สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2564

ข่าวการเมือง Tuesday June 22, 2021 16:56 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

                    วันนี้ (22 มิถุนายน 2564) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี                    เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า                     ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

                    1.           เรื่อง          ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น                                                  รัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ตลาด                                                  หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับจากกองทุนส่งเสริม

การพัฒนาตลาดทุน)

                    2.           เรื่อง           ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง                                                   (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ                                                  ได้รับเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
                    3.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอก                                                  ซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน

พ.ศ. ....

                    4.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นต้องเป็นไปตาม                                                  มาตรฐาน พ.ศ. ....
                    5.           เรื่อง           ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในระดับ                                                  รัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ                                                  เชิงพาณิชย์ พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ สังคม

                    6.           เรื่อง           ขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516 เรื่อง ร้านค้าปลอดภาษี
                    7.           เรื่อง           รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2564
                    8.           เรื่อง           รายงานผลการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลโดยการดำเนินธุรกรรม                                                  แลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 2
                    9.           เรื่อง           รายงานผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน

พ.ศ. 2560-2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

                    10.           เรื่อง           รายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน                                        และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
                    11.           เรื่อง           สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ไตรมาสที่ 1                                         ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
                    12.           เรื่อง           รายงานผลการพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา
                                        ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ของสภาผู้แทนราษฎร                                                  และวุฒิสภา
                    13.           เรื่อง           ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหา

ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส

โคโรนา 2019

                    14.           เรื่อง          มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 (ครั้งที่ 153)
                    15.           เรื่อง           การเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายในการพิจารณา
                                        ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย                                                  ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
          16.                     เรื่อง           สรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ
          17.                     เรื่อง           สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติด                                                            เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 8/2564
                    18.           เรื่อง           สรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยสถาบัน IMD

ปี 2564

                    19.           เรื่อง           การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้า

และบริการ พ.ศ. 2542

                    20.           เรื่อง           ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้

ในคราวประชุมครั้งที่ 20/2564

ต่างประเทศ

                    21.           เรื่อง           การแก้ไขภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ของความตกลงระหว่าง                                                  ราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (JTEPA)
                    22.           เรื่อง           ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 42
                    23.           เรื่อง           ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับสูงภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยความ                                                  ร่วมมือสายแถบและเส้นทาง (Asia and Pacific High-Level Conference on                                         Belt and Road Cooperation)
                    24.           เรื่อง          ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วย                                                  ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการ (Joint Commission - JC)

ไทย ? สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ครั้งที่ 2

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                     กค. เสนอว่า
                     1. โดยที่มาตรา 218/2 และมาตรา 218/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนขึ้น ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยคณะกรรมการกองทุนอาจพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ตลาดหลักทรัพย์โดยอาจกำหนดเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ ฯลฯ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ ตลท. โอนเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดเป็นจำนวนหรือมูลค่า 5,700 ล้านบาท ให้แก่กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ตามมาตรา 218/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562)
                     2. ตลท. ได้ดำเนินการโอนเงินให้แก่กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนมูลค่า 5,700 ล้านบาทแล้ว เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 โดยมิได้มีการโอนทรัพย์สินอื่น
                    3. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย และเพื่อสนับสนุนให้ตลาดทุนไทยมีเสถียรภาพและความมั่นคง ตลอดจนสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก จึงสมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
                    4. กค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว ดังนี้
                               4.1 กค. ไม่สามารถประมาณการรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีนี้ เนื่องจากไม่อาจคาดการณ์การสนับสนุนทางการเงินให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ รายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีนี้ไม่อยู่ในประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ดังนั้น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนจะไม่ส่งผลกระทบต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ
                               4.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาตรการภาษีดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการระดมทุนในประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
                     สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                    เป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

2. เรื่อง ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบ ดังนี้
                     1. อนุมัติร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. .... และร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                     2. เห็นชอบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอร่างกฎ ก.พ. ต่อคณะรัฐมนตรี โดยถือเป็นหลักการว่าเมื่อร่างกฎ ก.พ. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป เว้นแต่สำนักงาน ก.พ. จะได้เสนอขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นการเฉพาะ ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ
                     ทั้งนี้ ร่างกฎ ก.พ. รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ เป็นการกำหนดให้ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเป็นตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง รวมทั้งกำหนดให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติและตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้รับเงินประจำตำแหน่ง เพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่อนุมัติการกำหนดประเภทและระดับตำแหน่ง และอนุมัติการได้รับเงินประจำตำแหน่งของตำแหน่งดังกล่าว
                     สาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ.
                    1. ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเป็นตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง
                     2. ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา 21,000 บาท และตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา 14,500 บาท

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ อก. เสนอว่า
                    1. เนื่องจากปัจจุบันได้มีการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมซึ่งเป็นยางเก่าผ่านการใช้งานมานานและดอกยางมีสภาพสึกจากการใช้งานขับขี่มาหล่อดอกใหม่ และนำมาวางจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก โดยยางล้อดังกล่าวไม่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพ ส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ยานพาหนะ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จึงได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำสำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2979 ? 2562 โดยรับข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ของสหประชาชาติ UN Regulation No. 109 มาใช้ในระดับดัดแปร (modified) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5471 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ลงวันที่ 16 กันยายน 2562
                     2. ต่อมา คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ในการประชุมครั้งที่ 693 ? 11/2563 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 มีมติเห็นชอบให้ สมอ. ดำเนินการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วงต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2979 ? 2562 แล้วให้ สมอ. ดำเนินการต่อไป
                     3. สมอ. ได้ดำเนินการจัดทำประกาศสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ประกาศ ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 และได้รับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 โดยผ่านช่องทางเว็บไซต์ของ สมอ. (www.tisi.go.th) รวมทั้งแจ้งไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย กรมการขนส่งทางบก สถาบันยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวม 140 ราย เพื่อให้แสดงความคิดเห็นภายใน 60 วัน นับแต่วันประกาศ ปรากฏว่ามีผู้แสดงความคิดเห็น 2 ราย ได้แก่ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด และบริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด โดยเห็นด้วยกับการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2979 ? 2562 และมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ไม่ควรกำหนดอายุการใช้งานของยางเดิมที่จะนำมาหล่อดอกซ้ำ และจำนวนรอบในการหล่อดอกซ้ำ ซึ่ง สมอ. พิจารณาแล้วเห็นว่า UN Regulation No. 109 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่มาตรฐานเลขที่ มอก. 2979 ? 2562 นำมาใช้อ้างอิงนั้น ไม่มีการกำหนดอายุการใช้งานของยางล้อที่จะนำมาหล่อดอก และไม่มีการกำหนดจำนวนการหล่อดอกซ้ำแต่อย่างใด
                     4. โดยที่พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับแล้ว และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17 ซึ่งบัญญัติให้เพื่อความปลอดภัย หรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชน หรือแก่กิจการอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจของประเทศ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาจเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดต้องเป็นไปตามมาตรฐานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของมาตรฐานก็ได้ ดังนั้น การกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน จำเป็นต้องออกกฎกระทรวง
                     5. อก. ได้จัดทำผลกระทบจากการบังคับใช้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ดังนี้
                               5.1 ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบ
                                          ผู้ทำ ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง
                              5.2 ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
                                         เป็นการส่งเสริมให้ผู้ทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตอันก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว และป้องกันมิให้มีการนำยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย
                               5.3 ผลกระทบด้านสังคม
                                         เป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการซื้อผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วงที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน
                              5.4 ผลกระทบด้านสิทธิเสรีภาพของบุคคล
                                        ผู้ทำหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง จะต้องได้รับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวตามมาตรา 20 หรือมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับใบอนุญาตและมีการแสดงเครื่องหมายมาตรฐานถูกต้องครบถ้วน
                               5.5 ประโยชน์ที่ประชาชนและสังคมจะได้รับ
                                         ประชาชนจะได้ใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง อันเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
                              สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                              กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2979 ? 2562 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5471 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ประกาศ  ณ วันที่ 16 กันยายน 2562 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ อก. เสนอ เป็นการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน และส่งเสริมการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นภายในประเทศให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ซึ่ง อก. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 685 เล่ม 1 ? 2562 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6167 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่น เล่ม 1 ข้อกำหนดทั่วไป และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่น : เฉพาะด้านความปลอดภัย เล่ม 1 ข้อกำหนด ลงวันที่             10 กุมภาพันธ์ 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

5. เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้ดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ ดศ. เสนอว่า
                    1. นโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ (5 มีนาคม 2562) ได้กำหนดเกี่ยวกับการเข้าสู่ตลาด (Market Access) ของผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสารไว้ ดังนี้
                              1.1 มีนโยบายเปิดตลาดในระดับรัฐ (State Level) ให้ผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสาร (GSO และ Non - GSO) ของรัฐที่มีนโยบายเปิดน่านฟ้าในผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดของรัฐนั้น โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติกำหนดขึ้น และเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
                              1.2 ให้ผู้ประกอบการ (Firm Level) ของรัฐที่มีนโยบายเปิดน่านฟ้าตามข้อ 1.1 ที่ประสงค์จะประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารโดยใช้ดาวเทียมต่างชาติต้องขออนุญาตและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศกำหนด
                    2. โดยที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 27 (14/2) กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการอนุญาตดังกล่าว ซึ่งต่อมา กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ โดยเป็นการอนุญาตในระดับผู้ประกอบการ หรือ Firm Level ตามข้อ 1.2 โดยประกาศ              กสทช. ฯ ข้อ 8 (3) กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) พิจารณาตรวจสอบการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติที่มีคุณสมบัติสอดคล้องตามนโยบายที่รัฐกำหนด และประกาศฯ กสทช. ดังกล่าว มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 อย่างไรก็ดี กสทช. ยังไม่สามารถพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศได้เนื่องจากจะต้องพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวนโยบายตามประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติตามข้อ 1.1
                    3. ดศ. โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 โดยได้ศึกษาวิจัยนโยบายการกำหนดสิทธิในการส่งและรับสัญญาณและการเข้าตลาดของดาวเทียมต่างชาติ (Landing Rights and Market Access Policy) เพื่อยกร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ. .... โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และสำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะประกอบการยกร่างประกาศดังกล่าวด้วยแล้ว
                    4. คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่                         13 กรกฎาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศตามข้อ 3 และให้ ดศ. นำร่างประกาศฉบับนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
                    สาระสำคัญของร่างประกาศ
                    1. กำหนดขอบเขตการใช้บังคับของร่างประกาศนี้ โดยให้ใช้บังคับกับการอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ ครอบคลุมกรณีผู้ให้บริการประสงค์จะใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการประกอบกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารแก่บุคคลอื่น รวมถึงกรณีผู้ประกอบกิจการดาวเทียมต่างชาติที่ประสงค์จะประกอบกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม หรือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์หรือกิจการกระจายเสียงตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ แล้วแต่กรณี
                    2. กำหนดให้การพิจารณาว่ารัฐใดเป็นรัฐเจ้าของดาวเทียม จะต้องพิจารณาจากรัฐที่เป็นเจ้าของสิทธิข่ายงานดาวเทียมตามทะเบียนของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเป็นหลัก หากรัฐที่เป็นเจ้าของสิทธิข่ายงานดาวเทียมตามทะเบียนของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศไม่ใช่รัฐที่มีความเชื่อมโยงที่แท้จริงกับดาวเทียม ให้พิจารณาจากรัฐที่มีอำนาจในการควบคุมการดำเนินงานของดาวเทียมนั้น หรือรัฐที่มีบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสัญชาติตนถือหุ้นข้างมากและเป็นผู้มีอำนาจควบคุมที่แท้จริงของดาวเทียม เป็นลำดับต่อไป
                    3. กำหนดให้ประเทศไทยอาจตั้งเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาดของดาวเทียมต่างชาติด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง
                    4. กำหนดให้การอนุญาตให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศไทยเชิงพาณิชย์ ให้เป็นไปตามกรณีดังต่อไปนี้
                              4.1 ประกอบกิจการดาวเทียมไทยที่ประสงค์จะใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติของรัฐเจ้าของดาวเทียมที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ในการประกอบกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารแก่บุคคลอื่น หรือ
                              4.2 ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมต่างชาติของรัฐเจ้าของดาวเทียมที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกที่ประสงค์จะประกอบกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย
โดยผู้ประสงค์จะประกอบกิจการต้องยื่นขอรับอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ ต่อ กสทช. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช. กำหนด
                    5. กำหนดให้มีการประเมินผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบพร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเมื่อประกาศฉบับนี้บังคับใช้ไปแล้วสามปี เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ต่อไป

เศรษฐกิจ สังคม

6. เรื่อง ขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516 เรื่อง ร้านค้าปลอดภาษี
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516 เรื่อง ร้านค้าปลอดภาษี ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัท การบินไทย จำกัด* (บกท.) เป็นผู้ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดภาษี ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ เพื่อให้การคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนระหว่างภาครัฐและประชาชน รวมทั้งสอดคล้องกับการดำเนินงานในปัจจุบันและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
*บริษัท การบินไทย จำกัด เปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 และใช้ชื่อว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกินกว่าร้อยละ 50
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    คค. รายงานว่า
                    1. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. พิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516 เรื่อง ร้านค้าปลอดภาษี หากเห็นว่าไม่สอดคล้อง ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรืออาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ ทอท. กับ บกท. ให้เสนอเรื่องต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอยกเลิกต่อไป
                    2. ทอท. แจ้งว่า
                              2.1 การประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ภายในท่าอากาศยาน ต่าง ๆ มีลักษณะเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการในกิจการของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 จนกระทั่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 ซึ่งส่งผลให้มี 1) ประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 19 เมษายน 2559 และ 2) กฎกระทรวงกำหนดเพิ่มมูลค่าของโครงการที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้โครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าห้าพันล้านบาทที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกเอกชนเพื่อการอนุญาต การให้สัมปทาน การให้สิทธิ หรือการให้ประโยชน์ในกิจการของรัฐไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวโดยอนุโลม
                              2.2 ปัจจุบันได้มีการตราพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2562 รวมทั้งได้มีประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2562 ได้มีการกำหนดกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการท่าอากาศยาน จำนวน 12 กิจการ แต่ไม่รวมถึงกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ดังนั้น ทอท. จึงได้ถือปฏิบัติสำหรับการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานต่าง ๆ โดยเป็นไปตาม 1) ระเบียบ ทอท. ว่าด้วยการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ 2) ข้อกำหนด ทอท. ว่าด้วยวิธีดำเนินการคัดเลือกเพื่อให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ พ.ศ. 2561 ซึ่งสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐฯ ลงวันที่ 19 เมษายน 2559 และกฎกระทรวงกำหนดเพิ่มมูลค่าของโครงการฯ พ.ศ. 2559 ที่ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
                              2.3 ทอท. ได้ออกประกาศเชิญชวนคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม - 8 พฤศจิกายน 2562 เพื่อหาผู้ประกอบกิจการรายใหม่ต่อจากผู้ประกอบกิจการรายเดิม (กลุ่มคิงเพาเวอร์) ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยมีผู้สนใจซื้อเอกสาร จำนวน 2 ราย แต่มีผู้มายื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว ได้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และในการประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 15/2562 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมมีมติอนุมัติผลการคัดเลือกการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เรียบร้อยแล้ว โดยให้ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิประกอบกิจการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 -       31 มีนาคม 2576
                              2.4 การดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ดังกล่าว เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ซึ่งส่งผลให้ ทอท. ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด รวมทั้งสอดคล้องกับบทบาทและแนวทางการใช้ประโยชน์ของท่าอากาศยานดอนเมืองตามที่กำหนดไว้ สำหรับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516 ที่อนุมัติให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (ชื่อในขณะนั้น) เป็นผู้ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องเปิดประมูลทั่วไปมีความไม่เหมาะสมกับการดำเนินงานในปัจจุบัน รวมทั้งไม่สอดคล้องกับบทบาทและแนวทางการใช้ประโยชน์ของท่าอากาศยานดอนเมือง เนื่องจาก บกท. ไม่ได้รับอนุญาตจาก ทอท. ให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร                  ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2550 และปัจจุบันได้ย้ายเที่ยวบินไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2552 อย่างไรก็ตาม หาก บกท. ประสงค์ที่จะประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ก็สามารถยื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรของ ทอท. ได้ โดยต้องถือปฏิบัติตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 44/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 ด้วย
                    3. บกท. พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทเอกชนตั้งแต่วันที่                     22 พฤษภาคม 2563

7. เรื่อง รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้จัดทำขึ้น [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 พฤษภาคม 2563) ที่ให้ กนง. ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศและรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาประกอบกับการส่งออกเอเชียที่ฟื้นตัวดีขึ้นเป็นสำคัญ และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการกระจายวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เร่งตัวมากขึ้นในหลายประเทศ และการมีแรงสนับสนุนจากมาตรการการคลังที่ออกมาอย่างต่อเนื่องและนโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลาย ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในปี 2564 และ 2565 จะขยายตัวร้อยละ 5.5 และ 3.8 ตามลำดับ โดยภาครัฐทั่วโลกยังดำเนินมาตรการการเงินการคลังอย่างต่อเนื่อง และธนาคารกลางทั่วโลกยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง
                     2. เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศไทย (ไทย)
                               2.1 ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่ำลงจากการประเมินครั้งก่อนเนื่องจากได้รับผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ไม่เข้มงวดเท่าปีก่อนหน้า การมีแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 และจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการระบาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นภายหลังการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง
                               2.2 มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2564 และ 2565 มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 10.0 และ 6.3 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกบริการยังคงหดตัวและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เนื่องจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ ความล่าช้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบางประเทศ และการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในการเดินทาง
                              2.3 ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564 มีแนวโน้มเกินดุลลดลงมาก จากการนำเข้าที่ขยายตัวสูง โดยคาดว่าจะเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การเกินดุลบัญชีดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยชั่วคราว เช่น ต้นทุนขนส่งสินค้าที่แพงขึ้นจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับสูงขึ้นเป็น 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
                               2.4 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ดีกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากการส่งเสริมการขายรถยนต์ในช่วงปลายปีและผลจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐที่ออกมาเพิ่มเติมภายหลังการระบาดระลอกใหม่ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของรายได้ของแรงงานยังไม่ทั่วถึง จึงคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้าจะขยายตัวในอัตราไม่สูงนักตามฐานะทางการเงินของครัวเรือนที่ยังเปราะบางและตลาดแรงงานที่ยังอ่อนแอ ขณะที่การลงทุนในลักษณะโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีความชัดเจนมากขึ้น
                              2.5 ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 และ 1.0 ตามลำดับ ขณะที่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงเดิม โดยปี 2564 ที่ร้อยละ 0.3 และปี 2565 ที่ร้อยละ 0.4 ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ
                    3. ความเสี่ยงเศรษฐกิจสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีสัดส่วนการจ้างงานร้อยละ 20 ของการจ้างงานทั้งหมด ซึ่ง กนง. ได้วิเคราะห์พยากรณ์แนวโน้มของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า 3 กรณี ได้แก่ (1) กรณีฐาน (2) กรณีเลวร้าย คือ เกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 และ (3) กรณีเลวร้ายที่สุด คือ เกิดการกลายพันธุ์รุนแรงของโควิด-19 และประเมินว่า ในปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจอยู่ในช่วง 1 แสนคนถึง 3 ล้านคน ส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างหดตัวร้อยละ 1.7 ถึงขยายตัวที่ร้อยละ 3.0
                    4. เสถียรภาพระบบการเงินไทย ยังมีเสถียรภาพแต่เปราะบางมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ซึ่งกระทบต่อฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอ่อนแอ ในระยะต่อไปการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จะทำให้การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจแตกต่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว จึงต้องติดตามฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด
                    5. การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ในการประชุม กนง. เมื่อวันที่                        3 กุมภาพันธ์ 2564 และ 24 มีนาคม 2564 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวต่อเนื่องแม้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงต้นปี 2564 ส่วนอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และอยู่ใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน จึงควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

8. เรื่อง รายงานผลการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลโดยการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 2
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาล โดยการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 2 [เป็นการดำเนินการตามพระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (พ.ร.ก. กู้เงินฯ พ.ศ. 45) มาตรา 6 ที่บัญญัติให้ในการกู้เงินแต่ละคราวต้องรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในหกสิบวันนับแต่วันทำสัญญากู้หรือวันออกพันธบัตรหรือตราสารอื่น] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. กค. ได้ปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ พ.ศ. 45 ก่อนครบกำหนดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 โดยมีการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) วงเงิน 14,410 ล้านบาท ดังนี้
                              1.1 พันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่ กค. รับแลกเปลี่ยน (Source Bond) จำนวน 1 รุ่น คือ พันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB236A อายุ 2.13 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.625 ต่อปี ครบกำหนดในวันที่ 16 มิถุนายน 2566
                              1.2 พันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่ กค. กำหนดเพื่อนำมาแลกเปลี่ยน (Destination Bond) จำนวน 2 รุ่น ประกอบด้วย
                                        1.2.1 พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ (พ.ร.ก. กู้เงินฯ พ.ศ. 45)                 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 3 (LB26DA) อายุ 5.64 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.125 ต่อปี จำนวน 9,029       ล้านบาท
                                        1.2.2 พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ (พ.ร.ก. กู้เงินฯ พ.ศ. 45)                  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 4 (LB28DA) อายุ 7.64 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.875 ต่อปี จำนวน 5,381  ล้านบาท
                    2. ผลจากการปรับโครงสร้างหนี้โดยการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ดังกล่าว  สามารถลดการกระจุกตัวของหนี้ ลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ในอนาคต และช่วยยืดอายุเฉลี่ยของหนี้ ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ พ.ศ. 45 จากเดิม 3.54 ปี เป็น 3.68 ปี รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยลดลงจากร้อยละ 2.628 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.587 ต่อปี
                    3. กค. ได้ออกประกาศ กค. เกี่ยวกับผลการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาล โดยการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ตามที่กล่าวข้างต้นเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไปด้วยแล้ว

9. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560-2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน              พ.ศ. 2560-2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (15 พฤศจิกายน 2559) ที่กำหนดให้ กค. ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีปีละครั้ง] โดยแผนพัฒนาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการเงิน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้ใช้บริการทางการเงิน ด้านผู้ให้บริการทางการเงิน และด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ประกอบด้วย 78 โครงการ (เพิ่มเติมจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 4 โครงการ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ขอเพิ่มโครงการภายใต้แผนพัฒนาฯ) ทั้งนี้ ณ วันที่              30 กันยายน 2563 ได้ดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัดแล้วรวม 54 โครงการ (เป็นการดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัดในปี 2560-2562 รวม 35 โครงการ) โดยเป็นโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 จำนวน 19 โครงการ แบ่งเป็น
                    1. โครงการที่ตั้งเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 จำนวน 16 โครงการ* พบว่า  มีโครงการที่ดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัด จำนวน 15 โครงการ และมีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและการให้ความรู้ทางการเงิน เช่น
โครงการ          ผลการดำเนินงาน
1) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่คนในชุมชนและองค์กรการเงินชุมชนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน          อนุมัติสินเชื่อจำนวนมากกว่า 1.4 แสนล้านบาท
2) โครงการพัฒนาและยกระดับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้หลุดพ้นความยากจนของ ธ.ก.ส.          สามารถพัฒนาและยกระดับรายได้กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วจำนวนมากกว่า 1.6 แสนราย
3) โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับประชาชนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย          ส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อยที่สามารถตอบสนองการดำเนินชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 9.1 ล้านกรมธรรม์
*หมายเหตุ : โครงการในปี 2563 ที่ยังไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ยกระดับการแก้ไขเรื่องร้องเรียนและให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถร้องเรียนตามสิทธิของตนกับธนาคารพาณิชย์เป็นลำดับแรกของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อ 31 ธันวาคม 2563
                    2. โครงการที่ตั้งเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 แต่สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัดในปี 2563 แล้ว จำนวน 4 โครงการ เช่น
โครงการ          ผลการดำเนินงาน
1) โครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนของธนาคารออมสิน          จัดอบรมเพื่อสร้างทักษะการบริหารจัดการทางการเงินให้กับผู้ใช้สินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแล้วจำนวนมากกว่า 60,000 ราย
2) โครงการเพิ่มบริการทางการเงินผ่านเครือข่ายทางการเงินและสถาบันการเงินอื่น ของ ธ.ก.ส.          เพิ่มช่องทางการให้บริการทางการเงินให้ครอบคลุมประชาชนระดับฐานรากผ่านเครือข่ายทางการเงินและสถาบันการเงินอื่นจำนวนมากกว่า 1,600 แห่ง
ในส่วนโครงการภายใต้แผนพัฒนาฯ ที่ตั้งเป้าหมายจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ที่เหลือ หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการจะยังคงดำเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการตามแผนพัฒนาฯ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด

10. เรื่อง รายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 46 ที่บัญญัติให้ กกพ. จัดทำรายงานประจำปีเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาทุกสิ้นปีงบประมาณ และเปิดเผยต่อสาธารณชน] โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. ผลการกำกับกิจการพลังงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดย กกพ. และสำนักงาน กกพ. ได้กำกับกิจการพลังงานของประเทศภายใต้แผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2561-2564) สรุปได้ ดังนี้
                              1.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 กำกับกิจการพลังงานเป็นเลิศ มุ่งเน้นการกำกับดูแลพลังงานด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใสทั้งด้านอัตราค่าบริการพลังงาน คุณภาพการให้บริการและการตรวจติดตามมาตรฐานคุณภาพทางวิศวกรรม เช่น โครงการศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้า โดยมีหลักเกณฑ์ตามนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราไฟฟ้าปี 2561 - 2563 เช่น (1) อัตราไฟฟ้ามีความเหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมสะท้อนต้นทุนและเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ โดยปรับอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ทุก ๆ 4 เดือน และ (2) การส่งเสริมความเสมอภาคของประชาชน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเดียวกันต้องเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ โครงสร้างศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและปรับใช้เทคโนโลยีการพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน เพื่อนำข้อมูลไปประมวลผลสำหรับเป็นแนวทางการวางแผนการบริหารจัดการข้อมูลด้านไฟฟ้าต่อไป
                              1.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการแข่งขันและก้าวทันนวัตกรรมพลังงาน โดย กกพ. และสำนักงาน กกพ. ได้มุ่งเน้นการออกกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ศึกษาแนวทางการกำกับกิจการพลังงานที่ส่งเสริมการแข่งขัน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพื่อความมั่นคงของประเทศ เช่น โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน โดยโครงการหรือกิจกรรมที่เข้าร่วมจะต้องอยู่ในขอบเขตที่กำหนด เช่น โครงการไฟฟ้ารูปแบบใหม่และโครงการอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ โครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้เจ้าของบ้านและอาคารที่อยู่อาศัย โดยการสนับสนุนให้ประชาชนที่ต้องการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองสามารถเชื่อมระบบไฟฟ้าของประเทศและขายผลผลิตไฟฟ้าที่เหลือใช้เข้าสู่ระบบได้
                              1.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาการมีส่วนร่วมและสื่อสารงานกำกับกิจการพลังงานให้เข้าถึง โดย กกพ. ได้ยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้วยการบูรณาการกลไกต่าง ๆ เช่น การเปิดรับข้อเสนอโครงการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชุมชนที่ดีและเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน การช่วยอุดหนุนชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าในรัศมี 1 กิโลเมตร ให้ได้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรีหรือไฟฟ้าราคาถูกกว่าปกติ เนื่องจากเป็นผู้เสียสละให้ตั้งโรงไฟฟ้าใกล้บ้าน
                              1.4 ยุทธศาสตร์ที่ 4 องค์กรมีสมรรถนะสูง เป็นมืออาชีพ สำนักงาน กกพ. ได้เน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเพิ่มศักยภาพสมรรถนะบุคลากรในโครงการพัฒนานักบริหารรุ่นใหม่และเตรียมความพร้อมขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูง เพื่อให้มีความรู้ ทักษะ และกรอบแนวคิดตามแผนพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้ ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนองค์กรตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย
                    2. ผลการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
                              2.1 การชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าและการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส โดยมีการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า (การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) จำนวน 14,832 ล้านบาท และการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส จำนวน 2,125.20 ล้านบาท และการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็กที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน จำนวนประมาณ 3.8 ล้านราย
                              2.2 การพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า มีการจัดสรรเงินรวม 2,884.58 ล้านบาท สำหรับกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จำนวน 244 กองทุน
                              2.3 การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยมีโครงการได้รับการอนุมัติจำนวน 8 โครงการ เป็นเงินรวม 770.93 ล้านบาท
                              2.4 การส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า มีโครงการได้รับการอนุมัติ จำนวน 18 โครงการ เป็นเงินรวม 463.80 ล้านบาท
                    3. งบการเงินและบัญชีทำการของสำนักงาน กกพ. และกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบงบการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 แล้ว เห็นว่าถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามหลักการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยสำนักงาน กกพ. และกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีรายได้รวม 21,091.76 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานรวม 20,474.03 ล้านบาท โดยงบการเงินเฉพาะสำนักงาน กกพ. มีรายได้จากการดำเนินงาน 968.50             ล้านบาท และมีรายได้แผ่นดินนำส่งคลัง 108.06 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนของงบแสดงฐานะการเงินของสำนักงาน กกพ.           มีรายละเอียด ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
รายการ          ปี 2562          ปี 2561          เพิ่ม/(ลด)
รวมสินทรัพย์          2,460.65          2,135.74          324.91
รวมหนี้สิน          599.94          501.85          98.09
รวมส่วนของทุน          1,860.71          1,633.89          226.82
รวมหนี้สินและส่วนของทุน          2,460.65          2,135.74          324.91
                    4. แผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงาน กกพ. ได้จัดทำแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการกำกับกิจการพลังงานระยะที่ 4 (พ.ศ. 2563-2565) โดยจะมีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น ส่งเสริมการให้บริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าขับเคลื่อนการสร้างทัศนคติที่ดีในการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้าและชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

11. เรื่อง สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (29 พฤศจิกายน 2548) ที่รับทราบแนวทางการจัดระเบียบของระบบกระบวนการแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนของประชาชนและมอบหมายให้ทุกกระทรวงดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยให้ สปน. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการติดตามผลการดำเนินการ และสรุปรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบทุก 3 เดือน] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนและการประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ สรุปได้ ดังนี้
                              1.1 สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
                                        1.1.1 สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 36,160 ครั้ง 21,381 เรื่อง ทั้งนี้ สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 18,908 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 88.43 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2,473 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 11.57
                                        1.1.2 หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้
                                                  (1) ส่วนราชการ ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงคมนาคม ตามลำดับ
                                                  (2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ตามลำดับ
                                                  (3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และชลบุรี ตามลำดับ
                              1.2 การประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สรุปได้ ดังนี้
                                        1.2.1 สถิติการใช้บริการจำแนกตามช่องทางการร้องทุกข์ โดยเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงไตรมาสเดียวกัน พบว่า ประชาชนยื่นเรื่องร้องทุกข์เพิ่มขึ้นในหลายช่องทาง คิดเป็นร้อยละ 16.58 เนื่องจากมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ระลอกใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยช่องทางที่ประชาชนนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ สายด่วนของรัฐบาล 1111 ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.36 เมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกันในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนเลือกใช้ช่องทางที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และต้องการให้มีการสื่อสารในลักษณะสองทาง (Two-way Communication) หน่วยงานของรัฐจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการให้บริการทางโทรศัพท์ในทุกด้าน ทั้งในด้านข้อมูลข่าวสาร ด้านบุคลากร ผู้ให้บริการในการตอบคำถามและการสร้าง Service Mind ของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการอย่างต่อเนื่อง
                                        1.2.2 ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ (1) การรักษาพยาบาล (2) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน (3) การเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและโครงการของรัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 (4) การเมืองการปกครอง (5) น้ำประปา (6) ไฟฟ้า (7) ถนน (8) โทรศัพท์ (9) บ่อนการพนัน และ (10) ยาเสพติด ตามลำดับ
                                        1.2.3 การวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องร้องทุกข์ผ่านสายด่วน 1111 ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 29,859 เรื่อง และสามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 29,680 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 99.40 จำแนกได้ ดังนี้
                                                  (1) สอบถามข้อมูลและแสดงความคิดเห็น 28,691 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 96.09 โดยสอบถามข้อมูลแนวทางและข้อปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด
                                                  (2) ร้องขอความช่วยเหลือและแจ้งเหตุ 1,168 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 3.91 โดยร้องเรียนร้องทุกข์เกี่ยวกับการกำหนดมาตรการการดูแล การเยียวยา และการให้ความช่วยเหลือด้านการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด
                                        1.2.4 การแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกฎหมายและการร้องเรียน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านช่องทาง 1111 (ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม - 7 มีนาคม 2564) จำนวน 602 เรื่อง ดังนี้
ลำดับที่          ประเด็นเรื่อง          จำนวน
เรื่อง          ดำเนินการ
จนได้ข้อยุติ          รอผล
การพิจารณา
1          แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกรณีการเข้าเมืองผิดกฎหมาย          44          32          12
2          แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกรณีบ่อนการพนัน          326          286          40
3          แจ้งเบาะแสกรณีการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9* แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548          232          140          92
รวม          602          458          144
* มาตรา 9 บัญญัติให้ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุได้
                              1.3 ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์
                                        1.3.1 ประเด็นการร้องเรียน/ร้องทุกข์เกี่ยวกับโครงการ/มาตรการช่วยเหลือเยียวยาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่ามีการทุจริตผ่านโครงการ/มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายสูงและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล จึงควรมีการจับกุมดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดและตัดสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อมิให้เกิดการทำเป็นกระบวนการ
                                        1.3.2 การให้ข้อมูลเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานควรให้ความสำคัญ ซึ่งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 เสมือนเป็นด่านหน้าที่ต้องตอบข้อซักถามรับฟังปัญหาในทุกมิติจากประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ไม่สามารถประสานงานด้านข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนจากหน่วยงานเจ้าของเรื่องได้ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจต่อการบริการที่ได้รับ
                    2. แนวทางการบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และการประสานขอความร่วมมือส่วนราชการเพื่อสนับสนุนการดำเนินการในระยะต่อไป ดังนี้
                              2.1 ส่วนราชการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีผลเป็นที่ยุติด้วยความเป็นธรรมภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์
                              2.2 นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเหมาะสม ประกอบกับศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาระบบสารสนเทศที่สนับสนุนการวางแผน หรือการคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของอัตราการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนเรื่องร้องทุกข์ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือส่วนราชการ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบประมวลผลที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก [ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI)] ประมวลข้อมูลจากสถิติเรื่องร้องทุกข์ในแต่ละปี ตลอดจนพัฒนาช่องทางการติดต่อ (ระบบตอบรับอัตโนมัติ) เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการรอคอยเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ
                              2.3 ส่วนราชการกำหนดให้มีผู้ประสานงานด้านข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานที่สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนได้
                    3. สปน. ได้วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเรื่องสำคัญเสนอเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นการแจ้งข้อมูลและเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ประสานส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเร่งรัดติดตามผลการพิจารณาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบควรต้องลงโทษผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกำหนดมาตรการที่เข้มงวด รวมถึงบทลงโทษแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นมาตรการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจังต่อไป (สปน. ได้แจ้งเวียนเรื่องดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบด้วยแล้ว)

12. เรื่อง รายงานผลการพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                    เรื่องเดิม
                    1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพุธที่ 27 มกราคม 2564 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้บางประการ และมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตนั้น โดยมีข้อสังเกตว่าพืชกระท่อมเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ จึงควรนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกร และได้ปรับลดระยะเวลาวันใช้บังคับกฎหมายให้มีความเหมาะสม จากพ้นกำหนด 180 วัน เหลือ 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. ?. ซึ่งจะเป็นกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมบังคับเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมหลังจากที่ได้ยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติด ไม่ควรมีลักษณะเป็นการควบคุม หรือมีข้อจำกัดการใช้พืชกระท่อมในลักษณะเป็นยาเสพติด เว้นแต่เป็นการควบคุมบางประการให้มีความเหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งควรสนับสนุนพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปให้เกิดประโยชน์ต่อไป
                    2. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 24 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้บางประการ และมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตนั้น โดยมีข้อสังเกตว่าการยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติด อาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่อาจนำไปใช้ผสมกับยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอื่น ๆ และอาจกระทบต่อผู้ซึ่งได้ดำเนินการปลูก ผลิต นำเข้าและส่งออกไปก่อนที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะเป็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย จึงมีความจำเป็นต้องเร่งรัดการออกกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมเป็นการเฉพาะและเพื่อมิให้เกิดสุญญากาศ และควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมให้ชัดเจนและเพียงพอทั้งในด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ รวมทั้งควรประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป
                    3. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                    ข้อเท็จจริง
                    ยธ. รายงานว่า ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 โดยมีแนวทางการดำเนินการและข้อสังเกตเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ          แนวทางการดำเนินการและข้อสังเกต
1. ควรมีการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้กับประชาชน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับวันบังคับใช้กฎหมาย [มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (รจ.)] ซึ่งประชาชนอาจเกิดความเข้าใจผิดว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้ทันทีหากมีการใช้หรือบริโภคอาจถูกจับกุมในช่วงเวลาที่กฎหมายยังไม่มีผลใช้บังคับได้ [ปัจจุบัน พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 64 ได้ประกาศใน รจ. เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 64 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 24 ส.ค. 64]          - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้จัดทำชุดความรู้ที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปสื่อสารกับประชาชนได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยจัดทำในรูปแบบของอินโฟกราฟิก และมีเนื้อหาครอบคลุมถึงวันบังคับใช้กฎหมาย ประโยชน์ โทษ รวมทั้งเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ทั้งนี้ สำหรับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีการใช้พืชกระท่อมมากกว่าพื้นที่อื่น จะได้มีการใช้ภาษาท้องถิ่นหรือภาษาต่างประเทศด้วย
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนผ่านกลไกต่าง ๆ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ เช่น ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ และหอกระจายข่าว เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับวันมีผลใช้บังคับของกฎหมาย เพื่อเตรียมพร้อมเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว
2. การจัดทำร่างกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมควรมีเนื้อหา ดังนี้
    2.1 ไม่ควรควบคุมหรือมีข้อจำกัดการใช้แบบ
ยาเสพติด
    2.2 ควรควบคุมเฉพาะที่จำเป็นและมีความเหมาะสม เช่น การป้องกันการใช้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ประชาชนสามารถปลูกได้อย่างเท่าเทียม
    2.3 ส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ และการแปรรูป
    2.4 การเร่งรัดการออกกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมเนื่องจากการนำพืชกระท่อมไปผสมกับยาเสพติดให้โทษประเภทอื่นยังคงเป็นความผิดอยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้บังคับกฎหมาย          - สคก. ได้นำประเด็นข้อสังเกตดังกล่าวไปตรวจพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. พืชกระท่อม พ.ศ. ?. แล้ว ซึ่ง ครม. ได้มีมติ (18 พ.ค. 64) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร
3. ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมพืชกระท่อม ให้พิจารณานำกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับ          - การควบคุมพืชกระท่อมไม่ให้นำไปใช้ในอาหารอาจพิจารณานำประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 พ.ศ. 2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย และประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 มาใช้บังคับ
- การป้องกันการเข้าถึงพืชกระท่อมในเด็กและเยาวชน
อาจพิจารณานำพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาใช้บังคับ โดยแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ. 2549 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บนและจัดให้เด็กทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2549 เป็นต้น
4. ควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมในด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจนเพียงพอ อาทิ ด้านสุขภาพ ประโยชน์จากสารสกัดพืชกระท่อม ผลกระทบด้านลบในการเสพติดหรือเกี่ยวกับการออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท          - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์ โดยมีแนวทางที่สำคัญ จำนวน 11 ด้าน ดังนี้
    1) การพัฒนาสายพันธุ์ ระบบการเขตกรรม การเก็บเกี่ยว และวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
    2) การศึกษาและวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การเคี้ยวใบสด ต้ม ชงชา และผง
    3) การวิจัยและพัฒนาสารสกัดมาตรฐานจากพืชกระท่อม
    4) การศึกษาและวิจัยทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของสารสกัดพืชกระท่อม
    5) การวิจัยและพัฒนาในการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย
    6) การวิจัยและพัฒนาในการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน
    7) การวิจัยและพัฒนาในการทดแทนสารเสพติด
    8) การวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจฐานชุมชน
    9) การวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่ระบบเชิงพาณิชย์
และอุตสาหกรรม
    10) การศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบกำกับ ดูแลและติดตามพืชกระท่อม
    11) การวิจัยเชิงสังคม กฎหมาย สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ ในเรื่องของทุนสนับสนุน หากมีโครงการศึกษาวิจัยเร่งด่วน สำคัญ และมีผลกระทบต่อประเทศ สามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้

13. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                    เรื่องเดิม
                    1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภามาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
                              1.1 ข้อเสนอแนะระดับนโยบาย ได้แก่ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลัง 2) การเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบ 3) การให้ความสำคัญภาคการผลิตและภาคการบริการ 4) การขยายอายุกองทุนประกันสังคม 5) การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ 6) การออมในรูปแบบอื่น และ 7) การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข
                              1.2 ข้อเสนอแนะในทางปฏิบัติ ได้แก่ 1) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ 2) การเพิ่มบทบาทของธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ 3) การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน 4) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุน เงินทุนหมุนเวียน 5) การเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ว่างงานให้ตรงตามความต้องการ 6) การปรับใช้ระบบการทำงานแบบดิจิทัล 7) การขยายฐานนักลงทุน และ 8) การยกระดับภาคการเงินให้เป็นไปอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social and Governance)
                    2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี  พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                    ข้อเท็จจริง
                    กค. เสนอว่าได้ดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ดศ. สธ. รง.สงป. และ สศช. เกี่ยวกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อ 1. แล้ว โดยไม่ขัดข้องต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ทั้งนี้ ได้มีการดำเนินการและมีความเห็นเพิ่มเติม สรุปได้ ดังนี้
                    1. ข้อเสนอแนะระดับนโยบาย
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ          ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ
1. การเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลัง
   1.1 ปฏิรูปการจัดเก็บรายได้รัฐบาลทั้งระบบ รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐ
   1.2 ควรบูรณาการระบบภาษีเข้ากับระบบสวัสดิการ
   1.3 ความเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณและใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสม
             ? กค. ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้โดยมีการผลักดันบังคับใช้กฎหมาย E-Service และ Transfer Pricing เพื่อช่วยป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทและเพิ่มรายได้ของรัฐ
   ? สงป. ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรร
งบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบและให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน รวมทั้งให้หน่วยรับงบประมาณรายงานผลสัมฤทธิ์และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในภารกิจอย่างเหมาะสม
2. การเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบ
    ควรจัดทำแผนดำเนินการเพื่อป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID - 19 โดยต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 1 ปีขึ้นไป             ? สธ. ได้มีการเตรียมพร้อมในการจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายงบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 สธ. ได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (AMC) กับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และเตรียมพร้อมด้านงบประมาณสำหรับการจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย
3. การให้ความสำคัญภาคการผลิตและภาคการบริการ
    ควรส่งเสริมภาคการผลิตให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งส่งเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดตลาดภาคการบริการให้มากยิ่งขึ้น          ? สศช. ได้มีแนวทางเสริมสร้างศักยภาพในการฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศให้สามารถ ?ล้มแล้ว ลุกไว หรือ Resilience? เช่น สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 โดยเน้นเกษตรทฤษฎีใหม่สินค้าและบริการชุมชน สินค้าโอทอป เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตร กระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคบริการ
4. การขยายอายุกองทุนประกันสังคม
    4.1 เพิ่มอัตราเงินสมทบร้อยละ 2 ทุก 5 ปี เป็นระยะเวลา 15 ปี นับแต่ปีที่เริ่มดำเนินการ
    4.2 ขยายอายุผู้มีสิทธิเริ่มรับบำนาญชราภาพ ขยายเป็น 65 ปี โดยปรับอายุรับบำนาญเพิ่ม 1 ปี ทุก ๆ 5 ปี
    4.3 เพิ่มเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาท ต่อเดือน เป็น 20,000 บาทต่อเดือน
    4.4 ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการเงินกองทุนเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนการลงทุน
          ? รง. และ กค. ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการกองทุนประกันสังคม และมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น การเพิ่มอัตราเงินสมทบตามความเห็นขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำเป็นต้องลดอัตราเงินสมทบในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนปี 2563 ส่วนในปี 2564 จะปรับลดอัตราเงินสมทบในช่วงเดือนมกราคม ? มีนาคม 2564 และในส่วนของการเพิ่มเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาทต่อเดือน เป็น 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถึงข้อดี ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการปรับเพดานค่าจ้างในช่วงนี้
5. การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ
    5.1 ผลักดันร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ.....
    5.2 ส่งเสริมการออมภาคสมัครใจสำหรับแรงงานนอกระบบ เพื่อให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ          ? รง. และ กค. ได้ดำเนินการผลักดันร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อเป็นการบังคับให้ลูกจ้างมีการออมเงินการเกษียณอายุในระดับที่เหมาะสมและมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ รวมทั้งส่งเสริมการออมภาคสมัครใจสำหรับแรงงานนอกระบบโดยมีมาตรการจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติและส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่อง
6. การออมในรูปแบบอื่น
    เช่น การออมผ่านการใช้จ่าย โดยทุกครั้งที่มีการชำระสินค้า จะต้องหักส่วนหนึ่งเข้ากองทุนการออมเพื่อเกษียณอายุ          ? กค. ได้ดำเนินการให้มีการบังคับออม โดยการออมผ่านการใช้จ่าย (Saving through spending) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีการออมเพื่อการดำรงชีพหลังเกษียณ โดยจะมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้และผลกระทบในด้านต่าง ๆ ก่อน
7. การเตรียมความพร้อมทางด้านการสาธารณสุข
    การเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณเพื่อรองรับการดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19          ? สงป. และ สธ. ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณ เพื่อรองรับการดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 99,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเตรียมความพร้อมด้านการจัดหาวัคซีนเพื่อให้บริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
                    2. ข้อเสนอแนะในทางปฏิบัติ
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ          ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ
1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ
    1.1 ควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในแต่ละรอบเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
    1.2 หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุน ควรให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายและใช้งบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
          ? สงป. ได้กำหนดให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และอนุมัติเงินจัดสรร
งบประมาณรายจ่ายดังกล่าว โดยกำหนดเป็นเป้าหมาย
การใช้จ่ายในแต่ละไตรมาส
? กค. ได้ดำเนินการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ และคณะกรรมการเฉพาะกิจในการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
2. การเพิ่มบทบาทของธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ
    ควรกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านของรูปแบบการให้สินเชื่อ เช่น ผ่อนผันระยะเวลาชำระหนี้ งดคิดดอกเบี้ยหรือลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเหมาะสม           ? ธปท. ได้ดำเนินการผ่อนผันระยะเวลาการชำระหนี้ การงดคิดดอกเบี้ยหรือลดอัตราดอกเบี้ย โดยกำหนดระยะเวลาให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เช่น ลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินพิจารณาขยายระยะเวลาชะลอการชำระหนี้เป็นรายกรณีได้ไม่เกิน 6 เดือน นับจากสิ้นปี 2563
? กค. มีมาตรการเพื่อผ่อนผันการชำระหนี้ เช่น ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้หรือมีรายได้ที่ไม่แน่นอนจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้
? รัฐบาล ได้มีมาตรการด้านการเงินโดยให้ความช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและประชาชน เช่น มาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ SMEs โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นต้น
3. การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน
    3.1 เรื่องรายรับรายจ่ายการออมการลงทุน
    3.2 การทำประกันภัยการว่างงานและประกันภัยโรคระบาด          ? กค. ได้ดำเนินการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน เรื่องรายรับรายจ่าย การออมการลงทุน และผลตอบแทนการลงทุนประเภทต่าง ๆ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมสัมมนาและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนและปรับปรุงแผนการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย ระยะ 5 ปี เพื่อยกระดับทักษะทางการเงินของประชาชน
? ประกันภัยการว่างงาน ขณะนี้ไม่มีบริษัทรับประกันภัยมานานแล้ว
? ธปท. ได้เร่งสร้างความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน โดยเน้นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมทั้ง คนรุ่นใหม่ โดยผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ Fin. ดี We Can Do!!! และ Fin ดี Happy Life!!! เป็นต้น
4. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนเงินทุนหมุนเวียนรัฐวิสาหกิจ
    4.1 ควรปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการเงินกองทุนเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทน
    4.2 ควรมีการประเมินการบริหารจัดการกองทุนหรือเงินทุนหมุนเวียน
    4.3 ควรพิจารณาทบทวนบทบาทของกองทุน หรือเงินทุนหมุนเวียน
          ? กค. ได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ โดยจำเป็นต้องนึกถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)ได้มีระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจและรายงานผลการประเมินเป็นประจำทุกปี รวมถึงได้มีการทบทวนบทบาทของทุนหมุนเวียน เกี่ยวกับการยุบเลิกทุนหมุนเวียนตาม พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558
5. การเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ว่างงานให้ตรงตามความต้องการของตลาด
    5.1 ควรเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ว่างงานเพื่อสร้างอาชีพหรือมีทักษะตรงตามความต้องการของตลาด
    5.2 ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนประกอบอาชีพรอง เพื่อเป็นรายได้เสริม          ? รง. ได้ดำเนินการฝึกอบรมให้แก่แรงงานผู้ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน บุคคลทั่วไปให้มีทักษะความสามารถที่สูงขึ้น ภายใต้โครงการ เช่น โครงการเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษรวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนประกอบอาชีพรอง เพื่อเป็นรายได้เสริม ผ่านโครงการต่าง ๆ ของ รง. เช่น โครงการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชน โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคนชุมชน และสังคมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเมืองอัจฉริยะ และโครงการพัฒนาทักษะด้านอาชีพแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ โดยมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน รวม 77 แห่ง ทั่วประเทศ
6. การปรับใช้ระบบการทำงานแบบดิจิทัล
    เช่น การยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การยอมรับการลงลายมือชื่อผ่านอิเล็กทรอนิกส์ การประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการใช้ระบบไร้กระดาษ (Paperless)          ? ดศ. ได้ดำเนินการกำหนดข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ใช้งานที่ต้องการใช้ลายมืออิเล็กทรอนิกส์สามารถเลือกใช้วิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยออกกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งพระราชกำหนดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางให้สามารถจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พร้อมรองรับผลทางกฎหมายได้
? ธปท. ได้ดำเนินการปรับปรุงและผลักดันกฎหมาย
เพื่อรองรับการยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาระบบ National Digital Identity (NDID) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์
7. การขยายฐานนักลงทุน
    ควรขยายฐานนักลงทุนทั้งในผลิตภัณฑ์เงินฝากกองทุนรวม พันธบัตร หุ้นกู้ และหุ้นรายย่อย เพื่อให้ตลาดทุนไทยมีภูมิต้านทานต่อความผันผวน
          ? กค. ได้ดำเนินการออกมาตรการต่าง ๆ เช่น การพัฒนา Digital Infrastructure เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุน การพัฒนา Platform เพื่อสนับสนุนให้ SMEs และ Startup สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาวโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (กองทุน SSF)
? ธปท. ได้พัฒนาระบบงานจำหน่ายพันธบัตรภายใต้โครงการ DLT Scripless Bond เพื่อลดขั้นตอนในการตรวจสอบ ช่วยให้ผู้ลงทุนได้รับพันธบัตรเร็วขึ้น และผลักดันให้คนไทยลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย
8. การยกระดับภาคการเงินให้เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social and Governance)          ? กค. รายงานว่า สำนักงาน กลต. มีการส่งเสริมจัดทำแนวทางการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนเพื่อเพิ่มคุณภาพในการรายงาน การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน และ กค. โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้มีการจัดทำกรอบการจัดหาเงินเพื่อความยั่งยืนของราชอาณาจักรไทยและได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน โดยเป็นรุ่นแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ออกโดยรัฐบาล วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท
? ธปท. ได้ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคลากรในภาคการเงิน โดยจัดงาน Bangkok Sustainable Banking Forum เพื่อสนับสนุนให้ภาคสถาบันการเงินดำเนินธุรกิจการธนาคารเพื่อความยั่งยืน และได้นำหลักการ ESG ไปปฏิบัติจริง โดยจัดทำแนวทาง/ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเงินที่ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานภาคการเงินมีการดำเนินการและนโยบายที่สอดคล้องกัน

14. เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 (ครั้งที่ 153)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบดังนี้
                    1. รับทราบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2564 (ครั้งที่ 153) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ (1) แนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ (ก๊าซฯ) ระยะที่ 2 (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซฯ เพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 ? 2580 [Power Development Plan 2018 (Revision 1): PDP 2018 (Rev.1)] (3) หลักเกณฑ์การส่งออกเที่ยวเรือก๊าซฯ เหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) (Reloading) สำหรับสัญญาระยะยาวของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) (4) นโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564 - 2568 และ (5) การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า และให้กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้ารับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    2. ให้กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำกับดูแลให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแนวทางแผนงาน และโครงการที่กำหนดไว้ โดยให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมทั้งให้ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างครอบคลุมและครบถ้วนด้วย
                    3. ให้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนประเด็นตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมิติด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนทั้งในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และครัวเรือนโดยเร็ว เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้เร่งดำเนินการศึกษาและกำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากอุตสาหกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ อาทิ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) รถไฟความเร็วสูง ตลอดจนการสนับสนุนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ (Prosumers) โดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว
                    4. ให้กระทรวงพลังงานดำเนินการตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการเสนอเรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัดต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    พน. รายงานว่า ในคราวประชุม กพช. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติในเรื่องเชิงนโยบายที่สำคัญและได้รับรองมติการประชุมเรียบร้อยแล้ว จำนวน 5 เรื่อง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. แนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ระยะที่ 2 (ระยะเปลี่ยนผ่าน)1
                              1.1 พน. กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ระยะที่ 1 ระยะดำเนินโครงการนำร่อง โดย กฟผ. ได้ทดสอบนำเข้าก๊าซฯ แบบ Spot LNG จำนวน 2 ลำเรือ ปริมาณ 65,000 ตันต่อลำเรือเพื่อแปรสภาพก๊าซฯ ไปใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั้งนี้ จากผลการทดสอบมีประเด็นสำคัญที่ควรกำหนดแนวทางที่ชัดเจนก่อนดำเนินงานระยะที่ 2 เช่น (1) การทดสอบได้รับการผ่อนปรน กฎ ระเบียบ ข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้บริการของสถานี LNG และการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซบนบกแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code) (2) ต้องมีการปรับคุณภาพ LNG ด้วยการผสมกับก๊าซของ ปตท. เพื่อให้ได้คุณสมบัติค่าความร้อนอยู่ในช่วงที่สามารถส่งเข้าสู่ระบบได้ และ (3) กรณีราคา LNG แบบ Spot ปรับตัวสูงขึ้นเท่ากับราคา Pool Price2 หรือสูงกว่า อาจทำให้ Shipper ไม่ประสงค์จะนำเข้า LNG มาใช้เองและกลับมาซื้อก๊าซจากราคาเฉลี่ยของประเทศ เป็นต้น
                              1.2 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในการประชุม เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อจากแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ระยะที่ 1 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแล้ว (มติคณะรัฐมนตรี 26 กันยายน 2560 และ 31 มีนาคม 2563) โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หัวข้อ          สาระสำคัญ
โครงสร้าง
กิจการก๊าซฯ          ? แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามแนวทางที่ กบง. และ กพช. กำหนด (Regulated Market) ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ก๊าซฯ ที่มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับ ปตท. เพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ และ/หรือเพื่ออุตสาหกรรม และ (2) กลุ่มที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง (Partially Regulated Market)
ธุรกิจต้นน้ำ :
การจัดหาก๊าซฯ          ? ให้ ปตท. บริหารอุปทานของก๊าซฯ เดิม (Old Supply) (ได้แก่ ก๊าซฯ จากแหล่งในประเทศทั้งหมด ก๊าซฯ ที่นำเข้าจากประเทศเมียนมา และ LNG จากสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะยาวที่มีอยู่ปัจจุบัน จำนวน 4 สัญญา) ผ่านราคาก๊าซฯ ที่จำหน่ายในประเทศ (Pool Gas) เพื่อจำหน่ายกับกลุ่มลูกค้าตามสัญญาเดิมกับ ปตท. (OId Demand)3
? กรณีที่ราคา Spot LNG มีราคาต่ำกว่าราคา Pool Gas ให้ ปตท. จัดหา Spot LNG ที่ราคาต่ำมาเพิ่มด้วยวิธีการประมูล ภายใต้การกำกับของ กกพ. (LNG Spot Flexible) ทั้งนี้ ให้ถือเป็น OId Supply เพื่อจำหน่ายให้กับ Old Demand
? ให้ผู้นำเข้า LNG รายใหม่ (New Shipper) จัดหาอุปทานของก๊าซฯ ใหม่ (New Supply) เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าตามสัญญาใหม่ (New Demand)4 ทั้งในกลุ่ม Regulated Market อาทิ กฟผ. โรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ และกลุ่ม Partially Regulated Market อาทิ โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ
ธุรกิจกลางน้ำ :
การส่งก๊าซฯ          ? ให้ท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่าย LNG (LNG Receiving Terminal) และโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ สายประธาน (บนบก) จะต้องเปิดให้บุคคลที่สามสามารถนำมาใช้และเชื่อมต่อได้ โดยให้จัดตั้งผู้บริหารระบบท่อก๊าซฯ (Transmission System Operator: TSO) เป็นนิติบุคคล5 มีหน้าที่บริหารโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ ที่แยกเป็นอิสระจากธุรกิจจัดหาและจำหน่ายก๊าซฯ
ธุรกิจปลายน้ำ :
การขายก๊าซฯ          ? มี 2 รูปแบบ คือ (1) การขายก๊าซฯ จาก OId Supply ในรูปแบบและราคา Pool Gas ให้กับ Old Demand อาทิ โรงแยกก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับ ปตท. อยู่ในปัจจุบัน และ (2) การขายก๊าซฯ จาก New Supply โดย New Shipper ให้กับโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่จะลงนามในสัญญาใหม่ (New Demand) ทั้งในกลุ่มลูกค้าที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ (Regulated Market) และกลุ่มที่ไม่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ (Partially Regulated Market)
โครงสร้าง
ราคาก๊าซฯ          ? ประกอบด้วย ราคาเนื้อก๊าซฯ ค่าบริการสถานี LNG ค่าบริการจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ และอัตราค่าผ่านท่อก๊าซฯ (อัตราค่าผ่านท่อก๊าซฯ ที่ Shipper รายใหม่ต้องไปจองใช้บริการท่อก๊าซฯ จาก TSO ให้คำนวณเฉพาะค่าผ่านท่อฯ บนบกเท่านั้น) โดยให้ กกพ. กำหนดและทบทวนโครงสร้างราคาฯ ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ของปี 2564 เพื่อเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณาต่อไป
หลักเกณฑ์
การนำเข้า LNG          ? กรณีสัญญาระยะยาว/ระยะกลาง ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กำหนดหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG เสนอ กบง. และ กพช.
? กรณีนำเข้า Spot LNG ต้องมีราคาต่ำกว่า Pool Gas โดย ปตท. จัดประมูลหา Spot Flexible ภายใต้การกำกับของ กกพ.
? กรณีทั้ง 2 กรณีข้างต้นจะต้องมีราคาไม่เกินราคาอ้างอิงของประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (Japan-Korea Marker. JKM) ปรับด้วยส่วนต่างค่าขนส่งจากประเทศผู้ค้าต้นทางส่งมอบที่ประเทศญี่ปุ่นกับที่ประเทศไทย (JKM adjust by freight cost) และมีเพดานราคาไม่เกินราคา LNG นำเข้าจากสัญญาระยะยาวที่ต่ำที่สุดทุกช่วงเวลาของ ปตท. ในปัจจุบัน
? ปริมาณการนำเข้า LNG จะต้องไม่ส่งผลให้เกิดภาระ Take or Pay
                              1.3 กพช. มีมติรับทราบผลการดำเนินงานการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ระยะที่ 1 ระยะดำเนินโครงการนำร่อง ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563และเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ระยะที่ 2 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในรายละเอียดต่อไป รวมถึงมอบหมาย กบง. เป็นผู้พิจารณาและดำเนินการตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ระยะที่ 2 ในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมต่อไป
                    2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซฯ เพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าตามแผน PDP2018 (Rev.1)
                              2.1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (20 ตุลาคม 2563) เห็นชอบแผน PDP2018 (Rev.1) ซึ่งตามแผนดังกล่าว เขตนครหลวงจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากแผน PDP2015 (ที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแล้ว) ประมาณ 2,820 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2580 กล่าวคือ ความต้องการใช้ก๊าซฯ จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ [จาก 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMscfd) เป็น 1,050 MMscfd] จนเกินศักยภาพรวมของโครงการสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ 2 แห่ง (800 MMscfd) ภายใต้แผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซฯ เพื่อความมั่นคงตามแผน PDP2015ประกอบกับ ในช่วงปี 2567 - 2570 ความต้องการใช้ LNG ของประเทศจะอยู่ที่ระดับ 11-13 ล้านตันต่อปี ซึ่ง LNG Receiving Terminal ของ ปตท. ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจะมีศักยภาพรองรับการนำเข้า LNG ได้ถึง 24 ? 34.8 ล้านตันต่อปี ดังนั้น ปตท. ร่วมกับ กฟผ. ประเมินทางเลือกในการพัฒนาศักยภาพของโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้า LNG (LNG Receiving Facilities) โดยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเห็นว่า เพื่อให้สามารถรองรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าชฯ ที่เพิ่มขึ้นได้ตามแผน PDP ดังกล่าว โดยเห็นควรให้ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการ FSRU พื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตันต่อปี ของ กฟผ. และให้ ปตท. ดำเนินโครงการระบบท่อส่งก๊าซฯ บนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้แทนโครงการสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ 2 แห่ง ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพของระบบรับส่งก๊าซฯ ในเขตนครหลวงจาก 800 MMscfd เป็น 1,400 MMscfd และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโครงการสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ 2 แห่งดังกล่าว เพื่อให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่สร้างภาระแก่ประชาชน ทั้งนี้ กบง. ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 โดยข้อเสนอของ ปตท. และ กฟผ. มีสาระสำคัญต่างไปจากโครงการเดิมสรุปได้ ดังนี้
โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซฯ
ตามแผน PDP2015          ข้อเสนอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซฯ
ตามแผน PDP2018 (Rev.1)
? ให้ กฟผ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) ขนาด 5 ล้านตันต่อปี มูลค่าการลงทุนประมาณ 24,500 ล้านบาท
          ? ให้ กฟผ. ร่วมลงทุนกับ ปตท. สัดส่วน 50:50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี
? ให้ ปตท. เป็นผู้ดำเนินโครงการสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ กลางทางบนระบบท่อส่งก๊าซฯ บนบกเส้นที่ 5 และโครงการสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ บนระบบท่อส่งก๊าซฯ ราชบุรี-วังน้อย
    - ศักยภาพการรับส่งก๊าซ 800 MMscfd
    - วงเงินลงทุนรวม ประมาณ 12,000 ล้านบาท          ? ยกเลิกโครงการสถานีเพิ่มความดัน 2 แห่งดังกล่าว
? ให้ ปตท. ดำเนินโครงการระบบท่อส่งก๊าซฯ บนบก จากอำเภอบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้
    - ศักยภาพการรับส่งก๊าซ 1,400 MMscfd
    - วงเงินลงทุน 11,000 ล้านบาท
    - จุดเริ่มต้น-สิ้นสุดโครงการ : อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา-อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
    - ระยะทางประมาณ 74 กิโลเมตร
    - กำหนดแล้วเสร็จปี 2568
                              2.2 กพช. มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนเป็นการร่วมลงทุนกับ ปตท. สัดส่วน 50:50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) และเห็นชอบให้ ปตท. เป็นผู้ดำเนินโครงการระบบท่อส่งก๊าซฯ บนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และยกเลิกสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ ทั้ง 2 แห่ง โดยมีรายละเอียดตามที่ กบง. มีมติเห็นชอบข้างต้น
                    3. หลักเกณฑ์การส่งออกเที่ยวเรือ LNG (Reloading) สำหรับสัญญาระยะยาวของ ปตท.
                              3.1 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 กกพ. มีมติเห็นชอบในหลักการตามแผนปฏิบัติการภายใต้โครงการ ERC Sandbox6 เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) ทั้งนี้ การส่งออก LNG (Reloading) ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว                       มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการปริมาณ LNG ในช่วงที่ความต้องการใช้ก๊าซฯ ลดลงจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้ ปตท.ขาย LNG ได้ในช่วงที่ราคา Spot สูงกว่าราคาจากสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะยาว และหาโอกาสจัดหา LNG เข้ามาทดแทนในช่วงที่ราคา Spot ลดลง โดยระหว่างวันที่ 25 - 26 มกราคม 2564 ปตท. ได้ดำเนินการทดลองส่งออก LNG และได้รายงานว่าการดำเนินการไม่เกิดปัญหาอุปสรรคด้านเทคนิค และเกิดรายได้นำส่งภาครัฐประมาณ 580 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 กบง. มีมติรับทราบการดำเนินการส่งออก LNG (Reloading) เที่ยวเรือแรกของ ปตท. ดังกล่าว และมอบหมายให้ กกพ. นำรายได้นำส่งภาครัฐประมาณ 580 ล้านบาท ไปลดราคาค่าก๊าซฯ รวมทั้งเห็นชอบหลักเกณฑ์การส่งออกเที่ยวเรือ LNG (Reloading) สำหรับสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะยาวของ ปตท. โดยให้นำเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
                              3.2 หลักเกณฑ์การส่งออกเที่ยวเรือ LNG (Reloading) สำหรับสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะยาวของ ปตท. มีดังนี้
                              3.2.1 หลักเกณฑ์ด้านปริมาณ ให้ ปตท. สามารถดำเนินการส่งออก LNG ได้ โดยต้องไม่กระทบต่อความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ
                              3.2.2 หลักเกณฑ์ด้านราคา กรณีที่ ปตท. ส่งออก LING ภายใต้สัญญาระยะยาวที่ได้รับความเห็นชอบจาก กพช. และคณะรัฐมนตรี ให้ ปตท. นำส่งรายได้ระหว่างราคาขาย LNG จริง กับราคา Pool LNG เฉลี่ยรายเดือน หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องให้กับภาครัฐไปลดราคาค่าก๊าซฯ


*ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าจ้างเรือ ค่าขนส่ง ค่า Reloading service ค่าดำเนินการของ ปตท. เป็นต้น
                              3.3 กพช. มีมติรับทราบการดำเนินการส่งออก LNG (Reloading) เที่ยวเรือแรกของ ปตท. และมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการนำรายได้นำส่งภาครัฐประมาณ 580 ล้านบาท ไปลดราคาค่าก๊าซฯ และเห็นชอบหลักเกณฑ์การส่งออกเที่ยวเรือ LNG (Reloading) สำหรับสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะยาวของ ปตท.
                    4. นโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564-2568
                              4.1 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 กบง. มีมติเห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564-2568 และกรอบแนวทางการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ตามที่ สนพ. เสนอ โดยมีหลักการที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้


หัวข้อ          สาระสำคัญ
วัตถุประสงค์ของการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า          ? เพื่อให้สะท้อนต้นทุนของกิจการไฟฟ้าอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
? เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบทของอุตสาหกรรมไฟฟ้า
? เพื่อเกื้อหนุนต่อการรักษาประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศโดยรวม
? เพื่อให้การดำเนินนโยบายของภาครัฐผ่านกลไกการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าเป็นไปอย่างครอบคลุม เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ
หลักการทั่วไปของอัตราค่าไฟฟ้า
ปี 2564-2568          ? มีลักษณะเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ (Uniform Tariff) ยกเว้นบางกรณี เช่น การซื้อขายไฟฟ้าบนพื้นที่เกาะ
? อัตราค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนรายได้ที่พึงได้รับของกิจการไฟฟ้าแต่ละประเภท (เช่น ค่าผลิต ค่าระบบส่ง ค่าระบบจำหน่าย เป็นต้น) และต้นทุนในการรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า
องค์ประกอบ
ในอัตราค่าไฟฟ้า          ? เพิ่มองค์ประกอบในอัตราค่าไฟฟ้า ได้แก่ (1) ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินงานตามนโยบายของภาครัฐ (Policy Expense)7  และ (2) ค่า Ft ซึ่งคิดจากค่าใช้จ่ายที่แตกต่างไปจากค่าที่ใช้ในการกำหนดค่าไฟฟ้าฐาน
                              4.2 นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไฟฟ้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรศึกษาและประกาศใช้อัตราค่าบริการระบบส่งและระบบจำหน่าย (Wheeling Charge) ภายในปี 2568 รวมถึงควรพิจารณาการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าทางเลือก อาทิ อัตราค่าไฟฟ้าประเภทเติมเงิน (Pre-Paid) และอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ให้ความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว (Temporary demand response programs)
                              4.3 กพช. มีมติเห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย  ปี 2564-2568 และกรอบแนวทางการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ปี 2564-2568 ตามที่ พน. เสนอ และมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ หาก กกพ. พิจารณาแล้วเห็นว่าควรกำหนดให้มีมาตรการหรือการดำเนินการเฉพาะอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนเพิ่มเติม ให้นำเสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
                    5. การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า
                    กพช. มีมติเห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ ../2564เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ภายใต้ กพช. ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ตามที่ พน. เสนอ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาลงนามต่อไป โดยให้คณะกรรมการฯ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการ สนพ.เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีหน้าที่และอำนาจหลักเพื่อจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าของการไฟฟ้า 3 แห่ง ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย และนโยบายด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้า และเสนอแผนบูรณาการดังกล่าวต่อ กพช. ภายในปี 2565 ซึ่งสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน (ฉบับปรับปรุง) ที่กำหนดให้ปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและธุรกิจก๊าซฯ เพื่อเพิ่มการแข่งขันและกำหนดเป้าหมายการจัดทำแผนบูรณาการฯ ภายใต้ปี 2565
1แนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ มี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะดำเนินโครงการนำร่อง ระยะที่ 2 ระยะเปลี่ยนผ่าน และระยะที่ 3 ระยะเสรี
2Pool Price คือ ราคาก๊าซฯ จากระบบท่อประธานของ ปตท. ที่จำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก และผู้ใช้ก๊าซอื่นๆ ประกอบด้วยก๊าซฯ จากอ่าวไทย ก๊าซจากประเทศเมียนมาแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน LNG และก๊าซฯ จากแหล่งอื่นๆ ในอนาคต มีหน่วยเป็นบาทต่อล้านบีทียู
3Old Demand ประกอบด้วย ความต้องการใช้ก๊าซฯ ของโรงแยกก๊าซฯ โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีสัญญาแบบบังคับปริมาณก๊าซฯ ซื้อขาย (Firm) กับ ปตท. (Daily Contract Quantity: DCQ) และโรงไฟฟ้าที่มีสัญญากับ ปตท. อยู่ในปัจจุบันที่เริ่มมีการใช้ก๊าชฯ ตามสัญญาแล้ว
4New Demand ประกอบด้วย ความต้องการก๊าซฯ จากโรงไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมที่จะลงนามสัญญาใหม่ และที่มีการลงนามสัญญาอยู่ในปัจจุบันแต่ยังไม่มีการเริ่มใช้ก๊าซฯ โดยสามารถซื้อจาก Pool Gas ได้ในกรณีที่ปริมาณใน Pool Gas ยังมีเหลือ
5ให้ ปตท. ดำเนินการแยกกิจการระบบท่อส่งก๊าซฯ และจัดตั้ง TSO เป็นนิติบุคคลให้แล้วเสร็จภายใน 15 เดือน หลังจากได้ข้อยุติเกี่ยวกับเรื่องที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
6Energy Regulatory Commission Sandbox (ERC Sandbox) คือ โครงการเพื่อพัฒนาและทดลองนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงานในพื้นที่เฉพาะที่กำกับดูแล
7เดิมแฝงอยู่ในส่วนของเงินลงทุน ค่าดำเนินงาน หรือ ค่า Ft

15. เรื่อง การเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้
                     ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 และแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นั้น
                     ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าเมื่อการพิจารณาแล้วเสร็จจะปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงได้จำนวนหนึ่ง สำนักงบประมาณจึงขอเสนอแนวทางและขั้นตอนการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้
                     1. แนวทางและหลักเกณฑ์การเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เฉพาะรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564 ? 2565 แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ต้องดำเนินการภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้
                               1.1 เป็นรายจ่ายที่ต้องดำเนินการตามข้อผูกพันที่เกิดจากกฎหมาย สัญญา ข้อตกลงระหว่างประเทศ และค่าใช้จ่ายเพื่อการชำระหนี้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายตามสิทธิ
                               1.2 เป็นรายจ่ายเพื่อการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รายจ่ายเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หรือค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือเป็นรายจ่ายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือรายจ่ายที่ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง ตลอดจนรายจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของหน่วยรับงบประมาณ โดยรายการที่เสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายต้องเป็นรายการที่มีอยู่ในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หรือเป็นโครงการ/รายการที่เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ หรือรายการที่มีวัตถุประสงค์ในการบรรเทา แก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                               โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
                                         (1) ไม่ควรทำให้เกิดภาระรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
                                         (2) ไม่ควรผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีในปีต่อ ๆ ไป
                                         (3) หน่วยรับงบประมาณมีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที
                                         (4) หน่วยรับงบประมาณต้องเสนอโครงการ/รายการ ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานนั้น ๆ
                                         (5) ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
                     2. แนวทางและหลักเกณฑ์การเสนอขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย เฉพาะรายการที่หน่วยรับงบประมาณเสนอขอตั้งงบประมาณไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และกรณีที่มีการโอนภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ ดังนี้
                               2.1 มีกฎหมายกำหนดให้โอนภารกิจ ทั้งกรณีที่มีการจัดตั้งหน่วยรับงบประมาณขึ้นใหม่ และไม่มีการจัดตั้งหน่วยรับงบประมาณ และกรณีเปลี่ยนชื่อหน่วยรับงบประมาณ
                               2.2 มีพระราชกฤษฎีการวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกันที่ออกตามมาตรา 8 ทวิ ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
                               โดยให้ดำเนินการ ดังนี้
                                         (1) ให้หน่วยรับงบประมาณที่ถูกโอนภารกิจ เสนอขอปรับลดงบประมาณรายจ่ายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภารกิจที่จะต้องโอน
                                         (2) ให้หน่วยรับงบประมาณที่รับโอนภารกิจ เสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ได้ปรับลดตามข้อ (1)
                     3. ขั้นตอนในการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของหน่วยรับงบประมาณ
                               3.1 ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ได้มีการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของข้อมูลแล้วว่าการดำเนินการนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กฎหมาย หรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้เสนอขอรับความเห็นชอบต่อนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับ หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด และส่งสำนักงบประมาณ พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลรายละเอียดคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายในระบบ e ? Budgeting ภายในวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2564
                                         กรณีการเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการ ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอหน่วยงานเจ้าภาพ เพื่อรวบรวมเสนอรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบแผนงานบูรณาการนั้น ๆ พิจารณาให้ความเห็นชอบและหน่วยงานเจ้าภาพส่งสำนักงบประมาณ พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลรายละเอียดคำขอเพิ่มงบประมาณในระบบ e ? Budgeting ภายในวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2564
                                         สำหรับกรณีเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ได้มีการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของข้อมูลแล้วว่าการดำเนินงานนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กฎหมาย หรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้เสนอขอรับความเห็นชอบต่อนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับ หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด และรวบรวมจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2564
                                3.2 สำหรับหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล หน่วยงานขององค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ให้ยื่นคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยตรง ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานดังกล่าวบันทึกข้อมูลรายละเอียดตามที่ได้ยื่นคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการฯ ในระบบ e ? Budgeting ภายในวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2564 ด้วย เพื่อสำนักงบประมาณจะได้ประมวลภาพรวมการขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป
                               3.3 ให้สำนักงบประมาณพิจารณาคำขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม 2564 เพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นผู้พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป


16. เรื่อง สรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ
          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ ระหว่างวันที่ 15 ? 21 มิถุนายน 2564 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) เสนอ ดังนี้
                    สรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ ระหว่างวันที่ 15 - 21 มิถุนายน 2564
          การคาดหมายลักษณะอากาศ การสั่งการเพื่อเตรียมความพร้อม และการช่วยเหลือ
1.          สภาพอากาศ (ระหว่างวันที่ 21 - 27 มิถุนายน 2564)
          ในช่วงวันที่ 21 - 25 มิถุนายน 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 26 - 27 มิถุนายน 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง ทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
          ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 26 - 27 มิถุนายน 2564 ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามัน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
                    2. การแจ้งเตือนและสั่งการเพื่อเตรียมความพร้อม
          กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันเหตุการณ์
          3. ข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย / ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทา                     สาธารณภัยแห่งชาติ
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ     ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2564 ดังนี้
          1) การเตรียมความพร้อม
                    1.1 การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย ให้จัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์โดยมี หน่วยงานด้านการพยากรณ์หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากภาคประชาสังคมหรือสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมทำหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำและเหตุการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดสาธารณภัยในช่วงฤดูฝน รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการแต่ละระดับ สำหรับใช้ในการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และสภาพพื้นที่
                    1.2 การจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ให้ทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัด          ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
                    1.3 การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ ให้มอบหมายกองอำนวยการป้องกันและบรรเทา      สาธารณภัยในแต่ละระดับดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงกันโดยเฉพาะตามรอยต่อเขตรับผิดชอบที่เป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน
                    1.4 การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ / กั้นน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำ              ให้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบจัดทีมวิศวกรเข้าสำรวจตรวจสอบ และปรับปรุงให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้สามารถรองรับกรณีฝนตกหนัก หรือน้ำไหลเข้า / ผ่านในปริมาณมาก รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่
                    1.5 การแจ้งเตือนภัย เมื่อมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มขึ้นในพื้นที่           ให้ดำเนินการแจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุ และเตรียมการในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นการล่วงหน้า รวมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบในทุกช่องทางทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ อาทิ สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูล ข่าวสาร ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางการแจ้งข้อมูล และการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในกรณีจังหวัดที่มีเส้นทางน้ำเชื่อมต่อกันให้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน และแจ้งเตือนระหว่างจังหวัดต้นน้ำและจังหวัดปลายน้ำอย่างใกล้ชิด
          2) การเผชิญเหตุ
          เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่ ให้ยึดแนวทางการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉิน ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้
                    2.1 จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์ควบคุม สั่งการ และอำนวยการหลักในการระดมสรรรพกำลัง ตลอดจน     การประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กร                 สาธารณกุศล
                    2.2 ให้มอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ตลอดจนอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่าง ๆ และร่วมกันกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ทั้งนี้ หากมีกรณีน้ำท่วมขัง สร้างความเดือดร้อน ความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนให้เร่งกำหนดแนวทางการระบายน้ำ พร้อมทั้งสั่งใช้เครื่องจักรกลในพื้นที่ของหน่วยงาน ฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชน เพื่อเร่งระบายน้ำ และเปิดทางน้ำในพื้นที่
                    2.3 จัดชุดปฏิบัติการเร่งให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพแก่ประชาชนที่ประสบภัยตามวงรอบ         อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล โดยอย่าให้เกิด ความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติ และเชิญชวนประชาชนจิตอาสามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย
                    2.4 กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้บูรณาการหน่วยงานเป็นทีมช่างในพื้นที่            ทั้งหน่วยทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนจิตอาสา เพื่อเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนโดยเร็ว
                    2.5 กรณีเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหาย หรือถูกน้ำท่วมจนประชาชนไม่สามารถใช้ยานพาหนะ       สัญจรได้ให้จัดทำป้ายแจ้งเตือนพร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร แนะนำเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย
รวมทั้งจัดยานพาหนะที่เหมาะสม อาทิ เรือ รถยกสูง เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และให้เร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุด / ถูกตัดขาด เพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรได้โดยเร็ว
                    2.6 เน้นย้ำการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในช่วงเกิดสถานการณ์อุทกภัย ผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนสื่อแขนงต่าง ๆ และสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
                    2.7 ให้รายงานสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มที่เกิดขึ้นต่อกองอำนวยการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์และเสนอ ความเห็นต่อผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในการตัดสินใจสั่งการในเชิงนโยบายต่อไป
                    สรุปสถานการณ์วาตภัย ข้อมูล ณ วันที่ 15-21 มิถุนายน 2564
                    1.1 จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 20 มิถุนายน 2564 เวลา 20.00 น. เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอ       พระสมุทรเจดีย์ รวม 1 อำเภอ 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลนาเกลือ บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 60 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
                    1.2 จากสถานการณ์พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อน   ทางเหนือเล็กน้อยมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย และขึ้นฝั่งบริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ลมกระโชกแรง น้ำไหลหลาก และดินสไลด์ ในห้วงวันที่ 12 - 16 มิถุนายน 2564 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน พิษณุโลก อุทัยธานี และจังหวัดระนอง รวม 18 อำเภอ 31 ตำบล   83 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 1,612 หลัง โรงเรียน 2 แห่ง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด อยู่ระหว่างการฟื้นฟู
          สรุปสถานการณ์แผ่นดินไหวระหว่างวันที่ 15 - 21 มิถุนายน 2564
                    กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับรายงานข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว จากกรมอุตุนิยมวิทยา         และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้เกิดแผ่นดินไหว ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนี้
                    1. วันที่ 20 มิถุนายน 2564 เวลา 10.30 น. เกิดแผ่นดินไหวบนบก ขนาด 4.6 ที่ความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 295 กิโลเมตร ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
                    2. วันที่ 18 มิถุนายน 2564 เวลา 06.30 น. เกิดแผ่นดินไหวบนบก ขนาด 3.5 ที่ความลึก 1 กิโลเมตร บริเวณอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง มีรายงานความรู้สึกสั่นไหวในพื้นที่ตำบลทุ่งฮั้ว และพื้นที่ใกล้เคียง ไม่มีรายงานความเสียหาย
                    สรุปสถานการณ์อุบัติภัย และเหตุการณ์สำคัญระหว่างวันที่ 15 - 21 มิถุนายน 2564
                    1. จังหวัดอุทัยธานี วันที่ 20 มิถุนายน 2564 เวลา 03.00 น. เกิดอุบัติเหตุทางถนน ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลหนองขาหย่าง อำเภอหนองขาหย่าง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย  และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน เจ้าหน้าที่กู้ชีพ - กู้ภัย เข้าให้การช่วยเหลือนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลหนองขาหย่าง
                    2. จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 19 มิถุนายน 2564 เวลา 15.00 น. เกิดอุบัติเหตุทางถนน บริเวณสะพานข้ามคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ในพื้นที่ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน เจ้าหน้าที่กู้ชีพ - กู้ภัย เข้าให้การช่วยเหลือนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 8

17. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 8/2564
          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2564 ตามที่สำนักงานเลขาธิการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอ ดังนี้
                              1. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อโรคโควิด - 19 ดังนี้
                                                  1) สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 178,165,581 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล ในส่วนของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 78 จาก 218 ประเทศทั่วโลก
                                                  2) สถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 18 มิถุนายน 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อและอยู่ระหว่างการรักษา จำนวน 32,795 ราย                  (อยู่ในโรงพยาบาล 7,693 ราย และโรงพยาบาลสนาม 25,102 ราย) และหายป่วยแล้วสะสม 148,984 ราย
                              2.  คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019               (โควิด ?19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด ? 19
                              เลขาธิการ สมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด ? 19 รายงานผลการดำเนินงานตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้
                                        2.1 คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564
                                                  ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ดังนี้
                                                  1) รัฐโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)       ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้ครอบคลุมทั่วถึงและทันเวลาต่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประชาชนและกลุ่มเสี่ยง เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน
                                        2) รัฐโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ควรกำหนดมาตรการและแนวทางในการให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาและกระจายวัคซีนทางเลือกในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                                                            3) รัฐโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดความสับสนในการเข้ารับการฉีดวัคซีน รวมถึงกำหนดและเร่งประชาสัมพันธ์มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลข้างเคียงหรือมีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ว่ามีหลักเกณฑ์และแนวทางในการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างไร อันเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีน
                                                  4) นอกจากบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าและประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงแล้ว รัฐควรสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเชิงรุกให้แก่กลุ่มคนซึ่งขาดศักยภาพในการเข้าถึงบริการหรือข่าวสารของรัฐในเรื่องการเข้ารับการฉีดวัคซีน เช่น กลุ่มคนที่มีความจำเพาะด้านสุขภาพ อาทิ
คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุ กลุ่มคนด้อยโอกาสทางสังคม อาทิ คนยากจน บุคคลเร่ร่อน หรือผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน โดยจัดให้มีบริการเข้าไปฉีดวัคซีนยังสถานที่ที่กลุ่มคนเหล่านั้นอยู่อาศัยอย่างทั่วถึง
เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
                                        2.2 รายงานผลการดำเนินงานตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน               เมื่อวันที่  4 มิถุนายน 2564
                                        ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ได้มีประกาศ เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ประกาศ ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นการเร่งรัดให้การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ตามวาระแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็ว โดยกำหนดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด ? 19 ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนี้
                                        1) ให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอแก่ประชาชนโดยอย่างน้อยให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร (ไม่น้อยกว่าจำนวนประชากรห้าสิบล้านคน)
                                        2) ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
                                                  3) ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์ หรือสาธารณสุขแก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึงภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด
                                                  4) เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ได้มากขึ้นสถานพยาบาลเอกชนและภาคเอกชนอาจจัดหาหรือขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 จากหน่วยงานตามข้อ 3 ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาให้บริการประชาชนหรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา และต้องพิจารณากำหนดราคาวัคซีนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
                                        5) โดยที่ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ยังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ 3 และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์ หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด
                                                  การดำเนินการตามวรรคหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามแนวทางหรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงเวลาวิกฤตมีความเป็นธรรมมากที่สุด
                                                            ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนและให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด ? 19 เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมของประเทศ
                                        6) ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลกับระบบแพลตฟอร์มหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด ? 19 และเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ
                                        ที่ประชุมมีมติ ดังนี้
                                                  1) รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด ? 19 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและดำเนินงานตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินมาอย่างต่อเนื่อง
                                                  2) มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อ
โควิด - 19 ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด ? 19 ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรุงเทพมหานคร รายงานผลดำเนินการตาม
คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ที่ประชุม ศบค. ทราบด้วย
                    3. แผนการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอแผนฯ ดังนี้
                              3.1 หลักการในการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ของประเทศไทย
                              - เป้าหมาย คือ การให้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 โดยไม่คิดมูลค่าด้วยความสมัครใจ และได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อย 50,000,000 คน ภายในเดือนตุลาคม 2564 เพื่อรองรับการเปิดประเทศภายใน 120 วัน รวมทั้งจัดหาวัคซีนโควิดป้องกันโรคโควิด - 19
                              - วัตถุประสงค์ เพื่อการปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ การลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตในประชากรกลุ่มเสี่ยง และการเปิดประเทศโดยเร็วเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
                              3.2 การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด ? 19 ของประเทศไทย ได้จัดสรรวัคซีนป้องกันโรค                 โควิด ? 19 ทั้งหมด 8,500,000 โดส ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2564 มีผู้ได้รับวัคซีนรายใหม่ จำนวน 215,885 ราย จำแนกเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 137,776 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 78,109 ราย โดยมีจำนวนยอดสะสมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 17 มิถุนายน 2564 รวมทั้งสิ้น 7,219,668 ราย จำแนกเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 5,252,531 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1,967,137 ราย
                                        3.3 (ร่าง) เกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัด เดือนกรกฎาคม 2564 เป้าหมายให้บริการวัคซีน จำนวน 10,000,000 โดส ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยพิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ที่ได้จองฉีดวัคซีนล่วงหน้าในระบบหมอพร้อม (ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) พิจารณาให้กรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างน้อย 5,000,000 โดส ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 และพิจารณาให้ภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564


























                                        3.4 แผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 จำนวน 150,000,000 โดส ของประเทศไทย
                                                            1) ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดหาหรือดำเนินการเจรจาจองวัคซีนแล้ว 105,500,000 โดส  (วัคซีน AstraZeneca จำนวน 61,000,000 โดส วัคซีน Sinovac จำนวน 19,500,000 โดส วัคซีนPfizer จำนวน 20,000,000 โดส และวัคซีน Johnson & Johnson จำนวน 5,000,000 โดส)
                                        2) เสนอเพิ่มกรอบการจัดหาวัคซีนจาก 100,000,000 โดส ภายในปี 2564 เป็น 150,000,000 โดส ภายในปี 2565
                                                            3) วัคซีนที่จัดหาเพิ่มเติมเพื่อรับรองกรณีที่ต้องมีการเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีน
เพิ่มกลุ่มเป้าหมาย ให้วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค หรือกรณีอื่นใดที่ต้องมีการใช้วัคซีนเพิ่มเติม ทั้งนี้ ขึ้นกับผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน และสถานการณ์ของเชื้อกลายพันธุ์
                                        3.5 สถานะการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ในประเทศไทย ดังนี้
วัคซีน          วันที่ได้รับการอนุมัติและขึ้นทะเบียน
AstraZeneca          20 ม.ค. 2564
Sinovac          22 ก.พ. 2564
Johnson & Johnson          25 มี.ค. 2564
Moderna          13 พ.ค. 2564
Sinopharm          28 พ.ค. 2564
Pfizer / Sputnik V / Biotech / Covaxin          อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียน

                              ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้
                                                  1) การจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ในแต่ละจังหวัดควรมีการจำแนกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน อาทิเช่น วัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนทั่วไป วัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เป็นต้น
                                                  2) ควรเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด ? 19 ให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ  เพื่อป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ (Cluster) ในโรงงานหรือสถานประกอบการ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกของประเทศ
                                                  3) ควรพิจารณาการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมให้กับพื้นที่ท่องเที่ยวภาคตะวันออก เช่น เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี เกาะช้างและเกาะกูด จังหวัดตราด เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ รวมทั้งควรจัดสรรวัคซีนในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่มีการระบาดของโรคโควิด - 19 เช่น จังหวัดจันทบุรี สระแก้ว
เป็นต้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากแรงงานต่างด้าว
                                        ที่ประชุมมีมติ ดังนี้
                              1) เห็นชอบหลักการและแผนการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เดือนกรกฎาคม 2564 ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอ
                                                  2) เห็นชอบแผนการจัดหา/จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ให้ครบ จำนวน 150,000,000 โดส เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนและกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมทั้ง รองรับการใช้วัคซีนเพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค หรือกรณีอื่นใดที่ต้องมีการใช้วัคซีนเพิ่มเติม
          4.  แนวทางการดำเนินการของสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนด ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ได้เสนอหลักการและเหตุผล ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด ? 19) ที่ 4/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 9) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564  ในการนี้ ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ได้บูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการในระยะต่อไปให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งไม่เป็นภาระต่องบประมาณและการบริหารจัดการสถานการณ์ควบคุมโรคโควิด - 19 ดังนี้
                              4.1 รูปแบบการเดินทางเข้าราชอาณาจักร และสถานที่กักกัน
                              1) การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางอากาศ
                                        (1) ให้ผู้มีสัญชาติไทยและผู้ไม่มีสัญชาติไทยเข้ารับการกักกันตัวในสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative Quarantine : AQ) โดยรัฐจะสนับสนุนค่าตรวจหาเชื้อโควิดเฉพาะผู้มีสัญชาติไทย
                                        (2) สถานที่กักกันในรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine : OQ) ใช้รองรับคนไทย 2 กรณี (1) กรณีแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากการทำงานในต่างประเทศ ตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานกำหนด และ (2) กรณีผู้มีสัญชาติไทยที่ประสบปัญหาตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศและประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย (กรณีกลุ่มเปราะบาง) ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนด
                              2) การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางบก
                              ให้ผู้มีสัญชาติไทยที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางบกเข้ารับการกักกันตัวในสถานที่กักกันของรัฐ (State Quarantine : SQ) เนื่องจากจำนวนผู้เดินทางเข้ามีไม่มากนัก อีกทั้งการกำหนดให้เข้ารับการกักกันตัวใน SQ โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จะช่วยลดปัญหาการหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นพาหะของโรคโควิด - 19 ทั้งนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่กำกับการดำเนินการดังกล่าวไม่มีข้อขัดข้องในด้านงบประมาณ
                              3) การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางน้ำ
                              ให้ผู้มีสัญชาติไทยที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางน้ำเข้ารับการกักกันตัวใน (Alternative Quarantine : AQ) โดยบุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักกันตัวเอง
                              4.2 ประเภทของสถานที่กักกัน
                              1) สถานที่กักกันทางเลือก (Alternative Quarantine : AQ) ให้รองรับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
                                        (1) ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางน้ำและทางอากาศ ทั้งผู้มีสัญชาติไทย/ผู้ไม่มีสัญชาติไทย โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิดเฉพาะผู้มีสัญชาติไทย
                                        (2) ผู้ที่ประสงค์เข้ารับการกักกันใน AQ โดยผู้นั้นพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
                                        (3) ผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับผู้เดินทาง กรณีมีภารกิจหรือกิจกรรมที่สัมผัสใกล้ชิด
                                        (4) ผู้มีสัญชาติไทยกลุ่มเปราะบาง/ประสบปัญหาตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ ทั้งนี้
ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนด
                                        (5) เจ้าหน้าที่รัฐที่กลับจากปฏิบัติราชการ/ภารกิจนอกราชอาณาจักร (เบิกค่าใช้จ่ายได้)
                              2) สถานที่กักกันของรัฐ (State Quarantine : SQ) ให้รองรับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
                                        (1) ผู้มีสัญชาติไทยที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางบก โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักกันตัว
                                        (2) ผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือเสี่ยงสูง ทั้งผู้มีสัญชาติไทย/ผู้ไม่มีสัญชาติไทย
                                        (3) ผู้เดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ทั้งผู้มีสัญชาติไทย/ผู้ไม่มีสัญชาติไทย
                              3) สถานที่กักกันในรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine : OQ) ประเภท ก ให้รองรับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
                                        (1) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กลับจากปฏิบัติราชการหรือภารกิจนอกราชอาณาจักร
                                        (2) ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของหน่วยงาน สถานประกอบการ หรือแรงงานไทย
ที่เดินทางกลับประเทศตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด
                                        (3) ผู้มีสัญชาติไทยกลุ่มเปราะบาง/ประสบปัญหาตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ ทั้งนี้
ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนด
                              4) สถานที่กักกันในรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine : OQ) ประเภท ข และ ค ให้รองรับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
                                        (1) ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อปฏิบัติภารกิจของหน่วยงาน
                                        (2) ผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับผู้เดินทาง กรณีมีภารกิจหรือกิจกรรมที่สัมผัสใกล้ชิด
                              5) สถานที่กักกัน Hospital Quarantine (HQ) ให้รองรับผู้ที่มีสัญชาติไทยที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลรัฐ/เอกชน ที่รัฐกำหนดให้เป็นสถานที่กักกัน เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด - 19 โดยมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉพาะการกักกันตนในสถานพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนให้เป็นไปตามสิทธิ รวมทั้งให้ชำระส่วนเกินสิทธิด้วยตนเองโดยสมัครใจ
                              6) สถานที่กักกัน Alternative Hospital Quarantine (AHQ) ให้รองรับผู้ที่มีสัญชาติไทย/ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชนที่รัฐกำหนดให้เป็นสถานที่กักกัน เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด - 19  โดยมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า และชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดระหว่างการรักษาพยาบาลและกักกันตนโดยสมัครใจ
                                                            ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบการปรับเปลี่ยนรายละเอียดกลุ่มเป้าหมายและการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของสถานที่กักกันสำหรับรองรับการเข้าราชอาณาจักรทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งผู้มีสัญชาติไทยและผู้ไม่มีสัญชาติไทย โดยไม่เป็นภาระต่องบประมาณและการบริหารจัดการสถานการณ์ควบคุมโรคโควิด - 19 และให้สนับสนุนงบประมาณของภาครัฐเฉพาะในส่วนของค่าตรวจหาเชื้อ
โควิด - 19 สำหรับผู้มีสัญชาติไทยที่เข้ารับการกักกันในสถานที่กักกันประเภทต่าง ๆ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่                      1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
                    5. ข้อกำหนดการปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ศปก.ศบค. ได้เสนอมาตรการการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม และสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน ดังนี้
                              5.1 การกำหนดระดับพื้นที่ของสถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ได้แก่  (1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 4 พื้นที่/จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ (2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด จากเดิม 17 จังหวัด ลดลงเหลือ 11 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตรัง นครปฐม ปัตตานี เพชรบุรี สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี ยะลา และนราธิวาส (3) พื้นที่ควบคุม จากเดิม 56 จังหวัด ลดลงเหลือ 9 จังหวัด จันทบุรี นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา ระนอง ระยอง ราชบุรี สระแก้ว และสมุทรสงคราม และ (4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง จำนวน 53 จังหวัดที่เหลือ
                               5.2 การผ่อนคลายมาตรการตามระดับของพื้นที่ ดังนี้
                                                             (1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (4 จังหวัด) ให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหะสถาน หรืออยู่ในที่สาธารณะ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 50 คน ร้านอาหารสามารถบริโภคในร้านได้ เปิดบริการได้ไม่เกิน 23.00น. กรณีร้านที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศ ให้นั่งได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งปกติ (งดการจำหน่าย และดื่มสุราในร้าน) ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้ตามปกติ ไม่เกิน 21.00 น (จำกัดจำนวนคน และงดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย) ห้ามสถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชาใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก เว้นแต่เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมตามแนวทางหรือลักษณะที่นายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. ได้อนุญาตไว้แล้ว สถานที่เล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬายังคงปิด ยกเว้นสถานที่เล่นกีฬากลางแจ้ง หรือสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี ให้เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. สามารถแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชม ทั้งนี้สถานบริการ สถานบันเทิง (ผับ บาร์ คาราโอเกะ) ยังคงปิดให้บริการ
                                                            (2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด (11 จังหวัด) ให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหะสถาน หรืออยู่ในที่สาธารณะ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 100 คน ร้านอาหารสามารถบริโภคในร้านได้ แต่ให้เปิดบริการได้ไม่เกิน 23.00 น. (งดการจำหน่าย และดื่มสุราในร้าน) ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้ตามปกติ (จำกัดจำนวนคน งดจัดกิจกรรม ส่งเสริมการขาย) สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชาสามารถใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากได้ โดยผ่านความเห็นชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนด สถานที่เล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬาเปิดบริการได้ทุกประเภท ไม่เกิน 21.00 น. (จำกัดผู้ชม) ทั้งนี้สถานบริการ สถานบันเทิง (ผับ บาร์ คาราโอเกะ) ยังคงปิดให้บริการ
                                                            (3) พื้นที่ควบคุม (9 จังหวัด) ให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหะสถาน หรืออยู่ในที่สาธารณะ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 150 คน ร้านอาหารสามารถบริโภคในร้านได้ (งดการจำหน่าย และดื่มสุราในร้าน) ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้ตามปกติ สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชาสามารถใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากตามมาตรการที่ราชการกำหนด สถานที่เล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬาเปิดบริการได้ทุกประเภท (จำกัดผู้ชม) ทั้งนี้สถานบริการ สถานบันเทิง (ผับ บาร์ คาราโอเกะ) ยังคงปิดให้บริการ
                                                            (4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง (53 จังหวัด) ให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหะสถาน หรืออยู่ในที่สาธารณะ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 200 คน ร้านอาหารสามารถบริโภคในร้านได้ ห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้ตามปกติ สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากตามมาตรการที่ราชการกำหนด สถานที่เล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬาเปิดบริการได้ทุกประเภท (จำกัดผู้ชม) ทั้งนี้สถานบริการ สถานบันเทิง (ผับ บาร์ คาราโอเกะ) ยังคงปิดให้บริการ
                                                            ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ได้เสนอให้ร้านสะดวกซื้อสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ เพื่อแก้ปัญหาแรงงานที่ทำงานไม่เต็มเวลา (Part - time) ให้สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติและมีรายได้
                              ที่ประชุมมีมติ รับทราบและเห็นชอบข้อกำหนดการปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ การกำหนดระดับพื้นที่ของสถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และการผ่อนคลายมาตรการตามระดับของพื้นที่
                              6.  มาตรการผ่อนคลายสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ โดยกำหนดแนวปฏิบัติในการถ่ายรายการโทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ดังนี้
                                        6.1 ก่อนการถ่ายทำรายการ ให้ขออนุญาตใช้พื้นที่ถ่ายทำ โดยปฏิบัติตามมาตรการของแต่ละระดับเขตพื้นที่การแพร่ระบาด และมีมาตรการคัดกรอง อาทิ การซักประวัติ การจัดทำ Timeline ก่อนวันเข้าร่วมถ่ายทำไม่น้อยกว่า 7 วัน และควรมีการตรวจหาเชื้อโควิด ? 19 ด้วยวิธี RT ? PCR ในระยะเวลา 72 ชั่วโมง (ข้อแนะนำการตรวจหาเชื้อฯ เฉพาะกรณีที่มีข้อเท็จจริงว่ามีอาการน่าสงสัยหรือมีประวัติการสัมผัสผู้ป่วย และกรณีของบุคคลหน้าฉากที่ต้องถอดหน้ากากและยังไม่มีประวัติการรับวัคซีนครบโดส) รวมทั้งแจ้งประวัติการฉีดวัคซีน ประวัติอาการป่วย และจัดทำข้อมูลแหล่งที่พักอาศัย
                                        6.2 ช่วงเวลาระหว่างการถ่ายทำรายการ ให้มีจำนวนผู้เข้าร่วมปฏิบัติทั้งหมดไม่เกิน 50 คน ปฏิบัติตามมาตรการ D?M?H?T?T?A กรณีในพื้นที่เฉพาะ ให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้ร่วมรายการทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยให้ยกเว้นผู้ที่ไม่ต้องสวมใส่หน้ากากบางช่วงเวลา ได้แก่ รายการละคร เฉพาะนักแสดงที่เข้าฉากโดยงดเว้นฉากการแสดงที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ รายการประกวดร้องเพลง เฉพาะผู้เข้าร่วมประกวดที่มีการจัดพื้นที่ไว้เฉพาะ รายการเกมโชว์ เฉพาะผู้ร่วมรายการสามารถถอดหน้ากากได้คราวละ 1 คน สำหรับผู้ประกาศข่าว จะต้องจัดให้มีฉากกั้นและเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร หรือตามความเหมาะสม กรณีในพื้นที่สาธารณะให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้ร่วมรายการทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาทุกกรณี นอกจากนี้ การถ่ายทำจะต้องไม่เป็นการสัมผัสใกล้ชิดและเข้าถึงตัวกัน และต้องจัดให้มีระบบระบายอากาศ ระบบดูดอากาศ ระบบฟอกอากาศ และจัดให้มีอุปกรณ์เฉพาะบุคคลแยกจากกัน เช่น ไมโครโฟน เครื่องแต่งกาย เครื่องแต่งหน้า อุปกรณ์อุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ให้มีการจัดทำ Timeline ตลอดระยะเวลาการถ่ายทำและหลังการถ่ายทำแล้วเสร็จไม่น้อยกว่า 14 วัน
                                        6.3 ช่วงเวลาพักการถ่ายทำรายการ จัดให้มีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วมทุกระยะอย่างสม่ำเสมอ จัดให้มีการเข้าใช้งานแบบเหลื่อมเวลา จัดทำมาตรการ D?M?H?T?T?A อย่างเคร่งครัด สำหรับการรับประทานอาหารให้นั่งรับประทานแบบเดี่ยว มีการเว้นระยะ 2 เมตร และจัดอาหารไว้เป็นชุดเฉพาะตัวบุคคล
                                        6.4 มาตรการหลังการถ่ายทำ
                                                  (1) เมื่อพบกลุ่มเสี่ยงให้คัดแยกบุคคลกลุ่มเสี่ยงเพื่อเข้ารับการตรวจทันที
                                                  (2) เมื่อพบว่ามีการติดเชื้อ ให้นำส่งบุคคลไปยังสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา
                                                  (3) เมื่อพบกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อ ให้ปิดพื้นที่การถ่ายทำทันที เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทั้งหมดอย่างน้อย 2 วัน และแจ้งให้สาธารณสุขจังหวัด เข้าร่วมตรวจสอบพื้นที่
                                                  (4) ติดตามและรายงานอาการ และจำนวนผู้ติดเชื้อทุกวันอย่างต่อเนื่อง
                                                  (5) ติดตามและรายงานของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีการติดเชื้อ เพื่อกำหนดระดับความเสี่ยงของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยละเอียดย้อนหลังไม่น้อยกว่า 7 วัน และดำเนินการกำหนดแนวทางป้องกันของแต่ละระดับกลุ่มเสี่ยง โดยกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงให้กักตัวและแยกออกจากบุคคลใกล้ชิดทั้งหมด 14 วัน และทำการ RT ? PCR ทุก 7 วัน สำหรับกลุ่มสัมผัสวงรอบสอง ให้กักตัว 7 วัน และให้ทำการ RT ? PCR  หากไม่พบเชื้อสามารถกลับเข้าทำงานได้
                                                  (6) ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ทำหน้าที่กำกับติดตามและประสานงานกับกรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
                                                  ที่ประชุมมีมติ รับทราบและเห็นชอบมาตรการผ่อนคลายสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์
                    7.  การปรับวิธีการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร กรณีผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะซึ่งต้องเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศทางอากาศ เฉพาะที่มีฐานปฏิบัติการในประเทศไทย ดังนี้
                              7.1 กรณีไม่ได้ลงจากเครื่องบินหรือลงจากเครื่องบินไม่เกิน 12 ชั่วโมง และผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะได้สวมชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล
                                        1) ให้ดำเนินการคุมไว้สังเกต โดยสถานที่ซึ่งผู้เดินทางต้องเข้ารับการคุมไว้สังเกตเป็นที่พำนักของผู้เดินทาง
                                        2) หากมีอาการให้รีบแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และอยู่ภายใต้กำกับ/ติดตามของสายการบิน
                              7.2 กรณีไม่ได้ลงจากเครื่องบินหรือลงจากเครื่องบินไม่เกิน 12 ชั่วโมง และผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะไม่ได้สวมชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือลงจากเครื่องบินเกิน 12 ชั่วโมง
                                        1) ให้เข้ารับการกักกัน โดยอาจเป็นสถานที่พำนักของผู้เดินทางหรือสถานที่อื่นใดตามที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเห็นสมควร
                                        2) หากมีอาการให้รีบแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และอยู่ภายใต้กำกับ/ติดตามของสายการบิน
                              ที่ประชุมมีมติ รับทราบและเห็นชอบวิธีการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรของผู้ควบคุมยานพาหนะ/เจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ ซึ่งต้องเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร
                              8. หลักการการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
(เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำเสนอ ดังนี้
                                        8.1 เกณฑ์การรับนักท่องเที่ยว แบ่งเป็น
                                         ก่อนเดินทางเข้ามาถึง
                                        1) ให้มีเอกสารที่ใช้ในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนี้
                                        - หนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry - COE)
                                        - ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 (Medical certificate with a laboratory result indicating that COVID -19 is not detected) โดยวิธี RT-PCR โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง
                                        - กรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ และรักษาพยาบาลหรือหลักประกันอื่นใด  ซึ่งรวมถึงกรณีโรคโควิด - 19 ตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางอยู่ในราชอาณาจักร ในวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯลฯ
                                                  2) กำหนดประเทศของนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง หรือกลุ่มประเทศตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอ ทั้งนี้ กรณีที่มาจากประเทศอื่นต้องอยู่ในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วัน กรณีผู้มีสัญชาติไทย และชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยจะต้องเดินทางมาจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
                                                  3) ได้รับวัคซีนตามกำหนดของประเทศไทยครบกำหนดสองเข็ม (ตามประเภทวัคซีน) อย่างน้อย 14 วัน ก่อนการเดินทาง และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน (Vaccine Certificate) กรณีเด็กสามารถเดินทางมาพร้อมผู้ปกครองที่ได้รับวัคซีนตามที่กำหนด
                                                  4) กรณีเคยติดเชื้อ ต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดสองเข็ม (ตามประเภทวัคซีน) อย่างน้อย 14 วัน
                                        8.2 ขั้นตอนการปฏิบัติ
                                        ก่อนการเดินทาง
                                                  1) ยื่นเอกสาร ? รับใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ
                                                  2) ยืนยันผลการอนุมัติพร้อมกับเอกสาร COE
                                                  3) ลงทะเบียนผ่านทาง www.entrythailand.go.th
                              เมื่อเดินทางมาถึง
                                                  4) ดำเนินการตามข้อกำหนดผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรฯ
                                                  5) ติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus ร่วมกับระบบสารสนเทศอื่นที่ทางจังหวัดกำหนด และในกรณีเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตต้องติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ)
                                                  6) เข้ารับการตรวจหาเชื้อการตรวจหาเชื้อโควิด - 19 ณ สนามบิน โรงแรมที่พัก หรือจุดตรวจ
                                                  7) เดินทางเข้าที่พักที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน SHA Plus กรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน               เกาะเต่า เข้าที่พักแบบ ALQ
                                                  8) ทราบผลการตรวจแล้วไม่พบเชื้อ สามารถออกเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้ (กรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า สามารถออกนอกห้องพัก และใช้บริการในบริเวณที่พัก)
                                                  9) พำนักในภูเก็ตอย่างน้อย 14 คืน กรณีอยู่น้อยกว่า 14 คืน ต้องเป็นการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรด้วยเที่ยวบินตรงเท่านั้น
                              - กรณี เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า
                                        วันที่ 1 - 3 นักท่องเที่ยวสามารถออกนอกห้องพักและใช้บริการบริเวณที่พัก
                                        วันที่ 4 - 7 นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวในระบบปิดตามเส้นทางที่กำหนด
                                        วันที่ 8 - 14 นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน              เกาะเต่า โดยไม่กักตัวแบบมีเงื่อนไข
                                        10) การตรวจหาเชื้อโควิด - 19 ด้วยวิธี RT - PCR อีกจำนวน 2 ครั้ง ในวันที่ 6 ? 7 และ 12 ? 13 หรือตามข้อกำหนดของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19
                                        11) ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด
                              ก่อนเดินทางออก
                                        12) ก่อนเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ต/พื้นที่ของเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ไปจังหวัด      อื่น ๆ ให้แสดงหลักฐานยืนยันว่าได้พำนักในที่พัก SHA Plus/ALQ ตามระยะเวลาที่กำหนด และมีผลการตรวจเชื้อ
โควิด ? 19 ตามที่ราชการกำหนด
                              8.3 การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการ
                                        1) จังหวัดภูเก็ตดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการเปิดเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Phuket Tourism Sandbox) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่บริหารจัดการ มอบหมายภารกิจ กำกับติดตามการเดินทางเข้า/ออกจังหวัดภูเก็ตของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยทั้งที่เดินทางจากต่างประเทศและภายในประเทศ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาจนกระทั่งเดินทางออกจากจังหวัด รวมถึงจัดทำระบบติดตามผลการปฏิบัติงาน ข้อมูลการเข้าออกของนักท่องเที่ยว การเฝ้าระวังและติดตาม ประเมินสถานการณ์การติดเชื้อ ข้อร้องเรียนหรือ ข้อคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติการและแนวทางแก้ไข เพื่อรายงานให้ ศปก.ศบค. และผู้บริหารระดับสูงทราบอย่างต่อเนื่อง
                                        2) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า)
                                                  (1) มีระบบกำกับควบคุมในที่พัก (Covid Manager อาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงแรม)
                                                  (2) มีระบบกำกับควบคุมในการเดินทาง Sealed Route โดยที่พักและบริษัทนำเที่ยว
                                                  (3) จัดระบบควบคุมคัดกรองด่านเข้า-ออกทางอากาศและทางเรือทั้ง 3 เกาะ และเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อตรวจสอบ
                              8.4 การเตรียมความพร้อมประชาชน จัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำแผนการสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ในทุกช่องทางการสื่อสาร
                              8.5 การเตรียมความพร้อมมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค
                                        1) จังหวัดภูเก็ต ใช้ระบบศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) และอาสาสมัครตำบลติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus และแอปพลิเคชันหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ) และดำเนินการตามมาตรฐาน SHA Plus และมาตรการ D-M-H-T-T-A
                                        2) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า)
                                                  (1) จัดตั้งคณะทำงานดำเนินการตามแผนคัดกรองและเฝ้าระวัง
                                                   (2) สถานประกอบการต้องมีใบรับรองแสดงภูมิคุ้มกันหมู่
                                                  (3) ผู้ให้บริการที่ต้องสัมผัสตรงกับนักท่องเที่ยวต้องใส่ชุดป้องกันและรับวัคซีนครบ 2 โดส
                                                  (4) ดำเนินการตามมาตรฐาน SHA Plus และมาตรการ D-M-H-T-T-A
                    8.6 การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรด้านการแพทย์สาธารณสุข กำลังคนในการกำกับติดตาม และทรัพยากรสนับสนุนอื่น ๆ จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการจัดบุคลากรทางแพทย์ อุปกรณ์ และหอผู้ป่วยเพื่อรองรับกรณีมีผู้ป่วยอย่างเพียงพอ พร้อมจัดทำแผนเพื่อรับสถานการณ์โดยจัดตั้ง Command Center และคณะทำงานเพื่อกำกับดูแลและให้คำแนะนำ
                              8.7 การจัดทำแผนรับมือและแผนชะลอหรือยกเลิกโครงการ
                              จังหวัดภูเก็ต กรณีมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์ มีลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล และมีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้างที่หาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้ มีผู้ติดเชื้อครองเตียงตั้งแต่ร้อยละ 80 ของศักยภาพ โดยจะมีมาตรการปรับเปลี่ยน            4 ระดับ ดังนี้
                                        1) ปรับลดกิจกรรม
                                        2) ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับสถานการณ์ (Sealed route)
                                        3) มาตรการกักตัวภายในสถานที่พัก Hotel Quarantine
                                        4) ทบทวนยุติโครงการ Phuket Sandbox
                                        เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จัดทำแผนเกณฑ์การยกเลิกการรับนักท่องเที่ยว เมื่อมีการระบาดโดยใช้ศักยภาพในการรองรับของโรงพยาบาลเกาะสมุย (โรงพยาบาลแม่ข่ายใน 3 เกาะ) เป็นเกณฑ์กำหนด โดยระบบของเกาะสมุยสามารถรองรับการติดเชื้อสะสมได้ในระบบ Samui Sealed Route Model ได้ 20 รายต่อ          2 สัปดาห์ ซึ่งสามารถรองรับการระบาดรุนแรงของโรคได้ทั้งหมดในกรณีที่ไม่มีการส่งต่อ และสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น เมื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้นได้ ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ติดเชื้อ และคาดการณ์ว่าจะมีการระบาดที่ระบบปกติจะไม่สามารถรองรับได้ จึงจะกลับไปใช้ระบบ ALQ ของกระทรวงสาธารณสุข
                                   ที่ประชุมมีมติรับทราบและเห็นชอบหลักการการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) โดยมีความเห็นและข้อสังเกต ดังนี้
                               1. การพิจารณาหลักการการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัด               สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) เป็นความตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ โดยคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีน และความพร้อมด้านสาธารณสุข เป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องดำเนินการและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องติดตามและประเมินผลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
                              2. แนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องเพื่อรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น ๆ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอนั้น ควรให้มีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างผู้ประกอบการกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อทราบความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่
                              3. เกณฑ์การรับนักท่องเที่ยวที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดของประเทศไทยครบ 2 เข็ม ตามประเภทวัคซีน หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน โดยจะต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก World Health Organization : WHO
                    ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
                                        1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 สร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้วเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของจำนวนตัวเลขที่มีแนวโน้มอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้
                                        2. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 กรุงเทพมหานคร กระทรวงแรงงาน และกระทรวงยุติธรรม เร่งดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่กลุ่มเสี่ยงอื่นที่เป็นคลัสเตอร์ (Cluster) ทั้งในพื้นที่ชุมชนและแคมป์คนงานก่อสร้าง                 เพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการระบาดของโรคโควิด - 19 เพิ่มขึ้น รวมทั้งให้มีการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค                โควิด - 19 ในเรือนจำ/สถานกักกันด้วย
                                        3. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด ? 19 ดำเนินการในการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ดังนี้
                                                            3.1 กำหนดหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดการจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัดตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยจัดสรรให้กับผู้ที่ขึ้นทะเบียนการฉีดวัคซีนไว้แล้ว และให้พิจารณาการจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น กลุ่มเรือนจำและผู้ต้องขัง กลุ่มครูและโรงเรียน กลุ่มนักบินและลูกเรือ พื้นที่จังหวัดชายแดน พื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ พื้นที่การท่องเที่ยว พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พื้นที่อุตสาหกรรม เป็นต้น โดยพิจารณาตามความจำเป็นเร่งด่วน และความเป็นธรรมให้กับทุกกลุ่ม รวมทั้ง คำนึงถึงการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงในภาพรวมของประเทศด้วย
                                                  3.2 จัดทำรายละเอียดเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัดและพื้นที่ให้มีความชัดเจน พร้อมนำเสนอจำนวนการจัดส่งวัคซีน และการฉีดวัคซีน โดยให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ (อำเภอ/เขต) และระดับกลุ่มเป้าหมาย
                                                  3.3 ให้กระทรวงแรงงาน จัดทำข้อมูลจำนวนแรงงานทั้งในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 และผู้ใช้แรงงานนอกระบบประกันสังคม เพื่อให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 สามารถดำเนินการบริหารจัดการวัคซีนได้อย่างเหมาะสมต่อไป
                              4. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการนัดหมายฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 โดยให้หน่วยบริการฉีดวัคซีนกำหนดเวลานัดหมายผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรหรือตามความพร้อมของหน่วยให้บริการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณีประชาชนไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตามที่ได้นัดหมายล่วงหน้า
                              5. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงกรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ดังนี้
                    5.1 ให้เน้นย้ำหลักการดำเนินการของรัฐบาลที่ไม่ปิดกั้นภาคเอกชนในการจัดหาวัคซีน แต่เนื่องจากปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ได้รับการอนุญาตขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน บริษัทผู้ผลิตวัคซีน ประเทศผู้ผลิตวัคซีนจึงกำหนดเงื่อนไขให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อวัคซีนเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ สำหรับการกระจายวัคซีนได้มีการพิจารณาจากจำนวนประชากร สถานการณ์การแพร่ระบาด กลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่ตามนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงมีการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้สามารถกระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง และให้จัดสรรงบประมาณในการเยียวยาผลกระทบหลังฉีดวัคซีนเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนอีกด้วย
                                                  5.2 ให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลเอกชน และภาคเอกชน ที่ประสงค์ดำเนินการจัดหา/สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ทราบถึงขั้นตอน ระเบียบและวิธีการ การจัดสรรและการจัดหางบประมาณเพื่อดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้งบประมาณของตนเอง รวมถึงความรับผิดชอบหากผู้รับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น การจัดทำประกันที่คุ้มครองกรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด - 19 (อาการแพ้วัคซีน หรือเสียชีวิต) เป็นต้น
                                        6. ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ศูนย์ปฏิบัติแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคง (ศปม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบมาตรการในแต่ละจังหวัดเพื่อให้สอดคล้องมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และขอให้เน้นย้ำการป้องกันการทุจริตในทุกกรณีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของ
โรคโควิด - 19 การผ่อนคลายมาตรการ การบริหารจัดการวัคซีน รวมทั้งเข้มงวดการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และการเปิดให้บริการของร้านอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น

18. เรื่อง สรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยสถาบัน IMD ปี 2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยสถาบัน IMD ปี 2564 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอดังนี้
                    สาระสำคัญ
                    สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอสรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยของสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management  Development : IMD) ซึงได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศปี 2564 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 โดยมีประเด็นที่สำคัญรวม 4 เรื่อง สรุปได้ ดังนี้
                    1. ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโดยสถาบัน IMD ในปี 2564
                              1.1 ประเทศที่อยู่ในอันดับ 1-5 ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ (เพิ่มขึ้น 2 อันดับ) สวีเดน (เพิ่มขึ้น 4 อันดับ) เดนมาร์ก (ลดลง 1 อันดับ) เนเธอร์แลนด์ (คงเดิม) และ สิงคโปร์ (ลดลง 4 อันดับ) ตามลำดับ ส่วนฮ่องกง และประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งที่ผ่านมาอยู่ใน 5 อันดับแรก มีผลการจัดอันดับลดลงไปอยู่ที่อันดับ 7 และ 10 ในปี 2564
                              1.2 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้น 1 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 28 (จากอันดับที่ 29 ในปี 2563) แม้ว่าจะมีคะแนนรวมลดลงเป็น 72.519 คะแนน จาก 75.387คะแนน โดยยังคงรักษาระดับอยู่ในอันดับ 3 ของกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ โดยอันดับที่ 1-5 ในกลุ่มอาเซียนได้แก่ (1) สิงคโปร์ (ลดลง 4 อันดับมาอยู่อันดับที่ 5) (2) มาเลเซีย (ดีขึ้น 2 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 25) (3) ไทย (4) อินโดนีเซีย (ดีขึ้น 3 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 37) และ (5) ฟิลิปปินส์ (ลดลง 7 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 52)
                              1.3 IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของเขตเศรษฐกิจทั่วโลกจำนวน 64 เขตเศรษฐกิจ (เพิ่มขึ้น 1 เขตเศรษฐกิจจากปี 2563 โดยเขตเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นได้แก่ สาธารณรัฐบอตสวานา) และใช้เกณฑ์ชี้วัดที่นำมาใช้พิจารณาในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งสิ้น 334 ตัวชี้วัด (รวมตัวชี้วัดประเภท Hard Data, Survey Data และ Background Information) ใน 4 กลุ่มปัจจัยหลัก ประกอบด้วย                       1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ(Economic Performance) ดัชนีย่อย 81 ตัวชี้วัด 2) ประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) ดัชนีย่อย 72 ตัวชี้วัด และ 3) ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ดัชนีย่อย 74 ตัวชี้วัด และ 4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ดัชนีย่อย 107 ตัวชี้วัด ด้วยน้ำหนักคะแนนร้อยละ 25 เท่ากันทั้ง 4 กลุ่มเกณฑ์ชี้วัด แม้ว่าจะมีจำนวนดัชนีย่อยของแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน
                    2. การวิเคราะห์ผลการจัดอันดับ
                              2.1 ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีอันดับดีขึ้นจากประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) ที่ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 20 เป็นผลจากภาพลักษณ์ความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐที่มีการปรับตัวดีขึ้น และการเร่งรัดการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency) มีการปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 21 เนื่องจากความพยายามของภาครัฐและภาคธุรกิจที่สนับสนุนการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรให้อยู่รอดในตลาดแรงงานและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และการศึกษา (Infrastructure) ยังคงปรับตัวดี 1 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 43 เนื่องจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง
                              2.2 อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยลดลงถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 21 จากอันดับที่ 14 ในปี 2563 โดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การค้าและการลงทุนของประเทศในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและการส่งออกสินค้า และสถานการณ์การลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการปรับตัวลดลงของตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับที่ได้รับผลกระทบจากชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (Growth)

ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
โดย IMD ระหว่างปี 2563 และ 2564
ความสามารถในการแข่งขันของไทย          อันดับ
ปี 2564          อันดับ
ปี 2563          การเปลี่ยนแปลง
ของอันดับ
อันดับรวมของประเทศไทย
(จาก 64 ประเทศ)          28          29          ?1
1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ
(Economic Performance)          21          14          ?7
    1.1 เศรษฐกิจภายในประเทศ
         (Domestic Economy)          41          38          ?3
    1.2 การค้าระหว่างประเทศ
         (International Trade)          21          5          ?16
    1.3 การลงทุนระหว่างประเทศ
         (International Investment)          32          29          ?3
    1.4 การจ้างงาน (Employment)          3          10          ?7
    1.5 ระดับราคา (Prices)          37          28          ?9
2. ประสิทธิภาพภาครัฐ
(Government Efficiency)          20          23          ?3
    2.1 การคลังสาธารณะ (Public Finance)          14          17          ?3
    2.2 นโยบายด้านภาษี (Tax Policy)          4          5          ?1
   2.3 กรอบการบริหารด้านสถาบัน
        (Institution Framework)          36          40          ?4
    2.4 กฎหมายด้านธุรกิจ
         (Business Legislation)          30          33          ?3
    2.5 กรอบทางสังคม
         (Social Framework)          43          40          ?3
3. ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ
   (Business Efficiency)          21          23          ?2
    3.1 ผลิตภาพและประสิทธิภาพ
         (Productivity & Efficiency)          40          41          ?1
    3.2 ตลาดแรงงาน (Labor Market)          10          15          ?5
    3.3 การเงิน (Finance)          24          24          -
    3.4 การบริหารจัดการ
         (Management Practices)          22          21          ?2
    3.5 ทัศนคติและค่านิยม
          (Attitudes and Values)          20          20          -
4. โครงสร้างพื้นฐาน
   (Infrastructure)          43          44          ?1
    4.1 สาธารณูปโภคพื้นฐาน
         (Basic Infrastructure)          24          26          ?2
    4.2 โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี
         (Technological Infrastructure)          37          34          ?3
    4.3 โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์
         (Scientific Infrastructure)          38          39          ?1
    4.4 สุขภาพและสิ่งแวดล้อม
         (Health and Environment)          49          49          -
    4.5 การศึกษา (Education)          56          55          ?1
ที่มา : IMD World Competitiveness Yearbook 2020
                    3. ข้อพิจารณาเพื่อสั่งการ
                        สำนักงานฯ ขอเสนอประเด็นการขับเคลื่อนที่ควรให้ความสำคัญในระยะต่อไปดังนี้
                              3.1 ติดตามการขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มที่อันดับดีอยู่แล้วให้สามารถรักษาอันดับไว้ให้ได้ต่อเนื่อง และในกลุ่มที่ความสามารถในการแข่งขันยังต่ำและ/หรือมีแนวโน้มลดลง เพื่อให้การดำเนินนโยบาย/แผนงาน/โครงการภาครัฐที่ส่งผลต่อกลุ่มตัวชี้วัดเหล่านี้มีประสิทธิผลชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มตัวชี้วัดที่มีอันดับตกลงมากจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ผ่านการเร่งรัดการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการของหน่วยงานภาครัฐและสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินการ
                              3.2 ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานเร่งพัฒนาระบบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย มีความพร้อมใช้งานและสะท้อนสถานการณ์การพัฒนาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ข้อมูลที่เกิดขึ้นสามารถนำไปใช้ในการวางนโยบาย รวมถึงจัดทำกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ได้จริง รวมทั้งเร่งปรับระบบการบริหารจัดการ กระบวนการทำงาน กระบวนการให้บริการประชาชน และภาคธุรกิจให้เป็นระบบดิจิทัลโดยเร็ว
                              3.3 สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางที่เข้าถึงได้ง่ายและใช้สื่อออนไลน์เป็นสื่อกลางในการสื่อสารมากขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความตระหนักถึงความคืบหน้าการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของประเทศ รวมทั้งเข้าใจถึงบทบาทและโอกาสในการสนับสนุนการติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
                              3.4 ขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานทั้งเชิงกายภาพวิทยาศาสตร์และดิจิทัลให้ดำเนินไปได้ตามเป้าหมายและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และระบบโลจิสติกส์ในทุกรูปแบบ
                              3.5 พัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงและโรคอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว รวมถึงปรับระบบการศึกษาของไทยให้มีความทันสมัย เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
                    4. แนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป
                        สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) จะจัดประชุมร่วมรัฐและเอกชนเพื่อการสร้างความเข้าใจถึงประเด็นปัญหาที่ยังเป็นจุดอ่อนและกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหา รวมทั้งการประชุมกับหน่วยงานเจ้าภาพตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องเพื่อการติดตามและผลักดัน แผนงานและโครงการ ที่จะช่วยยกอันดับตัวชี้วัด และรายงานผลการดำเนินงานเพื่อทราบตามขั้นตอนต่อไป

19. เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ปี 2564 จำนวน 51 รายการ จำแนกเป็น 46 สินค้า 5 บริการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 2/2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    ในคราวประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันจันทร์ที่     14 มิถุนายน 2564 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้คงสินค้าและบริการควบคุม ปี 2564 เช่นเดียวกับ ปี 2563 จำนวน 51 รายการ จำแนกเป็น 46 สินค้า 5 บริการ กำหนดเป็น 10 หมวดสินค้า และ 1 หมวดบริการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
          (1) หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ จำนวน 2 รายการ ได้แก่ (1) กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว (2) กระดาษพิมพ์และเขียน
          (2) หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง จำนวน 2 รายการ ได้แก่ (3) ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ (4) รถจักรยานยนต์ รถยนต์บรรทุก
          (3) หมวดปัจจัยทางการเกษตร จำนวน 7 รายการ ได้แก่ (5) กากดีดีจีเอส (6) เครื่องสูบน้ำ(7) ปุ๋ย (8) ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช (9) รถเกี่ยวข้าว (10) รถไถนา (11) หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์
          (4) หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จำนวน 2 รายการ ได้แก่ (12) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (13) น้ำมันเชื้อเพลิง
          (5) หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ จำนวน 2 รายการ ได้แก่ (14) ยารักษาโรค (15) เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค
          (6) หมวดวัสดุก่อสร้าง จำนวน 4 รายการ ได้แก่ (16) ท่อพีวีซี (17) ปูนซีเมนต์ (18) สายไฟฟ้า (19) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น
          (7) หมวดสินค้าเกษตรที่สำคัญ จำนวน 7 รายการ ได้แก่ (20) ข้าวเปลือก ข้าวสาร (21) ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ (22) ข้าวโพด (23) ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ (24) ผลปาล์มน้ำมัน (25) มะพร้าวผลแก่ และผลิตภัณฑ์ (26) ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ
          (8) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 7 รายการ ได้แก่ (27) กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า (28) แชมพู (29) ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก (30) ผลิตภัณฑ์ล้างจาน (31) ผ้าอนามัย (32) ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กและผู้ใหญ่ (33) สบู่ก้อน สบู่เหลว
          (9) หมวดอาหาร จำนวน 12 รายการ ได้แก่ (34) กระเทียม (35) ไข่ไก่ (36) ทุเรียน (37) นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว (38) น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ (39) แป้งสาลี (40) มังคุด (41) ลำไย (42) สุกร เนื้อสุกร (43) หอมหัวใหญ่ (44) อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก (45) อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
          (10) หมวดอื่นๆ จำนวน 1 รายการ ได้แก่ (46) เครื่องแบบนักเรียน
           (11) หมวดบริการ จำนวน 5 รายการ ได้แก่ (47) การให้สิทธิ์ในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า (48) บริการซื้อขาย และหรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ (49) บริการทางการเกษตร (50) บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค และ (51) บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ

20. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 20/2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 20/2564 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ที่ได้พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) การพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ รวมทั้งการพิจารณารายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ ราย 3 เดือน รวมถึงการพิจารณารายงานผลการดำเนินการโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ระยะ 3 เดือน (กุมภาพันธ์ - เมษายน 2564) ดังนี้
                    1. อนุมัติโครงการรถ Mobile พาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระยะเวลาดำเนินการ 1 เดือน (กรกฎาคม 2564) กรอบวงเงินโครงการ 161.3240 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ ทั้งนี้ เห็นควรให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าภายใน) ดำเนินการติดตามประเมินผลโครงการฯ และความคุ้มค่าของโครงการฯ ในช่วง 15 วันแรก เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำข้อเสนอโครงการที่มีรูปแบบการดำเนินงานที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงสามารถกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนได้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ โดยมอบหมายให้กรมการค้าภายใน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการและดำเนินการ
                    2. อนุมัติการปรับกรอบวงเงินโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 จากเดิม 1,575.4950 ล้านบาท เป็น 1,575.4590 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอโครงการฯ พร้อมทั้งอนุมัติให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน โดยเป็นการขยายระยะเวลาการดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทนฯ จากเดิมสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2564 กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 1,575.4590 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว พร้อมทั้งเห็นควรให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเร่งติดตามการจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชนต่อไป ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แล้ว เห็นควรให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็ว
                    3. อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงรายละเอียดโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ในส่วนของการปรับปรุงหอพักเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี จำนวน 3 รายการ จากการปรับปรุงหอพักผู้ป่วยติดเชื้อรวม (Cohort ward) จำนวน 60 เตียง กรอบวงเงิน 14,899,700 บาท เป็นการปรับปรุงหอพักผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนักที่ไม่สามารถรักษาตัวในห้องพักรวมได้ (Single room) จำนวน 12 ห้อง กรอบวงเงิน 12,145,200 บาท ทำให้กรอบวงเงินของโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลดลง จาก 2,037.6917 ล้านบาท คงเหลือ 2,034.9372 ล้านบาท (ลดลง 2.7545 ล้านบาท) พร้อมทั้งเห็นควรให้กระทรวงสาธารณสุขกำกับการดำเนินโครงการฯ ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แล้ว เห็นควรให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็ว
                    4. อนุมัติให้กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ปรับปรุงรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ ?โคก หนอง นา โมเดล? ตามมติคณะกรรมการฯ
                    5. อนุมัติให้จังหวัดนครปฐม เปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินการกิจกรรมย่อย จำนวน 3 กิจกรรม วงเงินรวม 7.3326 ล้านบาท และยกเลิกการดำเนินกิจกรรมย่อยจำนวน 8 กิจกรรม วงเงินรวม 8.2804 ล้านบาท ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรสู่มาตรฐานเกษตรปลอดภัย ทำให้กรอบวงเงินโครงการฯ ปรับลดจาก 15.6130 ล้านบาท เป็น 7.3326 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แล้ว เห็นควรให้จังหวัดนครปฐมเร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็ว
                    6. อนุมัติให้จังหวัดพิจิตร ปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินการกิจกรรมย่อยจำนวน 3 กิจกรรม ภายใต้โครงการพัฒนายกระดับการผลิตสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเกษตรกรปราดเปรื่อง (Young Smart Farmer & Smart Farmer) วงเงิน 3.1500 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แล้ว เห็นควรให้จังหวัดพิจิตรเร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็ว
                    7. อนุมัติให้จังหวัดตรัง ยกเลิกการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบสารสนเทศ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร วงเงิน 0.5200 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แล้ว เห็นควรให้จังหวัดตรังเร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็ว
                    8. อนุมัติให้จังหวัดลำปาง ยกเลิกการดำเนินโครงการพัฒนาตลาดสินค้าออนไลน์ของเครือข่ายชมรมคนพิการจังหวัดลำปาง วงเงิน 0.4220 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แล้ว เห็นควรให้จังหวัดลำปางเร่งดำเนินการตามข้อ 19 และ 20 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ) โดยเร็ว
                    9. อนุมัติให้จังหวัดอุดรธานี ยกเลิกการดำเนินโครงการส่งเสริมและฟื้นฟูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจังหวัดอุดรธานี วงเงินจำนวน 7 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบตามขั้นนตอนแล้ว ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แล้ว เห็นควรให้จังหวัดอุดรธานีเร่งดำเนินการตามข้อ 19 และ 20 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ โดยเร็ว
                    10. อนุมัติให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรับแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายโครงการเชฟชุมชนเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงอาหารจังหวัดกาญจนบุรี โดยปรับแผนดำเนินงาน จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 เมษายน 2564 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม - 31 สิงหาคม 2564 และปรับแผนเบิกจ่าย จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 เมษายน 2564 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 สิงหาคม 2564 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ เห็นควรให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำกับการดำเนินโครงการฯ ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แล้ว เห็นควรให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาญจนบุรี เร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็ว
                    11. รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ ราย 3 เดือน ครั้งที่ 4 (1 กุมภาพันธ์ - 30 เมษายน 2564) พร้อมทั้งเห็นควรให้ความเห็นชอบให้กระทรวงเจ้าสังกัด และหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
                    12. รับทราบรายงานผลการดำเนินการโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ระยะ 3 เดือน (กุมภาพันธ์ - เมษายน 2564) ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ พร้อมทั้งเห็นควรให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการดำเนินโครงการฯ ในระยะต่อไป

ต่างประเทศ

21. เรื่อง การแก้ไขภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ของความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (JTEPA)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทยเพื่อดำเนินการแก้ไขภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ของความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Japan ? Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) และอนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทยข้างต้น ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    1. ในการประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Sub-Committee on Rules of Origin: SCROO) ภายใต้ JTEPA ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการแก้ไขภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ของ JTEPA เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์ (Product Specific Rules: PSRs) จากพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized System: HS) ฉบับปี ค.ศ. 2002 (HS 2002)                        (5,347 ประเภทพิกัดย่อย) เป็นพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ ปี ค.ศ. 2017 (HS 2017) (5,475 ประเภทพิกัดย่อย) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการของทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่น เช่น
                              1.1 การปรับโอนกฎเฉพาะรายสินค้าจากพิกัดระบบ HS 2002 เป็น HS 2017
                              1.2 การแก้ไขประเภทย่อยที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการปรับโอน PSRs ของพิกัด HS2002 เป็น HS2017 เช่น
                                        (1) กรณีพิกัดศุลกากรไม่เปลี่ยนแปลง เช่น สุกรมีชีวิตสำหรับทำพันธุ์
                                        (2) กรณีพิกัดศุลกากรเก่าหายไป เช่น สารประกอบอนินทรีย์อื่น ๆ
                                        (3) กรณีการย้ายพิกัดศุลกากร เช่น อนุพันธุ์ชนิดฟลูออริเนเต็ด โบรนิเมเต็ด หรือไอโอดิเนเต็ดของอะไซคลิกคาร์บอน
                                        (4) กรณีพิกัดศุลกากรเพิ่มขึ้น เช่น สารประกอบอนินทรีย์หรืออินทรีย์อื่น ๆ                 ของปรอท
                                        (5) กรณีพิกัดศุลกากรมีการควบรวม เช่น พรรณไม้และส่วนของพรรณไม้อื่น                      ใช้ประโยชน์ทางเครื่องหอมหรือในทางเภสัชกรรม
                    ทั้งนี้ พิกัดศุลกากรที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การเจรจาเพิ่มใหม่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นการรวมเกณฑ์ที่เหมือนกันเข้าด้วยกันกับประเภทพิกัดก่อนหน้า เป็นต้น และหากไม่มีการปรับพิกัดอัตราศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ตามที่ กต. เสนอในครั้งนี้ จะทำให้มีความยุ่งยาก ไม่สะดวกทางการค้า ส่งผลให้ผู้นำเข้าใช้เวลาในการจัดเตรียมเอกสารประกอบการนำเข้ามากขึ้น และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเพิ่มต้นทุนทางการค้าในเรื่องภาระค่าภาษี หากมีการปรับเปลี่ยนพิกัดศุลกากรผิดพลาด
                              1.3 การเพิ่มคำอธิบายความหมายของเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ได้แก่ เกณฑ์ QVC 40 (หมายถึง สินค้าที่มีสัดส่วนมูลค่าที่ได้คุณสมบัติไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 และขั้นตอนการผลิตสุดท้ายของสินค้านั้นจะต้องเกิดขึ้นในภาคี) เกณฑ์การเปลี่ยนพิกัด และ WO (หมายถึง สินค้าได้มาทั้งหมดหรือมีการผลิตขึ้นทั้งหมดภายในภาคี) อีกทั้งแก้ไขฉบับปีของพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ที่ใช้ในตาราง PSRs จาก HS2002 เป็น HS2017 เป็นต้น
                    ซึ่งการแก้ไขภาคผนวก 2 ดังกล่าว SCROO จะต้องเสนอให้ JC พิจารณาให้ความเห็นชอบ              ก่อนดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตต่อไป
                    2. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการสำหรับการแก้ไขเอกสารขั้นตอนการดำเนินการ (Operational Procedures ? OP) และการแก้ไขภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ของ JTEPA โดยเสนอให้ JC ภายใต้ JTEPA พิจารณาทางช่องทางทางการทูตให้ประธาน JC ของแต่ละฝ่ายแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างกันเพื่อรับรองเอกสาร OP ฉบับแก้ไขตามอำนาจหน้าที่ของ JC ตามข้อ 13 ของ JTEPA และเสนอ                      ร่างภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ฉบับแก้ไขให้รัฐบาลของแต่ละฝ่ายพิจารณาเห็นชอบตามที่ระบุไว้ในข้อ 171 (2) (a) ของ JTEPA ซึ่งระบุว่าจะต้องดำเนินการแก้ไขโดยการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูต (diplomatic notes) ระหว่างรัฐบาลของคู่ภาคี ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างประธาน JC ของแต่ละฝ่าย เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 และเห็นพ้องที่จะดำเนินการตามกระบวนการภายในของแต่ละฝ่ายเพื่อให้การแก้ไขเอกสาร OP และการแก้ไขภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ได้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2564

22. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 42
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรี กลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 42 ทั้งนี้ หากมีการปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 42 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
                    ทั้งนี้ ร่างแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 42 มีสาระสำคัญมุ่งเน้นการปฏิรูปการสินค้าเกษตรให้สามารถคาดการณ์ได้ มีความสมดุลและเป็นธรรม โดยมุ่งลดอุปสรรคทางการค้า ลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้า ตลอดจนคำนึงถึงความจำเป็นด้านการพัฒนาของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ สอดคล้องกับบทบาทและท่าทีไทยต่อกลุ่มเคร์นส์ที่ผ่านมา ดังนั้น การรับรองร่างแถลงการณ์ดังกล่าว จะเป็นโอกาสอันดีของไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลกในการแสดงเจตนารมณ์ต่อการปฏิรูปการสินค้าเกษตรภายใต้ WTO รวมทั้งสนับสนุนความมุ่งมั่นของกลุ่มเคร์นส์ในการผลักดันให้การเจรจาเกษตรในการประชุม MC12 มีผลลัพธ์เพื่อเสริมสร้างการแข่งขันการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นธรรมสำหรับประเทศสมาชิก WTO ต่อไป
                    สาระสำคัญ
                    ร่างแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 42 เน้นย้ำความสำคัญของการหาข้อสรุปจากการเจรจาเกษตรภายในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC12) เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 20 ของความตกลงว่าด้วยการเกษตรภายใต้ WTO โดยให้ความสำคัญกับการเจรจาเกษตรที่เป็นรูปธรรม และมีความสมดุลอย่างเท่าเทียม มีสาระสำคัญ ดังนี้
                    1. เน้นย้ำถึงความสำคัญที่การประชุม MC12 จะต้องมีผลการเจรจาเกษตรที่เป็นรูปธรรมและมีความสมดุลอย่างเท่าเทียม เพื่อให้การสินค้าเกษตรสามารถคาดการณ์ได้และเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรมากขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                    2. การลดอุปสรรคทางการค้าและการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่มีผลบิดเบือนการค้าเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้ประเทศสมาชิกยกระดับรายได้และมาตรฐานความเป็นอยู่ การจ้างงาน ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืน มาตรา 20 ของความตกลงว่าด้วยการเกษตรกำหนดให้มีการเจรจาเพื่อปฏิรูปการค้าเกษตรในระบบการค้าพหุภาคี
                    3. ยืนยันให้การปฏิรูปการค้าเกษตรต้องสนับสนุนความจำเป็นด้านการพัฒนาของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ
                    4. ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการปฏิรูปทั้ง 3 หัวข้อการเจรจาสินค้าเกษตรภายใต้ความตกลงว่าด้วยการเกษตร ได้แก่ การเปิดตลาด การอุดหนุนภายใน และการแข่งขันการส่งออก ให้มีความคืบหน้า
                    5. เรียกร้องให้มีข้อตัดสินใจของรัฐมนตรี (Ministerial Decision) ในการประชุม MC12  ที่แก้ปัญหาการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตรที่บิดเบือนการค้าและการผลิต และมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนการค้าและการผลิตเพื่อให้การค้าสินค้าเกษตรเป็นไปอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
                    6. เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับสมาชิกองค์การการค้าโลก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับการประชุม MC12

23. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับสูงภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง (Asia and Pacific High-Level Conference on Belt and Road Cooperation)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารข้อริเริ่มเรื่องความเป็นหุ้นส่วนสายแถบและเส้นทางว่าด้วยความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-19 และร่างเอกสารข้อริเริ่มเรื่องความเป็นหุ้นส่วนสายแถบและเส้นทางว่าด้วยการพัฒนาสีเขียวของการประชุมระดับสูงภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ได้รับมอบหมายเข้าร่วมการประชุมระดับสูงภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยความร่วมมือสายแถบและเส้นทางและร่วมให้การรับรองร่างเอกสารข้อริเริ่มเรื่องความเป็นหุ้นส่วนสายแถบและเส้นทางว่าด้วยความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-19 และร่างเอกสารข้อริเริ่มเรื่องความเป็นหุ้นส่วนสายแถบและเส้นทางว่าด้วยการพัฒนาสีเขียว ในการประชุมดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                      สาระสำคัญของร่างเอกสารข้อริเริ่มฯ ทั้ง 2 ฉบับ มีดังนี้
                     1. ร่างเอกสารข้อริเริ่มเรื่องความเป็นหุ้นส่วนสายแถบและเส้นทางว่าด้วยความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-19 แสดงเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-19 ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ เช่น                 การประสานงานระหว่างกันด้านนโยบายกฎระเบียบวัคซีน การสนับสนุนให้รัฐบาลและบริษัทผู้ผลิตวัคซีนให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ประเทศกำลังพัฒนาโดยการบริจาคหรือการส่งออกในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ การส่งเสริมการวิจัยด้านวัคซีนร่วมกันและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การพัฒนาความเชื่อมโยงเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายวัคซีนข้ามพรมแดน เป็นต้น โดยยึดมั่นในหลักการการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน และการทำให้วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะของโลก
                    2. ร่างเอกสารข้อริเริ่มเรื่องความเป็นหุ้นส่วนสายแถบและเส้นทางว่าด้วยการพัฒนาสีเขียว แสดงเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาสีเขียวเพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและมีบูรณาการ การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการดำเนินการตามความตกลงปารีส การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมพลังงานสีเขียวและ                  พลังงานสะอาด เป็นต้น โดยยึดมั่นต่อหลักการของสหประชาชาติและความตกลงปารีส
                    ทั้งนี้ ในวันที่ 23 มิถุนายน 2564 จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง (Asia and Pacific High-Level Conference on Belt and Road Cooperation) ภายใต้หัวข้อ ?การส่งเสริมความร่วมมือในการต่อสู้กับโรคระบาดเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน? ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อแสวงหาลู่ทางในการขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการวิจัยและพัฒนา การจัดหา การกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 และผลักดันแนวคิดเส้นทางสายไหมสีเขียว (Green Silk Road) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เป็นประธานการประชุม และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

24. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการ (Joint Commission - JC) ไทย ? สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ครั้งที่ 2
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการ (Joint Commission - JC) ไทย ? สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ครั้งที่ 2 และอนุมัติให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 2 ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ นอกเหนือจากที่ปรากฎในสิ่งที่ส่งมาด้วย โดยไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมชี้แจงเหตุและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 2 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือทวิภาคีที่ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการร่วมกันไว้ ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะแก้ไข พัฒนาและ/หรือผลักดันให้เกิดความคืบหน้า เพื่อประโยชน์ของการดำเนินความสัมพันธ์ โดยมีประเด็นหลักที่หยิบยกขึ้นหารือระหว่างการประชุมฯ อาทิ 1) ด้านการค้าการลงทุน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งที่โดดเด่นของแต่ละฝ่าย                 ในภูมิภาคเพื่อเป็นช่องทางขยายการค้าทั้งในและนอกภูมิภาค 2) ด้านพลังงาน ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการลงทุน              ของแต่ละฝ่ายด้านพลังงานและพลังงานทดแทน 3) ด้านสาธารณสุข ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข 4) ด้านการเกษตร ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันด้านการเกษตร โดยเฉพาะผ่านการจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านเกษตรระหว่างกัน 5) ด้านความมั่นคงทางอาหาร ไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าอาหารพร้อมสนับสนุนยุทธศาสตร์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเรื่องดังกล่าว

          ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2564

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ