายให้ มท. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดทำคู่มือการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์ภัยพิบัติให้ทั้งผู้สูงอายุและหน่วยงานภาครัฐตลอดจนภาคเอกชนที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดภัยพิบัติ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำฐานข้อมูลประชากรผู้สูงอายุในเชิงพื้นที่ที่เป็นปัจจุบัน และแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละพื้นที่ โดยอาจพิจารณาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานประสานหลักในเชิงพื้นที่ในการรับมือกับภัยพิบัติรวมถึงการให้ความช่วยเหลือ
	ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่น ซึ่งหากใช้แนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) จะมีส่วนช่วยให้ความเสี่ยงจากสาธารณภัยในกลุ่มผู้สูงอายุลดลง และมีแผนป้องกันภัยพิบัติสำหรับผู้สูงอายุ
2. ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง
    2.1 ควรพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ
หรือคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ	2.1 การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่เกิดความเสียหายต่อรัฐ หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดผลเป็นรูปธรรม โดย
- พม. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- รง. อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมในประเด็นการขยายอายุการเป็นผู้ประกันตน โดยได้ยกร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง
- กฎหมายของ ศธ. ครอบคลุมในการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ ศธ. แล้ว จึงไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
- กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. 2563 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 แล้ว ดังนั้น จึงต้องพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและการให้บริการของผู้ดำเนินการและผู้ให้บริการตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไป
- การแก้ไข ปรับปรุง ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเบิกค่าใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรองรับการดำเนินโครงการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระยะยาว มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ดังนั้น จึงต้องมีความชัดเจนว่า เป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถดำเนินการได้หรือไม่ จึงจะสามารถปรับปรุงระเบียบดังกล่าวได้
- การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เพื่อขยายอายุของผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จากเดิมที่กำหนดอายุไว้ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เป็นไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ และให้สมาชิกสิ้นสภาพเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กอช.
    2.2 ควรเร่งการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ รง. เสนอ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาเพื่อขยายอายุของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จากเดิมอายุไม่เกิน 60 ปี เป็นไม่เกิน 65 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการส่งเสริมโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ	พระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคล ซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563 แล้ว เพื่อขยายอายุของบุคคล ซึ่งอาจสมัครเป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จากเดิมอายุไม่เกิน 60 ปี เป็นไม่เกิน 65 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการส่งเสริมโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุแล้ว

18. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/2564
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,248.52 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/2564  จำนวน 2,854 รายการ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ โดยรายละเอียดของแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.)
		สาระสำคัญของเรื่อง
		สทนช. รายงานว่า
		1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินกาตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/2564 (มติคณะรัฐมนตรี 3 พฤศจิกายน 2563) สทนช. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าว โดยแจ้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณามอบหมายหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำแผนงานรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำเสนอคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดเพื่อพิจารณาความเหมาะสม พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน โดย สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ดำเนินการตรวจสอบแผนงาน/โครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่ามีแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/2564 และเพื่อเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในฤดูฝน ปี 2564 ให้มีความพร้อมและเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม                    มีหน่วยงานบางแห่งไม่ได้ดำเนินการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้ จึงมีความจำเป็นจะต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อไป
		2. สงป. ได้นำเรื่องกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการตามโครงการดังกล่าวรวม 2,914 รายการ ภายในกรอบวงเงิน 3,359.36 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
			2.1 ให้หน่วยรับงบประมาณ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กองบัญชาการกองทัพไทย จังหวัด 13 จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้เสนอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นโดยตรง สำหรับโครงการของจังหวัดที่ต้องระบุในแผนพัฒนาจังหวัดตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ขอให้ สทนช. ตรวจสอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา หากยังมิได้กำหนดอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดเห็นควรให้ไปดำเนินการบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัดให้ครบถ้วนก่อน ในส่วนของ อปท. ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตรวจสอบ หากพบว่าเป็นหน่วยรับงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้ขอรับการจัดสรรงบประมาณโดยตรง หากมิใช่ ให้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
			2.2 ให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และให้เร่งรัดดำเนินการก่อหนี้ผูกพันภายในเดือนกันยายน 2564 โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป
			2.3 ให้ สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการฯ เพื่อรายงานผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย
		3. สทนช. ได้ดำเนินการตามความเห็นของ สงป. ดังกล่าวแล้ว โดยดำเนินการร่วมกับ มท. ตรวจสอบแผนงานโครงการที่ดำเนินการโดยจังหวัด ปรากฏว่ามีหน่วยงานและจังหวัดขอยกเลิกแผนงานโครงการ จำนวน 60 รายการ งบประมาณ 110.84 ล้านบาท ทำให้คงเหลือแผนงานโครงการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/2564 และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูฝน ปี 2564 รวม 2,854 รายการ กรอบงบประมาณ 3,248.52 ล้านบาท จำนวน 5 กระทรวง 7 หน่วยงาน รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
หน่วยงาน	จำนวน
(รายการ)	ตัวอย่างรายการ/โครงการ	งบประมาณ
(ล้านบาท)
(1) กรมชลประทาน	44 รายการ	- การขุดลอกฝาย/ห้วย/อ่างเก็บน้ำ
- สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ
- เครื่องสูบน้ำ	1,202.42
(2) กรมทรัพยากรน้ำ	4 รายการ	- การปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ
- การก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์	48.36
(3) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล	2,195 รายการ	- การฟื้นฟูสภาพบ่อน้ำบาดาล
- โครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น	1,447.65
(4) จังหวัด	395 รายการ	- การขุดลอกคลอง/สระ/อ่างเก็บน้ำ
- การปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร
- การขุดเจาะบ่อบาดาล	227.92
(5) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น	212 รายการ	- การก่อสร้างคลองส่งน้ำ
- การขุดเจาะบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์
- การก่อสร้างระบบผลิตเพิ่มประสิทธิภาพน้ำประปา	176.59
(6) สทนช.	2 รายการ	- การจัดหาครุภัณฑ์ประกอบพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
- หน่วยอำนวยการติดตามคาดการณ์สถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ในภาวะเข้าใกล้วิกฤติ	115.01
(7) หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา	2 รายการ	- การขุดลอกแหล่งน้ำ
- การซ่อมทางผิวจราจรลาดยาง	30.57
รวม 2,854 รายการ	3,248.52
กรอบวงเงินที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ	3,359.36
กรอบวงเงินภายหลังจากการตรวจสอบของ มท. ต่ำกว่ากรอบวงเงินที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ	110.84


19. เรื่อง แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน (กรณีกระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ตามมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560)
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (รัฐธรรมนูญฯ) หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 56 วรรคสอง ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) เสนอ และให้กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจน ถูกต้อง ตรงกัน และรายงานคณะรัฐมนตรีด้วย
		สาระสำคัญของเรื่อง
		ผผ. รายงานว่า
		1. มีผู้ร้องเรียนต่อ ผผ. ขอให้ตรวจสอบกรณี พน. กำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าโดยให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐซึ่งเป็นสาธารณูปโภคลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 ขัดต่อมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ1 ซึ่งต่อมา ผผ. ได้มีคำวินิจฉัยเสนอแนะต่อ พน.2 ให้พิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์ พน. และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย [แผน PDP 2015 และฉบับปรับปรุง PDP 2018 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว] เพื่อกำหนดแนวทางให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ตามที่รัฐธรรมนูญฯ กำหนด ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัย และดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ภายในกำหนด 10 ปี นับจากปี 2562 ทั้งนี้ ผผ. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่า พน. ไม่อาจหาข้อยุติในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ ผผ. ได้
		ต่อมาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ผู้ร้องเรียนได้ทำหนังสือถึง พน. ให้แก้ไขความผิดพลาดจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 56 วรรคสอง ซึ่ง พน. ได้ชี้แจงว่า อยู่ระหว่างเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีและไม่สามารถดำเนินการตามคำขอของผู้ร้องเรียนได้ ซึ่งผู้ร้องเรียนได้มีหนังสือโต้แย้งความเห็นของ พน. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 และยื่นเรื่องร้องเรียนมายัง ผผ. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 โดยประสงค์จะใช้สิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 25613
		2. ผผ. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าการให้บริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นจนทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐน้อยกว่าร้อยละ 1 อันเป็นกระทำที่ฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 56 วรรคสอง ทำให้ผู้ร้องเรียนได้รับผลกระทบจากการใช้ไฟฟ้าในราคาที่แพงขึ้นและไม่เป็นธรรม โดยมีประเด็นและข้อพิจารณา ดังนี้
			2.1 กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของ พน. ในการกำหนดแนวนโยบายและแผน PDP ตามข้อร้องเรียนดังกล่าว เป็นการที่รัฐธรรมนูญฯ บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวด 5 หรือไม่
			ผผ. เห็นว่า การกำหนดนโยบายและแผนการผลิตไฟฟ้าของ พน. มีผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า รวมถึงโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการพลังงานไฟฟ้าเป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดหรือดำเนินการให้มีกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญฯ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 56
			2.2 กรณีผู้ร้องเรียนเป็นบุคคลหรือชุมชนซึ่งได้รับประโยชน์โดยตรงจากการทำหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญฯ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และได้รับความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐหรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนหรือล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 หรือไม่
			ผผ. เห็นว่า ผู้ร้องเรียนอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการใช้ไฟฟ้าในราคาที่แพงขึ้นและไม่เป็นธรรมเนื่องจากรัฐต้องรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนในราคาและปริมาณคงที่ตามเดิมที่กำหนดไว้ในสัญญาทั้งที่มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ทำให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าถูกลงเรื่อย ๆ โดยที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในแต่ละเดือนมีมากน้อยแตกต่างกันไป จึงส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าที่สูงเกินจริงและไม่เป็นธรรมกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ร้องเรียนและประชาชนได้รับผลกระทบจากการใช้ไฟฟ้าในราคาที่สูงเกินจริงจากต้นทุนและปริมาณการผลิต และอาจสูญเสียผลประโยชน์โดยต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการทำหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญฯ หมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ ได้รับความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ หรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนหรือล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 และเป็นการให้สิทธิผู้ร้องเรียนและประชาชนสามารถเร่งรัด ติดตาม ตลอดจนฟ้องร้องการปฏิบัติหน้าที่ของ พน. ในฐานะเป็นผู้วางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ กำหนดยุทธศาสตร์ พน. และนโยบายในการกำกับดูแลควบคุมกิจการไฟฟ้าอันเป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ เพื่อจัดให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างทั่วถึงและไม่เรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนจนเกินสมควรตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ได้
			2.3 กรณี พน. กำหนดยุทธศาสตร์ พน. (พ.ศ. 2559 - 2563) และแผน PDP 2018 โดยลดกำลังการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นการทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 และเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 56 วรรคสอง หรือไม่
			ผผ. เห็นว่า
			2.3.1 ปัจจุบันรัฐได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนกำลังการผลิตของรัฐซึ่งดำเนินการโดย กฟผ. มีเพียงร้อยละ 34.70 และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ และทำให้ภาคเอกชนเข้ามามีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของระบบการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์ พน. และแผน PDP นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า รัฐได้เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาประมูลเพื่อผลิตไฟฟ้าล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก ย่อมมีความเสี่ยงและกระทบต่อสัดส่วนการผลิตของรัฐในอนาคตที่จะน้อยลงกว่าเดิมอีกด้วย
			2.3.2 การพิจารณาว่ารัฐต้องเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ตามที่รัฐธรรมนูญฯ กำหนดไว้นั้น จะต้องพิจารณาแยกส่วนกัน ได้แก่ ระบบการผลิต ระบบการส่ง และระบบการจำหน่าย4 รัฐจะต้องเป็นเจ้าของแต่ละส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ไม่ใช่นำเอาทั้งสามส่วนมารวมกันให้เกินกว่าร้อยละ 51 หรือนำเอาสัดส่วนที่ถือหุ้นมารวมกันแล้วนำมาเฉลี่ยให้เกินกว่าร้อยละ 51 เพราะคำว่า ?รัฐเป็นเจ้าของ? นั้น รัฐจะต้องมีอำนาจเข้าไปควบคุมและบริหารจัดการด้วย ดังนั้น การที่รัฐเปิดให้บริษัทเอกชนหรือบริษัทมหาชนจำกัดผลิตไฟฟ้าแล้วรัฐซื้อไฟฟ้าจากบริษัทดังกล่าวมาจำหน่ายให้ประชาชนอีกทอดหนึ่ง จึงถือไม่ได้ว่ารัฐเป็นเจ้าของระบบการผลิตไฟฟ้า แต่ถือเป็นกรณีที่รัฐได้โอนกรรมสิทธิ์หรืออำนาจในการควบคุมระบบและกระบวนการผลิตไฟฟ้าอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่เอกชน และทำให้ภาครัฐไม่สามารถมีอำนาจอย่างสมบูรณ์ในการบริหารจัดการและควบคุมระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้ แม้ว่ารัฐจะเป็นเจ้าของระบบการส่งและระบบการจำหน่ายเกือบทั้งหมดก็ตาม แต่เมื่อรัฐมิได้เป็นเจ้าของระบบการผลิต ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและส่งผลต่อสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐให้มีน้อยกว่าร้อยละ 51 ซึ่งย่อมขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 56 วรรคสอง
		ปัญหาตามข้อร้องเรียนนี้ จึงถือได้ว่าผู้ร้องเรียนเป็นบุคคลซึ่งได้รับประโยชน์โดยตรงจากการทำหน้าที่ของรัฐและได้รับความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน ตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ โดยผู้ร้องเรียนได้ดำเนินการตามขั้นตอนในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 แล้ว แต่ปัจจุบันหน่วยงานดังกล่าวยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญฯ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ กรณีจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ผผ. ที่จะรับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณาและเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไปได้
1มาตรา 56 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติให้โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคชั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้
2โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560
3มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (4) บัญญัติให้บุคคลหรือชุมชนซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการทำหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และได้รับความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ หรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนหรือล่าช้าเกินสมควรย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยคดีได้
4พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 5 ได้นิยามศัพท์ ดังนี้
?กิจการไฟฟ้า? หมายความว่า การผลิต การจัดให้ได้มา การจัดส่ง การจำหน่ายไฟฟ้าหรือการควบคุมระบบไฟฟ้า
?ระบบโครงข่ายไฟฟ้า? หมายความว่า ระบบส่งไฟฟ้าหรือระบบจำหน่ายไฟฟ้า
?ระบบไฟฟ้า? หมายความว่า ระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การปฏิบัติ การและควบคุมของผู้รับใบอนุญาต
จากบทนิยามศัพท์ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายไฟฟ้านั้นหมายความรวมถึงทั้งระบบการผลิต ระบบการส่ง และระบบการจำหน่ายไฟฟ้า

20. เรื่อง  รายงานผลการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด -19 ให้กับบุคลากรภาคคมนาคมขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ
	คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด -19 ให้กับบุคลากรภาคคมนาคมขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ  ดังนี้
	1. การจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ
	เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบในวงกว้างและกระจายไปทุกจังหวัดอย่างรวดเร็ว และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายฉีดวัคซีนแบบปูพรมในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ได้ภายใน 2 เดือน ดังนั้น กระทรวงคมนาคมในฐานะเจ้าของพื้นที่ ได้จัดสรรพื้นที่สถานีกลางบางซื่อให้เป็น ?ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ? โดยบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนจัดให้มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่องค์กร หน่วยงาน และประชาชนทั่วไป โดยในช่วงแรกตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่               6 มิถุนายน 2564 ซึ่งเรียกว่าเป็นช่วง ?Test Run? ได้ให้บริการฉีดวัคซีนแก่ผู้ให้บริการด้านการขนส่งสาธารณะ              ทุกประเภท ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับ           การให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นมีจำนวนบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประมาณ 136,282 คน
	2. การเตรียมการเพื่อรองรับการให้บริการฉีดวัคซีน
	กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการจัดเตรียมพื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 14,294 ตารางเมตร
โดยใช้โถงชั้นล่าง พื้นที่ 6,758 ตารางเมตร ชั้นลอย พื้นที่ 4,170 ตารางเมตร รวมทั้งได้จัดเตรียมพื้นที่เก็บวัคซีนและพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งในแต่ละขั้นตอนได้จัดให้มีจิตอาสาจากหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมและประชาชนจิตอาสามาช่วยเหลือดูแลอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาฉีดวัคซีน นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ อำนวยความสะดวกในการเดินทางมายังสถานีกลางบางซื่อ ไม่ว่าจะเป็นการจัดรถขนส่งมวลชนสาธารณะ เชื่อมต่อการเดินทางจากระบบรางและการขนส่งทางน้ำกับสถานีกลางบางซื่อ เช่น ระบบรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และห้าแยกลาดพร้าว ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินที่สถานีสวนจตุจักร ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน และเรือโดยสารที่ท่าน้ำบางโพ เป็นต้น ส่วนผู้ที่เดินทางมาด้วยรถยนต์ส่วนตัวจะมีจุดจอดรถที่สามารถรองรับได้อย่างเพียงพอกว่า 1,500 คัน รวมถึงมีการจัดรถ Shuttle Bus EV หรือรถเมล์ไฟฟ้า เพื่อรับ-ส่งผู้ใช้บริการภายในสถานีกลางบางซื่อด้วย
	3. ภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 - 6 มิถุนายน 2564 (Test Run)
	ในการให้บริการฉีดวัคซีนของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดบุคลากรจากสถาบันโรคผิวหนัง และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ รวมถึงนักเรียนพยาบาลและครูพยาบาลจากสถาบันพระบรมราชชนก และสภาการพยาบาล  จัดบุคลากรมาช่วยในการฉีดวัคซีน โดยมีอัตราการฉีดได้ประมาณ 900 คนต่อชั่วโมง ใช้ระยะเวลาประมาณ 45 นาทีต่อคน และรองรับการฉีดวัคซีนได้ประมาณ 10,000 คนต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2564 รวมระยะเวลา 14 วัน สามารถสรุปผลการฉีดวัคซีนได้ ดังนี้
	จากผลของการเข้ารับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ พบว่า มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนทั้งหมด จำนวนทั้งสิ้น 156,140 คน โดยเป็นบุคลากรเฉพาะภาคคมนาคมขนส่งสาธารณะ (ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ) ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 101,079 คน คิดเป็นร้อยละ 74.17 ของจำนวนบุคลากรที่ได้จากการสำรวจในเบื้องต้น จำนวน 136,282 คน ดังนั้น คงเหลือบุคลากรภาคคมนาคมขนส่งสาธารณะที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 อีกประมาณ 30,000 กว่าคน ซึ่งหากบุคลากรส่วนที่เหลือได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด จะทำให้บุคลากรภาคคมนาคมในเขตกรุงเทพมหานครได้รับวัคซีนครบตามความต้องการ
	4. การเตรียมการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ให้กับบุคลากรในภาคคมนาคมขนส่งสาธารณะ
	กระทรวงคมนาคมได้ประสานขอความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดสรรวัคซีนโควิด ? 19 เข็มที่ 2 เพื่อฉีดให้กับบุคลากรภาคคมนาคมขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ โดยมีกำหนดการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะครบตามจำนวนของบุคลากรที่ได้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 ไปแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมยังคงจะให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่จะมารับบริการฉีดวัคซีน  ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงคมนาคมต่อไป
	5. ขอรับการสนับสนุนเพื่อให้บริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่ออย่างมีประสิทธิภาพ
	เนื่องจากกระทรวงคมนาคมมีนโยบายเร่งด่วนในการมีส่วนร่วมที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถ              ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง จึงได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดเตรียมพื้นที่              เพื่อจัดตั้ง ?ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ? ณ สถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็น ?สถานีเพื่อความสุขและความปลอดภัย? รวมทั้งจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอื่น ๆ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนสามารถเข้ารับบริการได้อย่างสะดวกสบาย และสามารถช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น ในการดำเนินการดังกล่าวการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้า และน้ำประปา ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ใด้ตั้งงบประมาณรองรับภารกิจเร่งด่วนในส่วนนี้ไว้ ประกอบกับสถานีกลางบางซื่อยังไม่ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ จึงเห็นเป็นการสมควรที่กระทรวงคมนาคมจะขอความอนุเคราะห์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง และการประปานครหลวง เพื่อขอรับการสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2564 หรือก่อนการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ (Soft Opening)

21. เรื่อง สรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยกระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ได้ติดตามและรายงานความคืบหน้าการ              เกิดสถานการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ  พื้นที่ ตั้งแต่เกิดสถานการณ์สาธารณภัยจนถึงปัจจุบัน จึงขอ                 สรุปสถานการณ์ดังกล่าว  และผลการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน  ดังนี้
		การคาดหมายลักษณะอากาศ การสั่งการเพื่อเตรียมความพร้อม และการช่วยเหลือ
	1. สภาพอากาศ (ระหว่างวันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2564)
		ในช่วงวันที่ 15 - 17 มิถุนายน 2564 ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย  เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนเกิดขึ้น ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง  บริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูง 1 - 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 18 -  20 มิถุนายน 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังมีฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง บริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง                 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
		ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 15 - 17 มิถุนายน 2564 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามัน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
			2. การแจ้งเตือนและสั่งการเพื่อเตรียมความพร้อม
		กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง แจ้งเตือนจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทา         สาธารณภัยเขต เพื่อเตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ส่งผลให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่                  12 - 14 มิถุนายน 2564 ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี จึงขอให้จังหวัดที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา หน่วยวิชาการที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลจากหน่วยงานในพื้นที่
		3. ข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย / ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
		รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ     ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเตรียม           ความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2564 ดังนี้
			1) การเตรียมความพร้อม
			1.1 การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย ให้จัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์โดยมี หน่วยงานด้านการพยากรณ์หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากภาคประชาสังคมหรือสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมทำหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำและเหตุการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดสาธารณภัยในช่วงฤดูฝน รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ
ในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการแต่ละระดับ สำหรับใช้ในการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และสภาพพื้นที่
			1.2 การจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ให้ทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัดให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
			1.3 การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ ให้มอบหมายกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงกันโดยเฉพาะตามรอยต่อเขตรับผิดชอบ  ที่เป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน
			1.4 การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ / กั้นน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำให้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบจัดทีมวิศวกรเข้าสำรวจตรวจสอบ และปรับปรุงให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้สามารถรองรับกรณีฝนตกหนัก หรือน้ำไหลเข้า / ผ่านในปริมาณมาก รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่
			1.5 การแจ้งเตือนภัย เมื่อมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มขึ้นในพื้นที่ให้ดำเนินการแจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุ และเตรียมการในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นการล่วงหน้า รวมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบในทุกช่องทางทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ อาทิ สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูล ข่าวสาร ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางการแจ้งข้อมูล และการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในกรณีจังหวัดที่มีเส้นทางน้ำเชื่อมต่อกันให้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน และแจ้งเตือนระหว่างจังหวัดต้นน้ำและจังหวัดปลายน้ำอย่างใกล้ชิด
			2) การเผชิญเหตุ
		เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่ ให้ยึดแนวทางการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉิน ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้
			2.1 จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์ควบคุม สั่งการ และอำนวยการหลักในการระดมสรรรพกำลัง ตลอดจนการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรสาธารณกุศล
			2.2 ให้มอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ตลอดจนอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่าง ๆ และร่วมกันกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ทั้งนี้ หากมีกรณีน้ำท่วมขัง สร้างความเดือดร้อน ความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนให้เร่งกำหนดแนวทางการระบายน้ำ พร้อมทั้งสั่งใช้เครื่องจักรกลในพื้นที่ของหน่วยงาน ฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชน เพื่อเร่งระบายน้ำ และเปิดทางน้ำในพื้นที่
			2.3 จัดชุดปฏิบัติการเร่งให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพแก่ประชาชนที่ประสบภัยตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล โดยอย่าให้เกิด ความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติ และเชิญชวนประชาชนจิตอาสามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือประชาชน                  ที่ประสบภัย
			2.4 กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้บูรณาการหน่วยงานเป็นทีมช่างในพื้นที่ทั้งหน่วยทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนจิตอาสา เพื่อเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนโดยเร็ว
			2.5 กรณีเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหาย หรือถูกน้ำท่วมจนประชาชนไม่สามารถใช้ยานพาหนะสัญจรได้ให้จัดทำป้ายแจ้งเตือนพร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร แนะนำเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย  รวมทั้งจัดยานพาหนะที่เหมาะสม อาทิ เรือ รถยกสูง เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และให้เร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุด / ถูกตัดขาด เพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรได้โดยเร็ว
			2.6 เน้นย้ำการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในช่วงเกิดสถานการณ์อุทกภัย ผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนสื่อแขนงต่าง ๆ และสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
			2.7 ให้รายงานสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มที่เกิดขึ้นต่อกองอำนวยการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์และเสนอ ความเห็นต่อผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในการตัดสินใจสั่งการในเชิงนโยบายต่อไป




			1.1 จากสถานการณ์พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน เคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย และขึ้นฝั่ง บริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ทำให้เกิดลมกระโชกแรง น้ำไหลหลาก และดินสไลด์ ในห้วงวันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2564 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน พิษณุโลก และจังหวัดระนอง รวม 3 อำเภอ 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 5 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยู่ระหว่างการฟื้นฟู ดังนี้
จังหวัด	วันเกิดเหตุ	จำนวน	รายชื่ออำเภอ	จำนวน
		อำเภอ	ตำบล	หมู่บ้าน		ครัวเรือน	เสียชีวิต	บาดเจ็บ
ภาคเหนือ รวม 2 จังหวัด 2 อำเภอ 3 ตำบล 3 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 4 หลัง
1. น่าน	14 มิ.ย. 64 	1	2	2	บ่อเกลือ     	4	 -	 -
2. พิษณุโลก	14 มิ.ย. 64	1	1	1	นครไทย	 -	 -	 -
ภาคใต้ รวม 1 จังหวัด 1 อำเภอ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 1 หลัง
3. ระนอง	12 มิ.ย. 64 	1	1	1	เมือง ฯ     	1	 -	 -

1.2 จากสถานการณ์มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในห้วงวันที่ 4 - 12 มิถุนายน 2564 ทำให้เกิดลมกระโชกแรง น้ำไหลหลาก และดินสไลด์ ในพื้นที่ 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ พะเยา ตาก พิจิตร อุดรธานีหนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สกลนคร อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา สระบุรี ตราด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา และจังหวัดปัตตานี รวม 62 อำเภอ 95 ตำบล 225 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 1,131 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัดอยู่ระหว่างการฟื้นฟู




จังหวัดระนอง วันที่ 13 มิถุนายน 2564 เวลา 09.30 น. เกิดเหตุตลิ่งทรุดตัวในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลบางนอน อำเภอเมืองระนอง ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
การให้ความช่วยเหลือ : สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ อปท. อปพร. อาสาสมัคร และมูลนิธิเข้าสำรวจความเสียหาย และให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว





กรมป้องกันและบรเทาสาธารณภัย ได้รับรายงานข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว จากกรมอุตุนิยมวิทยา         และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้เกิดแผ่นดินไหว ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนี้
1. วันที่ 13 มิถุนายน 2564 เวลา 13.17 น. เกิดแผ่นดินไหวบนบก ขนาด 3.0 ที่ความลึก 5 กม. บริเวณประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 175 กม. ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
2. วันที่ 13 มิถุนายน 2564 เวลา 04.38 น. เกิดแผ่นดินไหวบนบก ขนาด 3.9 ที่ความลึก 10 กม. บริเวณประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 256 กม. ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
3. วันที่ 12 มิถุนายน 2564 เวลา 02.13 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5.0 ที่ความลึก 60 กม.  บริเวณ Off West Coast of Northern Sumatra ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 525 กม. ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย







1. จังหวัดเพชรบูรณ์ วันที่ 13 มิถุนายน 2564 เวลา 13.20 น. เกิดอุบัติเหตุทางถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) บริเวณหลัก กม. ที่ 180-181 หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยโป่ง อำเภอหนองไผ่ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน เจ้าหน้าที่กู้ชีพ - กู้ภัย เข้าให้การช่วยเหลือนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลหนองไผ่
2. กรุงเทพมหานคร วันที่ 12 มิถุนายน 2564 เวลา 09.20 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ บริษัท พีเคแฟชั่น การ์เม้นท์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 75/31 ซอยเพชรเกษม 28 แยก 12 ถนนเพชรเกษม แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ ลักษณะเป็นอาคาร 4 ชั้น ประกอบกิจการผลิตและตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าทำการดับเพลิงจนเพลิงสงบ เวลา 10.34 น. เพลิงลุกไหม้ได้รับความเสียหายทั้งชั้น ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
3. กรุงเทพมหานคร วันที่ 10 มิถุนายน 2564 เวลา 22.17 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้หมู่บ้านปูนซีเมนต์ไทย ตั้งอยู่เลขที่ 82/183 ซอยซีเมนต์ไทย 12 ถนนประชาชื่น แขวงลาดยาว เขตจตุจักร ลักษณะเป็นบ้าน 2 ชั้น ประกอบกิจการพักอาศัย เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าทำการดับเพลิงจนเพลิงสงบ เวลา 22.37 น. เพลิงลุกไหม้เสียหายทั้งหลัง และลุกลามบ้านข้างเคียงเล็กน้อย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต





ต่างประเทศ

22. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมสตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 24
		คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 24 (ASEAN+3 Finance Ministers' and Central Bank Governors' Meeting: AFMGM+3) ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีและบรูในดารุสซาลามทำหน้าที่ประธานร่วมและได้จัดประชุมในรูปแบบการประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม สรุปได้ ดังนี้
1.	สรุปผลการประชุม AFMGM+3
ประเด็น	สาระสำคัญ
การพัฒนาและแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค	ที่ประชุมได้รับทราบรายงานเศรษฐกิจจากผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งเห็นพ้องว่า ทิศทางเศรษฐกิจของโลกและของภูมิภาคจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปี 2564 เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในจำนวนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะขยายตัวที่ร้อยละ 6 และในปี 2565 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4 ขณะที่สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) คาดว่าปี 2564 เศรษฐกิจประเทศไทย (ไทย) จะเติบโตที่ร้อยละ 2.3 และปี 2565 ร้อยละ 4.8 นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ในทิศทางเดียวกัน คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ควรมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม มีเสถียรภาพและยั่งยืนเป็นสำคัญ เช่น สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลสนับสนุนการใช้ทรัพยากรภายในประเทศ ปรับปรุงระบบภาษีและความร่วมมือทางภาษี และส่งเสริมการเป็นเศรษฐกิจสีเขียว
การเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาค	- ที่ประชุมยินดีกับความสำเร็จในการปรับปรุงประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative  Multilateralisation: CMIM (มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564) ซึ่งจะทำให้สมาชิกได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งประเทศสมาชิกยังสามารถใช้เงินสกุลท้องถิ่นสมทบเงินใน CMIM ได้
-ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามภารกิจหลักของ AMRO ได้แก่ การจัดทำแผนการดำเนินการระยะกลางฉบับปรับปรุง ปี 2564-2568
- ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียเพื่อส่งเสริมตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน
- ที่ประชุมได้รับทราบการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาความเป็นไปได้ของมาตรการริเริ่มใหม่ ๆ ได้แก่ การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากลไกเพื่อรองรับปัญหาด้านมหภาคและปัญหาเชิงโครงสร้าง  ทั้งนี้ เพื่อขยายความร่วมมือทางการเงินให้ครอบคลุม ส่งเสริมความเจริญเติบโตของภูมิภาค อาเชียน+3 รวมทั้งสอดคล้องกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ
ที่เปลี่ยนแปลงไป
อื่น ๆ	รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวในที่ประชุม โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืนและสนับสนุนการพัฒนาพันธบัตรของภูมิภาคอาเซียน+3 โดย กค. ได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเป็นครั้งแรกของไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 และปัจจุบันมีการออกพันธบัตรแล้วทั้งสิ้น
1 แสนล้านบาท ซึ่งจะนำเงินที่ได้จากพันธบัตรไปใช้เป็นเงินทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อสนับสนุนการพื้นตัวของประเทศจากโควิด-19 รวมทั้งมีแผนการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเพิ่มเติมในระยะต่อไปด้วย

23. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค (Structural Reform Ministerial Meeting) ครั้งที่ 3
		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค ครั้งที่ 3 (Ministerial Statement of the Third Structural Reform Ministerial Meeting) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถดำเนินการได้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในภายหลังหากมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบ และเห็นชอบให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เข้าร่วมการประชุมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้าง ครั้งที่ 3 ในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 โดยผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมทั้งร่วมกับรัฐมนตรีของเขตเศรษฐกิจเอเปคให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ โดยไม่มีการลงนาม ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
		สาระสำคัญ
		1. การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้าง (SRMM) ครั้งที่ 3 มีวาระการหารือที่สำคัญดังนี้
		1.1 แนวทางการฟื้นฟูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ผ่านการหลีกเลี่ยงนโยบายการปฏิรูปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่หากพิจารณาถึงผลกระทบในระยะยาวจากมุมมองแบบองค์รวมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อาทิ การปฏิรูปกฎระเบียบสังคมและสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนนโยบายที่เป็นมิตรต่อนวัตกรรม และส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินสีเขียว
		1.2 ความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาคที่ส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทั้งนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจจุลภาคต่อการฟื้นตัวอย่างครอบคลุมและยั่งยืน รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
		1.3 การเห็นชอบในหลักการต่อเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ การยกระดับวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปคปี 2564 ? 2568 (Enhanced APEC Agenda for Structural Reform: EAASR) ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการด้านปฏิรูปโครงสร้างเอเปคในช่วงระยะเวลาต่อไป และแผนปฏิบัติการ
เอเปคเรื่องความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจระยะที่ 3 (The Third Ease of Doing Business Action Plan)
			1.3.1 EAASR ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ (1) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดตลาดที่เปิดกว้าง โปร่งใสและมีการแข่งขัน (2) การส่งเสริมการฟื้นตัวของธุรกิจและเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับภาวะวิกฤตในอนาคต (3) การสร้างหลักประกันให้ทุกกลุ่มในสังคมสามารถเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกันเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และ (4) การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มผลผลิตและการปรับเปลี่ยนดิจิทัล โดยในแผนปฏิบัติการ EAASR ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ตัวชี้วัด และกรอบเวลาในการทบทวนการดำเนินงาน เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการและออกแบบโครงการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างในแต่ละเขตเศรษฐกิจ
			1.3.2 แผนปฏิบัติการเอเปค เรื่องความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจระยะที่ 3 ให้ความสำคัญใน 5 ตัวชี้วัด (จาก 10 ตัวชี้วัดของ World Bank?s Doing Business Index) ได้แก่ การเข้าถึงเครดิต การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย การจดทะเบียนทรัพย์สิน และการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย โดยได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาตัวชี้วัดอยู่ที่ร้อยละ 12 ภายในปี 2568 ทั้งนี้ ในแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการผ่านการเสริมสร้างศักยภาพให้เขตเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีในด้านการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดให้ปรับตัวดีขึ้น
		1.4 การรับฟังข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ในประเด็นมุมมองทางธุรกิจต่อการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
		2. สาระสำคัญร่างแถลงการณ์ร่วมของ การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้าง (SRMM) ครั้งที่ 3 มีวาระการหารือที่สำคัญดังนี้
		2.1 ตระหนักถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืน โดย                  โรคโควิด-19 ได้ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทาน การบริโภคและตลาดแรงงานทั่วโลกหยุดชะงัก ตลาดการเงินที่ผันผวนรุนแรง ฐานะทางการคลังเสื่อมสภาพ และการจำกัดการเคลื่อนย้ายของผู้คน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะต่อกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นจึงเน้นย้ำการดำเนินการร่วมกันเอเปคในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าวและเตรียมการเพื่อการฟื้นฟูผ่านการปฏิรูปโครงสร้างที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม ยืดหยุ่น ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรกับนวัตกรรม
		2.2 ทบทวนวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปคและรับรองการยกระดับวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปคปี 2564 ? 2568 (EAASR) ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการด้านการปฏิรูปโครงสร้างในอนาคตเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ยั่งยืนและครอบคลุม
		2.3 เน้นย้ำถึงความสำคัญของเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมการปฏิรูปโครงสร้างและภารกิจอื่น ๆ โดยรับทราบถึงข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) สนับสนุนให้มีการร่วมมือกับคณะกรรมการและกลุ่มอื่น ๆ ในเอเปคในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปฏิรูปโครงสร้าง และให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการเอเปค เรื่องความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจระยะที่ 3 ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำรายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปค (APEC  Economic Policy Report: AEPR) ประจำปี 2564 เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างและงานในอนาคต และยินดีกับหัวข้อรายงาน ประจำปี 2565 เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างและงานในอนาคต และยินดีกับหัวข้อรายงาน ประจำปี 2565 เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างและการฟื้นฟูอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
		ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ ในการเข้าร่วมการประชุมฯ มีดังนี้ 1. ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์และโอกาสจากกรอบความร่วมมือเอเปคในการสนับสนุนและผลักดันความร่วมมือที่มีศักยภาพให้ปรากฎผลเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป รวมทั้งสร้างความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19     2. สร้างความเชื่อมั่นแก่นานาประเทศผ่านการเน้นย้ำในเวทีการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้างถึงความสำคัญที่จะต้องปฏิรูปในเชิงโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการพัฒนาให้สามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนบนฐานของการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนากฎระเบียบที่มีความโปร่งใสและบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาที่ครอบคลุมทั่วถึง

24.  เรื่อง  ขอความเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น สมัยพิเศษ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ( The Special AMEM-METI Consultations Meeting)
                   2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ให้การรับรองในถ้อยแถลงร่วมฯ นี้ ร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มประเทศสมาชิกดังกล่าวได้
                   3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงพลังงานและคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
                   สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ
                   ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น สมัยพิเศษ มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
                   1. การตระหนักถึงสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนและความเร่งด่วนในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเติบโตสีเขียวเพื่อมุ่งสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและการปกป้องสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันต้องสามารถรับประกันการเข้าถึงพลังงาน ความมั่นคง และความยืดหยุ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในระดับโลก

                   2. การเสริมสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนแลเอเชียตะวันออก (ERIA) เพื่อการแบ่งปันองค์ความรู้และรับการสนับสนุนจาก ERIA ในการร่างแผนงานสำหรับการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง
                   3. การกำหนดแผนงานสำหรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขสภาพทางภูมิศาสตร์ นโยบาย และสถานการณ์ เป็นต้น
                   4. การส่งเสริมการใช้แหล่งพลังงาน เทคโนโลยี ในการด้านพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพทางการใช้พลังงาน พลังงานนิวเคลียร์ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสะอาด รวมถึงการกำหนดกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนที่เหมาะสม
                   5. ความพยายามร่วมกันในการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะส่งผลต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกตามกำหนดในข้อตกลงปารีสส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค
                   6. การสนับสนุนต่อข้อเสนอของญี่ปุ่นเกี่ยวกับ ?ข้อริเริ่มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานแห่งเอเชีย? (ASIA Energy Transition Initiative: AETI) ซึ่งเป็น ข้อริเริ่มที่ให้การสนับสนุนที่หลากหลายสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการให้เงินทุนสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยีจากกองทุนสำหรับนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลดคาร์บอนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลผ่านการฝึกอบรมและการประชุมปฏิบัติการต่าง ๆ รวมถึงการแบ่งปันองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น เครือข่ายเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน
                   7. การร่วมยืนยันความจำเป็นของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่หลากหลายและสามารถปฏิบัติได้จริงในภูมิภาคในเอเชียและยินดีกับคณะกรรมการชุดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นโดยภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการเงินเพื่อศึกษาเกี่ยวกับ ?หลักการด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานแห่งเอเชีย?
                   8. การขยายความร่วมมือไปยังประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการจัดประชุมหุ้นส่วนการเติบโตสีเขียวแห่งเอเชียในเดือนตุลาคมต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ( The Special AMEM-METI Consultations Meeting) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล

แต่งตั้ง

25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
 		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
 		1. นายอภิชาติ ดำรงไชย นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2563
 		2. นางปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนัก [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (ทันตแพทย์) ระดับสูง] สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ให้ดำรงตำแหน่ง ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) กรมอนามัย ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2564
 		ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

26. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

          ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มิถุนายน 2564

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ