สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 ตุลาคม 2565

ข่าวการเมือง Tuesday October 18, 2022 17:46 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

                    วันนี้ (18 ตุลาคม 2565)  เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี                    เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย
                    1.          เรื่อง          ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์

ต่างประเทศในประเทศไทย) เศรษฐกิจ สังคม

                    2.          เรื่อง           ข้อเสนอเพื่อกำหนดมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด

ที่เป็นรูปธรรม

                    3.          เรื่อง          การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัด                                                            หนองบัวลำภู
                    4.           เรื่อง          การยกเว้นการแสดงหลักฐานใบรับรองแพทย์ว่าเป็นผู้ไม่มีโรคต้องห้าม และการ

แสดงตัวตนเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงานอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง สำหรับผู้ขอ

                                        และผู้ถือ long-term resident visa (LTR Visa) [ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน                                         เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ

ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มี

ศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (ฉบับที่ ..)]

                    5.           เรื่อง           การขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา

อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรม

ทางหลวงชนบท และการขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อม

เกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา

จังหวัดกระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท

                    6.           เรื่อง          ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง                                                   รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (กระทรวงพลังงาน)
                    7.           เรื่อง          รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

                    8.          เรื่อง          มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565

ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

                    9.          เรื่อง          มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565

ของกระทรวงการคลัง ต่างประเทศ

                    10.           เรื่อง          ขอความเห็นชอบร่างข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการปรับตัวต่อการ

เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศในบริบทความร่วมมือระหว่าง

ประเทศกำลังพัฒนาในลุ่มน้ำโขง

                    11.           เรื่อง          การดำเนินการตามคำมั่นที่ให้กับสหภาพยุโรปในการเข้าเป็นภาคีในความตกลง

พหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ

                    12.           เรื่อง           ร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29

และร่างแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29

                    13.          เรื่อง          ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการ                                                   Community-based Poverty Reduction for Lancang-Mekong

Cooperation Countries ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง ? ล้านช้าง ประจำปี

พ.ศ. 2565

                    14.           เรื่อง          การให้ความเห็นชอบและรับรองเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียน

เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน

                    15.          เรื่อง           การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ

ภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

แต่งตั้ง

                    16.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ

ระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

                    17.           เรื่อง           การกำหนดตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น จำนวน 1 ตำแหน่ง
                    18.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)
                    19.           เรื่อง           การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

ประชาชน

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396




























กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบดังนี้
                    1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                    2. เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการต่อไป
                    3. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
                    1. โดยที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมการจ้างงานในธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ กระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่าย ตลอดจนประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 มิถุนายน 2565 กรมการท่องเที่ยว (กก.) จึงได้ขอความอนุเคราะห์กรมสรรพากร (กค.) ในการจัดทำร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากกรมการท่องเที่ยวจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ทั่วโลก
                    2. กค. พิจารณาแล้วจึงได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความ                   ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรเพื่อกำหนดให้เงินได้ที่นักแสดงสาธารณะที่เป็นนักแสดงภาพยนตร์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับอันเนื่องมาจากการแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศซึ่งดำเนินการสร้างโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและได้รับอนุญาตการสร้างตามกฎหมาย ว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
                    3. กค. ได้พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยรายงานว่าร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....)                  ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐโดยสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละประมาณ 14.35 ล้านบาท มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 1) ดึงดูดการลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยไม่น้อยกว่าปีละ 3,500 ล้านบาท 2) กระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ 3) ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์และนักแสดงที่มีชื่อเสียง
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    เป็นการกำหนดให้เงินได้ที่นักแสดงสาธารณะที่เป็นนักแสดงภาพยนตร์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศได้รับอันเนื่องมาจากการแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศซึ่งดำเนินการสร้างโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและได้รับอนุญาตการสร้างตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ครบกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เศรษฐกิจ สังคม

2. เรื่อง ข้อเสนอเพื่อกำหนดมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติดที่เป็นรูปธรรม
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยา               เสพติดที่เป็นรูปธรรม ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยให้ ยธ. รับความเห็นของที่ประชุมไปปรับมาตรการและหน่วยงานรับผิดชอบ และให้รายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 3 เดือน
                    สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                    ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เพื่อพิจารณามาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่เลขานุการ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการสำคัญ 4 ประเด็นหลักที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประซาชนในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติดอย่างจริงจัง รวมทั้งเห็นควรกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการในแต่ละประเด็น สรุปได้ดังนี้
                    1. มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน
                        เนื่องจากการครอบครองอาวุธปืนในปัจจุบันมีปัญหาด้านอาวุธปืนเถื่อนซึ่งมีการซื้อขายกันอย่างเสรีและมีราคาถูก บนแพลตฟอร์มดิจิทัลและกลุ่มปิดในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ควบคุมได้ยาก ส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้มากขึ้นโดยไม่มีการตรวจสอบหรือคัดกรองที่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งในการก่ออาชญากรรม ประกอบกับหน่วยงานของรัฐยังขาดการเชื่อมโยงฐานข้อมูล (แบบ ป.3 ป.4 และ ป.12) ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง ดังนั้น เพื่อให้การควบคุม ตรวจสอบ และพิสูจน์ทราบตัวบุคคลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการวางแผนป้องกันเหตุ และสามารถทำการสืบสวนหลังเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว จึงมีข้อเสนอมาตรการดังนี้
                    (1) การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน
                         หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงมหาดไทย
                         (1.1) การเพิ่มเติมเอกสารใบรับรองแพทย์ ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ประกอบคำขอซึ่งรับรองว่าผู้ยื่นคำขออนุญาตไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม
                          (1.2) การออกหนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือนายจ้าง ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือนายจ้างว่าเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตรงตามกฎหมาย รวมทั้งไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม ไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จิตประสาทหลอน คลุ้มคลั่ง และควรมีมาตรการตรวจสอบทบทวนคุณสมบัติและประเมินสมรรถนะของผู้รับใบอนุญาตในทุกห้วงระยะเวลา 5 ปี หรือตามระยะเวลาที่เหมาะสม
                          (1.3) การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขออนุญาต ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน เช่น การตรวจสอบอาชีพ รายได้ พฤติกรรม ความเหมาะสมในด้าน            อื่น ๆ เพิ่มเติมจากการตรวจสอบประวัติการต้องโทษ เป็นต้น
                          (1.4) การเพิกถอนใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าผู้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม หรือพกพาอาวุธปืนขณะเมาสุราหรือใช้ยาเสพติด จะต้องดำเนินการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวโดยไม่ชักช้า
                           (1.5) การเชื่อมโยงฐานข้อมูล ควรมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลแบบ ป.3 ป.4และ ป.12 ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเพื่อให้การควบคุม ตรวจสอบ พิสูจน์ทราบตัวบุคคลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถวางแผนป้องกันเหตุและสามารถทำการสืบสวนหลังเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการตรวจสอบเพื่อดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตของบุคคลที่พบว่าขาดคุณสมบัติภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาต
                    (2) การจัดการอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาตหน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงมหาดไทย
                         ให้พิจารณาเสนอแนวทางการกำหนดระยะเวลาผ่อนผันให้ผู้ครอบครองนำอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาตมาส่งมอบให้แก่ภาครัฐ หรือนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวควรมีการกำหนดโทษให้หนักขึ้นสำหรับผู้กระทำผิดฐานครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต หรือนำอาวุธปืนนั้นไปกระทำผิดกฎหมาย
                    (3) การป้องกันและปราบปรามในเชิงรุก
                         หน่วยงานรับผิดชอบหลัก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
                         (3.1) การตรวจจับการค้าอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต ตัดวงจรการซื้อขายอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือในตลาดมืด
                          (3.2) การวางแผนเฝ้าระวัง ตรวจสอบประวัติบุคคลเฝ้าระวังที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล มือปืน และมีพฤติการณ์ใช้อาวุธ รวมถึงข้อมูลเครือข่ายค้ายาเสพติดในพื้นที่และเครือข่ายข้างต้นเพื่อวางแผนปิดล้อมตรวจค้น สืบสวนจับกุมดำเนินคดี
                          (3.3) การทำลายเครือข่ายค้าอาวุธปืน ให้เร่งรัดการสืบสวน ติดตาม เก็บข้อมูลกลุ่มขบวนการทั้งหมดเพื่อวางแผนทำลายเครือข่าย
                           (3.4) การติดตามบุคคลที่มีพฤติการณ์เสี่ยง ประสานงานกับกรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลเกี่ยวกับบุคคลเฝ้าระวังและมีพฤติกรรมก่อความรุนแรง มีอาการป่วยทางจิต เพื่อดำเนินการให้มีการเพิกถอนใบอนุญาต
                           (3.5) การตั้งด่านตรวจ ให้มีการตั้งด่านตรวจค้นอาวุธปืนและยาเสพติด เพื่อเป็นการป้องปรามอย่างเข้มงวด
                    (4) มาตรการทางดิจิทัล
                         หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
                         (4.1) การป้องกันการค้าอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและเครือข่ายสังคมออนไลน์ ให้มีการปิดกั้นช่องทางขายอาวุธปืนทุกช่องทางทันทีที่ตรวจพบ และให้เรียกมาชี้แจงข้อมูลภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือแจ้ง
                          (4.2) การป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม ให้พิจารณาสกัดกั้นเว็บไซต์ ข่าว หรือคลิปที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีพฤติกรรมเลียนแบบ
                    2. มาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
                       หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
                       (1) การควบคุมสารเคมีที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด ควรมีการควบคุมการนำเข้าส่งออกวัตถุอันตรายหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดที่เข้มงวดขึ้น อาทิ โซเดียมไซยาไนด์ (sodium cyanide) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยสารดังกล่าวปริมาณ                 1 กิโลกรัม สามารถใช้ผลิตยาบ้าได้ 22,000 เม็ด หรือยาไอซ์ 0.44 กิโลกรัม ในปัจจุบันมีราคาซื้อขาย 100 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2565 มีการขออนุญาตเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกโซเดียมไซยาไนด์ จำนวน 1,156.80 ตัน และส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 810 ตัน ซึ่งปริมาณดังกล่าว หากใช้ผลิตยาบ้าจะได้จำนวน 16,060 ล้านเม็ด และหากผลิตไอซ์จะได้จำนวน 359,640 กิโลกรัม
                    (2) การทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติด และยึดอายัดทรัพย์สิน ให้สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการสืบสวนขยายผล ทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติด และยึดอายัดทรัพย์สินตาม ?ประมวลกฎหมายยาเสพติด? โดยมีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่ 1) แยกคดีอาญาออกจากคดีทรัพย์ เดิมใช้เวลาประมาณ 5 ปี ทรัพย์ถึงจะตกเป็นของกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด แต่ปัจจุบันลดระยะเวลาเหลือประมาณ 2 ปี และ 2) การยึดอายัดทรัพย์สินคิดตามมูลค่าเพิ่ม (Value Base) และยึดทรัพย์สินทดแทน (Substitute Assets) นอกจากนี้ ให้ขับเคลื่อนงานดังกล่าวผ่านคณะทำงานปราบปรามยึดทรัพย์สินคดียาเสพติดภายใต้ปฏิบัติการ ?พาลีปราบยา? โดยบูรณาการร่วมกันระหว่าง สำนักงาน ปปง. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ส. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ
                    (3) การติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติด ให้เร่งรัดการติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติด โดยในปี พ.ศ. 2544 - 2565 มีจำนวน 8,040 หมายจับ และในปีที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ใช้เงินกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ไปเป็นเงินรางวัลนำจับให้กับผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้จับกุมผู้มีหมายจับ จำนวน 130 หมายจับ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว จำนวน 9 หมายจับ
                    (4) การทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อค้นหาผู้เสพยาเสพติดทั่วประเทศ ให้สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการนำข้อมูลผู้เสพเข้าระบบศูนย์ข้อมูลที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส. รวมทั้งการประสานส่งข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการบำบัดฟื้นฟูตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
                    (5) การตรวจสอบและติดตามข้อร้องเรียนของประชาชน โดยในปี พ.ศ. 2565 มีประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน จำนวน 16,570 เรื่อง ดำเนินการแล้ว จำนวน 14,037 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 84.71 และอยู่ระหว่างการสืบสวนทางลับ จำนวน 2,533 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 15.29
                    (6) การศึกษาและทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดปริมาณการครอบครองยาเสพติดเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของผู้เสพที่จะต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
                    (7) การกำหนดมาตรการติดตามการบำบัดฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเกิดประสิทธิผล รวมทั้งร่วมกับชุมชนติดตามเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ติดยาเสพติดกลับมาใช้ยาเสพติดอีก
                    (8) การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) เห็นควรให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาเสนอแนวทางการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวมาสนับสนุนการติดตามหรือคุมประพฤติผู้เสพหรือครอบครองยาเสพติดเพื่อประสิทธิภาพในการปรับพฤตินิสัยหรือการป้องกันอาชญากรรม
                    3. มาตรการด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
                        ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วยยาเสพติดที่อยู่ในศูนย์คัดกรอง จำนวน 1.9 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ติดยาเสพติด จำนวน 35,000 คน คิดเป็นร้อยละ 2 ผู้เสพยาเสพติด จำนวน 4.56 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 24 และผู้ใช้ยาเสพติด จำนวน 1.46 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75 โดยกระทรวงสาธารณสุขมีแผนพัฒนาระบบบำบัดพื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตามประมาลกฎหมายยาเสพติดต่อเนื้องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ? 2568 ซึ่งสามารถวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ ดังนี้
ปัญหา          สาเหตุ          แนวทางแก้ไข
พฤติกรรมของผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน          ? ลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยและ
ครอบครัวไม่สามารถควบคุมหรือ
ช่วยผู้ป่วยให้ไปบำบัดได้
? ขาดการบูรณาการ ป้องกัน
ปราบปราม บำบัดในชุมชน
? ทัศนคติความเข้าใจของ
ประชาชน          ? จัดทำยุทธศาสตร์รณรงค์  สื่อสาร มาตรการชุมชน
ครอบครัวที่พึงประสงค์
และแนวทางการจัดการกับผู้ป่วย
ยาเสพติดแบบวงกว้าง
และแบบเฉพาะกลุ่มให้เป็น
รูปธรรม วัดผลได้
การปรับมาตรการ
และข้อกฎหมาย          ? ขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิ ภาพแก่เจ้าหน้าที่
? การลดงบประมาณนำส่งผู้ป่วย          ? จัดทำการสื่อสารประชุม
เชิงปฏิบัติการ
? จัดทำศูนย์รับเรื่อง
การประสานงาน
เพื่อจัดการอุบัติการณ์
? เพิ่มขวัญและกำลังใจ
แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ (ปกครอง/ตร./สธ.)          ? ขาดความเข้าใจที่เชื่อมโยงและ
สอดคล้องกันในแต่ละบทบาทเจ้าหน้าที่          ? ขอความร่วมมือหน่วยงานภาคีในการลงข้อมูลในระบบ
? เพิ่มผู้ใช้งานระบบข้อมูล
?ระบบข้อมูลการบำบัดรักษา
และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด (บสต.)?ของภาคีเครือข่าย
? สนับสนุนงบประมาณในการลงข้อมูล


ระบบข้อมูล          ? ขาดข้อมูลผู้ป่วยยาเสพติดในบางระบบ
? ผู้ใช้งานระบบข้อมูลใหม่ตามประมวลฯ ยังไม่ได้เริ่มใช้งาน
? ขาดงบประมาณในการชี้แจงสื่อสาร
? การลงข้อมูลในระบบ
การกำกับติดตามและตัวชี้วัด          ? ตัวชี้วัดยังเป็นตามข้อกฎหมายเดิม
? ขาดการเชื่อมโยงติดตามกับผู้ป่วยในบางกลุ่ม          ? ปรับตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับ
การปฏิบัติงาน
? ชี้แจงซักซ้อมทำความเข้าใจ
ในพื้นที่
งบประมาณ          ? งบประมาณในกลุ่มผู้ป่วยแบบสมัครใจลดลง
? การบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
(Community Based
Treatment and
Rehabilitation : CBTx)
? ขาดงบประมาณ
ในการดำเนินงาน
? ขาดงบประมาณในการนำส่งผู้ป่วย
? ขาดงบประมาณในการลงข้อมูลในระบบ          สนับสนุนงบประมาณ
? การสื่อสาร
? การบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based
Treatment and
Rehabilitation CBTx)
? การนำส่งผู้ป่วยเพื่อเข้าบำบัด
? การลงข้อมูลในระบบ
โดยมีข้อเสนอมาตรการในการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
                    (1) ระยะเร่งด่วน
                         (1.1) ค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness with High Risk to Violence: SMI-V) ให้เข้าสู่สถานฟื้นฟูฯ ภาคีเครือข่าย
                         (1.2) เร่งรัดการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดตั้งศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบล
                         (1.3) บูรณาการการบำบัดฟื้นฟูโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment)                 ให้ครอบคลุมทุกตำบล
                    (2) ระยะกลาง
                         (2.1) เร่งรัดจัดตั้งสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของภาคีเครือข่าย และศูนย์ฟื้นฟูสภาพสังคม
                         (2.2) สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่มีมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้มีรายได้ซึ่งติดยาเสพติด
                    (3) ระยะต่อเนื่อง ควบคุมกำกับ ติดตาม ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติดสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม และการใช้ชุมชนเป็นฐานการบำบัดยาเสพติด (Community Based Treatment) ให้เป็นไปตามมาตรฐาน
                    4. มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต
                       สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยในปัจจุบัน มีผู้ป่วยจิตเวชประมาณ4,033,059 คน เข้าถึงบริการร้อยละ 38.75 ผู้ป่วยจิตเวชเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง 26,076 คน (พ.ศ. 2559 - 2565) (แต่มีผู้ป่วยจิตเวชที่เข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 43.8) ประชาชนเสี่ยงต่อโรคจิตเวชร้อยละ 6.44 และเยาวชนเสี่ยงร้อยละ 15.61 ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงบริการต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ร้อยละ 48.42 และครอบครัวและชุมชนต้องรับดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงโดยยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือประมาณ 26,000 ราย ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ดังนี้
                    (1) การพัฒนาเครือข่ายนอกระบบสุขภาพ ให้จัดตั้งระบบดูแลสุขภาพจิตใน (ก)โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง (ข) สถานประกอบกิจการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน และ (ค) หน่วยงานที่เก็บรักษาหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธร้ายแรง
                    (2) การพัฒนาเครือข่ายในระบบสุขภาพ
                         (2.1) จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดให้ครบทุกอำเภอ
                         (2.2) จัดตั้งหน่วยบูรณาการจิตเวชฉุกเฉินที่บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยแจ้งเหตุ ตำรวจ และทีมสาธารณสุขฉุกเฉิน ในทุกอำเภอ เพื่อร่วมมือกันในการนำตัวผู้ป่วยจิตเวชที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงและขาดการรักษาเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษา
                         (2.3) จัดทำระบบการดูแลเบื้องต้นทางจิตเวชทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
                    (3) การพัฒนาเครือข่ายในชุมชน
                         (3.1) เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการรักษาจิตเวชทางไกล เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจรักษาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านได้
                         (3.2) เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการดูแลต่อเนื่องในชุมชนสำหรับกรณีที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรง เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดได้รับการติดตามต่อเนื่องตลอดชีวิต

3. เรื่อง  การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู
          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธกระทำความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2565 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ดังนี้
          สาระสำคัญข้อเท็จจริง
                    1. วันที่ 6 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข พลอากาศจอม รุ่งสว่าง และนายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากการกรณีคนร้ายใช้อาวุธกระทำความรุนแรงต่อเด็กภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ที่โรงพยาบาลอุดรธานี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่และสั่งการหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปสนับสนุนและช่วยเหลือ เยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ
                    2. วันที่ 6 ตุลาคม 2565 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบหมายให้นางสาวแรมรุ้ง  วรวัธ รองปลัดกระทรวง  ผู้ตรวจราชการกระทรวง 3 ท่าน  ประกอบด้วย              นางสาวอุไร เล็กน้อย นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ และนางอภิญญา  ชมภูมาศ หน่วยงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดหนองบัวลำภู และ 13 จังหวัดใกล้เคียง ร่วมกับทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลหนองบัวลำภู ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา
                    3. วันที่ 7 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้เสด็จเยี่ยมผู้บาดเจ็บและทรงให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ  โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับผู้บาดเจ็บเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ รับศพผู้ที่เสียชีวิตไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
                    4. วันที่ 7 ตุลาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุติ  ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงจังหวัดหนองบัวลำภู และได้มอบหมายให้ทุกส่วนราชการให้การช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งการฟื้นฟูเยียวยาชุมชนให้สามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติ
                    5. วันที่ 9 ตุลาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิตและร่วมพิธีสวดพระอภิธรรม ณ จังหวัดหนองบัวลำภู
                    6. วันที่ 11 ตุลาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ             พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพในพระบรมราชา           นุเคราะห์ ณ จังหวัดหนองบัวลำภู
                    7. วันที่ 14 ตุลาคม 2565 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อติดตามการช่วยเหลือดูแล รับฟังปัญหา อุปสรรคการดำเนินงานในพื้นที่ของทีมปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงการเยี่ยมให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง โดยมอบหมายให้มีการเพิ่มและพัฒนาอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ใช้พื้นที่ตำบล 5 ตำบล ของอำเภอนากลาง เป็นห้องปฏิบัติการ (LAB) เพื่อเป็นพื้นที่ศึกษาให้เกิดความยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล เพิ่มทีมดำเนินงานในพื้นที่ จาก 19 ทีม เป็น 40 ทีม เพื่อติดตามเยี่ยมบ้าน 3 วันต่อหนึ่งสัปดาห์  ตั้งทีม CM (Case Manager) 1 ทีม ต่อ 1 ครอบครัว โดยเน้นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือระยะวิกฤตและระยะกลางถึงธันวาคม 2565  จัดทำแผนดูแลสภาพจิตใจเจ้าหน้าที่ควบคู่กับการดูแลประชาชน ประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาให้กลุ่มเปราะบางครบทั้ง 5 มิติ และจัดทำแผนเผชิญเหตุสถานการณ์ทางสังคม
                    8. ผลการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(1)  การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของส่วนราชการ
ต่าง ๆ  เช่น กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานประกันสังคม สำนักงานจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กองทัพบก กระทรวงกลาโหม  เป็นต้น
(2) การช่วยเหลือของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า
มีครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 40 ครอบครัว (รวมครอบครัวผู้ก่อเหตุ) ประกอบด้วย
(2.1) ครอบครัวเปราะบาง ระดับ 1 (ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและมีปัญหาที่อยู่อาศัย) จำนวน 19 ครอบครัว
(2.2) ครอบครัวเปราะบาง ระดับ 2 (ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและมีบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง           1 - 2 คน) จำนวน 10 ครอบครัว
(2.3) ครอบครัวเปราะบาง ระดับ 3 (ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและมีบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง มากกว่า 2 คน) จำนวน 11 ครอบครัว แบ่งเป็น (1) เด็กกำพร้า 9 ครอบครัว (2) ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 7 ครอบครัว                 (3) ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ/คนพิการ 23 ครอบครัว
โดยมีแผนการให้ความช่วยเหลือเป็น 3 ระยะ ดังนี้
(1) ระยะวิกฤต (วันที่ 6 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน 2565)
(1.1) การจัดตั้งทีมปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 40 ทีม 40 คน (1 คน : 1 ครอบครัว) เป็นผู้จัดการรายกรณี (Case Manager) มีหน้าที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน สัปดาห์ละ 3 วัน ทั้ง 40 ครอบครัว 48 ราย เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำการช่วยเหลือดูแลด้านจิตใจครอบครัวและญาติผู้สูญเสีย ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้อยู่ในเหตุการณ์
(1.2) การสำรวจข้อมูลครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น มีรายได้น้อย
มีหนี้สิน ไม่มีอาชีพ สำรวจห้องน้ำผู้สูงอายุ/คนพิการที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อเร่งวางแผนช่วยเหลือรายบุคคลและรายครอบครัว
(1.3) มอบเงินบริจาคของศูนย์รับบริจาค กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ (ไม่รวมผู้ก่อเหตุ) จำนวน 47 คน ๆ ละ 10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 470,000 บาท (สี่แสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน)
(1.4) มอบเงินช่วยเหลือจากกองทุนสวัสดิการชุมชน ในกรณีที่เป็นสมาชิก กองทุนฯ จำนวน 3 ครอบครัว รวมเป็นเงิน 40,000 บาท และกรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนฯ จำนวน 34 คน ๆ ละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 34,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น  74,000 บาท (เจ็ดหมื่นสี่พันบาทถ้วน)
ซึ่งผลการดำเนินการลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ผู้ได้รับผลกระทบยังมีปัญหาและความต้องการในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
- การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่
- การช่วยเหลือทุนการศึกษาของครอบครัวผู้เสียชีวิต
- การประกอบอาชีพของครอบครัวผู้เสียชีวิต
- การสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชนในชุมชนอำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู
(2) ระยะกลาง (วันที่ 16 พฤศจิกายน ? ธันวาคม 2565)
(2.1) จัดทีมผู้จัดการให้ความช่วยเหลือดูแลเป็นรายกรณี (Case Manager : CM) จากหน่วยงานในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ทีม One Home พม.)
9 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย เลย ชัยภูมิ บึงกาฬ สกลนคร และพิษณุโลก
ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ และบรรเทาทุกข์ ผู้ถูกได้รับผลกระทบ พร้อมบันทึกข้อมูลรายครัวเรือนและวางแผนการช่วยเหลือเยียวยา ควบคู่กับทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีแผนการเยี่ยมให้กำลังใจอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ในช่วง 2 เดือนแรก
(2.2) จัดทำแผนบูรณาการ ?ใกล้บ้าน ? ใกล้ใจ?  โดยใช้ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลในพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลอุทัยสวรรค์ ตำบลด่านช้าง ตำบลกุดแห่ ตำบลโนนเมือง และตำบลฝั่งแดง เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและเป็นศูนย์กลางการบูรณาการการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทั้ง            5 ตำบล ตามสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีความยั่งยืน โดยมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เป็นผู้จัดการให้ความช่วยเหลือดูแลเป็นรายกรณี (Case Manager) ทั้ง 40 ครอบครัว ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลลงในสมุดพกครอบครัว ร่วมกันวิเคราะห์วางแผนการช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านอาชีพและรายได้ ด้านที่อยู่อาศัย และด้านการเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ  มีการอบรมอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายใหม่เพิ่มขึ้น ในพื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ จำนวน 12 หมู่บ้าน ๆ ละ 10 คน รวม 120 คน และในพื้นที่ตำบลอื่น ๆ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู หมู่บ้านละ 5 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 600 คน
(2.3) ใช้พื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ ตำบลด่านช้าง ตำบลกุดแห่ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นห้องปฏิบัติการ (LAB) กระทรวง พม. เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนการบูรณาการความช่วยเหลือประชาชนด้านสังคม และห้องปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการให้เกิดความยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
(2.4) การเร่งปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของครอบครัวผู้ประสบเหตุ
39 ครอบครัว
(2.5) การช่วยเหลือทุนการศึกษาของครอบครัวที่เสียชีวิต  เพื่อให้สามารถได้รับการศึกษาต่ออย่างต่อเนื่อง
(2.6) การฝึกทักษะด้านอาชีพของผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัว โดยให้ความสำคัญกับผู้ที่ยังไม่มีรายได้หรือว่างงาน ประสานกับนายจ้างจนกว่าจะสามารถทำงานได้เป็นปกติ รวมทั้งประสานกระทรวงแรงงานเพื่อพัฒนาทักษะด้านอาชีพอย่างต่อเนื่อง
(2.7) การฝึกทักษะอาชีพเพิ่มเติมให้กับผู้ที่สนใจในชุมชนพื้นที่อำเภอนากลาง 10 ตำบล และการขอโควตาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล
(2.8) การจัดทำแผนฟื้นฟูเยียวยาและแผนเผชิญสถานการณ์ทางสังคม
โดยร่วมกันวิเคราะห์และจัดทำคู่มือจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู จัดกิจกรรมฟื้นฟูเยียวยาชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยความร่วมมือระหว่าง ทีม One Home พม. จังหวัดหนองบัวลำภู องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอนากลาง  ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น เครือข่ายขบวนชุมชน วัด อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)  และภาคีเครือข่ายโดยกำหนดการจัดกิจกรรมสำคัญ ได้แก่
ครั้งที่ 1 ในระหว่างวันที่ 29 - 30 ตุลาคม 2565
- พิธีทำบุญเรียกขวัญประจำหมู่บ้าน
- พิธีผูกเสี่ยว ?ครอบครัวกับ CM?
- คลินิกอาชีพยุคใหม่ที่สร้างรายได้มั่นคง
ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ? 31 ธันวาคม 2565
- กีฬาพื้นบ้านคน 3 รุ่น
- การแข่งขันกีฬาเด็กและเยาวชนสานมิตรพิชิตยาเสพติดชิงถ้วยรางวัล
(3) ระยะยาว (เดือนมกราคม ? ธันวาคม 2566)
                    (3.1) ทีมปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและ
ความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขคัดกรองแบ่งกลุ่ม ประเมินสุขภาพจิต ประเมินความเข้มแข็งของครอบครัว และวางแผนออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมบูรณาการเครือข่ายในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามสภาพปัญหาและความต้องการให้ครอบคลุมทุกมิติ ประเมินผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากเปราะบางสู่ความเข้มแข็ง เป็นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ 12 กระทรวง เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน 5 มิติ ทั้งด้านข้อมูล ด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านที่อยู่อาศัย ด้านอาชีพและการมีงานทำ และด้านท่องเที่ยวและชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาคนทุกช่วงวัยในระดับพื้นที่โดยผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากคนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)  รวมทั้งติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนองค์ความรู้ พร้อมทั้งติดตามการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
(3.2) จัดทำเป็นพื้นที่ต้นแบบระบบสวัสดิการสังคมครบวงจร เป็นพื้นที่นำร่องที่มีระบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมสำหรับคนทุกช่วงวัย โดยยึดปัญหาและความต้องการของประชาชน
เป็นศูนย์กลาง เป็นการพลิกฟื้นพื้นที่ที่ประสบปัญหาให้เป็นพื้นที่สวัสดิการสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม
                                        (3.3) การฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ปฏิบัติเสมือนเป็นบุคคลในครอบครัวและติดตามพร้อมรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกเดือน เป็นเวลา 1 ปี

4. เรื่อง การยกเว้นการแสดงหลักฐานใบรับรองแพทย์ว่าเป็นผู้ไม่มีโรคต้องห้าม และการแสดงตัวตนเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงานอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง สำหรับผู้ขอและผู้ถือ long-term resident visa (LTR Visa) [ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (ฉบับที่ ..)]
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
                    1. เห็นชอบ เรื่อง การยกเว้นการแสดงใบรับรองแพทย์และการต้องมารับใบอนุญาตทำงานที่นายทะเบียนออกให้ด้วยตนเอง สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภทผู้พำนักระยะยาว ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
                    2. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (ฉบับที่ ..) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ รง. เสนอว่า
                    1. รง. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 โดยได้ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสูงประเทศไทย ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้คนต่างด้าวและผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษประเภทผู้พำนักระยะยาว (long-term resident visa : LTR Visa) ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 สามารถขออนุญาตทำงานในราชอาณาจักรได้ โดยในการขออนุญาตทำงานคนต่างด้าวต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามและต้องดำเนินการ ดังนี้
                              1.1 ไม่เป็นโรคต้องห้ามตามข้อ 2 (3) แห่งกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. 2563 ได้แก่ โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม วัณโรคระยะติดต่อ โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3
                              1.2 จะต้องมารับใบอนุญาตทำงานที่นายทะเบียนออกให้นั้นด้วยตนเองตามข้อ 8 แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงานและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2563
                    2. ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ได้มีหนังสือขอให้ รง. พิจารณายกเว้นการแสดงหลักฐานใบรับรองแพทย์ว่าเป็นผู้ไม่มีโรคต้องห้ามและการแสดงตัวตนเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงานอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเองตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2 สำหรับผู้ขอหรือผู้ถือ LTR Visa เพื่อลดภาระที่ไม่จำเป็นและเป็นการอำนวยความสะดวกอย่างสูงสุดแก่คนต่างด้าวที่เป็นบุคลากรคุณภาพและศักยภาพสูงให้เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยได้โดยสะดวกและรวดเร็ว
                    3. ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการยกเว้นการแสดงใบรับรองแพทย์ และการต้องมารับใบอนุญาตทำงานที่นายทะเบียนออกให้ด้วยตนเอง สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษประเภทผู้พำนักยาว (LTR Visa) และมอบหมายให้ รง. ดำเนินการออกประกาศในเรื่องดังกล่าวต่อไป
                    4. ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐให้กับคนต่างด้าวที่ประสงค์เข้ามาลงทุนหรืออยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยของรัฐบาล อันจะส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนและแรงงาน และทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รง. จึงได้ดำเนินการยกร่างประกาศในเรื่องนี้ตามมติคณะกรรมการตามข้อ 3 เพื่อยกเว้นการแสดงใบรับรองแพทย์ และการต้องมารับใบอนุญาตทำงานที่นายทะเบียนออกให้ด้วยตนเอง สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภทผู้พำนักระยะยาว (LTR Visa) ที่ต้องการขออนุญาตทำงานในราชอาณาจักร
                    สาระสำคัญของร่างประกาศ
                    ร่างประกาศในเรื่องนี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้คนต่างด้าวและผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษประเภทผู้พำนักระยะยาว (LTR Visa) ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่จะขออนุญาตทำงานในราชอาณาจักร ได้รับการยกเว้นการแสดงใบรับรองแพทย์ และการต้องมารับใบอนุญาตทำงานที่นายทะเบียนออกให้ด้วยตนเอง

5. เรื่อง การขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท และการขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ดังนี้
                    1. อนุมัติในหลักการให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการก่อสร้างโครงการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา - อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ภายในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 4,829.25 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างจำนวน 4,700 ล้านบาท ในอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้ : เงินงบประมาณเป็น 70 : 30 และค่าควบคุมงาน ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ จำนวน 129.25 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 2.75 ของวงเงินค่าก่อสร้าง โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม สำหรับวงเงินงบประมาณขอให้กรมทางหลวงชนบทเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณรองรับตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    2. อนุมัติในหลักการให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง - ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ภายในกรอบวงเงิน 1,849.5 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าก่อสร้าง จำนวน 1,800 ล้านบาท ในอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้ : เงินงบประมาณ 70 : 30 และค่าควบคุมงาน ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ จำนวน 49.5 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 2.75 ของวงเงินค่าก่อสร้าง โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม สำหรับวงเงินงบประมาณขอให้กรมทางหลวงชนบทเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณรองรับตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    คค. รายงานว่า ทช. ได้จัดทำรายละเอียดโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาและโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา โดยทั้งสองโครงการมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อก่อสร้างสะพานแห่งใหม่เพื่อเป็นทางเชื่อมระหว่างจังหวัดและทางเชื่อมระหว่างฝั่งแผ่นดินใหญ่และเกาะตามลำดับซึ่งจะช่วยลดระยะทางและระยะเวลาในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้ารวมทั้งยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบทเพื่อเชื่อมโยงต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                    1. โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา
                              1.1 เหตุผลความจำเป็น
                                   ปัจจุบันการเดินทางระหว่างอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา - อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ต้องเดินทางอ้อมทะเลสาบสงขลา โดยมีระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร และใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ดังนั้น การดำเนินโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาจะทำให้การเดินทางระหว่างสองพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางสัญจร และสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยรอบทะเลสาบสงขลา รวมทั้งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ส่งเสริมการขนส่งโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามัน ?               อ่าวไทย
                              1.2 สาระสำคัญของโครงการ
หัวข้อ          รายละเอียด
ที่ตั้งโครงการ          - จุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกจากถนน พท. 4004 (กิโลเมตรที่ 3 + 300) บ้านจองถนน ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง วางแนวข้ามทะเลสาบสงขลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
- จุดสิ้นสุดที่ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ถนนรอบเกาะใหญ่) บ้านแหลมยาง ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
ลักษณะโครงการ          มีขนาด 2 ช่องจราจร โดยมีขนาดช่องจราจรกว้าง 4 เมตร ไหล่ทางกว้างด้านละ 2.5 เมตร ทั้งนี้ สามารถจัดเป็น 4 ช่องจราจร ได้ในอนาคต (ถ้าจำเป็น)
ระยะทาง          7 กิโลเมตร (ความยาวสะพาน 6,600 เมตร)
รูปแบบ
โครงสร้างสะพาน          - สะพานช่วงหลักเป็นสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) มีความกว้างช่องลอดสุทธิไม่น้อยกว่า 120 เมตร และมีความสูงไม่น้อยกว่า 18 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลสูงสุด
- สะพานช่วงต่อทั้งสองข้างของสะพานช่วงหลักเป็นสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge)
สถานะความพร้อม
โครงการ          - ออกแบบและประมาณราคาค่าก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2564
การจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้าง
- ทช. ได้รับการอุทิศที่ดินจากประชาชน ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างทั้ง 2 ฝั่ง ของสะพาน ประกอบด้วย
   (1) ที่ดินฝั่งตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จำนวน 1 ไร่ 16 ตารางวา
   (2) ที่ดินฝั่งตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา จำนวน 8 ไร่
รายงานการประเมิน
ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(EIA)          - คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 มีมติเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว
- พื้นที่โครงการอยู่ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ซึ่งบริเวณทางด้านทิศเหนือของโครงการห่างจากบริเวณพื้นที่โครงการประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีการกำหนดเป็นเขตคุ้มครองโลมาอิรวดี1 โดยพื้นที่หากิน (Home Range) ของโลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลาครอบคลุมพื้นที่ประมาน 100 ตารางกิโลเมตร โลมาอิรวดีส่วนใหญ่อาศัยตรงกลางร่องน้ำส่วนลึก สำหรับขอบเขตพื้นที่หากินของโลมาอิรวดีด้านล่างนั้นห่างจากพื้นที่ดำเนินกิจกรรมก่อสร้างแนวสะพานประมาณ 6 กิโลเมตร ในช่วงดำเนินการก่อสร้างแนวสะพานคาดว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลมาอิรวดีในระดับต่ำ
ปริมาณการจราจร
(คาดการณ์)          - ปี 2569 (ปีแรกที่เปิดให้บริการ) มีปริมาณจราจร 3,500 คันต่อวัน [ระดับการให้บริการ (Level of Service : LOS)2 = A]
- ปี 2599 (ปีที่ 30 ของโครงการ) มีปริมาณจราจร 6,500 คันต่อวัน (LOS = B)
- ทั้งนี้ หากมีการพัฒนาโครงข่ายถนนส่วนเชื่อมต่อสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาตามแนวตะวันตก - ตะวันออก (East - West Corridor) บริเวณเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ฝั่งจังหวัดพัทลุงและบริเวณเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408 ฝั่งจังหวัดสงขลาจะทำให้มีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นเป็น 6,300 คันต่อวัน (LOS = B) ในปี 2569 และ 12,000 คันต่อวัน (LOS - D) ในปี 2599
ระยะเวลาก่อสร้าง          3 ปี (ปี 2566 - 2568)
ผลตอบแทน
ทางเศรษฐกิจ          - มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) อยู่ที่ 2,553.26 ล้านบาท ณ อัตราคิดลด (Discount Rate) ร้อยละ 12
- อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR)3 คิดเป็นร้อยละ 19.62
- อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) 1.86 เท่า
                              1.3 ประโยชน์ที่จะได้รับ
                                        1.3.1 ลดระยะทางในการเดินทางระหว่างอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา - อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จาก 80 กิโลเมตร เป็น 7 กิโลเมตร และลดระยะเวลาในการเดินทาง จาก 2 ชั่วโมง เป็น 15 นาที
                                        1.3.2 พัฒนาเส้นทางการขนส่งโลจิสติกส์ และเส้นทางท่องเที่ยวสายใหม่ เชื่อมโยงทะเลอันดามัน - อ่าวไทย เชื่อม 3 จังหวัด (ตรัง - พัทลุง - สงขลา) เป็นเส้นทางลัดสนับสนุนท่าเรือน้ำลึกสงขลา เลี่ยงการเดินทางเข้าเทศบาลนครหาดใหญ่และตัวเมืองสงขลา ช่วยลดปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ
                                        1.3.3 ส่งเสริมและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์
                                        1.3.4 เพื่อบรรเทาปริมาณจราจรของถนนทางหลวงและแก้ปัญหาการจราจร             ที่ติดขัดบริเวณทางแยก ทางลัด (Bypass) ทางเสี่ยง (Shortcut) ระหว่างอำเภอ จังหวัด และพัฒนาพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา รวมถึงพัฒนาและยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบทเพื่อเชื่อมโยง ต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมและขนส่งการแก้ไขปัญหาจราจรด้วยการสร้างทางเชื่อม (Missing Link) ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
                                        1.3.5 เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง ของประชาชน และในกรณีเกิดภัยพิบัติสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็วทันการณ์
                                        1.3.6 สนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการบริการโลจิสติกส์ในพื้นที่
                    2. โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา
                              2.1 เหตุผลความจำเป็น
                                   ปัจจุบันการเดินทางระหว่างฝั่งแผ่นดินใหญ่ ตำบลเกาะกลาง และเกาะลันตา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จะต้องผ่านทางหลวงหมายเลข 4206 สู่บ้านหัวหิน ซึ่งเป็นจุดลงแพขนานยนต์ไปยังเกาะลันตาน้อย แม้ว่าจะมีระยะทางเพียง 1.53 กิโลเมตร แต่เนื่องจากแพขนานยนต์สามารถบรรทุกรถยนต์ได้น้อยทำให้เกิดปัญหาของความล่าช้า ผู้โดยสารจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง หรือมากกว่าในการเดินทาง ประกอบกับในบางช่วงเวลาจะมีปัญหาเรื่องของระดับน้ำทะเลที่ขึ้นลงตามธรรมชาติซึ่งเป็นอุปสรรคของแพขนานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา คค. ได้เปิดให้บริการสะพานสิริลันตาเพื่อรองรับการเดินทางระหว่างเกาะลันตาน้อยและเกาะลันตาใหญ่แล้ว ดังนั้น โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตาจะช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนทางหลวง แก้ไขปัญหาการจราจรที่ล่าช้าบริเวณท่าแพขนานยนต์ พัฒนาและยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบทเพื่อเชื่อมโยงต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่ง แก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการสร้างทางเชื่อม (Missing Link) ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่และกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นและภูมิภาค
                              2.2 สาระสำคัญของโครงการ
หัวข้อ          รายละเอียด
ที่ตั้งโครงการ          - จุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 4206 กิโลเมตรที่ 26+620
- จุดสิ้นสุดที่แยกทางหลวงชนบทหมายเลข กบ. 5035
ลักษณะโครงการ          มีขนาด 2 ช่องจราจร โดยมีขนาดช่องจราจรกว้าง 3.75 เมตร ไหล่ทางกว้างด้านละ 2.5 เมตร ทั้งนี้ สามารถจัดเป็น 4 ช่องจราจร ได้ในอนาคต (ถ้าจำเป็น)
ระยะทาง          2,200 เมตร (ความยาวสะพาน 1920 เมตร และความยาวถนนต่อเชื่อม 280 เมตร)
รูปแบบ
โครงสร้างสะพาน          - สะพานช่วงหลักเป็นสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) มีความกว้างช่องลอด 110 เมตร และมีความสูงช่องลอด 15.40 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลสูงสุด และส่วนที่เหลือเป็นสะพานคานยื่น (Balance Cantilever Bridge)
สถานะ
ความพร้อมโครงการ          การจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้าง
- บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ประกอบด้วย
   (1) ที่ดินฝั่งตำบลเกาะลันตาน้อย ทช. ได้รับการอุทิศเขตที่ดินจากประชาชน จำนวน 44 ไร่
   (2) พื้นที่ฝั่งตำบลเกาะกลางเป็นเขตที่ดินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่
        (อบจ.กระบี่) ทั้งนี้ ทช. ได้ประสานเพื่อขอเข้าใช้พื้นที่ในเบื้องต้นแล้ว
        และเมื่อโครงการฯ ได้รับอนุมัติจะดำเนินตามขั้นตอนต่อไป
การยกเว้นมติห้ามใช้พื้นที่ป่าชายเลน
- ภายหลังจาก กก.วล. เห็นชอบรายงาน EIA ทช. จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีห้ามใช้พื้นที่ป่าชายเลนต่อไป
รายงาน EIA          - คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศได้พิจารณาเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว (คาดว่าจะนำเสนอ กก.วล. พิจารณาได้ภายในเดือนตุลาคม 2565)4
- บริเวณเกาะลันตาเป็นบริเวณที่พบโลมาปากขวด (Tursiops aduncus) และโลมาหลังโหนก (Sousa chinensis) ซึ่งจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยการดำเนินกิจกรรมก่อสร้างฐานรากสะพาน อาจจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางว่ายน้ำของโลมา ทั้งนี้ โครงการฯ จะหลีกเลี่ยงการก่อสร้างฐานรากสะพานในฤดูมรสุมช่วงเดือนพฤษภาคม ? กันยายน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเส้นทางว่ายน้ำของโลมาปากขวดและโลมาหลังโหนก และหากพบเห็นโลมาและสัตว์หายากเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้าง ให้หยุดก่อสร้างในส่วนที่ก่อให้เกิดเสียงดังหรือสั่นสะเทือนสูง
- โครงการได้ออกแบบการก่อสร้างตอม่อสะพานในทะเลเป็นเสาเข็มเจาะ โดยก่อสร้างหลีกเลี่ยงแนวปะการังและหญ้าทะเล แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของโครงการอาจส่งผลกระทบทางอ้อมให้กับแนวปะการังและหญ้าทะเลบริเวณใกล้เคียงแนวเส้นทางโครงการ หากตะกอนและการฟุ้งกระจายที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมสร้างฐานราก
ปริมาณการจราจร          - ปี 2568 (ปีแรกที่เปิดให้บริการ) ช่วงที่เป็นฤดูท่องเที่ยว (High Season) มีปริมาณการจราจร 6,005 คันต่อวัน และช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) มีปริมาณการจราจร 4,961 คันต่อวัน
- ปี 2598 (ปีที่ 30 ของโครงการ) ช่วงที่เป็นฤดูท่องเที่ยว (High Season) มีปริมาณการจราจร 11,739 คันต่อวัน และช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) มีปริมาณการจราจร 9,026 คันต่อวัน
ระยะเวลา          3 ปี (ปี 2566 - 2568)
ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ          - มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 574.59 ล้านบาท ณ อัตราคิดลด (Discount Rate) ร้อยละ 12
- อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) คิดเป็นร้อยละ 17.21
- อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) 1.61 เท่า
                              2.3 ประโยชน์ที่จะได้รับ
                                        2.3.1 เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ลดระยะเวลาการเดินทางจากการเดินทางด้วยแพขนานยนต์ซึ่งจะใช้เวลาข้ามฟากประมาณ 2 ชั่วโมง ในขณะที่การใช้สะพานจะลดเวลาเหลือเพียง 2 นาที
                                        2.3.2 เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่งให้เกิดความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดระยะทางการเดินทางระหว่างอำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตาน้อย จังหวัดกระบี่
                                        2.3.3 เพื่อยกระดับมาตรฐานความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน และในกรณีเกิดภัยพิบัติสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็วทันการณ์
                                        2.3.4 เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม การบริการและการท่องเที่ยวระหว่างเกาะลันตาและแผ่นดินใหญ่ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการบริการโล            จิสติกส์ในพื้นที่
1 ตามประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงจังหวัดพัทลุง - สงขลา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (ทะเลหลวง) ประกาศ ณ วันที่            1 มกราคม 2561
2 ระดับการบริการของทางหลวงเป็นมาตรวัดในเชิงคุณภาพ (Qualitative Measure) ซึ่งบ่งบอกถึงคุณภาพในการให้บริการของถนนโดยแสดงเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 6 ตัว ได้แก่ A ,B, C, D, และ F ค่าแต่ละค่าจะแสดงถึงลักษณะและสภาพการจราจรที่แตกต่างกัน โดยระดับการให้บริการ A หรือ LOS A แสดงสภาพการจราจรที่ดีที่สุด และในทางตรงกันข้ามระดับการให้บริการ F หรือ LOS F จะแสดงสภาพการจราจรที่แย่ที่สุด
3 คู่มือแนวทางและหลักเกณฑ์การวิเคราะห์โครงการ พ.ศ. 2555 (ฉบับปรับปรุง) ของ สศช. แนะนำว่า สำหรับการวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ของโครงการ ที่ผ่านมา สศช. ได้กำหนดเกณฑ์อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ที่เหมาะสมอยู่ระหว่างร้อยละ 9 ? 12 แล้วแต่ลักษณะของโครงการ
4 คค. ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตาเป็นโครงการสำคัญของ คค. (ทช.) และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และขนส่งโลจิสติกส์ในพื้นที่ และเป็นการดำเนินการด้านการคมนาคมขนส่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มาดรา 49 วรรค 4 ซึ่งบัญญัติให้ในกรณีที่โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามวรรคหนึ่งเป็นโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรพยาบาล หรือที่อยู่อาศัยที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานนั้นไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้นั้นไม่ได้และจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป

6. เรื่อง ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (กระทรวงพลังงาน)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 302,500,000 บาท ให้กรมธุรกิจพลังงาน โดยให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้อนุมัติและดำเนินการแทนกรมธุรกิจพลังงาน ผ่านวิธีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกัน และให้กระทรวงพลังงานดำเนินมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
                    สาระสำคัญ
                    มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคา LPG โครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคา LPG ที่ยังสูงอย่างต่อเนื่องและลดภาระค่าครองชีพสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยจะเพิ่มการช่วยเหลือผู้ใช้ก๊าซหุงต้มผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
                    1. การกำหนดสิทธิและวงเงินงบประมาณ
                        การใช้สิทธิส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 5,500,000 ราย คิดเป็นเงินงบประมาณ 302,500,000 บาท
                    2. การดำเนินการภายหลังได้รับงบประมาณ
                        กรมบัญชีกลางจะเป็นผู้ดำเนินการแทนกรมธุรกิจพลังงาน ผ่านวิธีการเบิกจ่ายงบประมาณแทนกัน โดยกรมบัญชีกลางจะดำเนินการเบิกจ่ายส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม จำนวน 100 บาท/คน/3 เดือน ให้กับร้านค้าก๊าซหุงต้มที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปใช้สิทธิ ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยแบ่งเป็นส่วนลด 45 บาท เบิกจ่ายจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม และส่วนลดเพิ่ม 55 บาท เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เมื่อสิ้นสุดโครงการแล้วให้กรมบัญชีกลางส่งเงินคืนกรมธุรกิจพลังงาน ทั้งนี้ กรณีโอนเงินไม่สำเร็จ ให้ดำเนินการติดตามเพื่อโอนเงินให้แก่ร้านค้าก๊าซหุงต้ม จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
                    3. การใช้ส่วนลดของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
                        ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้สิทธิส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม จำนวน 55 บาท/คน/3 เดือน ได้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้ใช้สิทธิส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มระหว่างวันที่ 1 - 24 ตุลาคม 2565 จะได้รับส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาท/คน/3 เดือน และจะสามารถใช้สิทธิส่วนเพิ่ม 55 บาท/คน/3 เดือน ในการซื้อครั้งต่อไปตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
                    4. งบประมาณ
                        ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 302,500,000 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

7. เรื่อง รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการ                 ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ  และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                    เรื่องเดิม
                    1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.)  ได้ส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่..) พ ศ. ....ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภามาเพื่อดำเนินการ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการให้สินเชื่อตามที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตประกาศกำหนด สามารถเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตได้ เพื่อรองรับธุรกรรม/นวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นใหม่ (Financial  Technology) ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้บริษัทข้อมูลเครดิตสามารถรับผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางที่เกี่ยวเนื่องกับการให้สินเชื่อสามารถเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตได้  เพื่อให้สามารถนำส่งข้อมูลของผู้ใช้บริการขอรับสินเชื่อผ่านระบบหรือเครือข่ายการให้บริการของตนให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต โดยที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีข้อสังเกตเกี่ยวกับ 1) คำนิยามคำว่า ?ข้อมูลเครดิต? 2) การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อปฏิบัติเกี่ยวกับการนำส่งข้อมูลเครดิตของลูกค้าผู้ขอสินเชื่อให้บริษัทข้อมูลเครดิต การเปิดเผยข้อมูลเครดิตของลูกค้าผู้ขอสินเชื่อให้แก่ผู้จะให้สินเชื่อเพื่อประกอบการตัดสินใจในการให้สินเชื่อ ควรต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าของข้อมูล และผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง 3) การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ และ 4) การบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะการปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องและทันสมัยตลอดเวลา ต้องมีการบังคับใช้อย่างถูกต้อง  เที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพ และทันเวลา
                    2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้                สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                    ข้อเท็จจริง
                    กค. รายงานว่า ได้ร่วมกับ ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต.  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตฯ  แล้ว สรุปได้ดังนี้

ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ของ สผ. และ สว.           รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตฯ
1. คำนิยาม ?ข้อมูลเครดิต? หมายความว่า ?ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ขอสินเชื่อกับสมาชิกประเภทสถาบันการเงินหรือขอสินเชื่อผ่านสมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ ...? ดังนั้น              ?ผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ? ในรูปแบบคราวด์ฟันดิง  (Crowdfunding) ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ในชั้นนี้จึงเป็นการระดมทุนโดยให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนโดยการออกเป็นหุ้นกู้          ? สำนักงาน ก.ล.ต. จะได้ประสานงานกับ ธปท. ในการออกกฎหมายลำดับรองให้เป็นไปตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ต่อไป

          ประเด็นที่ 1 ข้อมูลใดที่จัดเก็บควรเน้นที่คุณภาพและเหตุผลจำเป็น ไม่ใช่ปริมาณ ทั้งนี้ อาจจะต้องเปรียบเทียบกับแนวทางการดำเนินการในประเทศอื่น ๆด้วย
          ประเด็นที่ 2 ประวัติการขอและการได้รับอนุมัติสินเชื่อเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ ซึ่งสามารถสร้างความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการขอและการได้รับอนุมัติสินเชื่อ ควรมีการกำหนดข้อมูลขั้นต่ำและข้อมูลทางเลือกที่ผู้ขอสินเชื่อจะให้หรือไม่ให้ข้อมูลดังกล่าวก็ได้
(สผ. และ สว.)          ? การนำส่งข้อมูล การเปิดเผยข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล รวมถึงการประมวลผลข้อมูลเครดิต กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตกำหนดให้จัดเก็บข้อมูลเท่าที่จำเป็น และมุ่งเน้นที่คุณภาพของข้อมูลให้มีความถูกต้องครบถ้วน ทันสมัยและตรงตามข้อเท็จจริง เพื่อให้ระบบข้อมูลเครดิตของประเทศมีความสมบูรณ์ครบถ้วน รวมถึงการให้ความคุ้มครองดูแลเจ้าของข้อมูลซึ่งเป็นไปตามหลักการของมาตรฐานสากล
2. การบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะการปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องและทันสมัยตลอดเวลาต้องมีการบังคับใช้อย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพ และทันเวลา (สผ.)          ? ธปท. เห็นว่ากฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้อมูลเครดิต (กคค.) ประกาศกำหนดได้กำหนดให้สมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตมีหน้าที่ต้องนำส่งข้อมูลของลูกค้าของตนให้บริษัทข้อมูลเครดิต โดยต้องนำส่งข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและทันสมัยอยู่เสมอ หากมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องสมาชิกต้องแก้ไขและจัดส่งข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ความคุ้มครองเจ้าของข้อมูล รวมทั้งเพื่อให้ระบบข้อมูลเครดิตมีความถูกต้องครบถ้วน และยังกำหนดสิทธิของเจ้าของข้อมูลให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล รวมทั้ง สิทธิในการอุทธรณ์         ข้อโต้แย้งความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้มีการปรับ       แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าวต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนด
3. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อให้             ผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อต้องปฏิบัติเกี่ยวกับ 1) การนำส่งข้อมูลเครดิตของลูกค้า               ผู้ขอสินเชื่อให้บริษัทข้อมูลเครดิต 2) การเปิดเผยข้อมูลเครดิตของลูกค้าผู้ขอสินเชื่อเพื่อประกอบการตัดสินใจ               ในการให้สินเชื่อ ควรต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าของข้อมูล และผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง (สผ. และ สว.)          ? กคค. เห็นว่า การออกประกาศ กคค. ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อจะคำนึงถึงลักษณะการประกอบธุรกิจที่แตกต่างกันและได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลให้กับเจ้าของข้อมูลด้วย
?  ปัจจุบัน กคค. ได้ออกประกาศ กคค. ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อจำนวน 7 ฉบับ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เช่น ประกาศ กคค.เรื่อง การกำหนดประเภทธุรกิจของตัวกลางในการให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ และประกาศ กคค. เรื่อง การเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ และการให้ความยินยอมของเจ้าของข้อมูล
4. การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อเกี่ยวกับ 1) การประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ และ 2) การขัดกันแห่งผลประโยชน์กรณีที่กรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อเข้าเป็นผู้ให้สินเชื่อด้วย (สผ. และ สว.)          ? ธปท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล [peer to peer lending platform : P2P (การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์)] ได้ออกประกาศ ธปท. ที่ สนส. 14/2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ผู้ประกอบ
ธุรกิจ P2P จะต้องยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. ก่อน และได้มีข้อกำหนดเรื่องเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น กรรมการผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจ P2P เป็นผู้ให้สินเชื่อสามารถให้สินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าสินเชื่อรวมในแต่ละสัญญา และห้ามกรรมการ             ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจ P2P นั้น เพื่อขอกู้ยืมเงิน
? สำนักงาน ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแลผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง [(Funding Portal) ซึ่งรวมถึง           ผู้ประกอบธุรกิจ Debt Crowdfunding (การระดมทุนจากนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือสถาบัน องค์กรมูลนิธิผ่านช่องทางออนไลน์)] ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ในประกาศคณะกรรมการการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 21/2562เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่าน
ระบบคราวด์ฟันดิง เช่น Funding Portal ต้องไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
5. ควรพิจารณาเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทาง            ที่เหมาะสมให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิต             ยูเนี่ยนจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กำหนด  เพื่อให้สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ได้โดยเร็ว (สว.)          ? กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ได้สนับสนุนส่งเสริมสหกรณ์              ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เข้าเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิต อย่างไรก็ตามการเข้าเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละสหกรณ์

8. เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                    มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
                    สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialised Financial Institute : SFIs) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่                     1) ธนาคารออมสิน 2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 3) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)        4) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) 5) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 6) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และ 7) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยรวมจำนวน 21 มาตรการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. ธนาคารออมสิน จำนวน 5 มาตรการ ได้แก่
                              1.1 มาตรการพักชำระหนี้ โดยสามารถเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ยร้อยละ 10 - 100 และกรณีอยู่ระหว่างจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาแบบคงที่ สามารถขอลดการชำระเงินงวดร้อยละ 50 ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
                              1.2 มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยปลอดชำระค่างวด 3 งวดแรก สำหรับบุคคลธรรมดา เพื่อเป็นเงินทุนในการดำรงชีพ และบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท
                              1.3 มาตรการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยปลอดชำระเงินต้นในปีแรก สำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย วงเงินกู้สูงสุดร้อยละ 10 ของวงเงินกู้เดิมหรือไม่เกิน 5,000,000 บาท
                              1.4 มาตรการสินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.49 เป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ ร้อยละ 100 ของหลักประกัน
                              1.5 มาตรการสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 เป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท
                              ทั้งนี้ สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ประกาศภัยพิบัติ
                    2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่
                              2.1 มาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้ สูงสุด 12 เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ สำหรับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
                              2.2 มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2565 - 2566 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และร้อยละของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) หรือประมาณร้อยละ 6.50 ต่อปี ตั้งแต่เดือนที่ 7 เป็นต้นไป เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท
                              2.3 มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR - 2 หรือประมาณร้อยละ 4.50 ต่อปี เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท
                              ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
                    3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่
                              3.1 มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 50 จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน กรณีหลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหาย และอยู่ระหว่างจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาแบบลอยตัว
                              3.2 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี กรณีปลูกสร้างอาคารทดแทนอาคารเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย โดยกำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน                1 ล้านบาทต่อหลักประกัน สำหรับหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่
                              3.3 มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างประนอมหนี้
                                        3.3.1 กรณีหลักประกันเสียหาย ได้รับการปลอดดอกเบี้ยและเงินงวด 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 - 18 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
                                        3.3.2 กรณีได้รับผลกระทบต่อรายได้ ได้รับการปลอดดอกเบี้ยและเงินงวด 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 - 12 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
                                        3.3.3 กรณีเสียชีวิตหรือผู้กู้หรือทายาทผ่อนชำระต่อ ได้รับอัตราดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ ร้อยละ 0.01 ต่อปี
                                        3.3.4 กรณีหลักประกันได้รับความเสียหายทั้งหลังไม่สามารถซ่อมแซมได้ ได้รับปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ
                              3.4 มาตรการสินไหมเร่งด่วน จะได้รับค่าสินไหมเร่งด่วนกรณีพิเศษ กรณีทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ สำหรับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประสบภัย
                              ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2565
                    4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
                              4.1 มาตการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ พักชำระเงินต้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในเขตพื้นที่ที่ธนาคารกำหนด
                              4.2 มาตรการสินเชื่อ SMEs Re-Start อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดร้อยละ 5.5 ต่อปี ปลอดระยะเวลาชำระเงินต้น 2 ปี วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 5,000,000 บาท
                    5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) จำนวน 1 มาตรการ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัย 2565 ได้รับการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และได้รับการยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ (Late charge) ที่สำหรับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นลูกค้าสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน หรือสินเชื่อธุรกิจแบบมีกำหนดระยะเวลาของ ธอท. (Term Financing) ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
                    6. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่
                              6.1 มาตรการเพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุดร้อยละ 20 ของวงเงินหมุนเวียนเดิมแต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท
                              6.2 มาตรการเพิ่มวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ (Prime Rate) หรือประมาณร้อยละ 5.75 โดยปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 3 เดือน วงเงินกู้เพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท
                              6.3 มาตรการลดเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุดร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 1 ปี
                              6.4 มาตรการขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน
                              ทั้งนี้ หากลูกค้าตามข้อ 6.3 และ 6.4 ชำระหนี้ได้ปกติ จะได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยคืน (Rebate) ร้อยละ 2 ต่อปี โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
                    7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
                              7.1 มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ปัจจุบันของ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2565
                              7.2 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. สามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยได้ต่ำสุดร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี

9. เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                    มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง
                    1. กรมสรรพากร จำนวน 5 มาตรการ โดยได้ดำเนินมาตรการทางภาษี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สรุปได้ดังนี้
                              1.1 มาตรการที่มีการดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
                                        1) มาตรการสนับสนุนการบริจาคให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
                                                  1.1) กรณีบุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ
                                                  1.2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
                                                  1.3) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้า
                                        2) มาตรการสนับสนุนการบริจาคผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
                                                  2.1) กรณีบุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ
                                                  2.2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
                                                  2.3) กรณีผู้ประกอบการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้า
                                        3) มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ทั้งบุคคลธรรมดาและบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในกรณีดังต่อไปนี้
                                                  3.1) กรณีเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล
                                                  3.2) กรณีเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหายไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ
                                                  3.3) กรณีค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยเพื่อชดเชยความเสียหาย
                              1.2 มาตรการที่อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม
                                        1) มาตรการในระยะเร่งด่วน การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี และการขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีในพื้นที่อุทกภัยจากเดิมต้องยื่นหรือขอภายในเดือนตุลาคม 2565 และเดือนพฤศจิกายน 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565
                                        2) มาตรการในระยะถัดไป: การหักลดหย่อนค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลธรรมดาที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และหักลดหย่อนค่าซ่อมแซมรถของบุคคลธรรมดาที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
                                        ทั้งนี้ กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายได้ตามจริงอยู่แล้ว
                    2. กรมศุลกากร จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
                              2.1 มาตรการทางภาษี: การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามา เพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2565
                              2.2 มาตรการอื่น: กรมศุลกากรได้มอบหมายให้ด่านศุลกากรในส่วนภูมิภาคช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ เช่น การมอบสิ่งของจำเป็น การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น
                    3. กรมสรรพสามิต จำนวน 1 มาตรการ โดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน - 31 ตุลาคม 2565 ได้รับการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จากเดิมวันที่            11 - 31 ตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 และขยายกำหนดเวลาในการยื่นงบเดือนจากเดิมในเดือนตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565
                    4. กรมบัญชีกลาง จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
                              4.1 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 โดยเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศให้ท้องที่นั้นเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน สามารถใช้จ่ายเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 20,000,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในด้านการดำรงชีพ ด้านการแพทย์และสาธารณสุขและด้านการเกษตร ทั้งนี้ ในกรณีที่วงเงินทดรองราชการไม่เพียงพอ จังหวัดสามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมต่อกระทรวงการคลังได้
                              4.2 มาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยกรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้คลังจังหวัดประสานงานกับคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
                    5. กรมธนารักษ์ จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
                              5.1 มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ประสบอุทกภัย ยกเว้นค่าเช่าสูงสุด 2 ปี ได้แก่
                                        1) กรณีผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย หากเสียหายบางส่วนให้ยกเว้นค่าเช่าเป็นระยะเวลา 1 ปี และหากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังให้ยกเว้นค่าเช่าเป็นระยะเวลา 2 ปี
                                        2) กรณีผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบการเกษตร หากพืชหรือผลผลิตได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้ยกเว้นการเก็บค่าเช่าเป็นระยะเวลา 1 ปี
                                        3) กรณีผู้เช่าอาคารราชพัสดุและผู้เช่าที่ดินเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากไม่สามารถดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่เช่าได้ให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นรายเดือนตามข้อเท็จจริง
                                        4) กรณีผู้เช่าไม่สามารถชำระค่าเช่า ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใดที่ต้องชำระภายในกำหนดเวลาโดยเหตุมาจากอุทกภัยให้ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในราชพัสดุ พ.ศ. 2552
                                        ทั้งนี้ เมื่อจังหวัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการข้างต้นแล้วจะรายงานให้กรมธนารักษ์ทราบภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และหากจังหวัดเห็นควรพิจารณาให้ความช่วยเหลืออื่นนอกเหนือจากมาตรการข้างต้น ให้แจ้งรายละเอียดต่อกรมธนารักษ์เพื่อพิจารณาเป็นกรณีไป
                              5.2 มาตรการมอบถุงยังชีพให้กับผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ 33 จังหวัด จำนวน 3,134 ชุด
                    6. การยาสูบแห่งประเทศไทย จำนวน 2 มาตรการ ดังนี้
                              6.1 มาตรการช่วยเหลือพนักงานยาสูบและครอบครัว ตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือพนักงานยาสูบผู้ประสบวินาศภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการดำรงชีพและความเสียหายของทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย
                              6.2 มาตรการช่วยเหลือประชาชนทั่วไปในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยการแจกจ่ายถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยและผู้ประสบปัญหาในการดำรงชีพในพื้นที่ต่าง ๆ
                              อนึ่ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยรวม 21 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการพักชำระหนี้ ลดเงินต้นและดอกเบี้ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 9 มาตรการ มาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ จำนวน 10 มาตรการ มาตรการสินไหมเร่งด่วน จำนวน 1 มาตรการ และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันและค่าจัดการค้ำประกัน จำนวน 1 มาตรการ ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

ต่างประเทศ

10. เรื่อง  ขอความเห็นชอบร่างข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศในบริบทความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลุ่มน้ำโขง
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศในบริบทความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลุ่มน้ำโขง  รวมทั้งอนุมัติให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเป็นผู้มีอำนาจลงนามในร่างข้อตกลงฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำในร่างข้อตกลงฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดข้องต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) เป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับไปเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง [โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) และ ทส. โดย ทน. ยังไม่ได้กำหนดวันลงนาม] ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    โครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศในบริบทความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลุ่มน้ำโขง (โครงการฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพของภาครัฐและขุมชนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (AF) จำนวน 6.452 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีหน่วยงาน               ที่เกี่ยวข้องรวม 4 หน่วยงาน ได้แก่
หน่วยงาน          หน้าที่
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)          หน่วยดำเนินโครงการ : มีหน้าที่บริหารโครงการในภาพรวม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  (ทส.) โดยกรมทรัพยากรน้ำ (ทน.)            หน่วยงานร่วมดำเนินการ          ดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำยังในประเทศไทย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม                    ดำเนินการในพื้นที่ชุมชนรอบอุทยานแห่งชาติ Tram Chim ในประเทศเวียดนาม
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)                    ให้คำปรึกษาในการดำเนินการกิจกรรมแก่ประเทศไทยและเวียดนาม
ในส่วนของประเทศไทยจะมุ่งเน้นการพัฒนาแนวทางสำหรับส่งเสริมการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศ ซึ่งจะดำเนินการในบริเวณลุ่มน้ำยัง  (บริเวณจังหวัดกาพสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และสกลนคร) เช่น การฟื้นฟูป่าเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม การให้ความรู้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องและชุมชนในพื้นที่ การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะข้าวที่ทนต่อสภาวะอากาศแปรปรวนและภัยพิบัติได้ดี เป็นต้น ทั้งนี้ ทส. โดย ทน. และ UNEP ได้จัดทำร่างข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศในบริบทความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลุ่มน้ำโขง (ร่างข้อตกลงฯ) เพื่อกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้  คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2565  เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบร่างข้อตกลงฯ เรียบร้อยแล้ว

11. เรื่อง การดำเนินการตามคำมั่นที่ให้กับสหภาพยุโรปในการเข้าเป็นภาคีในความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบการเข้าเป็นภาคีในความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ (Multilateral Competent Authority Agreement on the Exchange of Country-by-Country Reports: CbC MCAA) (ความตกลง CbC MCAA) แบบส่งและรับข้อมูลแบบต่างตอบแทนกับประเทศคู่สัญญา (Reciprocal)
                    2. ให้ กค. มีหนังสือถึงเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เพื่อแจ้งความจำนงในการลงนามเข้าเป็นภาคีในความตกลง CbC MCAA
                    3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters) (ความตกลง MAC) เป็นผู้ลงนามในร่างคำแถลงการณ์ (Declaration) เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลง CbC MCAA เมื่อประเทศไทยได้รับร่างคำแถลงการณ์จาก OECD และเมื่อลงนามแล้ว ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ส่งคำแถลงการณ์ดังกล่าว ให้เลขาธิการ OECD ผ่านช่องทางการทูต
                    4. ให้ กค. จัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการแจ้งให้ความตกลง CbC MCAA มีผลผูกพัน เมื่อประเทศไทยได้รับหนังสือแจ้งผ่านการประเมินเรื่องการรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูล (Confidentiality and Data Safeguards Assessment) จาก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum)1 โดยจัดทำเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และส่งให้ฝ่ายเลขาธิการ OECD ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแจ้งให้ความตกลง CbC MCAA มีผลผูกผัน
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    เรื่องนี้กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ (Multilateral Competent Authority Agreement on the Exchange of Country-by-Country Reports: CbC MCAA) (ความตกลง CbC MCAA) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำมั่นทางการเมืองของประเทศไทยต่อกลุ่มคณะทำงานย่อยในด้านภาษีภายใต้คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป [Code of Conduct Group (Business Taxation)] ว่าประเทศไทยจะดำเนินการตามข้อแนะนำโดยทั่วไปของ Inclusive Framework ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำเรื่องการรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Reports: CbCR) ให้ครบถ้วน โดยความตกลง CbC MCAA มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแต่ละรัฐแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูล CbCR ของกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprise Group: MNE Group) ที่มีรายได้รวมทั้งหมด ตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป (28,000 ล้านบาท) กับประเทศคู่สัญญา เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษี การประเมินภาพรวมความเสี่ยงในการกำหนดราคาโอน ความเสี่ยงในการกัดกร่อนฐานภาษีและโยกย้ายกำไร รวมถึงใช้ในการวิเคราะห์เชิงเศรษฐมิติและสถิติที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากประเทศไทยไม่เข้าร่วมความตกลงดังกล่าว อาจทำให้ประเทศไทยถูกบรรจุในรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือด้านภาษีของสหภาพยุโรป (EU List of Non- cooperative Jurisdictions for Tax Purposes: EU List) และอาจถูกมองว่าเป็นประเทศที่เอื้อต่อการหลีกเลี่ยงภาษี รวมทั้งอาจทำให้ประเทศในกลุ่ม EU รวมถึงองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีและตั้งข้อกำหนดที่เข้มงวดมากขึ้นในการให้เงินกู้แก่ประเทศไทย
                    ทั้งนี้การเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลง CbC MCAA จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย ดังนี้
                    1. MNE Group ที่มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลำดับสูงสุดอยู่ในประเทศไทยสามารถยื่นข้อมูล CbCR ผ่านประเทศไทยได้ โดยที่แต่เดิมจะต้องยื่นผ่านประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประเทศภาคีในความตกลง CbC MCAA
                    2. ประเทศไทยจะได้รับข้อมูลรายงาน CbCR จากประเทศภาคีที่เป็นที่ตั้งของ MNE Group และมีกิจการที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งจะสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ในการบริหารจัดเก็บภาษี MNE Group ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                    3. เป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับ COCG ในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ Inclusive Framework on BEPS เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ CbCR เพื่อให้ประเทศไทยไม่ถูกจัดอยู่ใน EU List
1 Global Forum เป็นเวทีการประชุมและประเมินศักยภาพของประเทศสมาชิก โดยมุ่งเน้นการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีตามมาตรฐานสากลของ OECD

12. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 และร่างแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบในหลักการต่อร่างเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่
                              1.1 ร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 (แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีฯ) (กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ไม่มีขัดข้อง)
                              1.2 ร่างแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 (แถลงการณ์ประธานฯ) (กรณีที่เขตเศรษฐกิจเอเปคไม่สามารถเห็นชอบร่วมกันเพื่อรับรองเอกสารผลลัพธ์ตามข้อ 1.1)
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กค. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
                    2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีฯ (ตามข้อ 1.2)
[จะมีการรับรองร่างเอกสารฯ (แบบไม่ลงนาม) เพื่อใช้เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers? Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 29 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 19 - 20 ตุลาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร]
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    เรื่องนี้กระทรวงการคลังจะจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC FMM) ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19 - 20 ตุลาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบถึงผลการดำเนินงานตามแผนงานความร่วมมือที่กำหนดไว้ รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและนโยบายเศรษฐกิจการเงินเพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคเอเปคให้เติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ภายใต้หัวข้อหลัก ?ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน? โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (2) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งในการประชุมจะมีการรับรองเอกสารเพื่อใช้เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 (แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีฯ) (กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจไม่มีขัดข้อง) ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินการคลังระหว่างกัน เพื่อขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของภูมิภาคเอเปคอย่างครอบคลุมและยั่งยืนโดยมีหัวข้อสำคัญ เช่น เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภูมิภาค การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น หรือ (2) ร่างแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 (กรณีที่เขตเศรษฐกิจเอเปคไม่สามารถเห็นชอบร่วมกัน) ซึ่งมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีฯ โดยจะใช้เป็นเอกสารเพื่อแถลงผลการประชุม APEC FMM กรณีที่เขตเศรษฐกิจเอเปคไม่สามารถมีฉันทามติต่อร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีฯ เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมได้ ซึ่งกระทรวงการคลังแจ้งว่า กระทรวงการต่างประเทศ (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) และธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้ว ไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ และเห็นว่าร่างแถลงการณ์ทั้ง 2 ฉบับ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

13. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการ Community-based Poverty Reduction for Lancang-Mekong Cooperation Countries ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง ?                    ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2565
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการ Community-based Poverty Reduction for Lancang-Mekong Cooperation Countries ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง ? ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2565 รวมทั้งเห็นชอบให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการ Community-based Poverty Reduction for Lancang-Mekong Cooperation Countries ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง ? ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2565 กับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. โครงการ Community - based Poverty Reduction for Lancang ? Mekong Cooperation Countries มีเป้าหมายเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการขจัดความยากจนกับผู้เข้าร่วมโครงการ ถ่ายทอดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการประยุต์ใช้ในการขจัดความยากจนโดยมีชุมชนเป็นฐานของประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถของผู้เข้าร่วมโครงการในการปรับใช้ความรู้และบทเรียนจากโครงการให้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อขจัดความยากจนในประเทศของตน
                    2. ในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง จะต้องจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการ Community - based Poverty Reduction for Lancang - Mekong Cooperation Countries ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นการระบุหลักการและแนวทางในการบริหารจัดการและติดตามผลการดำเนินโครงการ ซึ่งไม่มีถ้อยคำหรือบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และร่างบันทึกความเข้าใจฯ ระบุว่า ?บันทึกความเข้าใจไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีที่มีผลผูกพันทางกฎหมายและไม่เป็นสนธิสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ? ดังนั้นร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
                    3. ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการ Community ? based Poverty Reduction for Lancang-Mekong Cooperation Countries ภายได้กองทุนพิเศษแม่โขง ? ล้านช้าง ประจำปี       พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับ 1) หลักการเบื้องต้น 2) การยืนยันเงินงบประมาณและโครงการ  3) หน่วยงานดำเนินโครงการ 4) การจัดสรรและบริหารงบประมาณ 5) การบริหารจัดการโครงคาร 6) การกำกับดูแลและการตรวจสอบ 7) การยอมรับโครงการและการประเมินผล 8) การทบทวนและการแก้ไขเพิ่มเติม 9) การประยุกต์ใช้ และ 10) ระยะเวลา

14. เรื่อง การให้ความเห็นชอบและรับรองเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำในร่างเอกสารดังกล่าว ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย                   ให้ความเห็นชอบร่างเอกสารดังกล่าวในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน และให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองร่างเอกสารดังกล่าวต่อไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    การจัดทำเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้อาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจได้ในลักษณะที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ของอาเซียนจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น ทำให้อาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนด้านการปล่อยคาร์บอนต่ำ และช่วยส่งเสริมนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่า เป็นต้น ในทางกลับกัน หากอาเซียนไม่พัฒนาแนวทางการดำเนินงานที่ประสานกันก็อาจเกิดความเสี่ยงต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก และอาจทำให้อาเซียนไม่ได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนการผลิตทั่วโลกสู่ทางเลือกสีเขียว ดังนั้น เอกสารแนวคิดฯ จึงเสนอให้อาเซียนร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยต่อยอดจากข้อริเริ่มด้านความยั่งยืนอื่น ๆ ภายใต้ประชาคมอาเซียน ทั้ง 3 เสา เช่น กรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
                    ในการนี้ เอกสารแนวคิดฯ เสนอให้ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การพัฒนาบัญชีก๊าซเรือนกระจก (2) การพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาบนพื้นฐานทางธรรมชาติและระบบนิเวศ (3) การพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้กลไกตลาด (4) การลงทุนในเทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอน และ (5) โครงสร้างพื้นฐาน                    ที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงเสนอให้มีการจัดทำแผนดำเนินงาน (Implementation Plan) และกลไกติดตามตรวจสอบและประเมินผล ทั้งนี้ ตั้งเป้าให้เริ่มต้นการยกร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวภายในไตรมาสแรกของปี 2566 และให้ยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงานได้รับความเห็นชอบภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566
                    ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ รวมถึงไทย ได้มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น อาเซียนควรสร้างความเข้าใจที่ตรงกันถึงนิยามของคำศัพท์และแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอน ควรคำนึงถึงความหลากหลายและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ รวมถึงระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยควรสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยี และควรต่อยอดการดำเนินงานที่มีอยู่เดิม ตลอดจนปรึกษาหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง เป็นต้น ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียนและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออกได้นำข้อคิดเห็นดังกล่าวไปปรับปรุงร่างเอกสารแนวคิดฯ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นแล้ว
                    ทั้งนี้ ร่างเอกสารแนวคิดดังกล่าวมีสาระไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยร่างเอกสารฯ เป็นเพียงการนำเสนอแนวคิดที่จะใช้เป็นจุดตั้งต้นสำหรับการดำเนินการขั้นต่อไป ได้แก่ การจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องกันว่าจะต้องมีกระบวนการที่มีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ต่อไปในอนาคต เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนและทุกเสาของประชาคมอาเซียน

15. เรื่อง การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
                    1. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ                        เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณัฐอาหรับอียิปต์
                    2. เห็นชอบต่อกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปี พ.ศ. 2565 ? 2566 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกรอบท่าทีเจรจาฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
                    3. เห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ                            ฉบับปรับปรุง (Thailand?s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS (Revised Version)) และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                    4. เห็นชอบต่อการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (2nd Updated NDC) และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดส่งการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                    สารสำคัญของเรื่อง
                    1.องค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ             สมัยที่ 27 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 3 - 18 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองชาร์ม เอล เชคสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
                    2. กรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 ? 2566 เป็นไปตามหลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและไม่ขัดกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา
                    โดยที่กรอบท่าทีเจรจาของไทยฯ มีประเด็นการเจรจาที่ สำคัญ ได้แก่ การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ผลกระทบจากการใช้มาตรการในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคป่าไม้
และการใช้ประโยชน์ที่ดิน แนวทางและกลไกความร่วมมือตามข้อ 6 ของความตกลงปารีส การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตร การเงิน เทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพ ความโปร่งใสและความร่วมมือแบบ South-South Cooperation
                    3. ยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง (LT-LEDS (Revised Version) จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการร่วมมือกับประชาคมโลกในการพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 - 2 องศาเซลเชียส โดยมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกในระดับสูงสุดโดยเร็วที่สุดและดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น โดยตามข้อ 4 วรรค 19 ของความตกลงปารีส เชิญชวนให้ทุกประเทศจัดทำและสื่อสารยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ โดยคำนึงถึงหลักความรับผิดชอบร่วมกันที่แตกต่าง (Common but differentiated responsibilities and respective capabilities, CBDR) ของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยได้จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ไปยังสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ระบุถึงวิสัยทัศน์ของประเทศที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้โดยเร็วที่สุด และเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 ต่อมาในการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 26 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้แสดงเจตนารมณ์ในการยกระดับเป้าหมายการดำเนินงานของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ประเทศไทยจะสามารถยกระดับ NDC ได้ถึงร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงดำเนินการปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ให้สอดคล้องกับการยกระดับเป้าหมายดังกล่าว โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีการกำหนดเป้าหมายและมาตรการที่ชัดเจนและสอดคล้องตามแนวทางการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกกรณี 1.5 องศาเซลเชียส ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านพลังงานและขนส่ง รวมถึงการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) พลังงานชีวภาพที่มีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Bioenergy with Carbon Capture and Storage: BECCS) และพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen) เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าการลงทุนในธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเตรียมการของประเทศและราคาเทคโนโลยีที่ถูกลงจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและส่งผลดีในระยะยาว โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทยจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
                    4. การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (2nd Updated NDC) เป็นการยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง            (LT-LEDS (Revised Version)) โดยยังโครงร่างตามเอกสาร NDC ฉบับเดิม ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ส่วนหลัก ได้แก่ บทนำ (Introduction) ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Component) ด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Component และความต้องการได้รับการสนับสนุน (Support needs) ซึ่งการปรับปรุงเนื้อหาหลักเป็นเรื่องการยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากร้อยละ 20 - 25 จากกรณีปกติ เป็นร้อยละ 30 - 40 จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573  (ค.ศ. 2030) และการปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ น่โยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกตามคู่มือการจัดทำบัญขีก๊าซเรือนกระจกระดับชาติ ปี ค.ศ. 2006 ของ IPCC ผลสำเร็จจากการดำเนินการ NAMA ความสำคัญของภาคป่าไม้ในการบรรลุเป้าหมาย NDC ของประเทศความสำเร็จของการมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมปูน การสร้างความตระหนักรู้ผ่านการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) และความต้องการได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และพลังงานไฮโดรเจน รวมถึงการทำการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture: CSA) เพื่อเพิ่มผลิตภาพของผลผลิตและปล่อยคาร์บอนต่ำ

แต่งตั้ง

16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
                    1. นายดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงาน [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) ระดับสูง] สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2565
                     2. นายมนู ศุกลสกุล สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์เชี่ยวชาญ) สำนักงานปลัดกระทรวง                     ดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2565
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

17. เรื่อง การกำหนดตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น จำนวน 1 ตำแหน่ง
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ ก.พ. และ ก.พ.ร. เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น จำนวน 1 ตำแหน่ง โดยให้กระทรวงสาธารณสุขนำตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข/นายแพทย์ (ด้านวิจัย/ด้านสาธารณสุข) ระดับทรงคุณวุฒิ ตำแหน่งเลขที่ 10 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงสาธารณสุขแล้วมาปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง เป็นตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขยังมีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวต่อไปอีกในระยะยาวอาจกำหนดให้ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงดังกล่าวรับผิดชอบการบริหารและกำกับดูแลกลุ่มภารกิจตามการจัดกลุ่มภารกิจในกระทรวงสาธารณสุขที่จะกำหนดเพิ่มใหม่ต่อไป โดยจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไข ตามมติที่ประชุมร่วม ก.พ. และ ก.พ.ร. ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565

18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

19. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายกิตติพงศ์ บุญยิ่ง เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการบริหารความเสี่ยงหรือการประกันภัย) ในคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน แทน นายสุรพล โอภาสเสถียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
                     ทั้งนี้ ในครั้งต่อ ๆ ไปให้กระทรวงการคลังดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชนให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ