สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 ตุลาคม 2566

ข่าวการเมือง Tuesday October 31, 2023 18:39 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

วันนี้ 31 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย
                    1.            เรื่อง           ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม                                                            พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน                                                   พ.ศ. 2554
                    2.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ
                    3.           เรื่อง           ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม
                                        ครั้งที่ 3/2566 และผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้                                         ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2566
                    4.           เรื่อง           การกำหนดสินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

พ.ศ. 2542

                    5.           เรื่อง           มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ประชาชน
                    6.           เรื่อง           โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล)

ต่างประเทศ
                    7.           เรื่อง           ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใน                                                  ภาคประชาชนระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม                                        แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐ                                        ประชาชนจีน
                    8.            เรื่อง           รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปิงบประมาณ พ.ศ. 2565
                    9.           เรื่อง           ผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี พ.ศ. 2566
                    10.           เรื่อง           ขอความเห็นชอบต่อการรับรองเอกสารร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน ? จีนว่าด้วย                                        ความร่วมมือด้านการเกษตรในการประชุมสุดยอดเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุม                                        สุดยอดที่เกี่ยวข้อง
                    11.           เรื่อง           ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง -                                         ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาน                                                  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
                    12.           เรื่อง           ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-                                        ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างกระทรวงพาณิชย์และสถานเอกอัครราชทูต                                        สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง                                                  กระทรวงพาณิชย์กับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง
                    13.           เรื่อง           การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือ                                                  เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติอินเดียและไต้หวัน เป็นกรณีพิเศษและเป็น                                        การชั่วคราว

แต่งตั้ง
                    14.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ                                                  ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
                    15.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ                                                  ทรงคุณวุฒิ  (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                    16.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
                    17.           เรื่อง           การบรรจุและแต่งตั้งผู้ออกจากราชการกลับเข้ารับราชการประเภทบริหาร                                                  ระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
                    18.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                    19.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                                                       (กระทรวงอุตสาหกรรม)
                    20.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
                    21.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการให้รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและ                                        ปราบปรามยาเสพติด (กระทรวงยุติธรรม)
                    22.           เรื่อง           คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี  ที่ 292/2566 เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและ                                        มอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้                                        รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธาน                                        กรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตาม                                                  กฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
?

กฎหมาย
1.  เรื่อง ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย                อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
                    คณรัฐมนตรีมีติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 จำนวน 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
                    ทั้งนี้ รง. เสนอว่า
                    1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (19 มกราคม 2564) ให้หน่วยงานของรัฐตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบของตนว่า มีกรณีที่ต้องมีการออกกฎหรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่ประชาชน                จะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมาย ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 25621 หรือไม่ โดยให้มีการเร่งออกกฎหรือดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป หรือภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 กุมภาพันธ์ 2566) ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยเร่งตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบของตนซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่เข้าข่ายเป็นกรณีตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ และเร่งออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 หากไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จครบถ้วนได้ทันภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี โดยให้ระบุเหตุผลความจำเป็นของการขอขยายระยะเวลาดังกล่าวประกอบด้วย
                    2. พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554                มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ซึ่งบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 20 ฉบับ รง. ได้ยกร่างกฎหมายลำดับรองและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 16 ฉบับ                (เป็นกฎกระทรวงทั้งหมด) ขณะนี้ยังมีกฎหมายลำดับรองที่อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างกฎหมายอีก 4 ฉบับ แต่โดยที่พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ มีผลใช้บังคับ การออกกฎหมายลำดับรองจึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ประกอบมติคณะรัฐมนตรีในข้อ 1. รง. จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 4 ฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งได้ระบุเหตุผลความจำเป็นของการขอขยายระยะเวลาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว ดังนี้
กฎหมายลำดับรอง
ที่ รง. ต้องออกตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ          เหตุผลความจำเป็นในการขอขยายระยะเวลา
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดยกเว้นกิจการอื่นหรือแต่บางส่วนที่ไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 พ.ศ. ....          ต้องดำเนินการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับกิจการที่อยู่ในเงื่อนไขได้รับการยกเว้นการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยฯ                  จึงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควร
2. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ....          ต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการปรับแก้ไขร่างกฎกระทรวงฯ และร่างกฎหมายลูกบทภายใต้ร่างกฎกระทรวงฯ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง
3. ร่างระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย  และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 พ.ศ. ....           ต้องดำเนินการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควร
4. ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การประเมินอันตราย การศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการจัดทำแผนควบคุมดูแลลูกจ้างและสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ....          ร่างประกาศฉบับนี้มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับ                       ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีว อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ในข้อ 2 จึงเห็นสมควรพิจารณา                ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อน
1 มาตรา 22 วรรคสอง บัญญัติให้กฎหมายที่มิใช่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎ หรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือยังมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ และบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ แต่ในกรณีที่บทบัญญัติในเรื่องนั้น ให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับได้ โดยไม่ต้องมีกฎหรือดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ระยะเวลาสองปีดังกล่าวคณะรัฐมนตรีจะมีมติขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งปี และต้องมีมติก่อนที่จะครบกำหนดเวลาสองปีดังกล่าว

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และมอบหมายกระทรวงพลังงานใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อปรับราคาขายปลีกให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะรัฐมนตรีในการลดราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ต่อไป
                      สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                     ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วนในการลดค่าครองชีพประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศผ่านการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด อาทิ การลดอัตราค่าไฟ การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตได้สนับสนุนนโยบายภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน ตั้งแต่ 20 กันยายน - 31 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการด้านภาษีสรรพสามิตที่ผ่านมามุ่งเน้นไปที่เชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคขนส่งสาธารณะและต้นทุนอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ (น้ำมันดีเซลและน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น) ดังนั้น เพื่อให้นโยบายในการลดค่าครองชีพประชาชนส่งผลครอบคลุมทั่วถึงยิ่งขึ้น ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนจากปัจจัยการปรับราคาตามฤดูกาลและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวของทวีปยุโรปและอเมริกา และปัจจัยสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รัฐบาลจึงเห็นควรให้ดำเนินมาตรการภาษีสรรพสามิตในสินค้าน้ำมันเบนซินเป็นลำดับถัดไป ทั้งนี้ การลดอัตราภาษีน้ำมันเบนซินจะเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อประเมินสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการปรับตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอย่างใกล้ชิด


                     สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
                     ปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันเบนซินลง 1 บาทต่อลิตร โดยให้อนุพันธ์ของน้ำมันดังกล่าวมีการปรับลดอัตราภาษีตามสัดส่วนเนื้อน้ำมันที่ผสมอยู่ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566  ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 และหลังจากนั้นให้อัตราภาษีกลับสู่อัตราเดิมก่อนการปรับลด โดยมีรายละเอียดของอัตราภาษี ดังต่อไปนี้
รายการ          อัตราภาษีที่ใช้ในปัจจุบัน          อัตราภาษีที่เสนอใหม่
(1) น้ำมันเบนซินชนิดไร้สารตะกั่ว           6.500 บาทต่อลิตร          5.500 บาทต่อลิตร
(2) น้ำมันเบนซินนอกจาก (1)           6.500 บาทต่อลิตร          5.500 บาทต่อลิตร
(3) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 10 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด           5.850 บาทต่อลิตร          4.950 บาทต่อลิตร
(4) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด          5.200 บาทต่อลิตร          4.400 บาทต่อลิตร
(5) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 85 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด          0.975 บาทต่อลิตร          0.825 บาทต่อลิตร
                     ประโยชน์และผลกระทบ
                      การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน จะช่วยลดค่าครองชีพด้านการเดินทางของประชาชน และเมื่อรวมกับมาตรการช่วยเหลือภาครัฐด้านอื่นก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงได้ รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมากขึ้น
                       ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตจะสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ประมาณ 2,700 ล้านบาท (คาดการณ์จากสถิติปริมาณการเสียภาษีในปีงบประมาณ 2566 ทั้งนี้ การลดอัตราภาษีน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร จะสูญเสียรายได้ประมาณ 900 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น การลดอัตราภาษีลง 1 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน จะส่งผลให้สูญเสียรายได้ภาษี ประมาณ 2,700 ล้านบาท)

เศรษฐกิจ
3. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2566 และผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2566
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอดังนี้
                    1. ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ พ.ศ. 2563) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566
                              1.1 รับทราบการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการกรณีโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2564 (โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ) ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) (จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดสุพรรณบุรี) โดยยกเลิกการดำเนินโครงการ จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 7.9650 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถลงนามและผูกพันสัญญาได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565
                              1.2 รับทราบผลการนำเงินกู้เหลือจ่ายโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ พ.ศ. 2563 คืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
                    2. ผลการพิจารณาของ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566
                              2.1 อนุมัติให้จังหวัด1 เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการเร่งปรับปรุงรายละเอียดของโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform: eMENSCR) ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว
                              2.2 มอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตาม                              พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และอยู่ระหว่างดำเนินการให้เร่งรัดการดำเนินงานและต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยในกรณีที่หน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถดำเนินงานและเบิกจ่ายเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการต่อไปให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยใช้จ่ายเงินจากแหล่งเงินอื่นต่อไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธาน คกง. รายงานผล                    การพิจารณาของ คกง. สรุปได้ ดังนี้
                    1. ผลการพิจารณาของ คกง. ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566
                              1.1 รับทราบการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ พ.ศ. 2563 กรณีโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2564 ของ มท. โดยยกเลิกการดำเนินโครงการ จำนวน 2 จังหวัด (จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดสุพรรณบุรี) รวม 3 โครงการ กรอบวงเงิน 7.9650 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถลงนามและผูกพันสัญญาได้ทันภายในเดือนพฤษภาคม 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 สรุปได้ ดังนี้
โครงการ          วงเงิน
(ล้านบาท)          เหตุผลความจำเป็น
จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 6.9440 ล้านบาท
(1) โครงการจัดหาระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) POG ขนาดใหญ่ตามบัญชีนวัตกรรมไทย โรงเรียนพร้าววิทยาคม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่           5.2000          ยกเลิกการดำเนินโครงการ
เนื่องจากที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนตำบลเขื่อนผากได้ตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าและระบบแหล่งผลิตน้ำประปาที่จะส่งเสริมให้การผลิตประปามีประสิทธิภาพได้ รวมถึงโรงเรียนพร้าววิทยาคมไม่มีงบประมาณในการสนับสนุนให้มีความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าและระบบประปา
(2) โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรหัสสายทาง ชม.ถ.103-54 ณ บ้านทรายมูล หมู่ที่ 5 ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่          1.7440          ยกเลิกการดำเนินโครงการ
เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการลงนามหรือผูกพันสัญญาได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2565
จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 1.0210 ล้านบาท
(3) โครงการปรับปรุงถนนเดิมเป็นถนนผิวจราจรถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีตสายจากบริเวณบ้านนางกรกช แหยมนา ถึงที่นา นางกัญญา                     เกิดวัน หมู่ที่ 5 บ้านดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี          1.0210          ยกเลิกการดำเนินโครงการ
เนื่องจากได้รับงบประมาณของหน่วยดำเนินการสำหรับดำเนินโครงการแล้ว
หมายเหตุ ปัจจุบัน สบน. ได้ดำเนินการปิดบัญชีเงินกู้ฯ และส่งเงินคืนเข้าคลังแล้ว โดยทั้ง 3  โครงการยังมิได้มีการเบิกจ่ายเงินกู้แต่อย่างใด
                              1.2 รับทราบผลการนำส่งเงินกู้เหลือจ่ายโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ พ.ศ. 2563      คืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดย สบน. ได้ลงนามกู้เงินและเบิกเงินจากแหล่งเงินกู้ จำนวน 961,266.9500 ล้านบาท     ซึ่งหน่วยงานเจ้าของโครงการได้เบิกจ่ายเงินกู้ทั้งสิ้น จำนวน 950,556.7041 ล้านบาท คงเหลือเงินในบัญชีเงินกู้ฯ จำนวน 13,896.2659 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 สบน. ได้นำส่งเงินกู้คงเหลือในบัญชีเงินกู้ฯ ดังกล่าว คืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินและได้ประสานไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อขอความอนุเคราะห์ปิดบัญชีเงินกู้ฯ แล้ว
                    2. ผลการพิจารณาของ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566
                              2.1 อนุมัติให้จังหวัดเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ กรณีโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ ของ มท. จำนวน 14 จังหวัด (จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดกระบี่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดระนอง จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดยะลา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดเลย) รวม 29 โครงการ กรอบวงเงินรวม 88.2814 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้
                                        2.1.1 ยกเลิกการดำเนินโครงการ จำนวน 13 จังหวัด (จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดกระบี่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดระนอง จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดเลย) รวม 25 โครงการ กรอบวงเงิน 65.3730 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถจัดหาผู้รับจ้างและลงนามผูกพันสัญญาได้ทันภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 รวมถึงไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี
                                        2.1.2 ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการเป็นสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2566 จำนวน 1 จังหวัด (จังหวัดยะลา) รวม 3 โครงการ กรอบวงเงิน 20.4820 ล้านบาท เนื่องจากดำเนินการแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างเบิกจ่ายเงินตามขั้นตอน
                                        2.1.3 เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ จำนวน 1 จังหวัด (จังหวัดหนองบัวลำภู) รวม 1 โครงการ (โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม) กรอบวงเงิน 2.4264 ล้านบาท โดยปรับลดปริมาณงานจากเดิม 3 งวดงาน เป็น 1 งวดงาน ส่งผลให้วงเงินโครงการก่อหนี้ผูกพันจากเดิม 1.3667 ล้านบาท เป็น 0.4099 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาพื้นที่ดำเนินงานประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้การดำเนินงานล่าช้าและขยายระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการฯ จากเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นเดือนตุลาคม 2566 ทั้งนี้ ให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการเร่งปรับปรุงรายละเอียดของโครงการในระบบ eMENSCR ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว
                              2.2 ให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และอยู่ระหว่างดำเนินการเร่งรัดการดำเนินงานและต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยในกรณีที่หน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติไม่สามารถดำเนินการและเบิกจ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีได้ ให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการต่อไปให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยใช้จ่ายจากแหล่งเงินอื่นต่อไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566
1 จำนวน 14 จังหวัด (จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดกระบี่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดระนอง จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดยะลา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดเลย) รวม 29 โครงการ กรอบวงเงินรวม 88.2814 ล้านบาท

4. เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าควบคุมปี 2566 เพิ่มจำนวน 1 รายการ ได้แก่ น้ำตาลทราย ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเมื่อวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตอ้อยในแต่ละช่วงเวลา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    1. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ออกประกาศ เรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร  เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567 โดยกำหนดราคาน้ำตาลทรายขาวกิโลกรัมละ 23.00 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ 24.00 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2566 สูงขึ้นกิโลกรัมละ 4.00 บาท จากเดิมราคาน้ำตาลทรายขาว กิโลกรัมละ 19.00 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ 20.00 บาท ตามลำดับ
                    2. คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้มีการประชุม ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 มีมติเห็นชอบกำหนดรายการสินค้าควบคุม จำนวน 1 รายการ ได้แก่ น้ำตาลทราย เพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม และกำกับดูแลสินค้าน้ำตาลทรายให้มีราคาที่เป็นธรรมและมีปริมาณที่เพียงพอ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนกำหนดมาตรการทางกฎหมายสำหรับสินค้าควบคุม
                    3. ปัจจุบัน คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2566 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ประกาศ ณ วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2566 กำหนดสินค้าควบคุม 46 รายการ บริการควบคุม                      5 รายการ และประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2566 เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติม ประกาศ ณ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2566 กำหนดสินค้าควบคุมเพิ่ม 5 รายการ
                    ประโยชน์และผลกระทบ
                    เห็นควรให้น้ำตาลทราย เป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับสูงขึ้นจากสภาวะภัยแล้ง ความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาจำหน่ายในประเทศต่ำกว่าราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก  ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น กระทบต่อปริมาณน้ำตาลทรายและราคาในประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้รับผลกระทบ





5. เรื่อง มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ประชาชน
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ประชาชนและมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
                    สาระสำคัญ
                    มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง มีรายละเอียด ดังนี้
1.          ราคาน้ำมันเบนซิน บริหารราคาน้ำมันเบนซิน  โดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง
ร่วมกันบริหารจัดการราคาขายปลีก โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาท ต่อลิตรโดยจะปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลงในอัตรา 1 บาทต่อลิตร และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะบริหารจัดการเพิ่มเติมในอัตรา 1.50 บาทต่อลิตร
                    2.  เนื่องจากอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ทุกประเภทเป็นอัตราเดียวกันมิได้แยกอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นการเฉพาะ   ดังนั้น การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตในกรณีนี้ จึงต้องปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 95 ลงในอัตรา 1 บาทต่อลิตรด้วย
                    3. ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์อื่นๆ ดังนี้
                              (1) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 10 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด  มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 4.950 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 5.850 บาท
                              (2) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 4.400 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 5.200 บาท
                              (3) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 85 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 0.825 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 0.975 บาท
                    ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567

6. เรื่อง โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 1,200 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการฯ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานอยู่ในประเทศดังกล่าวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือถูกจับเป็นตัวประกัน ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ณ เดือนกันยายน 2566 มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานยังประเทศอิสราเอลจำนวน 25,887 คน โดยแรงงานไทยบางส่วนทยอยเดินทางกลับประเทศไทยก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง ในขณะที่บางส่วนยังไม่ตัดสินใจเดินทางกลับ เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ภาระหนี้สินที่เกิดจากการเดินทางไปทำงานยังประเทศอิสราเอล รวมถึงการเริ่มต้นประกอบอาชีพภายหลังจากเดินทางกลับมาประเทศไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับประเทศมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการเริ่มต้นประกอบอาชีพหรือแบ่งเบาภาระหนี้สิน กระทรวงการคลังจึงขอเสนอโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) (โครงการฯ) เพื่อบรรเทาและป้องกันความเสี่ยงทาง เศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น


                    สาระสำคัญ
                    โครงการฯ มีรายละเอียด ดังนี้
                    1. วัตถุประสงค์ : เพื่อชำระหนี้ที่กู้ยืมสำหรับการไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลและ/หรือเพื่อลงทุนประกอบอาชีพ
                    2. กลุ่มเป้าหมาย : เป็นผู้ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล โดยมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
                              2.1 ประกอบอาชีพเดิมคือค้าขายหรืออาชีพอิสระ (ธนาคารออมสิน)
                              2.2 เป็นเกษตรกรหรือบุคคลในครัวเรือนเกษตกร (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.))
                    3. วิธีดำเนินงาน : ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท (แห่งละ 1,000 ล้านบาท) สินเชื่อต่อรายไม่เกินรายละ 150,000 บาท อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกร้อยละ 3 ต่อปี (Effective Rate) ลูกค้ารับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืนเงินงวดสูงสุดไม่เกิน 20 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 งวดแรก (ชำระดอกเบี้ยปกติ) หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
                    4. ระยะเวลาการยื่นขอสินเชื่อ : ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการฯ
                    5. งบประมาณ : รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็น
                              5.1 ชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 400 ล้านบาท (2,000 ล้านบาท * ร้อยละ 20 * ร้อยละ 100) โดยแบ่งเป็นธนาคารออมสิน 200 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 200 ล้านบาท
                              5.2 ชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ของวงเงินสินเชื่ออนุมัติ เป็นระยะเวลา 20 ปี รวมทั้งสิ้น 800 ล้านบาท (2,000 ล้านบาท * ร้อยละ 2 * 20 ปี) โดยแบ่งเป็นธนาคารออมสิน 400 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 400 ล้านบาท
                    ทั้งนี้ ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จะทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมและความจำเป็นต่อไป
                    6. เงื่อนไขอื่น ๆ :
                              6.1 แยกบัญชีโครงการเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายภาครัฐ (Public Service Account : PSA)
                              6.2 ไม่นับรวม NPLs ที่เกิดจากการดำเนินงานของโครงการฯ ไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคาร
                              6.3 สามารถนำส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ได้รับชดเชย เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้
                              6.4 ขอนำผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ นับรวมเป็นผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร
                    ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 พ.ศ. 2565 ได้กำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยกระทรวงการคลังรายงานว่า ณ สิ้นวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ มียอดคงค้างจำนวน 939,029.106 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 29.48 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน (วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท) ดังนั้น หากมีการดำเนินโครงการฯ จำนวน 1,200 ล้านบาท จะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 940,229.106 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 29.52 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 32 ที่คณะกรรมการฯ ได้ประกาศกำหนดไว้
                    ประโยชน์และผลกระทบ
                    การดำเนินโครงการฯ จะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในประเทศอิสราเอลมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการเริ่มต้นประกอบอาชีพ รวมถึงแบ่งเบาภาระหนี้สินภายหลังจากเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อบรรเทาและป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว

ต่างประเทศ
7. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคประชาชนระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคประชาชนระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
                    2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ
                    สาระสำคัญ
                    กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ได้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย - จีน ครั้งที่ 5 (4th Meeting of Joint Committee on Science and Technology Cooperation between Thailand and China: JCM) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่าควรจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในภาคประชาชนระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ การดำเนินการที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีการลงนามความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ในระดับกระทรวงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และทางวิชาการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2521 และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ วิชาการและนวัตกรรมระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562
                    ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคประชาชนระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Memorandum of Understanding on Science and Technology People-to-People Exchange Program between the Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation of the Kingdom of Thailand and the Ministry of Science and Technology of the People?s Republic of China)
                    มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตร สร้างความเข้าใจและความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และสถาบันวิจัยของทั้งสองประเทศซึ่งจะเป็นการช่วยกระชับความร่วมมือทวิภาคีในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีสาระสำคัญกล่าวคือ ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนกิจกรรมการแลกเปลี่ยนภายใต้โครงการที่จะดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ (1) โครงการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนสำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ (2) การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือสำหรับสถาบันวิจัย และ (3) การประชุมเชิงปฏิบัติการและการสัมมนาวิชาการ และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศูนย์แลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (China Science and Technology Exchange Center - CSTEC) ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงานร่วมภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้
                    ประโยชน์และผลกระทบ
                    การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือฯ ฉบับนี้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทย รวมทั้งเพื่อเป็นกรอบในการสร้างความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยของไทยและจีนผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยรุ่นใหม่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน


8.  เรื่อง รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปิงบประมาณ พ.ศ. 2565
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ                     พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    รง. รายงานว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก เมื่อวันที่                       16 กุมภาพันธ์ 2544 จึงเป็นผลให้ประเทศไทยมีพันธะผูกพันในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาดังกล่าว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (22 ตุลาคม 2562) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย1 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติต เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย รวมทั้งนำเสนอสถานการณ์และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปี โดย รง. (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) ได้จัดทำรายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 มีมติเห็นชอบและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                              1. การประชุมระดับโลกเกี่ยวกับการขจัดการใช้แรงงานเด็กองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ                 (United Nations Children?s Fund: UNICEF) ร่วมจัดประชุมระดับโลกเกี่ยวกับการขจัดการใช้แรงงานเด็ก ครั้งที่ 5                    (5th  Global Conference On The Elimination Of Child Labour) ระหว่างวันที่ 15-20 พฤษภาคม 2565                    ณ เมือง Durban ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งที่ประชุมฯ ได้อนุมัติแผนปฏิบัติการ Durban Call to Action on the Elimination of Child Labour เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาและมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายสำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ เป้าหมายที่ 8.7 ในการดำเนินการโดยทันทีและมีประสิทธิภาพเพื่อขจัดแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดภายในปี 2568 ซึ่งจำเป็นต้องส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าของคนทำงานและเยาวชน การยุติการใช้แรงงานเด็กในภาคการเกษตร การป้องกันและขจัดการใช้แรงงาน                      เด็ก รวมทั้งแรงงานบังคับ แรงงานทาสยุคใหม่2 และการค้ามนุษย์ การตระหนักถึงสิทธิของเด็กในการศึกษา                     การเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมโดยถ้วนหน้า และการเพิ่มเงินทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงาน
                              2. สถานการณ์เด็กทำงานในประเทศไทย จากการประมวลผลข้อมูลโครงการสำรวจภาวะการทำงานของประขากร ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 พบว่า เด็กที่มีอายุ 15-17 ปี (ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์)                     มีจำนวน 2.542 ล้านคน เป็นเด็กทำงาน จำนวน 131,338 คน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ทำงานอย่างเดียว โดยไม่ได้เรียนหนังสือและทำงานอยู่ในกิจการขายส่ง ขายปลีก กิจการโรงแรมและบริการอาหาร การผลิตและการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ตามลำดับ
                              3. สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในปีงบประมาณพ.ศ. 2565 พบว่า มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย จำนวน 948 คน (ลดลงจากปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 3,222 คน) โดยเป็นการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือค้ายาเสพติดมากที่สุด จำนวน 860 คน รองลงมาคือ การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อการค้าประเวณี จำนวน 76 คน และการให้เด็กทำงานที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัยหรือศีลธรรมของเด็ก จำนวน 12 คน
                              4. ผลการประเมินจัดระดับสถานการณ์แรงงานเด็ก ตามรายงานสถานการณ์                การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ประจำปี 2564 ของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยมีผลการประเมินจัดระดับความก้าวหน้าในการดำเนินการประเมินจัดระดับความก้าวหน้าในการดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดในระดับปานกลาง (เช่นเดียวกับปี 2563) ซึ่งในรายงานระบุว่า ประเทศไทยยังคงมีเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์                     ซึ่งบางครั้งเป็นผลจากการค้ามนุษย์ รวมถึงกรณีเด็กที่มีอายุไม่ถึง 12 ปี ขึ้นชกมวยไทยซึ่งเป็นงานอันตราย ประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานระหว่างประเทศเรื่องอายุขั้นต่ำสุดในการทำงาน เพราะกฎหมายไม่ให้การคุ้มครองเด็กที่ทำงานนอกระบบหรือที่ไม่มีการจ้างงานอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายแรงงานเด็กยังคงเป็นปัญหาท้าทาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบและทรัพยากรที่มีไม่เพียงพอในการตรวจสถานที่ทำงานในภาคแรงงานนอกระบบหรือที่อยู่ห่างไกลได้อย่างแท้จริง
                              5. การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผลการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย สรุปได้ ดังนี้
                                        (1) การป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น   ดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียนและฝึกอบรมอาชีพและพัฒนาฝีมือเพื่อการมีงานทำ มีนักเรียนและนักศึกษาที่ต้องติดตาม จำนวน 67,129 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2565) การติดตามแล้วพบตัว จำนวน 52,760 คน กลับเข้าสู่ระบบ จำนวน 31,446 คน ไม่กลับเข้าสู่ระบบ จำนวน 21,314 คน จัดการเรียนการสอนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล จำนวน 222 แห่งทั่วประเทศ มีนักเรียนเข้ารับการศึกษา รวมทั้งสิ้น 27,245 คน ฝึกอบรมเยาวชนด้านทักษะอาชีพ ทักษะการเกษตรในโรงเรียนมัธยมหรือโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่ 27 จังหวัด มีเยาวชนที่ได้รับการอบรมฯ จำนวน 11,800 คน ตรวจสถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์แรงงานในพื้นที่ทั่วประเทศ ดำเนินโครงการนิเทศกีฬามวยตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ให้บุคลากรในวงการกีฬามวย
                                        (2) การช่วยเหลือ คุ้มครอง และบำบัดฟื้นฟูเด็กที่ถูกใช้แรงงานในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น ตรวจประเมินอายุเด็กที่ตกเป็นเหยื่อเพื่อใช้ประกอบการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง หรือตรวจอายุกรณีที่ไม่มีเอกสารประจำตัวเพื่อลดโอกาสการจ้างแรงงานที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ ดำเนินโครงการคลินิกจิตสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติดและการกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยให้คำปรึกษาแก่เด็กและเยาวชน และผู้ปกครอง จำนวน 227 คน บำบัดรักษา ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จำนวน 98 แห่ง
                                        (3) การบูรณาการพัฒนาระบบและกลไกการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและการสื่อสารสาธารณะ เช่น ตรวจติดตามผลการดำเนินงานตามกรอบแนวทางของสถานประกอบกิจการภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 แต่งตั้งคณะนุกรรมการบูรณาการและพัฒนาระบบฐานข้อมูลในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จัดทำแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่อง ระบบฐานข้อมูลของประเทศไทย ด้านการดำเนินคดีและการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จัดฝึกอบรมพนักงานตรวจแรงงานในรูปแบบความร่วมมือกับองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ (Non Governmental Organizations: NGOs) ภายใต้โครงการยกระดับการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์(ATLAS Project) ยกระดับและติดตามการบังคับใช้กฎหมายทีมสหวิชาชีพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในภาคประมงและภาคบนบก
                              6. ข้อเสนอแนะจากการวิเคราะห์สถานการณ์และผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สรุปได้ ดังนี้
                                        (1) สนับสนุนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายตามแนวทางแผนปฏิบัติการ ?Durban Call to Action on the Elimination Child Labour? เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 8.7 ในการขจัดแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ ยุติการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ โดยส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าของคนทำงานและเยาวชน สนับสนุนทรัพยากรในการตรวจแรงงานภาคนอกระบบและภาคเกษตรกรรม ส่งสริมและสนับสนุนแผนงานโครงการของหน่วยงานหรือองค์กรเพื่อร่วมกันดำเนินงานช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ลดอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษา และส่งเสริมให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้โดยง่าย
                                        (2) ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านกรอบนโยบาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้บรรลุผล เช่น ผลักดันการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. ?. ในการกำหนดอายุขั้นต่ำและความปลอดภัยในการทำงานของเด็ก ปรับปรุงแก้ใขร่างระเบียบและกติกาตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 กรณีมวยเด็ก และผลักดันกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ พัฒนาระบบบูรณาการฐานข้อมูลด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายเป็นการเฉพาะร่วมกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้มีการจัดเก็บข้อมูลจำนวนคดี การดำเนินคดี และการลงโทษผู้กระทำความผิดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายอย่างเป็นระบบ
                                        (3) ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งเป็นแผนบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และมีการติดตามประเมินผลให้บรรลุผลควบคู่กับการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนระดับต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายร่วมกันอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
                                        (4) สนับสนุนทรัพยากรในการวิจัยและสำรวจข้อมูลการคุ้มครองทางสังคมต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในภาคการเกษตร อุตสาหกรรมผลิตเครื่องนุ่งห่ม การทำงานบ้านและงานก่อสร้าง เพื่อเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า มีโครงการด้านสังคมอย่างเพียงพอในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในกลุ่มต่าง ๆ ข้างต้น เนื่องจากเป็นกิจการที่มีโอกาสใช้แรงงานเด็กและเข้าถึงได้ยาก
                                        (5) ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสานความร่วมมือในการดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การส่งต่อช่วยเหลือและจับกุมผู้กระทำความผิด
1การประสานงานได้รับแจ้งว่า รง. อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายชุดใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี
2หมายถึง การที่บุคคลตกอยู่ในการแสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น ถูกควบคุม โดยไม่สามารถปฏิเสธได้เพราะถูกคุกคามมีการใช้ความรุนแรง หรือถูกล่อลวง

9. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี พ.ศ. 2566
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ สรุปสาระสำคัญดังนี้
                    กระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 (Food Security Ministerial Meeting : FSMM) (การประชุมฯ) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ณ เมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (นายฉันทานนท์ วรรณเขจร) เข้าร่วมการประชุมฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ด้านความมั่นคงอาหารร่วมกันของรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค โดยผลักดันการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก รวมถึงหารือเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางในการรับมือกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. ในการประชุมฯ ได้มีการพิจารณาเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 (เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง) ได้แก่ (1) ร่างเอกสารหลักการเพื่อการบรรลุความมั่นคงอาหารผ่านระบบการเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเปค (เอกสารหลักการฯ) และ (2) ร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 (ร่างปฏิญญาฯ) โดยที่ประชุมฯ ได้รับรองเอกสารหลักการฯ ซึ่งกำหนดแนวทางสำหรับความร่วมมือในภูมิภาค แต่ในส่วนของร่างปฏิญญาฯ ที่ประชุมฯ ไม่สามารถตกลงกันได้ จำนวน 2 ย่อหน้า จึงไม่ได้รับมติเอกฉันท์ ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา จึงได้ออกแถลงการณ์ประธาน สำหรับการประชุมฯ (แถลงการณ์ประธานฯ) โดยมีสาระสำคัญครอบคลุมความเชื่อมโยง นวัตกรรม และความยั่งยืนของระบบการเกษตรและอาหาร ความสำคัญของหลักวิทยาศาสตร์และความโปร่งใส การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีตามหลักการขององค์การการค้าโลกการให้ความสำคัญและสร้างความเสมอภาคให้กับกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสมและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตระหนักถึงข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์อาหารของโลกที่ยังเผชิญความท้าทายต่าง ๆ และแสดงความเสียใจที่รัสเซียไม่ต่ออายุข้อริเริ่มว่าด้วยการขนส่งธัญพืชผ่านทะเลดำ และเน้นย้ำปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี 2565 ประเด็นสงครามรัสเซีย - ยูเครน ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง
                    2. เอกสารหลักการฯ และแถลงการณ์ประธานฯ มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกับผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ได้แก่ แผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี พ.ศ. 2573 เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงปฏิญญาผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ปี 2565 นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับประเด็นความเชื่อมโยง นวัตกรรม และ ความยั่งยืนของระบบการเกษตรและอาหาร ความสำคัญของหลักวิทยาศาสตร์และความโปร่งใส การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีตามหลักการขององค์การการค้าโลกการให้ความสำคัญและสร้างความเสมอภาคให้กับกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสมและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
                    3. ผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคได้รายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ภาคเอกชนต้องการให้มีการขับเคลื่อน ได้แก่
                              3.1 การหาแนวทางในการปรับใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเกษตร การลดการสูญเสียอาหาร และการส่งเสริมแนวทางการจัดการที่ดินแบบองค์รวมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                              3.2 การส่งเสริมการเติบโตของอาหารอนาคต เช่น โปรตีนจากพืช
                              3.3 การอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น การลดภาษีหรือมาตรการกีดกันทางการค้า
                              3.4 การพัฒนาเครื่องมือสำหรับภาครัฐในการส่งเสริมและกำกับดูแลการดำเนินด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร
                              3.5 การส่งเสริมการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน

10. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อการรับรองเอกสารร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน - จีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรในการประชุมสุดยอดเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน - จีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะมีหนังสือแจ้งการรับรองดังกล่าวอย่างเป็นทางการให้กับสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กษ. รายงานว่า
                    1. อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปี 2566 ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 4 - 7 กันยายน 2566 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยในระหว่างการประชุมดังกล่าวได้มีการเสนอเอกสารร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 26 ในวันที่ 6 กันยายน 2566 เพื่อให้ที่ประชุมรับรอง ซึ่งร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry : AMAF) ครั้งที่ 45 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 แล้ว โดยในส่วนของประเทศไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าไม่มีข้อขัดข้องต่อร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว และประเทศไทยจะให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ภายหลังได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
                    2. ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ในเรื่องความร่วมมือด้านการเกษตร ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรที่มีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสังคม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศ เพื่อให้พร้อมรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต เช่น การเติบโตของประชากร ข้อจำกัดด้านทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด 19 เป็นต้น รวมถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการมีผลใช้บังคับอย่างสมบูรณ์ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RECP) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน (ASEAN - China Free Trade Agreement : ACFTA) 3.0 ที่กำลังดำเนินการยกระดับการเจรจาอยู่ และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยประเทศสมาชิกตกลงที่จะใช้มาตรการเชิงปฏิบัติ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                              2.1 ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกลไกความร่วมมือทางการเกษตรระดับทวิภาคีและพหุภาคี สนับสนุนองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม1 และสำนักงานเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียนให้มีบทบาทมากขึ้น
                              2.2 เพิ่มการสนับสนุนนวัตกรรมในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตรที่ทันสมัย การจัดเก็บและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ การพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร
                              2.3 ส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน ฟื้นตัวเร็ว การเกษตรหมุนเวียน และการเกษตรคาร์บอนต่ำ ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และการนำของเสียทางการเกษตรกลับมาใช้ซ้ำ
                              2.4 พัฒนาการเกษตรอัจฉริยะและหมู่บ้านดิจิทัล ส่งเสริมการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง การประมวลผลบนคราวด์ และเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่อื่น ๆ ในการผลิตพืชผลทางการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการประมง สนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยของอาเซียนและจีนในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัย
                              2.5 ส่งเสริมความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร ใช้โอกาสอย่างเต็มที่จากการเจรจายกระดับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน (ACFTA)
                              2.6 สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรและสหกรณ์ขนาดย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง
                    3. ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกลไกความร่วมมือทางการเกษตรระดับทวิภาคีและพหุภาคี ส่งเสริมระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน ส่งเสริมความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร และเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในความร่วมมือด้านการเกษตรระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสังคม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมอาเซียน - จีน และการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
                    4. กต. (กรมอาเซียน) แจ้งว่า ไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ หาก กษ. ในฐานะส่วนราชการเจ้าของเรื่องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นว่า มีความเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของประเทศไทยสามารถปฏิบัติได้ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ไว้แล้ว ทั้งนี้ ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับไม่มีการลงนามในร่างเอกสารดังกล่าว ดังนั้น ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ                    แห่งราชอาณาจักรไทย
1 เป็นกลไกถาวรระหว่างประเทศภาคีซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม (ประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ในการจัดตั้งระบบสำรองข้าวไว้สำหรับช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันเอง กรณีที่ประเทศสมาชิกประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภาวะไม่ปกติให้กับภูมิภาค โดยไม่กระทบต่อการค้าข้าวในตลาดปกติ โดยรัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามความตกลงการสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ณ อินโดนีเซีย

11. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอดังนี้
                    1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่าง อก. กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ อก. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
                    2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    อก. รายงานว่า
                    1. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งว่า สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ มีหนังสือแจ้งเรื่องการอนุมัติโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 25661 ซึ่งโครงการของ อก. ที่ได้รับการอนุมัติ คือ โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบ               การขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ: ระบบขับขี่อัตโนมัติ (Advanced Driver Assistance Systems: ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สำหรับผู้สูงวัย (Capacity Building for Auto Parts Suppliers with Sustainable Development toward Transportation and Smart Mobility: ADAS system, new energy vehicle, rail system, aircraft parts, electronic parts, vehicles for aging people)
                    2. สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ ประสงค์ให้ อก. ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกับ                            สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ เพื่อส่งมอบงบประมาณดำเนินโครงการดังกล่าว อก. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา                   ร่างบันทึกความเข้าใจฯ (ข้อเสนอในครั้งนี้) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          สาระสำคัญ
วัตถุประสงค์          กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากฝ่ายจีนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้กองทุนอย่างสูงสุด
หลักการเบื้องต้น          (1) มุ่งสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของประเทศสมาชิกแม่โขง - ล้านช้าง
(2) เคารพกฎหมายและกฎระเบียบของจีนและไทย
(3) ร่วมกันติดตามประเมินโครงการและการใช้งบประมาณจากกองทุน
รายละเอียด          โครงการ: โครงการตามข้อ 1.
งบประมาณ: 203,507 ดอลลาร์สหรัฐ (ไม่เกิน 1.41 ล้านหยวน หรือประมาณ 7.86 ล้านบาท)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ: 18 เดือน
หน่วยงานดำเนินการ: สถาบันยานยนต์2
การจัดสรรงบประมาณและการบริหารงบประมาณ          - ฝ่ายจีนจะจ่ายเงินงบประมาณเต็มจำนวนให้กับฝ่ายไทยภายใน 20 วันทำการ หลังจากที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ
- ฝ่ายไทยโดย อก. (สถาบันยานยนต์) จะแจ้งการได้รับการจ่ายเงินอย่างเป็นทางการผ่านหนังสือทางการทูตหรือในรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 10 วันทำการ หลังจากได้รับการจ่ายเงิน
การบริหารจัดการโครงการ          ฝ่ายไทย [อก. (สถาบันยานยนต์)] จะดำเนินการ ดังนี้
(1) ใช้มาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานดำเนินโครงการ รวมทั้งให้แนวทางและกระตุ้นให้หน่วยงานดำเนินโครงการดำเนินตามแผน ระยะเวลา และงบประมาณของโครงการ ทั้งนี้ ให้ถือว่าวันที่ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ เป็นวันเริ่มต้นโครงการ
(2) แจ้งฝ่ายจีนหากมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นนัยสำคัญในการดำเนินโครงการในระยะเวลาที่เหมาะสม
(3) แจ้งสถานะการดำเนินโครงการ ความก้าวหน้าของโครงการ ความสมบูรณ์ของเป้าหมายโครงการที่กำหนดในแต่ละระยะและการใช้ประโยชน์ของเงินงบประมาณ ตลอดจนส่งเสริมการรับรู้ของสาธารณะและเปิดเผยเกี่ยวกับโครงการและกองทุน รวมทั้งแบ่งปันผลการประชาสัมพันธ์และผลงานด้านการทูตสาธารณะให้กับฝ่ายจีนทราบตามเวลาที่เหมาะสม
การกำกับดูแลและการตรวจสอบ          (1) ฝ่ายไทยจะให้แนวทางและดูแลการตรวจสอบด้วยตัวเองในเรื่องความก้าวหน้าของโครงการ ประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการและการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามข้อกำหนด และจะแจ้งฝ่ายจีนทราบในระยะเวลาที่เหมาะสม
(2) ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสุ่มตรวจสอบการดำเนินโครงการบนพื้นฐานของความเห็นพ้องร่วมกัน
(3) ปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการจะได้รับการแก้ไขผ่านการหารืออย่างฉันมิตร
การประเมินผล          (1) ฝ่ายไทยจะจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการเมื่อเสร็จสิ้นแล้วรวมทั้งดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หลังโครงการเสร็จสมบูรณ์ และรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ฝ่ายจีนเป็นลายลักษณ์อักษร
(2) งบประมาณส่วนที่เหลือจะต้องนำส่งคืนให้แก่ฝ่ายจีนภายใน 3 เดือนหลังจบโครงการ
ผลการบังคับใช้และระยะเวลาการมีผลบังคับใช้          บันทึกความเข้าใจฯ ไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายต่อทั้งสองฝ่ายและไม่เป็นสนธิสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยมีผลบังคับใช้
   (1) ในวันที่ลงนามและจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปี และจะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นเวลาอีก 5 ปี
   (2) การสิ้นสุดของบันทึกความเข้าใจฯ จะไม่กระทบต่อการดำเนินกิจกรรม/โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ
การทบทวนและการแก้ไขเพิ่มเติม          ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยจะมีผลหลังจากวันที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันผ่านการปรึกษาหารือ
                    3. อก. แจ้งว่า การดำเนินโครงการข้างต้น (ตามข้อ 2) จะเป็นกลไกในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันของประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานปฏิบัติอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตในอนุภูมิภาค ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความเห็นชอบการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศในการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 (เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ)
                    สรุปรายละเอียดโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ: ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สำหรับผู้สูงวัย
                    วัตถุประสงค์: ประเมินความสามารถเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ ประกอบด้วย ยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สำหรับผู้สูงวัยโดยมีประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ไทยและเวียดนาม โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีจากจีน
                    กิจกรรม: (1) ดำเนินการศึกษาและเก็บข้อมูลในเวียดนาม (2) จัดการการศึกษาดูงานในจีนโดยฝ่ายไทยและเวียดนาม (3) จัดการสัมมนานานาชาติเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีจากจีน ณ ประเทศไทย และ (4) ประเมินผลการดำเนินโครงการ
                    ผลที่คาดว่าจะได้รับ:
                              - เสริมสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานเพิ่มศักยภาพด้านการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป รวมถึงความสามารถในการแข่งขัน และในสมาชิกแม่โขง -         ล้านช้าง
                              - ส่งเสริมการสร้างความเข้าใจและความเชื่อมโยงด้านอุตสาหกรรมระหว่างสมาชิกแม่โขง - ล้านช้าง ในสาขายานยนต์ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ
                              - ตอบสนองต่อปฏิญญาซานย่าในด้านการขยายความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิต
                              - สอดรับกับปฏิญญาพนมเปญในด้านความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งแถลงการณ์ร่วมในความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิต เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างสมาชิกแม่โขง - ล้านช้าง ให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและโลก
                    ผู้ได้รับประโยชน์: เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ/ภาควิชาการ ในสาขายานยนต์ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะในประเทศสมาชิกแม่โขง - ล้านช้าง ได้แก่ ไทย เวียดนาม และจีน
                    หน่วยงานดำเนินการ: สถาบันยานยนต์
1 สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ จะเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง เป็นประจำทุกปี โดยมีมูลค่าของโครงการไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ระยะเวลาดำเนินการ 1 - 3 ปี
2 สถาบันยานยนต์เป็นองค์กรอิสระซึ่งก่อตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 (เรื่อง การจัดตั้งสถาบันเฉพาะทาง) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย อก. เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2541 และใช้กฎระเบียบการบริหารงานแบบเอกชน ไม่ผูกพันระเบียบปฏิบัติและข้อบังคับของราชการและรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดโลกให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน

12. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างกระทรวงพาณิชย์และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
                      1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-  ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่าง พณ. กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ) และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง พณ. กับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ                  ลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจทั้ง 2 ฉบับ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ พณ. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
                     2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจ                ทั้ง 2 ฉบับ
                     ทั้งนี้ กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการดำเนินกิจกรรม/โครงการความร่วมมือต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก (ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และจีน) ในสาขาหลักของกรอบความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ 1) ความเชื่อมโยง 2) ศักยภาพในการผลิต 3) เศรษฐกิจข้ามพรมแดน 4) ทรัพยากรน้ำ และ 5) การเกษตรและการขจัดความยากจน ซึ่งที่ผ่านมามีหน่วยงานของไทยหลายหน่วยงานได้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าวเพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ สำหรับกระทรวงพาณิชย์ได้เคยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2561 และ 2563 รวมวงเงินทั้งสิ้น 2,154,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 78.60 ล้านบาท) ในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 454,427 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15.86 ล้านบาท) เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ทั้งนี้ การส่งมอบงบประมาณและการดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

13. เรื่อง การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติอินเดียและไต้หวัน เป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
                    1. อนุมัติในหลักการในการกำหนดให้สาธารณรัฐอินเดียและไต้หวัน เป็นรายชื่อประเทศ/ดินแดนในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวันโดยมีเงื่อนไขให้มีผลใช้บังคับชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 - 10 พฤษภาคม 2567 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมิติเศรษฐกิจและการต่างประเทศกับสาธารณรัฐอินเดียและไต้หวันในภาพรวม โดยเฉพาะด้านความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนสองฝ่ายที่เป็นรากฐานของความสัมพันธ์
                    2. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดรายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงมหาดไทยดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป อนึ่ง กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาร่างประกาศฉบับนี้ด้วยแล้ว
                    3. มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกำกับติดตามและประเมินผลกระทบจากการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ภายหลังครบระยะเวลาที่ประกาศไว้ (6 เดือน) ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวต่อไปได้
                    สาระสำคัญ
                    1. ภูมิหลัง
                              1.1 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว โดยการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน (ผ.30) อันเป็นไปตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยปัจจุบันมีรายชื่อประเทศจำนวน 59 ประเทศ/ดินแดน ซึ่งล่าสุดคือการเพิ่มสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐคาซัคสถาน เป็นการชั่วคราว
                              1.2 กรณีสาธารณรัฐอินเดีย ประเทศไทยให้ความสำคัญกับสาธารณรัฐอินเดียในฐานะประเทศในภูมิภาคที่มีบทบาทสูงในเวทีระหว่างประเทศ ปัจจุบัน สาธารณรัฐอินเดียมีประชากรประมาณ 1.4 พันล้านคน ซึ่งมากที่สุดในโลก ในจำนวนนี้ มีกลุ่มชนชั้นกลางและมีฐานะดีร้อยละ 25 หรือประมาณ 350 ล้านคน นักท่องเที่ยวชาวอินเดียจึงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 2566 มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1,162,251 คน และคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 1.55 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวอินเดียใช้จ่ายในประเทศไทยประมาณ 41,000 บาท/การมาท่องเที่ยว 1 ครั้ง และพำนักในประเทศไทยประมาณ 7-8 วัน
                              1.3 กรณีไต้หวัน นักท่องเที่ยวไต้หวันเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายหลัก โดยข้อมูลจากสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไทเป คาดว่าภายในปี 2566 น่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 700,000 คน เมื่อปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 782,000 คน โดยมีค่าใช้จ่ายในประเทศไทยเฉลี่ย/คน/ครั้ง 42,902.22 บาท (เฉลี่ยวันละ 5,206.58 บาท) มีระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 8.24 วัน โดยนำรายได้เข้าประเทศกว่า 33,500 ล้านบาท อนึ่ง หากคำนวณเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน 2562 ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยมีแผนจะยกเว้นการตรวจลงตราให้ไต้หวัน มีนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 494,000 คน คิดเป็นรายได้ประมาณ 21,000 ล้านบาท
                                        ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2559 ไต้หวันประกาศให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางไทยที่ประสงค์จะเดินทางมาไต้หวันเพื่อวัตถุประสงค์การท่องเที่ยว ระยะเวลาพำนักไม่เกิน 14 วัน เป็นระยะเวลา 1 ปี และมีการต่ออายุมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันตามแนวนโยบาย ?มุ่งใต้ใหม่? (New Southbound Policy: NSP) โดยเป็นการให้สิทธิ์แก่ประเทศไทยเพียงฝ่ายเดียว ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันประกาศขยายระยะเวลาการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางไทยจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 และคาดหวังการประติบัติต่างตอบแทนจากประเทศไทย
                              1.4 การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวันเป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 - 10 พฤษภาคม 2567 จะช่วยสนับสนุนการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยมีเป้าหมายจากการท่องเที่ยวในภาพรวมไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท โดยล่าสุด รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท (ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2566)
                    2. ปัจจุบันผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางชาวอินเดียและไต้หวันสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยว (รหัส TR) จากสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานการค้าและเศษฐกิจไทย ไทเป ซึ่งจะสามารถพำนักในราชอาณาจักรได้ 60 วัน และขอขยายระยะเวลาพำนักกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้อีก 30 วัน รวมทั้งสามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival: VOA) โดยสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นเวลา 15 วัน
                    3. ตามที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ในส่วนของการสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการเดินทางเข้าราชอาณาจักรของนักท่องเที่ยว กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นควรเสนอการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติอินเดียและไต้หวัน เพื่อพำนักในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน ในลักษณะที่ประเทศไทยให้สิทธิ์ฝ่ายเดียว และเป็นมาตรการชั่วคราว โดยมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของชาวอินเดียและไต้หวันและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลไทยที่ต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะสั้น
                    4. กรณีสาธารณรัฐอินเดีย เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงและสามารถทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่มีจำนวนลดลง โดยประเทศไทยได้รับความนิยมจากชาวอินเดียในการเดินทางมาจัดงานแต่งงานและจัดการประชุม/สัมมนา โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 มีคู่แต่งงานอินเดียเดินทางเข้ามาแต่งงานในเมืองไทยกว่า 400 คู่/ปี ซึ่งชาวอินเดียมีแนวโน้มใช้จ่ายเพื่อจัดงานแต่งงานในประเทศไทยประมาณ 10 ล้าน - 50 ล้าน/งาน ใช้เวลาจัดงานเฉลี่ย 5-7 วัน และมีผู้เดินทางมาเข้าร่วมงานจากอินเดียประมาณ  500 คน/งาน ซึ่งจะเพิ่มรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
                    5. กรณีไต้หวัน ประเทศไทยรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็นรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมายของประเทศจีนเพียงรัฐบาลเดียวตามที่ปรากฏในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2518 โดยไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนภายใต้หลักการข้างต้น ซึ่งตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ได้มีการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติจีน เป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว
                              นักท่องเที่ยวไต้หวันเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมีกำลังซื้อค่อนข้างสูงกล่าวคือ กว่าร้อยละ 60 มีรายได้ระดับกลางขึ้นไป ดังนั้น การยกเว้นการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวน่าจะเป็นปัจจัยช่วยให้นักท่องเที่ยวไต้หวันตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทยง่ายขึ้น เนื่องจากได้รับความสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นจุดหมายเดินทาง 2 อันดับแรกของไต้หวัน ก็ยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยวไต้หวัน ข้อมูลจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ณ วันที่ 13 ตุลาคม 2566 มีประเทศ/ดินแดนที่ยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางไต้หวัน จำนวน 109 ประเทศ/ดินแดน รวมถึงมาเลเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ และเขตบริหารพิเศษมาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน
                    ประโยชน์และผลกระทบ
                    จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียและไต้หวัน ในการเดินทางมาท่องเที่ยวในราชอาณาจักรตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม


แต่งตั้ง
14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ                       (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายสรพงค์               ศรียานงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้ง  นายโกเมนทร์ ทีฆธนานนท์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
17. เรื่อง การบรรจุและแต่งตั้งผู้ออกจากราชการกลับเข้ารับราชการประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้บรรจุและแต่งตั้ง นายวิทยา ยาม่วง กลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ที่ว่างอยู่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายเอกรัฐ พลซื่อ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                               (กระทรวงอุตสาหกรรม)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งว่าง จำนวน 4 ราย ดังนี้
                    1. นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    2. นายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    3. นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
                    4. นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
                    ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ย้าย นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมเจ้าท่า ที่ว่างอยู่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (กระทรวงยุติธรรม)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอให้ พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย                                ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม อีกตำแหน่งหนึ่ง แทนตำแหน่งที่ว่าง

22. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี  ที่ 292/2566 เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี  ที่ 292/2566 เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
          ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 253/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้
รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการ
ต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่  3 ตุลาคม 2566 นั้น
          เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงให้แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 253/2566 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ดังนี้
1.  รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์  พหิทธานุกร)
                    1.1           ให้ยกเลิกข้อ 3.4.1
                    1.2  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 3.1.5
 ?3.1.5           คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ
             ประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย?
                    1.3            ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 3.3.4
                              ?3.3.4            คณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน
โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย?
2.          รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย)
                    -            ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 1.5.5
                    ?1.5.5   รองประธานคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถใน
  การแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย?
                    ทั้งนี้   ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ